|
กู้จีน 1.3 หมื่นล.นำร่องรถไฟฟ้า-เล็งกองทุนน้ำมันอีก 2 หมื่นล.
ผู้จัดการรายวัน(23 ตุลาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ขิงแก่ทิ้งทวนโครงการยักษ์ ทั้งเมกะโปรเจ็กต์ระบบรางยันโรงงานยาสูบแห่งใหม่ อนุมัติกู้เอ็กซิมแบงก์จีน 1.36 หมื่นล้าน "นำร่อง" ก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วง ยอมจ่ายดอกเบี้ย 3% ระยะเวลา 15 ปี พร้อมให้สร้างรถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง "ขอนแก่น-โคราช-ท่าเรือแหลมฉบัง" และ "นครสวรรค์-ท่าเรือแหลมฉบัง" ใช้เงินจากกองทุนน้ำมัน 2 หมื่นล้าน ไฟเขียวก่อสร้างโรงงานยาสูบ 1.62 หมื่นล้าน ด้านแอร์พอร์ตลิงก์ฉาวยังวุ่น คมนาคมเร่งเคลียร์ปัญหา ร.ฟ.ท.ตั้งบริษัทลูกเดินรถเล็งจ้างเอกชนบริหาร หวังเสนอ ครม.ภายใน 1 เดือน
วานนี้ (22 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ เนื่องจากวันอังคารที่ 23 ต.ค.ตรงกับวันหยุดราชการ (วันปิยมหาราช) วาระการประชุมที่น่าสนใจและ ครม.อนุมัติ ได้แก่ร่างกรอบความตกลงทั่วไประหว่างกระทรวงการคลังกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน (China EXIM Bank) วงเงินกู้รวม 400 ล้านเหรียญสหรัฐ (1.36 หมื่นล้านบาท) ทั้งนี้ เงินกู้ China EXIM Bank จะใช้ในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยกำหนดให้ใช้ได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลจีนเป็นผู้ชนะการประมูล ส่วนธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) ที่ยังยื้อการให้กู้นั้น ยังมีเวลาจนกระทั่งถึงช่วงที่จะเปิดประมูลการก่อสร้าง
รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กำหนดให้ ครม.วานนี้เป็นสัปดาห์ของการพิจารณาโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็กต์) ของรัฐบาลเป็นสัปดาห์สุดท้าย
สำหรับรายละเอียดของการกู้เงินจากประเทศจีนครั้งนี้ นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษก ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนเสนอให้ Preferential Export Buyer’s Credits แก่รัฐบาลไทยผ่าน China EXIM Bank เพื่อสนับสนุนการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์จากจีน ซึ่งกำหนดเป็นกรอบในความตกลงทั่วไป โดยมี China EXIM Bank เป็นผู้ให้กู้ และกระทรวงการคลังของประเทศไทยหรือสถาบันที่รัฐบาลไทยให้การรับรองเป็นผู้กู้ ส่วนขั้นตอนการใช้เงินกู้จะพิจารณาเป็นรายโครงการ โดยโครงการจะต้องมีสัดส่วนสินค้าจากจีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 สำหรับโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลทั้งสองประเทศ กระทรวงการคลังจะเสนอขอใช้เงินกู้สำหรับโครงการดังกล่าวต่อ China EXIM Bank และลงนามสัญญาเงินกู้รายโครงการร่วมกันหลังจากโครงการได้รับการอนุมัติ
"กรอบความตกลงทั่วไป และสัญญาเงินกู้รายโครงการ จะต้องสอดคล้องและอยู่ภายใต้กฎหมายของจีน หากมีข้อโต้แย้ง ที่เกี่ยวข้องกับความตกลงทั่วไป และสัญญาเงินกู้รายโครงการซึ่งไม่สามารถประนีประนอมกันได้ภายใน 60 วัน ให้ส่งข้อขัดแย้งดังกล่าวต่อ CIETAC ณ กรุงปักกิ่ง เพื่อพิจารณาและให้ถือคำตัดสินของ CIETAC เป็นสิ้นสุด"นายโชติชัย กล่าว
อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเงินกู้ 15 ปี ระยะปลอดหนี้ 5 ปี และมีค่าธรรมเนียมเงินกู้ร้อยละ 0.5 ต่อปีของวงเงินที่ไม่ได้เบิกจ่าย และค่าธรรมเนียมการจัดการ ร้อยละ 0.5 ต่อปีของวงเงินกู้ โดยการจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยจะต้องจ่ายคืนปีละ 2 ครั้ง ในวันที่ 21 ม.ค.และ 21 ก.ค.ของทุกปี
"ครม.ให้ความเห็นชอบในร่างกรอบความตกลงทั่วไประหว่างกระทรวงการคลังกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีน จึงอนุมัติให้กระทรวงการคลังโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายลงนามในกรอบความตกลงทั่วไปดังกล่าว"
อนุมัติสร้างรถไฟทางคู่ 2 เส้นทาง
