บันทึกของบรรษัท 3 ทศวรรษ


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

เผลอไปหน่อยเดียวบรรษัทฯ หรือไอเอฟซีที หน่วยงานสถาบันการเงินสินเชื่อระยะยาวเพื่อการอุตสาหกรรมของไทยแห่งนี้มีอายุยืนยาวมาครบ 30 ปีแล้ว และในวาระเดียวกันก็เปิดตึกใหม่ บ่งบอกถึงการเติบใหญ่มั่นคง แม้ปัญหาการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่กระหน่ำบรรษัทฯ ในช่วงปีที่ผ่านมาจะยังคงอยู่ต่อไปก็ตาม

และในโอกาสแห่งนี้ ผู้บริหารของบรรษัทฯก็ได้ให้ฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่มีสงพงษ์ สวัสดิภักษ์ เป็นหัวเรือใหญ่จัดทำ บันทึกประวัติศาสตร์เล่มนี้ขึ้นมา และให้บริษัทแม็ชบอกซ์เป็นผู้ออกแบบ จุดเด่นของบันทึกเล่มนี้คงไม่ใช่รูปเล่มที่สวยงามที่บรรษัทฯ ทุ่มทุน ล้านบาท แต่เพียงอย่างเดียว แต่หากอยู่ที่การจัดทำเนื้อหาที่ไม่ได้บรรลุแต่เพียงประวัติศาสตร์ของบรรษัทล้วน ๆ แต่ได้เชื่อมโยงพัฒนการของอุตสาหกรรมและเหตุการณ์เศรษฐกิจของประเทศเข้าไปด้วย

ประวัติศาสตร์ของบรรษัทเล่มนี้ก็เลยมีเนื้อหาบ่งบอกถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยเข้าไปด้วย

ก็เหมือนกับช่วงที่ธนาคารกรุงเทพครบ 37 ปี และฉลองเปิดตึกใหม่ที่สีลมก็จัดทำบันทึกประวัติศาสตร์ของธนาคารเมื่อปี 2524 ในลักษณะเดียวกับของบรรษัทฯ โดยผู้จัดทำของธนาคารยุคนั้นให้ชื่อบันทึกเล่มนั้นว่า "กว่าจะถึงวันนี้"

ว่ากันว่า ยุคนั้น ธนาคารกรุงเทพลงทุนจัดทำบันทึกประวัติศาสตร์ "กว่าจะถึงวันนี้" เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท โดยมีประจวบ อินอ๊อด และสุรศักดิ์ นานานุกูล เป็นหัวเรือใหญ่จัดทำ และให้วิโรจน์กลั่นเปา นักเขียน นักวิชาการ ประจำธนาคาร (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) เป็นผู้บันทึก

ในบันทึก 3 ทศวรรษของบรรษัทฯ ได้ระบุว่า พระองค์เจ้าวิวัฒนไทย ซึ่งขณะนั้น (ปี 2502) เป็นประธานกรรมการแบงก์ไทยทนุ เป็นผู้จัดการคนแรกของบริษัทฯ และเป็นผู้ดำริให้รัฐบาลสมัยนั้น ปรับสถานภาพของธนาคารเพื่อการอุตสาหกรรมที่รัฐจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2495 แต่ประสบความล้มเหลวในการประกอบกิจการมาเป็นบรรษัทฯที่บริหารแบบเอกชน โดยวิธีโอนสินทรัพย์สุทธิ 13 ล้านบาทมาให้บรรษัทฯ

ซึ่งดำริของพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยนั้น ตรงกับความต้อกงารของธนาคารโลกด้วยดังที่ธนาคารโลกได้มีหนังสือลงวันที่ 27 พ.ค. 2502 ว่า ควรจะให้ธนาคารอุตสาหกรรมมีสถานะใหม่เป็น "LET US HOPE THE NEW INSTITUTION WILL BE A FREER AGENT"

รากฐานที่สำคัญ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ประสงค์ให้บรรษัทฯดำเนินธุรกิจในลักาณะสถานบันการเงินอุตสาหกรรมในลักษณะเป็นสถานบันการเงิน เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมมากกว่าค้ากำไรเหมือนธนาคารพาณิชย์อื่น ๆ

พูดอีกนัยหนึ่ง บทบาทของบรรษัทฯถูกกำหนดให้เข้าไปช่วยเหลือก่อตั้งและพัฒนาอุตสหกรรมเอกชน ทั้งในรูปแบบการให้สินเชื่อ ความรู้การจัดการทางวิชการแก่เอกชนที่ประสงค์ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม

