เสรี ที่ว่านี้ ไม่ใช่เสรี ทรัพย์เจริญ คนดังวงการค้าหุ้นจากบริษัทราชาเงินทุนในอดีต
แต่เป็นเสรี จินตนเสรี กรรมการผู้จัดการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พาราพัฒนา
ที่กำลังจะอำลาสิ้นเดือนมกราคมนี้
เสรี อายุ 48 ปีแล้ว จบเนติบัรฑิตทางกฎหมายจากอังกฤษเคยเป็นเจ้าหน้าที่ระดับบริหารในงานกฎหมายของแบงก์ชาติอยู่
3 ปี ก่อนที่จะย้ายมาเป็น DEPUTY REPRESENTATIVE OFFICER ของธนาคารเนชั่นแนลเดอ
ปารีส (B N P) แห่งฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ
เสรีอยู่ B N P เกือบ 4 ปี ก็ย้ายมาอยู่ไทยพาณิชย์ในฝ่ายธนาคารต่างประเทศแล้วค้าเงินกับยศชั้น
VICE PRESIDENT แต่ประมาณ 3 ปี มีโอกาสเป็น SENIOR VICE PRESIDENT แต่ก็ไม่ได้เป็น
ก็เลยลาออกเอาดื้อ ๆ ด้วยความเสียใจ ก็พอดีกลุ่มบรรษัทเงินุทนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
เข้ามาถือหุ้น 40% ในบงล. พารา ของกลุ่มอื้อ จือเหลียง ยุคยอดยิ่ง เอื้อวัฒนสกุลเป็นพี่ใหญ่ซึ่งถือหุ้นอยู่
40% และบรรษัทก็ส่งจักรทิพย์ นิติพนเข้ามาเป็นกรรมการ
จักรทิพย์ ต้องการบุคคลที่สามเป็นคนกลางเข้ามากุมบังเหียน บงล.พาราแทนคนของยอดยิ่งที่เกษียณไป
คือไกรสิทธิ์ พิศาลบุตร และก็ไปชักชวนเสรีให้มานั่งเป็นกรรมการผู้จัดการที่บงล.พารา
มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อไม่เกิน 5 ล้านบาท
"บอร์ดบริหารมี 4 คนคือผมจักรทิพย์ (ปัจจุบันคือ อโนทัย เตชะมนตรีกุล)
ยอดยิ่ง และภรรยา" เสรีพูดถึงโครงสร้างอำนาจบริหารบริษัทให้ฟัง
ก่อนหน้าที่เสรีจะเข้าไปทำที่พารา บริษัทแห่งนี้มีปัญหาพื้นฐาน 3 ประการคือ
หนึ่ง - ไม่มีการพัฒนาบุคคลในองค์กรให้มีความรู้ ความชำนาญในอาชีพธุรกิจการเงินและค้าหลักทรัพย์
สอง - ไม่มีการบริหารระบบการควบคุมงานด้านสินเชื่อและระบบงานที่ทันสมัย และสาม
- ไม่มีการลงทุนในเทคโนโลยีบริหารงานภายใน
เมื่อเสรีเข้าไปก็เริ่มปรับปรุงและแก้ไขปัญหาพื้นบาน 3 ข้อนี้ทันที โดยใช้ทุนดำเนินการประมาณ
10 ล้านบาท ขณะเดียวกันในการปรับปรุงธุรกิจก็ทำ 2 ด้านพร้อมกันไปคือ ด้านหนึ่งเสรีนำแบบการควบคุม
และคำขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่ทันสมัยกว่าอย่างไทยพาณิชย์ ที่เขาเคยร่วมงานด้วยมาผสมผสานประยุกต์ใช้กับธุรกิจบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์
เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่ได้มีการให้ความสำคัญจุดนี้เลย อีกด้านหนึ่ง เสรีมี
IFCT หรือบรรษัทเป็นตัวหนุนอยู่ข้างหลังในฐานะผู้ถือหุ้นการเดินหน้าขยายฐาน
