วอลล์สตรีททรุดเพราะด้อยเชิงบริหารหรือไร?


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

นับจากเหตุการณ์ BLACK MONDAY เมื่อจันทร์ 19 ตุลาคม 1987 ที่เกิดวิกฤตการณ์ดัชนีราคาหุ้นดาวโจนส์ตกฮวบลงวันเดียวกว่า 500 จุด แล้วส่งผลกระทบถึงอุตสาหกรรมทั้งระบบ ทำให้บริษัทหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาต้องปลดพนักงานไปแล้วประมาณ 24,000 คน แต่ก็ยังมีผลกระทบสืบเนื่องจนถึงทุกวันนี้ที่ทำให้สรุปกันว่า จำนวนพนักงาน ตัวสินค้า ระบบ และสินทรัพย์ของอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ยังมีมากเกินไป ขณะที่จำนวนลูกค้ามีไม่เพียงพอเสียแล้ว

จากนั้น ทุกอย่างก็ดำเนินไปสู่ภาวะที่เคยเป็นมาทุกครั้ง คือ มีการหยิบยกปัญหา "การบริหาร" ขึ้นมาถกกันว่าเป็นสาเหตุของความตกต่ำที่เกิดขึ้น แต่พอสถานการณ์ฟื้นตัวและดำเนินไปด้วยดี ทุกคนก็ลืมปัญหาการบริหารที่ว่านี้เสียสิ้น

"ตอนนี้เลยมีคนคิดผิด ๆ กันไปทั่วว่า บรรดาบริษัทหลักทรัพย์ในวอลล์สตรีทเป็นพวกบ้าคลั่ง เป็นพวกที่บริหารงานแบบห่วย ๆ เลยทำให้ต้องประสบปัญหาย่ำแย่ทุก 5 ปี" จอห์น นีน ที่ปรึกษาประจำบริษัท CRESAP MCCORICK & PAGET ในอังกฤษตั้งข้อสังเกต

จะอย่างไรก็แล้วแต่ ปัญหาที่วอลล์สตรีทเผชิญอยู่ตอนนี้แตกต่างจากที่เคยเป็นมาทุกครั้งอย่างแน่นอน มันเป็นปัญหาที่ไม่อาจปล่อยให้ผ่านเลยไปเฉย ๆ ได้ เพราะมันเกิดขึ้นพร้อมกับภาวะความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเลยทีเดียว

คือ หลังจากเสวยสุขกันเต็มที่จากภาวะบูมของตลาดหุ้นช่วงระหว่างปี 1982-1987 ทศวรรษ 1990 จะกลายเป็น "ยุคแห่งความอัตคัด" ที่ต้องมีการปันส่วนน้ำและอาหารกันทั่วหน้า อย่างที่บริษัทมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส คาดหมายว่า "ตลอดศตวรรษที่เหลือต่อจากนี้ อุตสาหกรรมหลักทรัพย์จะต้องเผชิญภาวะแข่งขันเข้มข้น เมื่อผนวกกับส่วนเกินที่ยังคงอยู่แล้ว จะก่อให้เกิดความหวังในการทำกำไรลางเลือนลงเรื่อย ๆ "

ความตกต่ำในแง่ของผลกำไรและขวัญกำลังใจของพนักงานเมื่อหลายครั้งก่อนหน้านี้นั้น มีสาเหตุหลักจากที่ราคาหุ้นและมูลค่าการซื้อขายลดฮวบลง แต่สำหรับครั้งนี้ ปรากฏว่าสภาพตลาดหุ้นยังดีอยู่ คือ ดัชนีราคาหุ้นของปี 1989 สูงขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 20% แต่มูลค่าการซื้อขายลดลงมาก ขณะเดียวกันนักลงทุนรายย่อยก็หายหน้าไปอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 3 ปีหลัง ซ้ำร้ายกว่านั้นในส่วนของตลาดแรกที่ออกหุ้นใหม่ขายแก่มหาชนก็ซบเซาตลาดจังค์บอนด์เองนั้นหาคุณค่าอะไรไม่ได้ และบรรดานักปั่นหุ้นผู้ทำกำไรอย่างน่าละอายมหาหลายปี ก็ยังไม่วายฉกฉวยกำไรกว่า 100 ล้านดอลลาร์จากความล้มเหลวของฝ่ายบริหารยูไนเต็ดแอรด์ไลน์ (ยู เอ แอล) ที่พยายามซื้อบริษัทยูเอแอล ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของสายการบินยูไนเต็ด แอร์ไลน์

