ศก.ไทยดิ่งเหว"เงินเฟ้อพุ่ง-บาทแข็ง" "ขิงแก่"โยนปัญหาให้รัฐบาลใหม่แก้!


ผู้จัดการรายสัปดาห์(22 ตุลาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ราคาน้ำมันขึ้นไม่หยุด สินค้าพาเหรดปรับราคา พาณิชย์ทำได้แค่ซื้อเวลา รัฐบาลหน้ารับเคราะห์ปัญหาเงินเฟ้อ แถมซับไพร์มจ่อกระทบค่าเงินบาท กำหนดทิศทางดอกเบี้ยในประเทศยาก หากขึ้นดอกเบี้ยกดกำลังซื้อหด ถ้าลดดอกเบี้ยกระทบเงินออม

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อ 10 ตุลาคม 2550 ที่ผ่านมา ได้คงอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันไว้ที่ 3.25% เนื่องจากประเมินแล้วว่าอาจจะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อจากราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น

หลังจากที่เงินเฟ้อเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม และอัตราเงินเฟ้อ 9 เดือนของปี 2550 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาสูงขึ้นร้อยละ 2 ซึ่งสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันดิบดูไบตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 63-76 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งกรมการค้าภายในอนุมัติให้บางรายการสินค้าที่ได้รับผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและทำเรื่องขอปรับราคามาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งกรมการค้าภายในอนุมัติให้บางรายการ เช่น น้ำปลา จากขวดละ 23 เป็น 25 บาท กาแฟเพิ่มอีกขวดละ 3 บาทตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีสินค้าอีกราว 30 รายการ ที่ขอปรับราคามาตั้งแต่ปลายปี 2549 แต่ทางกระทรวงพาณิชย์ยังคงตรึงราคาเดิมต่อไป

ขณะที่ค่าโดยสารได้ปรับเพิ่มขึ้นไปแล้วเมื่อ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา รถร่วมบริการ ขสมก. ปรับเพิ่มขึ้นอีก 50 สตางค์และรถร่วมปรับอากาศเพิ่มขึ้นระยะละ 1 บาท รวมถึงรถของบริษัทขนส่ง จำกัด(บขส.)และรถร่วมของภาคเอกชนที่ขนส่งขนจากจังหวัดต่าง ๆ เข้ากรุงเทพมหานคร อีก 3 สตางค์ต่อกิโลเมตร ส่วนค่าบริการของ ขสมก.ขอตรึงราคาไว้ 3 เดือน จนถึง 15 มกราคม 2551 และในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ สมาคมขนส่งสินค้าเพื่อการนำเข้าและส่งออกจะปรับอัตราค่าขนส่งเพิ่มขึ้นอีก 3-5%

แม้ค่าไฟฟ้าในงวดเดือนตุลาคม 2550 - มกราคม 2551 ลดลง 2.31 สตางค์ต่อหน่วย จากค่าเอฟทีปัจจุบัน 68.42 สตางค์ต่อหน่วย เหลือค่าเอฟที 66.11 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้เมื่อค่าไฟฟ้าเอฟทีรวมกับค่าไฟฟ้าฐาน 2.25 บาทต่อหน่วย ค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนจะลดลงจาก 2.93 บาทต่อหน่วย เหลือ 2.91 บาทต่อหน่วย หรือลดลงร้อยละ 0.79

แต่แนวโน้มค่าเอฟทีงวดต่อไป (กุมภาพันธ์ 2551- พฤษภาคม 2551) มีทิศทางที่อาจปรับขึ้นได้ เพราะราคาก๊าซธรรมชาติจะปรับขึ้นตามราคาน้ำมัน

ด้านราคาก๊าซหุงต้มจ่อคิวปรับเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้อีกกิโลกรัมละ 2-3 บาท

ทั้งหมดนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและค่าครองชีพของประชาชน แม้กรมการค้าภายในหน่วยงานที่ควบคุมดูแลราคาสินค้าทำได้เพียงการขอร้องผู้ประกอบการให้ตรึงราคาไว้ แต่คงทำได้แค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ขณะบะหมี่กึ่งสำเร็จสำรูปรายใหญ่อย่าง"มาม่า" ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าที่วัดเศรษฐกิจของประเทศได้ในระดับหนึ่ง จะขอปรับขึ้นอีกซองละ 1 บาท ส่วนจะเป็นเดือนธันวาคมหรือมกราคมคงต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง นับเป็นการสะท้อนถึงทิศทางของราคาสินค้าในประเทศว่าสินค้าอีกหลายรายการไม่สามารถแบกต้นทุนจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นได้

ขณะที่สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ได้ทำสถิติสูงสุดต่อเนื่องมาโดยตลอดจนถึง 87.61 เหรียญต่อบาเรล เมื่อ 16 ตุลาคม 2550 ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับเพิ่มขึ้นอีก 40 สตางค์ต่อลิตรเมื่อ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยเบนซิน 95 อยู่ที่ลิตรละ 30.39 บาท หากราคาน้ำมันในตลาดโลกยังทรงตัวหรือปรับเพิ่มขึ้นย่อมส่งผลต่อราคาน้ำมันในประเทศ