LIABILITITES เพื่อไว้ใช้ในการขยายฐาน ASSET (สินเชื่อ) เป็นสิ่งที่เสรีทำอย่างรีบด่วน
"แต่ก่อนวงเงิน CALL LOAN จาก INTERBANK มีประมาณ 100 ล้านบาท มาเดี๋ยวนี้พุ่งเป็น
600 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่ได้ใช่มาก เราเพียงแต่ตั้งไว้ในยามจำเป็น" เสรีกล่าวถึงผลการสร้างฐานหนี้สิน
(LIABILITIES) เพื่อเป็นแหล่งระดมเงินในการปล่อยสินเชื่อที่กว้างขึ้น
การขยายฐาน CALL LOAN จากตลาด INTERBANK เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการยอมรับในเครดิตผู้บริหารและสถานะทางการเงินของบริษัทในสายตาผู้ประกอบธุรกิจการเงินด้วยกัน
ขณะเดียวกันก็เท่ากับเป็นการบริหารหนี้สินที่มีต้นทุนต่ำกว่าวิธีการระดมเงินทุนจาก
O.D. ที่ผู้บริหารยุคก่อนใช้เป็นประจำ
เสรีเป็นนักกฎหมาย เป็นนักการเงิน ที่ยึดมั่นในหลักการบริหารแบบมีระบบแบบแผนที่ถูกต้องตามจริยธรรมแบบนักกฎหมาย
สิ่งนี้เป็นจุดอ่อนที่ทำให้เขาขัดแย้งอยู่บ่อยครั้งในบอร์ดรูมกับยอดยิ่งและภรรยาซึ่งมีวิธีการบริหารแบบเก่า
ๆ มีตัวอย่าง อย่างน้อย 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
เหตุการณ์แรก เป็นเรื่องการให้สินเชื่อที่เสรีถูกยอดยิ่งเข้าแทรกแซง โดยเฉพาะกรณีที่สินเชื่อที่ขอมานั้นมีความสัมพันธ์ในฐานะผู้ขอเป็นเพื่อน
หรือคนรู้จักและอาศัยเหตุนี้เป็นช่องทางพิเศษในการขออนุมติจากเสรี "ครั้งหนึ่งมีขอมาไม่ถึง
1 ล้านบาทด้วยซ้ำ แต่ว่ากันว่าเสรีไม่เห็นด้วย เพราะวิเคราะห์ดูแล้วเสี่ยงเกินไปจึงปฏิเสธ
แต่ผู้กู้มีเส้นสายกับยอดยิ่งก็ขอให้ทางยอดยิ่งมาล็อบบี้ขอไว้กับเสรีทางเสรีเป็นคนแข็งยอมหักไม่ยอมงอด้วย
ก็ขัดแย้งกัน ทางยอดยิ่งก็ควักกระเป๋าส่วนตัวให้กู้ไปเอง" แหล่งข่าวในบงล.พาราพัฒนาเล่าให้ฟัง
"ผู้จัดการ" ฟัง
เหตุการณ์ที่สอง เป็นเรื่องการปรับปรุงสถานที่ให้สำนักงานเสรีอนุมัติให้ใช้ถังแซทส์
เป็นภาชนะในการเก็บและปรับหมุนเวียนในห้องสุขภัณฑ์ วงเงินไม่กี่หมื่นบาท
แต่ยอดยิ่งในฐานะกรรมการและประธานกรรมการบริหารไม่เห็นด้วย เนื่องจากแพงเกินไปไม่จำเป็น
ใช้ท่อพักบ่อซึมธรรมดาก็พอ ว่ากันว่าเหตุที่ยอดยิ่งไม่เห็นด้วย เพราะไม่รู้จักถังแซทส์ว่ามันคืออะไร
เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่ผู้บริหารระดับสูงระดับประธานบริหารลงมายุ่งเรื่องเพียงแค่นี้
และผลถึงกับทำให้ต้องมานั่งขัดแย้งกันแม้ในที่สุดจะเข้าใจกันได้ แต่สำหรับเสรีแล้วเขารู้สึกผิดหวังอย่างรุนแรงในบรรยากาศแบบนั้น