กระนั้นก็ตาม สำหรับเกมผนวกและซื้อกิจการที่เคยทำเงินอย่างงามนั้น แม้จะลดลงจากที่เคยทำได้ในปี 1988 ถึง 250,000 ล้านดอลลาร์ แต่ก็ยังเป็นแหล่งรายได้มหึมาของพวกอินเวสท์เมนท์แบงก์ไม่กี่รายที่มีความช่ำชองสูงอยู่ดี โดยมีแรงผลักดันต่อเนื่อง คือ ความแข็งแกร่งของสภาพเศรษฐกิจพื้นฐานของสหรัฐอเมริกาเอง ซึ่งก่อให้เกิดการซื้อขายกิจการแบบ LBO (LEVERAGED BUYOUT) กันอย่างบ้าคลั่ง และการเก็บกำไรในรูปแบบอื่น ๆ อีกมากมายนั่นเอง

คราวนี้เมื่อเกิดปฏิกริยาในลักษณะเป็นเอกภาพของบรรดาบริษัทหลักทรัพย์ยักษ์ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการประกาศปลดพนักงานออกทีละมาก ๆ ผลประกอบการขาดทุน การตัดโบนัสประจำปี และการหดตัวทางกิจกรรมธุรกิจ เหล่านี้ล้วนทำให้อุตสาหกรรมทั้งระบบต้องยอมรับและเผชิญหน้ากับจุดอ่อนของตนเองอย่างช่วยไม่ได้

"ก่อนจะเกิดวิกฤตการณ์ BLACK MONDAY ปี 1987 วงการนี้ไม่เคยใช้บริการที่ปรึกษาด้านบริหารสำหรับงานวิเคราะห์ยุทธวิธีเลย ในช่วงนั้นพวกนักลงทุนประเภทสถาบันต่างพูดอย่างผยองว่า เรารู้จักธุรกิจที่ทำอยู่ดี ไม่จำเป็นต้องพึ่งคนพวกนั้น" ฌองหลุยส์ ลีโอเกียส์ แห่งบริษัทบูชอันเล่น แอนด์ แฮมิลตัน ตั้งข้อสังเกต "แต่ปัจจุบันเมื่อพวกเขาสูญเสียเงินจำนวนมหาศาลไป ก็จำเป็นต้องพึ่งทิศทาง จึงเป็นครั้งแรกที่พวกเขาเริ่มเห็นความสำคัญ และเรียกใช้บริการของเรา เพื่อรับผิดชอบในด้านของยุทธวิธีโดยเฉพาะ"

เมื่อเข้าไปจับงานอย่างจริงจัง บริษัทที่ปรึกษาเหล่านี้มักพบข้อบกพร่องของบริษัทหลักทรัพย์ในแง่ขาดการวางแผน ระยะยาว การควบคุมภายในไม่เพียงพอ รวมทั้งจุดอ่อนที่บ้าเห่อตามแฟชั่น ในการพัฒนาระบบธุรกิจให้ครอบคลุมทั่วโลก และสำคัญที่สุด คือ ความทะเยอทะยานจะก้าวขึ้นสู่จุดสูงสุดให้ได้ ซึ่งบางลักษณะของข้อบกพร่องที่ว่านี้ โดยเนื้อแท้แล้วก็แตกต่างจากหลักกาบริหารโดยสิ้นเชิง