ครม.วานนี้ อนุมัติโครงการนำร่องการพัฒนาระบบการจัดการขนส่งสินค้าและบริการ ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เสนอ 2 เส้นทาง คือ การก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางขอนแก่น - นครราชสีมา - ท่าเรือแหลมฉบัง และ เส้นทางนครสวรรค์ - ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเป็นต้นแบบในการสนับสนุนให้มีการขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ทางรถไฟ โดยมีการรวบรวมและกระจายสินค้าที่ย่านกองเก็บตู้สินค้าในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยลดเวลาและต้นทุนการขนส่ง
นายโชติชัย ระบุว่า เหตุผลที่ต้องส่งเสริมการขนส่งสินค้าผ่านระบบราง เพราะการขนส่งไทยยังขาดความเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ และในปัจจุบันจะพบว่า การขนส่งสินค้าในรูปแบบของรถบรรทุกมีปริมาณมากถึง 86.32% แต่ทางน้ำมีสัดส่วนประมาณ 11.62% ขณะที่ทางรถไฟมีสัดส่วน 2.05% และ เครื่องบินประมาณ 0.01% ดังนั้น จำเป็นต้องส่งเสริมการขนส่งระบบรางและน้ำให้มากขึ้น เพราะสามารถประหยัดต้นทุนได้ดีกว่าการขนส่งสินค้าทางอื่น ซึ่งการนำร่องทั้งสองเส้นทางจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งข้าวสาร แป้งมันสำปะหลัง และน้ำตาลทราย เป็นต้น
นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รมช.คมนาคม กล่าวว่า โครงการนำร่องดังกล่าวอาจใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยสิ้นเดือน ต.ค.นี้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รมว.พลังงาน และนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง จะหารือในรายละเอียดถึงหลักเกณฑ์การกู้เงิน โดยกำหนดกรอบการกู้เงินไว้ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท สำหรับระยะเวลาการกู้เงิน ต้องการให้อยู่ในช่วงเวลา 3-5 ปี แต่ขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีทั้ง 2 กระทรวงเป็นผู้พิจารณาอีกครั้งว่า มีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งเชื่อว่าทั้ง 2 โครงการหากเดินหน้าจะช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าของผู้ประกอบการผ่านระบบราง มากขึ้น เพราะปัจจุบันการขนส่งสินค้าของไทยส่วนใหญ่จะเป็นทางถนน เนื่องจากการลงทุนทางรถไฟยังมีน้อย
ไฟเขียวก่อสร้างโรงงานยาสูบ
ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบแผนงานโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือเขตอุตสาหกรรมห่างจากกรุงเทพฯ ในรัศมีไม่เกิน 200 กม. ภายในวงเงิน 16,200 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปี (51-55 ) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยแหล่งที่มาของเงิน แบ่งเป็นกำไรจากโรงงานยาสูบที่กันเงินนำส่งรายได้ปีงบประมาณ 51 วงเงิน 4,664 ล้านบาท,ปี 52 วงเงิน 4,685.98 ล้านบาท และเงินที่ได้กันไว้แล้ว 6,850.02 ล้านบาท ส่วนที่ดินในโครงการเดิมที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 304 ไร่จะใช้ทดลองและเพาะพันธุ์ยาสูบชนิดใหม่ และพัฒนาเป็นศูนย์เพาะพันธุ์ระดับภูมิภาคเพื่อยกระดับเกษตรกรไทย ส่วนที่ดินใหม่ใช้พื้นที่ 210 – 250 ไร่ซึ่งเป็นที่ก่อสร้างอาคารที่พัก และพื้นที่สันทนาการรวม 20 ไร่
“ตามข้อมูลของผู้ผลิตเครื่องจักรในขบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับมีเพียง 2-3 รายในตลาดโลก ซึ่งหากจะหาผู้รับเหมาก่อสร้างจะมีผู้เข้าประกวดราคาน้อย จึงไม่เป็นผลดี ดังนั้นจำเป็นต้องประกวดราคาในประเทศ กรณีของการก่อสร้างอาคาร สิ่งก่อสร้าง ระบบสาธารณูปโภค และเสริมการผลิต และประกวดราคาสากลสำหรับการจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์”นายโชติชัย กล่าว และว่า จะทำให้มีโรงงานมีกำลังการผลิต 32,000 ล้านมวนต่อปี รวมถึงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในการแข่งขันกับบุหรี่ต่างประเทศได้