การกำเนิดของบรรษัทฯ จึงเกิดขึ้นในเงื่อนไขประวัติศาสตร์ธุรกิจไทย ที่กำลังปรับเปลี่ยนตัวเองจากสังคมการค้ามาเป็นสังคมอุตสาหกรรมที่มีการผลิตตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

"ลูกค้ารายแรกของบรรษัทฯคือ บริษัทอุตสหกรรมผลิตสังกะสีของบริษัทผาแดง บรรษัทฯก็เป็นผู้หนึ่งที่ริเริ่มให้การสนับสนุนก่อตั้งขึ้น หรือแม้แต่การให้ความช่วยเหลือกิจการอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหา บรรษัทฯก็ได้เข้าไปช่วยเหลือให้สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ อย่างกรณีของบริษัทเจเนอรัลฟูดส์ โพลทรีย์ (ไทย) ในเครือกลุ่มบริษัท ป.เจริญพันธ์ ของเจริญ ศิริมงคลเกษม ที่เมื่อปี 2528 ประสบปัญหาขาดทุนอย่างน่าวิตก บรรษัทฯก็ได้เข้าไปช่วยประนอมหนี้ให้พร้อมอุดหนุนการเงินแก่บริษัทจนฟื้นตัวเติบใหญ่มาจนปัจจุบัน" บันทึกของบรรษัทเล่มนี้ได้กล่าวไว้สะท้อนอย่างแจ่มชัดถึงบทบาทของบรรษัทตามที่รัฐบาลและพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้วางไว้

ในบันทึกฯ ได้ชี้ให้เห็นว่าตลอดทศวรรษแรกสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย ยังไม่มีอะไรสลับซับซ้อนมากนัก กลไกอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศยังไม่มีอะไรผันผวนจนส่งแรกระทบฐานะการบริหารเงินของบรรษัทฯ และธุรกิจอุตสาหกรรมเอกชน เนื่องจากรัฐบาลในสมัยนั้นใช้กลไกอัตราแลกเปลี่ยนตายตัว และรัฐบาลสหรัฐฯยังไม่ได้เลิกอิงค่าดอลลาร์ไว้กับทองจนกระทั่งปี 2514

ในยุคกลางทศวรรษที่ 2 ของบรรษัทฯ ประยูร กาญจนดุลได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดการทั่วไปของบรรษัทฯ ยุคนี้เป็นยุคที่เศรษฐกิจโลกและกลไกอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนอย่างมากค่าเงินเยน และดอยซ์มาร์ก ถีบตัวสูงขึ้น ขณะที่ดอลลาร์สหรัฐอ่อนตัวลง ประยูรต้องใช้ความสามารถอย่างมากในการประคองเสถียรภาพเงินทุนที่บรรษัทฯ กู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนา "ปี 2516 บรรษัทฯ ได้ประสบกับความสำเร็จในการเจรจากับกระทรวงการคลังให้เข้ารับภาระความเสี่ยง ผลการขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทกับเงินตราสกุลต่าง ๆ จากแหล่งเงินกู้ทุกแหล่งจากเดิมเฉพาะธนาคารโลก ขณะเดียวกันก็ประสบผลสำเร็จในการให้ปรับมาตรการรับภาระความเสี่ยงขาดทุน จากอัตราแลกเปลี่ยนที่ลูกค้าบรรษัทฯแบกรับอยู่มาเป็นให้บรรษัทฯรับผิดชอบเอง เนื่องจากลูกค้าของบรรษัทฯเริ่มลังเลที่จะเบิกเงินที่บรรษัทฯให้กู้หรือบางรายถึงกับยกเลิกไปเลย" บันทึกประวัติศาสตร์ 3 ทศวรรษ บรรษัทฯระบุไว้ถึงเหตุการณ์ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ถือไว้ว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่มาของปัญหาวิกฤติการณ์ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของบรรษัทในยุคปัจจุบัน

วารี พงษ์เวช ก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดการทั่วไปของบรรษัทฯช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้สืบต่อจากประยูร กาญจนดุล (2517) ยุคของวารีเป็นยุคของเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เนื่องจากโอเปคขึ้นราคาน้ำมัน วารีได้ดำเนินมาตรการปรับปรุงระบบบริหารภายในให้เข้มแข็งขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นยุคที่บรรษัทฯขยายบทบาทเข้าไปร่วมลงทุนในธุรกิจแขนงที่เชื่อมโยงกับธนาคารเพื่อการพัฒนาอย่างครบวงจร อาทิเช่น ปี 2518 ได้จัดตั้งบริษัทกองทุนรวมขึ้น เพื่อเป็นกลไกในการพัฒนาตลาดทุนโดยระดมเงินออมของประชาชนมาบริหารในรูปการออกหน่วยลงทุนต่าง ๆ (UNIT TRUST) ปี 2520 ร่วมลงทุนจัดตั้งบริษัทจัดการอุตสาหกรรม เพื่อให้คำปรึกษาด้านเทคนิคและการจัดการอุตสาหกรรมและบริษัทไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อสร้างโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าซื้อระยะยาวหรือขายแก่นักลงทุนอุตสาหกรรม ปี 2521 จัดตั้งบริษัทไทยโอเรียนลีสซิ่ง เพื่อให้เช่าซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ระยะยาว