"ถ้าคุณลองให้นักบริหารของบริษัทที่ปรึกษาเข้ามารับผิดชอบบริษัทหลักทรัพย์ในวอลล์สตรีทดู จะเห็นได้ชัดว่า พวกเขาไม่มุ่งเน้นทะยานขึ้นสู่จุดสูงสุดเด็ดขาด" จอห์น นีน คนเดิมให้ความเห็นต่อ "พวกเขาจะไม่ยอมเข้าใจว่าการวิ่งตามแนวโน้มของตลาดจะมีความสำคัญยิ่งกว่าการลดต้นทุนเด็ดขาด"

แต่ถ้าลองให้อดีตอินเวสท์เมนท์แบงก์เกอร์ หรือโบรกเกอร์เข้ามารับผิดชอบบ้าง จากข้อเท็จจริงที่ผ่านมานั้น พวกเขามีแนวโน้มจะไม่สร้างชื่อเสียงเกียรติยศให้ตัวเอง ในฐานะนักบริหารชื่อก้องส่วนใหญ ่เพราะพวกเขาขาดสมดุลระหว่างความมีเหตุมีผลและเล่ห์เหลี่ยม ระหว่างระบบที่ดีและสัญชาตญาณของผู้ประกอบการ ระหว่างยุทธวิธีและการฉวยโอกาส

จึงเห็นได้ว่า ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา พวกเขาเร่งขยายกิจการจนดูราวกับจะไม่มีวันพรุ่งนี้อีกแล้ว จึงไม่แปลกที่เมื่อรวมเงินลงทุนของบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหมดเข้าด้วยกันแล้ว มันจะเพิ่มทวีจาก 5.4 พันล้านดอลลาร์ในปี 1980 เป็น 27 พันล้านดอลลาร์ในปี 1988 ซึ่งมีไม่น้อยทีเดียวที่เป็นการลงทุนแบบแห่ตามกันจนก่อให้เกิดภาวะ "ล้น" มาถึงปัจจุบัน

"อันนี้ไม่เป็นข้อน่ากังขาเลย" ศาสตราจารย์ซามูเอล เฮย์ที่ 3 แห่งฮาร์วาร์ด บิสซิเนสสคูล เชื่อมั่น "ถ้าพวกผู้บริหารทำได้ดีกว่าในแง่การประเมินความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น พวกเขาสร้างสมการอะไร จะเกิดขึ้น - ถ้า ขึ้นมาได้ เช่น ถ้าพวกเขาผ่านพ้นหนึ่งในเงื่อนไขที่เราได้เห็นในช่วงต้นปี 1987 มาได้ มันก็จะเป็นสัญญาณส่อถึงจุดอ่อนสำคัญที่สุดที่จะเป็นผลเสีย และพวกเขาอาจได้เตรียมการณ์บางอย่างเพื่อรับมือไว้ก่อนก็ได้"

ส่วน คริส กรีน ผู้จัดการของเฟิร์สต์ แมนฮัตตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป ให้ความเห็นว่า "อุตสาหกรรมนี้เป็นโลกของอินเวสท์เมนท์แบงก์และการซื้อขายในระยะสั้น เป็นหลักจึงมีการเชื่อมั่นอย่างฝังหัวว่า ความต้องการนั้นเป็นสิ่งที่ผันผวนมากเสียจนไม่สามารถจะบริหารอะไรได้ มีการเชื่อกันว่าทันทีที่คุณเริ่มลงมือเขียนแผนงานหรือจัดทำงบประมาณ มันก็จะกลายเป็นเรื่องใช้ไม่ได้ไปพริบตาเช่นกัน และถ้าแม้แต่เกิดเหตุการณ์ว่า แผนงานหรือร่างงบประมาณที่ทำไว้ผิดพลาด 50% ของสิ่งที่คุณเรียนรู้จะไม่สามารถนำมาเป็นบทเรียนในแง่อื่นได้อีกเลย"

