เอเชียน แปซิฟิค กรุ๊ป : เวนเจอร์ แคปิตอล ตัวจริง


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

ความสำเร็จจากการเจรจาซื้อบงล. ตะวันออกฟายแน้นซ์ หนึ่งในทรัสต์ 4 เมษาฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าใครคือนักซื้อกิจการตัวจริงในวงการธุรกิจไทย

ชื่อของกลุ่มเอเชียน แปซิฟิคออกจะดูใหม่ในวงการ แต่ชื่อของราเกซ สักเสนา CHIEF OPERATING OFFICER ของกลุ่มฯนั้นไม่ใหม่เลย ออกจะเป็นที่รู้จักกันดีด้วยซ้ำไป นอกจากซื้อตะวันออกฟายแน้นซ์แล้ว เอเชียน แปซิฟิคกรุ๊ปกำลังดำเนินการซื้อกิจการด้านฟาสต์ฟูด กิจการผลิตอาหารสำเร็จรูปและกิจการอิเล็กทรอนิกส์รวม 3-4 แห่งเข้าไว้ในกลุ่มให้ได้ก่อนสิ้นปี 2532 ด้วย

ส่วนปี 2533 ก็มีเป้าหมายเมื่อถึงสิ้นปีหน้ากิจการที่จะซื้อเข้ามาไว้อีกมากกว่า 10 แห่ง คิดเบ็ดเสร็จก็เท่ากับมีกิจการในกลุ่มมากกว่า 50 แห่ง

แล้วจะไม่ให้เรียกกลุ่มนี้ว่าเป็นนักซื้อกิจการตัวจริงได้อย่างไร

การซื้อกิจการที่กลุ่มเอเชียนแปซิฟิคทำนี้ หมายถึงการเลือกพิจารณาร่วมลงทุนกับบริษัทขนาดกลางที่มีแนวโน้มจะเติบโตขยายตัวได้อีกไกลในอนาคตหรือเลือกร่วมทุน เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตให้กับบริษัทเหล่านั้นโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นบริษัทในแขนงธุรกิหนึ่ง โดยเฉพาะแต่ให้กระจายไปในแนวธุรกิจที่กลุ่มมีความชำนาญ

ปัจจุบันเอเชียน แปซิฟิค กรุ๊ปมีบริษัทในเครือที่แยกประเภทธุรกิจได้ดังนี้คือ ธุรกิจการเกษตร เครื่องจักรกล สุขภาพ การบริการอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม/การท่องเที่ยว การค้า การจัดจำหน่ายอิเล็กทรอนิกส์ / คอมพิวเตอร์ INTERNATIONAL INVESTMENT BANK และ RISK ARITAGE

บริษัทสำคัญในกลุ่มได้แก่ PROPERTY SOLUTIONS CO., LTD. ทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ปัจจุบันมีโครงการพัฒนาที่ดินในกรุงเทพฯ 3 แห่งที่พัทยา 1 แห่ง, บ.เอเชีย พอยน์ ในฮ่องกงให้บริการการเงินเพื่อส่งเสริมการลงทุน, บ.นมอีสาน จก.ผลิตภัณฑ์นม, บ.ไรซ์ เอ็นจิเนียริ่ง ซัพพลาย จก. ผลิตเครื่องจักรการเกษตร และบ.ไทยโปรโมชั่น แอนด์ เวนเจอร์ จก. ให้บริการด้านข่าวสาร

บริษัทสำคัญในกลุ่มก่อตั้งขึ้นมาแห่งละหลายปี แต่ตัวเอเชียนแปซิฟิค กรุ๊ปนั้นเพิ่งจะมีขึ้นในราว 1 ปี โดยถือกำเนิดจากการรวมตัวของ 3 บริษัทคือ VENTURE CAPITAL CO., LTD., PROPERTY SOLUTIONS CO., LTD. FARM VENTURES CO., LTD. โดยมี VENTURE CAPITAL ซึ่งเป็นอินเวสเม้นท์ คอมปานีเป็นหัวหอกของกลุ่ม

ราเกซกล่าวกับ "ผู้จัดการไ ว่ากลุ่มเอเชียน แปซิฟิคจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารงานของบริษัทในเครือเหล่านี้ พวกเขาจะมีการบริหารงานที่เป็นเอกเทศของตนเอง แต่ทางกลุ่มฯจะเข้าไปดูในด้านนโยบายการลงทุน และ VENTURE CAPITAL ยังจะดูในเรื่องของโครงสร้างทางการเงินในโครงการต่าง ๆ ของกลุ่มที่จะร่วมกันลงทุนด้วย

ในส่วนของ VENTURE CAPITAL นั้น เป็นชื่อที่คุ้นหูระดับหนึ่งในบรรดาธุรกิจประเภทใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย โดยเกิดขึ้นจากการร่วมลงทุนของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและสถาบันการเงินหลายแห่ง ทำธุรกิจร่วมทุนกับกิจการหลายประเภทที่มีอนาคตจะเติบโต และเมื่อพัฒนาไประยะหนึ่งจนพอจะมีความมั่นคงแล้ว ก็อาจจะนำบริษัทนั้น ๆ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นบริษัทมหาชน และ VENTURE CAPITAL ก็ขายหุ้นถอนตัวออกมา

