|
ธปท.รับเงินบาทแข็งแต่ไม่น่าห่วง
ผู้จัดการรายวัน(25 ตุลาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ธปท.ยอมรับค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากผู้ส่งออกที่เทขายเงินดอลลาร์ เชื่อไม่น่าห่วงเป็นไปตามธปท.คาดว่าทั้งปีค่าเงินบาทจะแข็งค่าตามทิศทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นๆของภูมิภาคเอเชีย ด้านนักค้าเงินระบุค่าเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นแตะระดับ 7.5 หยวนต่อดอลลาร์ไม่กระทบต่อค่าเงินบาทแน่นอน
นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เนื่องจากผู้ส่งออกมีการเทขายเงินดอลลาร์เพื่อแลกเงินบาทมากขึ้นจากแนวโน้มที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในขณะนี้ยังคงทรงๆ ตัวอยู่ไม่ได้มีความผันผวนมากนัก จึงไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นไปตามที่ธปท.คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าปีนี้ทั้งปีค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเดียวกับสกุลเงินอื่นๆ ของประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย
ทั้งนี้ ในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อ ฉบับเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ประเมินว่า การไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอฟดีไอ) ประกอบกับการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสะสมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลทั้งสิ้น 7.4 พันดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นปัจจัยที่สำคัญที่กดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ หากพิจารณาการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในรูปดัชนีค่าเงินบาท(NEER) ซึ่งคำนวณจากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับสกุลเงินของประเทศต่างๆ ที่มีความสำคัญทางด้านการค้าระหว่างประเทศกับไทยนำมาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก พบว่า ดัชนีค่าเงินบาทล่าสุดในเดือนกันยายนหรือไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ระดับ 78.28 แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยประมาณ 0.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 เพราะแม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงค่าเงินสกุลต่างๆ ของประเทศในภูมิภาคส่วนใหญ่ แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักอื่นๆ เช่น เยน และยูโร
ส่วนดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง(REER) ซึ่งนำดัชนีค่าเงินบาทมาปรับราคาเปรียบเทียบ เพื่อให้สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของประเทศ ล่าสุดในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 90.99 แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยของไตรมาสที่ 2 ประมาณ 0.4% โดยในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นการแข็งค่าที่น้อยกว่าการแข็งค่าขึ้นของดัชนีค่าเงินบาท เนื่องจากระดับราคาในประเทศเพิ่มขึ้นน้อยกว่าระดับราคาของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งโดยรวม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ผู้ประกอบการและผู้ผลิตเตรียมปรับราคาสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลให้ดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริงเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของไทยลดลง
ด้านนักค้าเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ค่าเงินบาทปิดตลาดวานนี้ (24 ต.ค.)อยู่ที่ระดับ 34.14-34.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการเคลื่อนไหวระหว่างวันค่อนข้างเหงียบเหงา แม้จะมีข่าวอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินหยวนของจีนแข็งค่าขึ้นทะลุ 7.5 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกตั้งแต่จีนเริ่มใช้ระบบตะกร้าเงินในปี 2005 หลังกลุ่มจี7 เรียกร้องให้จีนเร่งปรับขึ้นอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินหยวนให้เร็วขึ้นก็ตาม อย่างไรก็ตามมองว่าการแข็งค่าของเงินหยวนนั้นอาจจะมีผลกระทบต่อค่าเงินประเทศอื่น ๆ แต่จะไม่มีผลกระทบต่อค่าเงินบาทอย่างแน่นอน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|