|

ไออาร์พีซีลั่นลดพนักงานเออรี่รีไทร์3พันคนใน2ปี
ผู้จัดการรายวัน(22 ตุลาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
คนไออาร์พีซี ตัดพ้อผู้บริหาร หลังให้คำมั่นก่อนเข้ามาบริหารว่าไม่ทิ้งกัน ล่าสุดเตรียมเออรี่รีไทร์ 3,000 คน ภายใน 2 ปี ด้านพนักงานขับรถบรรทุกน้ำมันโดนก่อน และ ปั๊มน้ำมันทีพีไอ โดนสั่งปิดไปแล้วทั่วไปประเทศ "ปิติ"บิ๊กไออาร์พีซียันไม่มีแผนไล่พนักงานออก แต่มีโครงการสมัครใจลาออกด้วยความยินยอม 2ฝ่าย โดยให้เงินชดเชยสูง ยันเตรียมศึกษาว่าขนาดองค์กรควรมีจำนวนพนักงานเท่าไรจึงเหมาะสม ล่าสุดพนักงานสมัครใจลาออกแล้วพันกว่าคน
“พนักงาน 8,000 คนต้องอยู่ได้ ผมเป็นชายชาติทหารพูดคำไหนคำนั้น พร้อมเสียงปรบมือแสดงความชื่นชมพร้อมประกายตาที่มีความหวังของพนักงานทีพีไอ (ปัจจุบันไออาร์พีซี) จนกระทั่งถึงผู้บริหารชุดใหม่ที่ ปตท .ส่งเข้าก็ยังคงย้ำอย่างสม่ำเสมอว่าจะไม่มีการเอาพนักงานออก”พนักงานไออาร์พีซี ที่ต้องจำใจลาออก กล่าวให้ ผู้สื่อข่าวผู้จัดการรายวันฟัง อย่างอัดอั้นตันใจ
พร้อมเผยต่อไปว่า พวกเราเหล่าพนักงานมักจับกลุ่มคุยกันว่ามันน่าจะมีอะไรดีๆ เพราะเราเป็นลูกจ้างอยากเห็นองค์กรมีความก้าวหน้าเหมือนอดีตที่ผ่านมา แม้จะรู้สึกเสียใจและเห็นใจเจ้าของเดิมอยู่บ้างแต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง ซึ่ง ผู้บริหารแผนจากกระทรวง การคลังเคยพูดว่ามีหน้าที่ ที่ต้องทำให้เจ้าหนี้ได้เงินคืน ลูกหนี้ต้องได้รับความเป็นธรรม เราก็เห็นว่าเจ้าหนี้ได้เงินคืนแล้ว แต่ทีพีไอก็ยังมีหนี้อยู่นับพันล้านดอลลาร์เหมือนเดิม
ตลอดระยะเวลาที่ผู้บริหารจาก ปตท. และชุดคณะทหารเกษียณอายุเข้ามาบริหารกิจการในทีพีไอ พนักงานก็หวังจะได้เห็นโปรเจ็กใหม่ ๆขยายกำลังการผลิตโรงกลั่น หรือเพิ่มกำลังการผลิตเม็ดพลาสติก และขยายโรงกลั่นแครกเกอร์เหมือนทางกลุ่มปูนฯ เหมือนที่ทางกลุ่มปตท. มาบตาพุดกำลังขยายกิจการกันยกใหญ่ แต่กลับไม่มีอะไรคืบหน้า ซึ่งพวกเราคิดกันว่า ดูเหมือนว่าเราจะกินของเก่ากันมากว่า10ปี แล้ว คิดไปแล้ว ก็กลัวว่ามันจะเจ๊งอยู่เหมือนกัน เพราะท่านผู้บริหารทำแต่เพียงจ้างบริษัทที่ปรึกษาราคาแพงมากมาทำเรื่องบริหารงานบุคคลซ้ำเป็นครั้งที่ 3 เช่น การจัดเรตติ้งบริษัท และเสียเงินจำนวนมากมายไปกับการเปลี่ยนชื่อบริษัท ในช่วงต้นปี 2550 กระแสข่าวลือเริ่มแพร่สะพัดมาจากห้องประชุมผู้บริหารระดับสูง ว่า "เขาให้เอาพนักงาน ออก 3,000 คน ไปจัดการให้ได้นะ นายใหญ่สั่ง ฝ่ายใครฝ่ายมัน" ทำให้เกิดความอึมครึม ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นก็มีให้เห็นในหมู่พนักงาน ไม่มีอีกแล้วกับความสมัครสมานสามัคคีที่เคยร่วมมือร่วมใจกันมา