พวกผู้บริหารของวอลล์สตรีทมักมีแนวโน้มไม่ค่อยคำนึงถึงหลักการในแง่วงจรชีวิตของสินค้า และไม่เคยเข้าใจเรื่องต้นทุนการดำเนินงานอย่างแท้จริง ปัจจุบันเราจึงพบว่า พวกเขาพากันละทิ้งธุรกิจหลายแขนงที่กระโจนเข้าไปทำอย่างจริงจังเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น ซาโลมอนบราเธอร์ และเพน เวเบอร์ ที่เข้าไปทำธุรกิจอินเวสท์เมนท์แบงกิ้ง หรือเดร็กเซล เบอร์แน่มแลมเบิร์ตในธุรกิจโบรกเกอร์ เชียร์สัน เลห์แมน ฮัตตันในธุรกิจห้างหุ้นส่วนจำกัด เมอร์ริลลินซ์ในธุรกิจเรียลเอสเตทและค้าเงินปอนด์อังกฤษ เป็นต้น

ไม่มีผู้บริหารคนไหนฉุกคิดด้วยว่า หุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์จะไม่ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจเลยสำหรับปี 1989 และราคาของที่นั่งในตลาดหุ้นนิวยอร์กที่บริษัทโบรกเกอร์ต้องเข้าไปประมูลซื้อเพื่อเข้าเป็นสมาชิกตลาดหุ้นก็ตกต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี แต่แน่นอนว่า ท่ามกลางความย่ำแย่ของอุตสาหกรรมทั้งระบบ ย่อมมีอีกหลายบริษัทที่เหมือนกันที่ผงาดขึ้นมา และประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่น อาทิ แบร์สเติร์น มอร์แกน สแตลีย์ และเอ.จี.เอ็ดเวิร์ดส์

เพอร์ริน ลองก์ นักวิเคราะห์ของบริษัทโบรกเกอร์ลิพเพอร์ อนาลิติคอล เซอร์วิส เชื่อมั่นว่า "ก่อนที่หุ้นในตลาดจะฟื้นตัวขึ้นมาเป็นที่ดึงดูดความสนใจของนักลงทุนอีกครั้งหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดเราต้องได้เห็นราคาหุ้นพวกนี้ตกลงอีก 30-40% บริษัทหลักทรัพย์ทั้งหลายจึงต้องกำจัดส่วนเกินของตนเองออกไป มันอาจทำให้เราเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปพร้อม ๆ กันด้วย"

ที่สำคัญ คือ ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจระดับมหภาค เป็นตัวการหลักในการริดรอนผลกำไรของธุรกิจหลักทรัพย์ เห็นได้จากอัตราค่าคอมมิชชั่นของโบรกเกอร์ประเภทสถาบันตกฮวบลงจากหุ้นละ 26 เซนต์ในปี 1975 เหลือราวหุ้นละ 4 เซนต์เท่านั้นในปัจจุบัน เพราะนักลงทุนประเภทสถาบันพยายามเน้นลดต้นทุนการซื้อขายของตนอย่างหนัก ยิ่งกว่านั้นในรอบไม่กี่ปีมานี้ การซื้อขายพันธบัตรในสหรัฐอเมริกาที่เคยนิยมกันมากก็กลับลดลงถึงครึ่งต่อครึ่ง

นโยบายให้เสรีภาพในการดำเนินธุรกิจ ก็มีผลกระทบต่อผลกำไรของกิจการประเภทรับประกันการขายหุ้นอย่างมากเช่นกัน และแม้ว่าปัจจุบันกฎหมาย GLASS STEAGALL ACT ที่แบ่งแยกการดำเนินธุรกิจระหว่างอินเวสท์เมนท์แบงก์ ธนาคารพาณิชย์ออกจากกันอย่างเด็ดขาด จะมีผลบังคับใช้ ยังไม่ถูกยกเลิกไปตามเสียงเรียกร้อง ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายก็ไม่รีรออีกต่อไป ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายก็ไม่รีรออีกต่อไป เริ่มรุกคืบเข้าสู่ธุรกิจหลักทรัพย์ในวอลล์สตรีทกันยกใหญ่ นอกจากนี้บริษัทที่ให้บริการการเงินต่างชาติโดยเฉพาะของญี่ปุ่นก็ดาหน้าเข้าแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดด้วย