เงินเฟ้อพุ่ง-ดอกเบี้ยขึ้น

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งสัญญาณด้านลบต่อสภาพทางด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อตามมา นั่นหมายถึงผู้ที่มีหน้าที่ในการดูแลเรื่องเสถียรภาพค่าเงินบาทอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ส่งสัญญาณถึงแนวทางในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อมาแล้วด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับเดิมที่ 3.25%

นักวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคประเมินว่า แน่นอนว่าเมื่อราคาน้ำมันปรับขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคขึ้นตามมา ย่อมทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงนี้จะปรับเพิ่มขึ้น ยิ่งถ้าสินค้าในหลาย ๆ รายการพร้อมใจกันปรับขึ้นในปีหน้า น่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อในปีหน้าขยายตัวในอัตราเร่ง ซึ่งจะมีผลตามมาในหลาย ๆ ด้าน

เริ่มจากทิศทางของอัตราดอกเบี้ยในประเทศน่าจะเริ่มทรงตัว ส่วนโอกาสในการปรับขึ้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อนั้นต้องรอสถานการณ์เงินเฟ้อในปีหน้าว่าจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด หากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาก ทางแบงก์ชาติคงส่งสัญญาณผ่านดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร

แต่การปรับดอกเบี้ยขึ้นก็ทำได้ไม่ง่ายนักเช่นกัน เนื่องจากจะไปกระทบกับกำลังซื้อของคนในประเทศ ตรงนี้จะมีผลในเชิงลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ส่วนโอกาสของการปรับดอกเบี้ยลงก็มีเช่นกัน หากสถานการณ์ซับไพร์มในสหรัฐยังไม่สามารถแก้ไขได้จนธนาคารกลางสหรัฐปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยแก้ปัญหา จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินมายังประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย จะส่งผลให้ค่าเงินบาทของไทยแข็งขึ้น และถ้าแข็งมากเกินไปก็จะกระทบต่อภาคส่งออก แบงก์ชาติก็อาจส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยลงได้เพื่อสกัดการเข้ามาของเม็ดเงินต่างประเทศ

วัดใจยกเลิกเงินกองทุนน้ำมัน?

"โดยส่วนตัวมองว่าในปีหน้านั้นสถานการณ์ด้านเงินเฟ้อคงจะไม่มากนัก แม้ว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายตัวจะปรับขึ้นก็ตาม เนื่องจากเงินที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมันเข้าชดเชยเงินกองทุนน้ำมันน่าจะหมดลงในสิ้นปี 2550 หรืออาจข้ามไปถึงช่วงต้นปีหน้า ราคาน้ำมันในประเทศอาจปรับลดลงได้หากรัฐบาลไม่เก็บเงินเข้ากองทุนนำมันเชื้อเพลิงอีก เพราะปัจจุบันรัฐเรียกเก็บเงินจากน้ำมันเบนซิน 95 ลิตร 4 บาท เบนซิน 91 ลิตรละ 3.70 บาทและดีเซลลิตรละ 1.50 บาท ซึ่งจะเป็นตัวชดเชยไม่ให้เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นไปมาก"

แต่ถ้ารัฐบาลใหม่ไม่มีการยกเลิกเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อจะนำไปเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณที่จะสร้างรถไฟฟ้า ก็จะทำให้แนวโน้มของเงินเฟ้อในประเทศจะเพิ่มขึ้นได้ ถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นอีกก็จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศถดถอยลงไปอีก

มอบอำนาจมอบปัญหา

นี่ถือเป็นการบ้านสำหรับรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 หลังจากที่รัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ส่งมอบให้กับรัฐบาลใหม่ ที่มาพร้อมด้วยราคาสินค้านานาชนิดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และสถานการณ์ทางด้านการเงินของรัฐบาลที่เก็บรายได้น้อยกว่าเดิม เห็นได้จากเสนอแนวคิดที่จะจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 8%

โจทย์นี้ถือเป็นโจทย์หินสำหรับรัฐบาลใหม่ เพราะจะต้องเลือกตัดสินใจที่จะกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะถ้าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แนวโน้มดอกเบี้ยในประเทศย่อมต้องปรับขึ้น ยิ่งจะเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้คนในประเทศ ทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลง จะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม อาจทำให้มีปัญหาในด้านการจัดทำงบประมาณที่จะใช้พัฒนาประเทศ และจะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนต่อสถาบันการเงิน

ไม่เพียงแค่ปัจจัยในประเทศเท่านั้น หากมีเม็ดเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศไทยมาก ๆ ย่อมจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากอีก ย่อมทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสในการแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ หากจะมีการลดดอกเบี้ยหรือมาตรการต่าง ๆ เพื่อสกัดการเข้ามาของเม็ดเงินต่างประเทศ

แม้ด้านหนึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้คนออมเงินน้อยลง แล้วหันมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นมา ในช่วงที่ผ่านมาแม้รัฐจะใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ แต่ก็ไม่สามารถกระตุ้นกำลังซื้อได้เนื่องจากประชาชนขาดความมั่นใจในสถานการณ์ทางการเมือง และที่สำคัญคืออัตราการออมเงินของคนไทยมีอัตราที่ต่ำ หากรัฐต้องการจะออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินในประเทศทำเมกกะโปรเจคก็อาจทำได้ยาก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.