การจัดองค์กรใหม่ การแย่งงานจากคนที่ทำอยู่เดิมไปให้พวกพ้อง ซึ่งจะมีเสียง เหล่านี้ให้ได้ยิน "ผมมีลูก2คน กำลังเรียนอยู่ระยองวิทยาคมหนึ่งคน และ ร.รอนุบาล อีกคน ถ้าตกงานจะทำอย่างไร หัวหน้าผมเปลี่ยนไป บางวันก็ไม่ยอมสั่งงานปล่อยให้นั่งเฉยๆ บางทีก็เรียกลูกน้องผมไปประชุมสั่งงานข้ามหัวข้ามหางกันไปมา คนในแผนกก็ทำตัวเหมือนไก่ในเข่งจิกตีกันเอง ภาพแห่งความภูมิใจในการเป็นองค์กรที่มั่นคง และคิดว่าจะทำงานอยู่ต่อไป จนกว่าจะเกษียณอายุไม่มีอีกแล้ว
บรรยากาศเหมือนค่ายทหารไม่มีผิด มีการจัดหน่วย รปภ.เฉพาะกิจใส่ชุดดำคอยอารักขานายใหญ่เวลามาประชุมที่โรงงาน ดูแล้วตลกปนสังเวช จะขาดก็เพียงปืนกลคนละกระบอกเท่านั้น
พนักงานคนเดิมกล่าว นี่หรือบริษัทที่มี ธรรมาภิบาล โปร่งใส ถ้าไม่ใช่พวกทหารหรือลิ่วล้อ สหภาพอยู่ยากจริงๆครับ " พนักงานที่รู้สึกอึดอัดมากๆ ไม่มีความสุขในการทำงานเริ่มทยอยออก แต่ละคนมีใบหน้าอันเศร้าหมอง ผมอายุ 50 กว่าแล้วอยู่ที่นี่มาเกือบ 20ปี จะให้ไปหางานทำที่ไหน ลูกเมียลำบากกันไปหมด แหล่งข่าวจาก หนึ่งในพนักงานไออาร์พีซี ซึ่งปัจจุบันยังทำงานอยู่ กล่าวว่า บริษัทมีโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด(เออรี่รีไทร์) ก็ถือเป็นโครงการที่ดีโครงการหนึ่ง คือว่าดีกว่าบีบออกเฉย ๆ เพราะถือเป็นทางเลือกให้กับพนักงาน พนักงานที่อยากออกจริงๆ ก็ได้ออกสมใจ แถมมีเงินติดตัวด้วย โดยทางบริษัทชดเชยให้ 35 เดือน ซึ่งถ้ามีพนักงานเออรี่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ เขาก็ไม่ต้องมากดดันพนักงานที่เหลือให้ออก ซึ่งยังมีพนักงานอีกจำนวนมาก ที่ยังอยากจะทำงานต่อ ทั้งที่ใจรัก อยู่มานาน และ มีภาระต้องรับผิดชอบครอบครัว หากมีพนักงานเออรี่ไม่ครบ และ ตนเองต้องถูกบีบให้ออกครอบครัวคงต้องเดือดร้อน อย่างแน่นอน
แต่สิ่งที่ไม่ดีอย่างหนึ่งคือ มันไม่เป็นไปตามข้อตกลงตามสภาพการจ้างงาน คือจริงๆ แล้วบริษัทต้องจ่ายมากกว่านี้ ซึ่งน่าจะประมาณ 50 เดือน หรือ ขั้นต่ำ 500,000 บาท แต่ทางที่ทางบริษัทดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือจะจ่าย ชดเชย 35 เดือน เพราะฉะนั้นบริษัท จึงไม่เรียกโครงการนี้ว่า เออรี่รีไทร์ แต่ใช้ ว่าพนักงานสมัครใจลาออกเอง โดยบริษัทฯ ยินดีให้เงินช่วยเหลือ ดังนั้นทางบริษัทจะให้เงินช่วยเหลือเท่าไหร่ก็ได้ ไม่ถือว่าผิดกฎหมายแรงงานเพราะเป็นการให้เงินช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตาม ถ้าพนักงานไม่ยอม