"ต้องถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความเลวร้ายที่สุดอีกช่วงหนึ่งเท่าที่วอลล์สตรีทเคยเจอ" เลวิส กลัคส์แมน รองประธานบริษัทสมิธ บาร์นีย์ แฮร์ริส อัปแฮม ซึ่งอยู่ในเครือไพรเมริกา คอร์ปอเรชั่น ระบายความอึดอัด

ความจริงแล้ว ลักษณะของการที่อุตสาหกรรมก้าวมาถึงจุดเติบโตทางวุฒิภาวะอย่างนี้ ไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด ปัญหาอยู่ที่ว่าพวกผู้บริหารในวอลล์สตรีทให้น้ำหนักความสำคัญกับมันหรือไม่ ?

เดวิด เมส์เตอร์ ศาสตราจารย์ประจำฮาร์วาร์ด บิสซิเนส สคูล เคยศึกษาและให้คำปรึกษาแก่บริษัทที่ให้บริการระดับมืออาชีพมาโดยเฉพาะให้บทสรุปว่า ทฤษฎีการบริหารตามตำรานั้น ไม่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจหลักทรัพย์ได้ เขาให้เหตุผลว่าเมื่อตลาดอยู่ในช่วงบูมก็เป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่บริษัทเหล่านี้ต้องเพิ่มทุนและเพิ่มสต๊าฟ เพราะในช่วงบูมนั้นมีเงินสะพัดมากเสียจนคุณจะถูกมองว่าเป็นไอ้งั่งทันที ถ้าไม่รีบฉวยโอกาสนี้เอาไว้"

ในความเห็นของเมส์เตอร์ จึงคิดว่า เมื่อตลาดซบเซาลงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะตัดทอนทรัพยากรส่วนเกินออกไปเสียบ้าง "ในการดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่นั้น การบริหารจะช่วยเพิ่มคุณค่าขึ้นมาได้ ด้วยการตัดสินใจด้านยุทธศาสตร์อย่างชาญฉลาด และดำเนินมาตรการตามแบบฉบับการจัดองค์กรที่ดี แต่สำหรับที่วอลล์สตรีทแล้ว การที่ผู้บริหารจะเข้ามามีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงบริหารแก่องค์กรย่อมน้อยกว่าในธุรกิจอุตสาหกรรมทั่วไป"

เมส์เตอร์ เห็นว่า "การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องของความเสี่ยงเหมือนโยนลูกเต๋านั่นเอง ไม่ต้องพูดถึงความสามารถในการทำนายว่า ธุรกิจไหนจะบูมที่บริษัทพวกนี้ต้องทำ คือ หลับตาแล้วใจป้ำเสี่ยงพนันเอา...และพูดกันถึงที่สุดแล้ว วอลล์สตรีทก็ยังมีสภาพไม่ผิดบ่อนคาสิโน และไม่เพียงจะรองรับเฉพาะนักลงทุนเท่านั้น ยังหมายรวมถึงการบริหารของบริษัทด้วย"

ศาสตราจารย์แห่งฮาร์วาร์ด ผู้นี้ชี้ให้เห็นถึงข้อมูลสนับสนุนทฤษฎีของเขาว่า การที่ตลาดถูกแบ่งออกเป็นส่วนย่อย ๆ มากมายนั้น ไม่มีใครสามารถทำนายหรือวางแผนล่วงหน้าสำหรับธุรกิจแต่ละส่วนได้ เช่น การที่เดร็กเซล เบอร์แน่ม แลมเบิร์ต กระโจนเข้าริเริ่มตลาดจังค์บอนด์ หรือเฟิร์สต์ บอสตัน เข้าไปส่งเสริมธุรกิจผนวกและซื้อกิจการ ซึ่งทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นจากความบังเอิญทั้งนั้น

ปีเตอร์ โคเฮน ประธานบริษัทเชียร์สัน เลห์แมน ฮัตตัน ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นบริษัทโบรกเกอร์ที่ย่ำแย่ที่สุดบริษัทหนึ่งในตลาดหุ้นลอนดอน ยังดื้อแพ่งยืนยันการทำธุรกิจแบบน้ำขึ้นให้รีบตักของอุตสาหกรรมแขนงนี้ว่า