VENTURE CAPITAL เป็นเอเซียน แปซิฟิคมาก แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มฯ มาจากการที่บริษัทในฮ่องกง 2 แห่งดได้เข้ามาร่วมถือหุ้นและร่วมบริหารกิจการของกลุ่มด้วย โดยมีนโยบายที่จะซื้อกิจการหลายแห่งในออสเตรเลียและอเมริกาเหนือ

แผนการลงทุนที่น่าสนใจประการหนึ่ง คือเรื่องการซื้อหุ้นส่วนข้างมากของอินเวสเม้นท์โฮลดิ้งแห่งหนึ่ง ซึ่งจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แวนคูเวอร์ โดยมีเป้าหมายที่จะอำนวจความสะดวกทางการลงทุนในประเทศไทยให้กับนักลงทุนชาวต่างชาติ ทั้งนี้จะเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีแนวโน้มจะเติบใหญ่ ก่อนที่จะนำบริษัทเหล่านี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

จะว่าไปแล้วก็คือการดึงเอาทุนต่างชาติเข้ามาเป็นทุนร่วมเสี่ยง (VENTURE CAPITAL กับบริษัทไทยนั่นเอง ซึ่งการทำ VENTURE CAPITAL เป็นเรื่องที่นักธุรกิจต่างชาติคุ้นเคยดีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี คุณลักษณะที่สำคัญประการหนึ่งของผู้ที่จะทำ VENTURE CAPITAL ได้จำเป็นที่จะต้องเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจหรือเป็นผู้ที่เป็นที่รั้กมักคุ้นในวงการ และนี่เองที่เป็นมูลเหตุของการเกิดข้อความโฆษณาแปลก ๆ ในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษฉบับหนึ่ง

ราเกซกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงนัยยะของข้อความโฆษณานี้ว่า มันเป็นเรื่องการอธิบายวิธีการบริหารงานของกลุ่มเอเชียนแปซิฟิคเท่านั้น "เราต้องการบอกว่าทำไมเราจึงร่วมลงทุนในบริษัทนี้ เราจะทำอะไรในบริษัทนี้บ้าง เราต้องการเปิดเผยหรือประกาศให้ทราบถึงวิธีบริหารธุรกิจของเรา"

การลงประกาศข้อความเช่นนี้จึงไม่ได้มีเป้าหมายที่การหาลูกค้าเหมือนโฆษณาอื่น ๆ ราเกซกล่าวว่าเขาไม่ได้ต้องการลูกค้าจากการประกาศนี้ เพราะขณะนี้เขาก็มีลูกค้ามากมายอยู่แล้ว

ไม่เพียงแต่กลุ่มเอเซียน แปซิฟิคจะมีบริษัทในเครือเพิ่มมากขึ้น ๆ แต่ในจำนวนบริษัทเหล่านั้นมีที่น่าสนใจอยู่หลายแห่ง เช่น บริษัท BISNEWS AGENCY CO., LTD. ซึ่งเป็นบริษัทที่ขายบริการข่าวสารทางธุรกิจ BISNEWS มีโครงการร่วมกับ VENTURE CAPITAL ในการที่จะพัฒนาและขยายการให้บริการข้อมูลข่าวสารแก่บริษัทและสถาบันการเงินใหญ่ ๆ ในประเทศไทย โดยจะมีการตั้งสำนักข่าว APEX เป็น NEWS SERVICE ที่มีข่าวทั่ว ๆ ไปและข่าวการเงินที่ทันเหตุการณ์ทั้งในและนอกประเทศไว้บริการ

ระบบการรายงานแบบใหม่นี้จะช่วยให้ผู้บริหารของกลุ่ม ASIAN PACIFIC มีข้อมูลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของบริษัทในเครืออย่างชัดเจนถูกต้องและเป็นข้อมูลที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ข้อมูลเหล่านี้จะใช้เป็นประโยชน์ในการวางแผนการขยายตัวของกลุ่มฯ ต่อไปในอนาคต

รูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ของกลุ่ม ASIAN PACIFIC เป็นสิ่งที่น่าสนใจติดตามเป็นอย่างยิ่ง VENTURE CAPITAL มีเกณฑ์การคัดเลือกพิจารณาบริษัที่จะซื้อกิจการหรือตัดสินใจร่วมทุนด้วยอย่งไร จะร่วมกันบริหารกิจการนั้น ๆ อย่างไร ชื่อของราเกซสักเสนาหรือเบิร์ต โรเมโร คือใครมีประวัติความเป็นมาอย่างไรประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่น่าสนใจติดตามทั้งสิ้นโดยเฉพาะเมื่อ ASIAN PACIFIC GROUP กลายเป็น THE REAL VENTURE CAPITAL



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.