ก้อสามารถดำเนินการเรียกร้องได้ แต่ที่ต้องเป็นเช่นนี้ เพราะพนักงาน และ สหภาพไม่เข้มแข็งพอ และมีพนักงานบางคนมีความจำเป็นต้องใช้เงินในภาวะเศรษฐกิจ เช่นทุกวันนี้ ก็ต้องยอมรับ ตามที่ทางบริษัทจ่ายให้ หรือบางคนก็อยากจะออกอยู่แล้ว เพราะได้ที่ใหม่ หรือต้องไปเรียนต่อ บริษัทให้เท่าไหร่เขาก็เอาทั้งนั้น มันจึงทำให้เสียระบบ แต่บริษัทมหาชน ใหญ่โตขนาดนี้ และก็มีกำไร ก็ไม่น่าจะเอาเปรียบพนักงานในลักษณะนี้ บ้านเราจึงน่าที่จะมีหน่วยงานราชการเข้ามาดูแลตรวจสอบเรื่องทำนองนี้ เพราะไม่ว่าจะเรียกชื่อโครงการว่าอย่างไร แต่ลักษณะการกระทำมันก็คือ เออรี่รีไทร์ นั่นเอง
แหล่งข่าวจากบริษัทไออาร์พีซี เผยว่า ขณะนี้ทราบว่า ทางบริษัทได้ ปิดบริษัท ในเครือเล็กๆไปก่อนแล้ว เช่น ปั๊มน้ำมันทีพีไอ ซึ่งมีทั้งหมด 80 แห่ง ทั่วประเทศ โดยทางบริษัทบริหารเองมีประมาณ 40 แห่ง และที่ลูกค้าบริหารเองประมาณ 40 แห่งเช่นกัน ปัจจุบันนี้ ปิดไปเกือบหมดแล้ว คาดว่าจะเหลือเพียง 3-4 แห่ง เท่านั้น ดังนั้นพนักงาน เด็กปั๊ม และ mart ก็เลิกจ้างไปแล้วทั้งหมด รวมทั้ง พนักงานขับรถบรรทุกน้ำมัน
พนง.ขับรถบรรทุกน้ำมันIRPC ขอความเป็นธรรม
นายโยธิน แก้ววิเชียร ตัวแทนสหภาพแรงงาน ไออาร์พีซี เปิดเผยว่าหลังจากที่ทาง บริษัท เลิกจ้างขับรถบรรทุกน้ำมันไออาร์พีซี โดยไม่จ่ายเงินชดเชย จึงได้มีการ รวมตัวเพื่อเรียกร้องเงินค่าชดเชยตามกฎหมาย หลังบริษัท เขมจิราขนส่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งน้ำมันของ บริษัทไออาร์พีซี พร้อมทั้ง ประกาศขายรถบรรทุกน้ำมัน(รถพ่วง) ทำให้พนักงานขับรถกว่า 100 ชีวิต ตกงาน และไม่สามารถไปสมัครงานที่อื่นได้เนื่องจากมีอายุเกินกว่า 50 ปีแล้ว
นายสาธิต ลองกระโทก ประธานสหภาพแรงงาน เขมจิราขนส่ง กล่าวว่า พนักงานขับรถขนส่งน้ำมัน มีอายุการทำงานมากว่า 10 ปี กับบริษัท เขมจิราขนส่ง จำกัด และเมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัท เขมจิราขนส่ง ได้ทยอยขายรถบรรทุกน้ำมัน ทำให้พนักงานขับรถ ไม่มีงานทำ โดยไม่แจ้งก่อนล่วงหน้า ทำให้พนักงานและครอบครัวประสบปัญหาความเดือดร้อน ซึ่งทางบริษัท เขมจิราขนส่ง ยินดีจ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานคนละ 100,000 –200,000 บาท แล้วแต่อายุการทำงาน ซึ่งไม่มีความเป็นธรรม เพราะแต่ละคนได้รับเงินรวมเบี้ยเลี้ยงเฉลี่ยเดือนละ 17,000 - 20,000 บาท และให้พนักงานขับรถขนส่งน้ำมันลงชื่อลาออกจากการเป็นพนักงาน บริษัท เขมจิราขนส่ง แต่พนักงานส่วนใหญ่ไม่มีใครลงชื่อลาออก
บิ๊กไออาร์พีซีโต้ไม่เคยปลดพนง.