"ถ้าให้เรามีโอกาสเริ่มต้นทุกสิ่งทุกอย่างใหม่อีกครั้งในวันพรุ่งนี้ เรายืนยันว่าจะทำเหมือนเดิมอีกเหมือนกัน ทั้ง ๆ ที่รู้ข้อมูลทุกอย่างว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เพราะสิ่งที่เราทุกคนรู้ดีก็คือ ถ้าคุณทิ้งส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจส่วนไหนไปก็ตาม การจะหวนกลับมาทำธุรกิจนั้นอีกครั้งหนึ่งได้ต้องใช้เวลาอีกหลายปีทีเดียว พวกเราทุกคนจึงแข่งขันสุดฝีเท้าเพื่อให้ได้เข้าเป็นสมาชิกตลาดหุ้นลอนดอนเพื่อให้บริการครบวงจรแก่ลูกค้า...ข้อจำกัดมีอยู่ว่า ธุรกิจของเราไม่อนุญาตให้คุณใช้จ่าย เพื่อการลงทุนอย่างสุรุ่ยสุร่ายเหมือนกับที่คุณทุ่มงบ เมื่อต้องการสร้างตลาดซีริลสำหรับอาหารเช้าขึ้นมา หรือเมื่อต้องการสร้างตลาดของผลิตภัณฑ์ใหม่ใด ๆ ขึ้นมา"

แต่ปัจจุบันแนวความคิดเก่า ๆ ในแง่ต้องให้บริการ "ครบวงจร" ในศูนย์กลางการเงินระดับโลกทุกแห่งกลับลดความสำคัญลง และต้องหลีกทางให้ยุทธวิธีแทรกช่องว่างในตลาดแทน

"รูปแบบของบริษัทที่ให้บริการแบบครบวงจรจะไม่มีอีกแล้วสำหรับทศวรรษ 90 นี้" เพอร์รินลองก์ แสดงความเชื่อมั่น "คุณจะต้องมีความยืดหยุ่น และสามารถกระโจนเข้าหา หรือรีบถอนตัวออกเมื่อมีโอกาสหรือเสียโอกาส คุณไม่สามารถทำทุกสิ่งทุกอย่างให้กับลูกค้าทุกคนได้ เปรียบไปก็เหมือนร้านขายรองเท้าคงไม่ขายชุดชั้นในด้วยเป็นแน่ จะเห็นได้ว่า บริษัทพวกนี้เน้นยุทธวิธีแทรกช่องว่างในตลาดที่พวกเขาคิดว่าถนัดที่สุดมากขึ้นทุกที"

คริส กรีน แห่งเฟิร์สต์ แมนฮัตตัน ก็ตั้งข้อสังเกตว่า "คุณต้องถามตัวเองก่อนว่า บริษัทของคุณมีความชำนาญพื้นฐานด้านไหน และข้อได้เปรียบในเชิงแข่งขันอยู่ตรงไหน การจะเป็นผู้ให้บริการครบวงจรในตลาดทั่วโลกนั้นเป็นไปไม่ได้อีกแล้ว"

เขายังเชื่อมั่นว่า วอล์ลสตรีทยังมีข้อได้เปรียบในอีก 2 ด้านด้วยกัน คือ ด้านการบริหารข้อมูลและระบบควบคุมความเสี่ยงที่ดีขึ้น และการประยุกต์ใช้แนวความคิดในการประเมินค่าผลตอบแทนที่ได้ "แบงก์พาณิชย์ได้รับผลตอบแทนต่อการลงทุนโดยเฉลี่ย 16% ส่วนอินเวสท์เม้นท์แบงก์นั้น ควรลงทุนก็ต่อเมื่อพวกเขาสามารถทำนายผลตอบแทนที่จะได้รับในอัตรา 25% เพื่อทดแทนความเสี่ยงที่พวกเขาต้องเผชิญ แต่จริง ๆ แล้วคุณจะเห็นว่า แม้ในช่วงภาวะตลาดบูม ยักษ์ใหญ่อย่างเมอร์ริลลินช์ก็ยังได้รับผลตอบแทนต่อการลงทุนเพียง 13% เท่านั้น"