ก่อนหน้านี้ ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงงานยาสูบแห่งใหม่ที่ จ.เชียงใหม่ โดยวิธีจัดหาผู้รับจ้างแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลระหว่างประเทศไทยและจีน รวมทั้งยกเลิกการดำเนินการการค้าต่างตอบแทน และให้ปรับแผนงานโครงการก่อสร้างโรงงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพธุรกิจปัจจุบัน โดยมีวงเงินลงทุนไม่เกินจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้เดิม คือ 21,770.80 ล้านบาท คาดว่าสถานที่ก่อสร้างโรงงานจะอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมหนองแค ต.หนองไข่น้ำ อ.หนองแค จ.สระบุรี
แอร์พอร์ตลิงก์ฉาวยังวุ่น
ด้านความคืบหน้าการเสนอเรื่องแผนดำเนินงานก่อสร้างระบบขนส่งทางรถไฟ เชื่อมต่อ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และ สถานีรับส่ง ผู้โดยสารอากาศยานในเมือง (แอร์พอร์ตลิงก์) วานนี้ นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กระทรวงการคลัง และอัยการ ว่า เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 ต.ค.50 เห็นชอบให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ 18,987.28 ล้านบาท ให้ร.ฟ.ท.เพื่อจ่ายค่าก้อสร้างให้บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่นจำกัด(มหาชน) ผู้รับจ้างตามสัญญา ส่วนงานก่อสร้างที่เหลือวงเงินอีก 9,940 ล้านบาทนั้น ร.ฟ.ท.ต้องทำรายละเอียดให้ชัดเจนภายใน 1 เดือนโดยครม.เห็นว่า โครงการนี้จะต้องดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ
ดังนั้นจึงได้เร่งรัดให้ ร.ฟ.ท.เร่งดำเนินการในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการแอร์พอร์ตลิงค์เพื่อเสนอครม.ในคราวเดียว ประกอบด้วย 1. เจรจากับ บริษัท ซิโน-ไทย เกี่ยวกับระยะเวลาการก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จ ซึ่งขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างหารือกับ อัยการเกี่ยวกับระยะเวลา 180 วัน ซึ่งขยายตามมติครม.เพื่อช่วยเหลือกรณีเกิดน้ำท่วมว่าจะนับรวมหรือแยกจาก 370 วันที่พิจารณาขยายเนื่องจากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า รวมถึงการเจรจาถึงกระบวนการจ่ายเงินตามมติครม.โดยให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ 2. จัดทำรายละเอียดการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อทำหน้าที่บริหารการเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์
3.หาข้อสรุปเกี่ยวกับค่าก่อสร้างอาคาร สถานี และอุโมงค์ใต้อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ วงเงิน 3,866 ล้านบาท ที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.ได้ดำเนินการก่อสร้างและออกค่าก่อสร้างไปก่อนหน้านี้ ซึ่งได้ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด โดยมีนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ซึ่งมีทางเลือกเพิ่มเติมว่า อาจจะให้ทอท.เป็นเจ้าของและให้ ร.ฟ.ท.เช่าใช้ก็ได้ 4. ให้สนข.พิจารณาแนวทางการเชื่อมต่อการเดินทางจากบางซื่อ(สถานีกลาง) –สุวรรณภูมิและดอนเมือง-สุวรรณภูมิ
"การหาข้อสรุปทั้งหมดและเสนอครม.ไปพร้อมกันจะทำให้การดำเนินโครงการแอร์พอร์ตลิงก์เดินหน้าต่อไปได้ตามความเห็นครม.ส่วนเรื่องสอบสวนต่างๆ นั้นจะต้องแยกออกจากการก่อสร้างซึ่งหากคณะกรรมการต่างๆ สรุปผลออกมาก็ไม่ได้หมายความกระทรวงคมนาคมจะตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิดได้ ซึ่งเรื่องนี้อาจจะต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการให้ข้อมูลต่าง ๆ กับคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)" นายสรรเสริญ กล่าว
นายอารักษ์ ราษฎร์บริหาร หัวหน้าผู้บริหารด้านการเงิน ร.ฟ.ท. กล่าวถึงแนวทางในการบริหารการเดินรถโครงการแอร์พอร์ต ลิงก์ว่า มี 2 แนวทาง คือ ร.ฟ.ท.ตั้งบริษัทลูก ถือหุ้น 100% เพื่อบริหารการเดินรถเองทั้งหมด หรือตั้งบริษัทลูกแต่ให้เอกชนจากภายนอกเข้ามารับงานบริหารการเดินรถต่อ ซึ่งทั้ง 2 แนวทางนี้ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วว่าไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ซึ่งแนวทางการให้เอกชนเข้ารับบริหารต่อมีความเป็นไปได้มากที่สุดและในอนาคต บริษัทลูกจะบริหารการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และบางซื่อ-รังสิต
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|