สิ้นปีส่งออกอาหารทะลุ 6 แสนล.2 สภาฯเชื่อปีหน้าสิ้นคาแพงขึ้น


ผู้จัดการรายสัปดาห์(22 ตุลาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ส.อาหารคาดส่งออกอาหารไตรมาส 4 กระเตื้องเชื่อจนถึงสิ้นปียอดส่งออกทั้งหมดจะทะลุ 6 แสนล้านเพิ่มขึ้นเกือบ 8 % จากปีที่แล้ว ขณะที่ “สภาอุตฯ-หอการค้า” เตือนปีหน้าจับตาราคาสินค้าเพิ่มขึ้นทั้งในและนอกประเทศ โดยสาเหตุหลักมาจากวัตถุดิบขาดแคลน-ราคาน้ำมันและค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังจะส่งผลกระทบต่อไป

กลุ่มธุรกิจอาหารคือกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่มุ่งเน้นการส่งออกและนำรายได้เข้าประเทศจำนวนมากในรอบหลายปีที่ผ่านมาแม้จะมาตรการกีดกันสินค้าจากประเทศต่างๆก็ตาม ขณะที่การส่งออกในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมาแม้จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้แต่อัตราการขยายตัวของธุรกิจยัง ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าในไตรมาสสุดท้ายของปีการส่งออกจะเพิ่มขึ้น และจะทำให้ยอดการส่งออกของไทยทะลุถึง 60,000ล้านเลยทีเดียว

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหารมองว่า ภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารของไทยในปี 2550 ยังขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ เนื่องจากการส่งออกประสบปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ การขาดแคลนวัตถุดิบ การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทยทั้งสิ้น

ขณะที่แนวโน้มส่งออกการส่งออกสินค้าอาหารในไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 คาดว่ามีแนวโน้มฟื้นตัวได้ หลังจากที่ชะลอตัวในไตรมาสที่ 3 โดยการส่งออกในไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะมีมูลค่า 156,659 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเงินบาทที่มีเสถียรภาพขึ้นและเคลื่อนไหวในช่วงแคบๆในช่วงไตรมาส 3 ถือเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2550 เมื่อรวมตลอดปี 2550 คาดว่าการส่งออกสินค้าอาหารจะมีมูลค่า 608,047 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 จากปี 2549 ตัวเลขส่งออกที่ยังขยายตัวสูงเนื่องจากการส่งออกสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เช่น ข้าว น้ำตาล มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ผักและผลไม้สด ยังขยายตัวตัวได้ดี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากผลผลิตสินค้าเกษตรทั่วโลกอยู่ในภาวะตึงตัว ทำให้มีความต้องการสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น

ส่วนการส่งออกสินค้าประมง ปศุสัตว์ และสับปะรดกระป๋อง มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีก่อนเนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ โดยเฉพาะทูน่าแปรรูปและสับปะรดกระป๋อง ส่วนการส่งออกกุ้งและเนื้อไก่แปรรูปมีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่รายได้ในรูปเงินบาทลดลง

ไพบูลย์ พลสุวรรณา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)มองว่าในปีหน้า ( 2551 ) ทิศทางราคาสินค้าอาหารจะมีการปรับขึ้นแน่นอนเพราะที่ผ่านมาต้นทุนด้านพลังงาน ซึ่งเป็นต้นทุนของค่าขนส่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ประกอบการเองจะต้องบริหารจัดการต้นทุนภายใน และขณะนี้ก็กำลังพัฒนาเรื่องระบบโลจิสติกส์ให้ดีขึ้นคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ภายในต้นปีหน้า

สาเหตุที่ราคาสินค้าอาหารในปีหน้าจะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น ปัญหาที่สำคัญจะมาจากต้นทุนวัตถุดิบโดยเฉพาะต้นทุนค่าขนส่งจึงทำให้ราคาสินค้าอาหารทั้งภายในและนอกประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องซึ่งจะทำให้อาหารภายในประเทศก็มีทิศทางทยอยปรับขึ้นแน่นอนโดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เยือกแข็งและซีฟู้ดที่เริ่มมีการปรับขึ้นไปบ้างแล้ว นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจจากประเทศญี่ปุ่นได้ย้ายฐานกำลังการผลิตประมาณ 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมดจากจีนเข้ามาไทยเพื่อแก้ปัญหาความเสี่ยงในกรณีที่จีนผลิตสินค้าไม่ได้ เพื่อให้สามารถขยับราคาสินค้าขึ้นได้โดยจะมีการหารือร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) และหอการค้าญี่ปุ่น (เจซีซี) ในเดือน พ.ย.นี้ ว่าจะมีบริษัทอะไรบ้างที่จะย้ายฐานการผลิตเข้ามา

“ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คาดการณ์ว่าปีหน้าราคาสินค้าอาหารจะเพิ่มขึ้นคือ ราคาน้ำมันที่ยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ปัญหาเงินบาทแข็งค่า ราคาวัตถุดิบแพงขึ้น และการเข้มงวดในการตรวจมาตรฐานรวมทั้งการแข่งขันกับประเทศคู่ค้าด้วย” พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ประธานคณะกรรมการธุรกิจเกษตรและอาหาร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวยืนยัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.