นายปิติ ยิ้มประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯไม่มีนโยบายปลดพนักงานออก เพียงแต่มีโปรแกรมสมัครใจลาออกที่ต้องได้รับความยินยอมจากตัวพนักงานและบริษัททั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากบริษัทฯมีพนักงานมาก และการทำงานบางส่วนซ้ำซ้อนกัน ทำให้พนักงานบางคนต้องการลาออก เพื่อไปทำงานที่ใหม่หรือบางคนต้องการเกษียณก่อนอายุ บริษัทฯจึงได้ทำโปรแกรมนี้ขึ้น โดยมีเงื่อนไขที่ดีกว่าเกษียญอายุก่อนกำหนดตามกฎหมายแรงงานกำหนดไว้ เพราะได้เงินชดเชยที่สูงกว่าขึ้นอยู่กับอายุการทำงานของพนักงาน
ส่วนกรณีที่มีพนักงานบางรายร้องเรียนว่าถูกปลดนั้น ขอยืนยันว่าไม่ใช่พนักงานของไออาร์พีซี เพียงแต่เป็นพนักงานจากบริษัทอื่นที่ขับรถให้บริษัทลูกของไออาร์พีซี ซึ่งบริษัทฯได้พยายามช่วยเหลือ หลังจากบริษัทลูกได้ขายรถขนน้ำมันออกไปให้ก็เสนอให้บริษัทที่เข้ามารับซื้อรถน้ำมันนั้นรับพนักงานขับรถไปด้วย รวมทั้งเรียกร้องให้เจ้าของบริษัทนั้นจ่ายเงินชดเชยกับพนักงานด้วย
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าพนักงานไออาร์พีซีมีจำนวนมากกว่าเกินกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่าบริษัทควรมีพนักงานจำนวนเท่าไรจึงจะเหมาะสมเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเดียวกันไออาร์พีซี แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการปลดพนักงานออก หากพนักงานเหล่านั้นไม่เต็มใจก็ยังทำงานกับบริษัทต่อไปได้
แหล่งข่าวจากไออาร์พีซี กล่าวว่า ขณะนี้มีพนักงานที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการดังกล่าวดังกล่าวแล้วพันกว่าคน ล่าสุดคงเหลือพนักงานไออาร์พีซีคงเหลือประมาณ 6พันกว่าคน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้แล้วพิจารณาว่าจะยังมีโครงการนี้ต่อไปหรือไม่ อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวบริษัทฯจะให้เงินสูงถึง 3.5 เท่าของเงินที่จะได้รับตามกฎหมายแรงงาน คือ 10 เดือนเท่ากับพนักงานที่ลาออกไปจะได้เงินสูงถึง 35 เท่าของเงินเดือน จึงเป็นสาเหตุจูงใจให้พนักงานลาออกค่อนข้างมาก
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|