แม้เสรีจะยืนยันว่า เป็นเรื่องเล็กน้อยก็ตาม
ผลงานปีแรกของเสรีแสดงออกมาชัดว่า ฐานเงินกองทุนขยับสูงขึ้นจาก 64 ล้านบาทเป็น
130 ล้านบาท กำไรสุทธิก่อนหักภาษี ขยับจาก 5 ล้านบาท เป็น 16 ล้านบาท "16
ล้านบาทที่กำไรมา ความจริงน่าจะได้มากกว่านี้ ถ้าไม่โชคร้ายในธุรกิจหลักทรัพย์ที่เราไปรับอันเดอร์ไรน์หุ้น
ไอเอฟซีที และเอเซียไฟเบอร์ ซึ่งมันตกลงมาจากราคาขายตอนแรกซึ่งตั้งไว้ที่
220 บาท (IFCT) แต่มาเหลือแค่ 110 บาท ณ วันที่เราปิดงบบัญชี มันอยู่เหนือการควบคุม
เนื่องจาก IFCT ถูกมรสุมการเมืองเล่นงานในปัญหาการเข้ารับภาระผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน"
เสรีเล่าถึงผลกำไรที่น่าจะได้มากกว่านี้
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ในปีถัดมา ผลกำไรสุทธิก่อนหักภาษีจะเพิ่มขึ้นเป็น 40
ล้านบาท แต่สิ่งที่เสรีภูมิใจในผลงานของตัวเองคือการได้วางรากฐานระบบบริหารภายในและการพัฒนาคน
ในบริษัทให้มีความเป็นมืออาชีพ ซึ่งเขาได้ทุ่มมา 2 ปีเต็ม "มันเป็น
HIDDEN VALUE ที่จะตอบแทนออกมาในระยะยาวแก่บริษัท" เสรีกล่าวถึงคุณค่าของมัน
เสรีได้ลาออกจากบงล.พาราพัฒนาแล้ว โดยแจ้งถึงการตัดสินใจครั้งนี้แก่กรรมการเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้
มันเป็นบทเรียนที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในสังคมธุรกิจไทย ที่วัฒนธรรมแบบธุรกิจครอบครัวยังฝังแน่นอยู่
จนมืออาชีพคนแล้วคนเล่าเข้าไปได้สักเวลาหนึ่งก็ต้องถอยออกมา ดังที่ก่อนหน้านี้ราวต้นปี
2531 นุกูลประจวบเหมาะ ก็ถอยออกมาจากสยามกลการ หลังจากอยู่ที่นั่นมาได้เพียงปีเศษ
ๆ เท่านั้น
แม้การถอยออกจากองค์กรที่ตนเองสร้างสรรค์ขึ้นมา อย่างน่าเสียดายจะไม่ช่ครั้งแรกของเสรี
เพราะก่อนหน้านี้ 3 ปีเขาก็ถอยออกมาแล้วจากไทยพาณิชย์อย่างเจ็บปวดด้วยเรื่องของศักดิ์สรีและความยุติธรรมในการประเมินค่าของผลงานจริงอยู่คนอย่างเสรี
ความรู้ประสบการณ์นับ 10 ปี ในแวดวงฎหมายและธนาคารมากพอจะทำให้เขาใช้ความรู้ประสบการณ์นั้นทำมาหากินให้กับตนเองได้สบาย
ๆ ดังที่เขาบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าผมกำลังเปิดบริษัทเสรีกรุ๊ปเอสโซซิเอท
ทำธุรกิจที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่ประเมินราคาที่ดิน ไปจนถึงพัฒนาโครงการ
แต่บทเรียนมืออาชีพที่เกิดกับเสรีก็เป็นละครฉากใหญ่อีกฉากหนึ่ง ในสังคมบริหารธุรกิจไทย
ที่ผู้กำลังไต่เต้าบันไอมืออาชีพต้องระวังตัวให้สูง เนื่องจากยังมีหนามเสี้ยนของความเป็นจารีตอยู่มากมาย