ปัจจุบัน ถ้าจะให้ชี้ถึงบริษัทที่มีการบริหารที่ดีแล้ว อาจมีอยู่ไม่เกิน 6 บริษัทด้วยซ้ำไป และบริษัทพวกนี้ก็มีคุณสมบัติ ตัวสินค้า และสภาพที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ แตกต่างกันไปด้วย บริษัทที่ว่านี้ ได้แก่ โกลด์แมน ชาคส์, มอร์แกน สแตนลีย์, อี.จี.เอ็ดเวิร์ส, ลาซาร์ด เฟรเรส์, ดี.เอ.เดวิดสันแห่งมอนตานา และเรย์มอน เจมส์ ไฟแนนเชียล ซึ่งเพอร์ริน ลอง ยกย่องบริษัทที่เอ่ยชื่อมานี้ด้วยเหตุผลที่ว่า "เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการกำหนดยุทธวิธี และพยายามเดินรอยตามยุทธวิธีที่กำหนดไว้ตลอดเวลา"

สำหรับเดวิด เมส์เตอร์นั้น เชื่อว่า ความมั่นคงก็เป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จ พร้อมทั้งเพิ่มเติมลักษณะของอิสเวสท์เมนท์แงก์ก็ว่ามี 2 ประเภท ประเภทแรก เรียกว่า พวก "เกษตรกร" และอีกประเภท คือ "นักล่าสัตว์" อินเวสท์เมนท์แบงก์ที่จะประสบความสำเร็จด้วยดีนั้น ต้องเลือกทางเดินให้ชัดเจนลงไปสักอย่าง ถ้าเดินอยู่ระหว่างกึ่งกลางขององค์กร 2 ประเภทนี้ก็จะไม่ประสบความสำเร็จด้วยดีแน่

พวก "เกษตรกร" นั้นเน้นเลือกสินค้าของตัวเองขึ้นมาโดยเฉพาะ และทุ่มลงทุนไปที่ตัวสินค้านั้นเต็มที่ รวมถึงบุคลากรที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาสินค้าตัวนั้นด้วย องค์กรลักษณะนี้จะมีการร่วมมือประสานงานกันภายในสูงมาก พวกเขาต้องตกลงร่วมกันแล้วว่า จะตั้งใจปลูกพืชชนิดไหน จะเก็บเกี่ยวอย่างไร และส่งถึงมือตลาดอย่างไร

ส่วนพวก "นักล่าสัตว์" จะฉกฉวยผลประโยชน์จากการสนับสนุนแนวความคิดการสร้างผู้ประกอบการรายบุคคลหรือกลุ่มย่อย ๆ ภายในองค์กร ถ้าพวกเขาตั้งใจออกไปล่าวัวแล้วล่าไม่ได้สักตัว จะไม่มีใครมานั่งบอกให้พวกเขาเปลี่ยนไปล่ากวางหรือจับปลาแทน ต่างคนต่างทำไปตามแนวที่ตนถนัด

เดวิด เมส์เตอร์ ยกตัวอย่างว่า "โกลด์แมนชาคส์" ได้ชื่อว่าเป็นอินเวสท์เมนท์แบงก์ประเภท "เกษตรกร" ที่โดดเด่นมาก ขณะที่ "ซาโลมอน บราเธอร์" ก็เป็นตัวอย่างของ "นักล่าสัตว์"

ที่บอกว่าแต่ละบริษัทต้องเลือกทางเดินของตัวเองให้ชัดเจนลงไปอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะ "สไตล์การบริหารขององค์กรทั้ง 2 ประเภทนี้ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง บริษัทที่พยายามจะฉวยผลประโยชน์จากการบริหารองค์กรทั้ง 2 ประเภทนี้ ต้องมีการประนีประนอม เรื่องแนวทางการบริหารให้ดี และผลที่ตามมา คือ ทำให้ผลประกอบการด้อยลงไป" เมส์เตอร์ เชื่อมั่นว่าอย่างนั้น