เหตุนี้ถ้าจะกล่าวว่ายุคของวารี เป็นยุคของการวางรากฐานให้บรรษัทฯเป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมสมบูรณ์แบบก็ไม่ผิดนัก

ทศวรรษที่ 3 ของบรรษัทฯเป็นยุคของศุกรีย์ แก้วเจริญ นักบริหารหนุ่มจากธนาคารแห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์ ศุกรีย์เป็นนักบริหารร่วมสมัยในสถานการณ์เศรษฐกิจและกลไกตลาดเงินมีความสลับซับซ้อน

ยุคนี้เป็นยุคของความใฝ่ฝันที่ต้องการจะนำสถานภาพของบรรษัทฯไปสู่สถานบันการเงินสินเชื่อระยะยาวเพื่อการอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็เป็นยุคที่บรรษัทเจริญเติบโตอย่างขีดสุด เป็นสถาบันการเงินที่เข้มแข็งในการร่วมบุกเบิกอุตสาหกรรมพื้นฐานเพื่อการส่งออก เช่น ถลุงแร่ สังกะสี ของบริษัทผาแดง

แต่อย่างไรก็ตาม กล่าวสำหรับฐานของหนี้สินที่ใช้ในการประกอบการแล้ว ยุคนี้เป็นยุคที่โครงสร้างการพึ่งแหล่งเงินทุนภายนอกของบรรษัทฯออกดอกผลให้เห็นจนประสบมรสุมความผันแปรของค่าเงินตราสกุลต่าง ๆ มากที่สุดเหตุผลมี 2 ข้อ คือ หนึ่ง-รัฐบาลได้ลดค่าเงินบาทลงจากการปรับระบบตะกร้าในกองทุนรักษาระบบอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อปี 2527 จนมีผลให้บรรษัทฯขาดทุนทางบัญชีจากค่าอัตราแลกเปลี่ยน สอง-บรรษัทมีฐานะเงินเยนในแหล่งเงินที่ใช้ในการประกอบกิจการในสัดส่วนที่สูงที่สุด ประมาณ 30-40%

ทศวรรษที่สามของบรรษัทฯในยุคของศุกรีย์ จึงเป็นยุคของความพยายามแก้ปัญหาพื้นฐาน มรสุมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ในบันทึกได้ระบุว่า "ปี 2526 บรรษัทฯเป็นสถาบันแรกที่ทำ CURRENCY SWAP เงินกู้สกลเยนเป็นสวิสฟรังซ์ ปี 2529 ทำ MATURITY SWAP เงินกู้ปอนด์สเตอลิงค์จาก 6 ปีเหลือปีเดียว จากแหล่งเงินกู้บรรษัทฯ เครือจักรภาพของอังกฤษและในปี 2531 ก็ได้ทำ CURRENCY และ MATURITY SWAP จากแหล่งเงินกู้ปอนด์สเตอลิงค์เดียวกันอีกครั้งหนึ่ง"

สิ้นทศวรรษที่ 3 ของบรรษัทจากเนื้อหาในบันทึกฯ ได้ชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างที่กำหนดสถานภาพของบรรษัท ต้องมีการปรับเปลี่ยนใหม่ให้สอดคล้องกับวิวัฒนาการของกลไกการเงิน และตลาดเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่ผันแปรไปอย่างรวดเร็ว สถาบันสินเชื่อระยะยาวเพื่อการอุตสาหกรรมเป็นรูปแบบโครงสร้างใหม่ที่บรรษัทฯใฝ่ฝันถึงทศวรรษหน้านี้เหมือนกับกำลังจะบอกว่าตลอด 3 ทศวรรษของบรรษัทฯ ผู้นำในองค์กรแห่งนี้ทุกคนตั้งแต่พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ จนศุกรีย์ แก้วเจริญ ล้วนจบประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ในองค์กรแห่งนี้แล้ว และภารกิจประวัติศาสตร์ใหม่กำลังจะได้รับการสืบทอดไปสู่อัศวิน คงสิริ และสุธี สิงห์เสน่ห์ ที่จะนำพานาวาลำนี้ไปสู่ความใฝ่ฝันการเป็นสถาบันสินเชื่อระยะยาวเพื่อการอุตสาหกรรมให้ได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.