ดังนั้น สิ่งสำคัญสำหรับอินเวสท์เมนท์แบงก์ไม่ว่าจะอยู่ในวอลล์สตรีทหรือลอนดอนก็คือ ต้องรู้อย่างกระจ่างใจว่าตัวเองเป็นอย่างไร

และแน่นอนว่า เมื่อมีอินเวสท์เมนท์แบงก์อย่างมอร์แกน สแตนลีย์ หรือโกลด์แมนชาคส์แล้ว ก็ย่อมมีบริษัทอีกหยิบมือหนึ่งที่สามารถเจริญก้าวหน้าด้วยดี ด้วยการไม่สนใจยึดมั่นในหลักการบริหารที่เป็นระบบ เช่น แบร์สเติร์น ซึ่งอดีตประธานบริษัทโดนัลด์สัน ลัฟกิน แอนด์ เจนเรตต์ ซึ่งเป็นอินเวสท์เมนท์แบงก์รายหนึ่งยอมรับว่า "ตอนนั้นเราบริหารงานอย่างมีระบบ มีการตั้งงบประมาณ มีศูนย์กำไร และควบคุมต้นทุน เรารู้ว่ารายได้และกำไรในแต่ละวันมาจากไหน แต่พอผ่านไปปีแล้วปีเล่า ปรากฎว่าแบร์สเติร์นซึ่งไม่อินเวสท์เมนท์แบงก์ทั้งประเภทเน้นสินค้าเฉพาะด้าน หรือประเภทมีการขยายแนวธุรกิจออกไปครอบคลุมกว้างขวางล้วนมีโอกาสเท่าเทียมกัน และเท่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่ยักษ์ใหญ่อย่างเมอร์ริลลินช์หรือเซียร์สัน เลห์แมน ฮัตตัน ต้องปลดพนักงานกันยกใหญ่นั้น ปรากฏว่าอินเวสท์เมนท์แบงก์อย่างเอ.จี.เอ็ดเวิร์ดส์ที่เน้นลูกค้ารายย่อยและมีสำนักงานสาขาถึง 370 แห่งกลับอยู่ในระหว่างจ้างสต๊าฟเพิ่ม

ลอว์เรนซ์ เอคเกนเฟลเดอร์ นักวิเคราะห์ของพรูเดนเชียล บาค ซีเคียวริตี้ส์ พูดถึงเหตุการณ์นี้ว่า "เอจีเอ็ดเวิร์ดส์เป็นอินเวสท์เมนท์แบงก์รายใหญ่ที่เน้นลูกค้ารายย่อยเพียงบริษัทเดียวที่ยังทำกำไรอย่างน่าประทับใจในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาก็พูดได้ว่าพวกเขาทำในสิ่งที่ถูกต้องนั่นเอง"

สิ่งถูกต้องที่ว่านี้คือ การเน้นลูกค้ารายย่อยของบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางเป็นหลักส่วนธุรกิจ ที่เน้นลูกค้าประเภทสถาบันหรืออินเวสท์เมนท์แบงกิ้งก็ยังทำอยุ่บ้างพอเป็นกระสาย ที่เป็นปัญหาใหญ่ในวอลล์สตรีทตอนนี้ คือ มีบริษัทอีกมากมายที่ไม่รู้เลยว่าตัวเองควรเข้าไปเน้นทำธุรกิจด้านไหนให้เป็นเรื่องเป้นราว นี่คือเหตุผลที่บริษัทประเภทบริการธุรกิจนั่นนิดนี่หน่อยและครบทุกประเภทสำหรับลูกค้าทุกคนกำลังประสบปัญหาขั้นวิกฤตในเวลานี้

เมื่ออยู่ในภาวะคับขันที่แม้แต่ยักษ์ใหญ่ผู้นำในวงการยังอยู่ในสภาพกัดก้อนเกลือกินอย่างนี้ การจะได้ตัวผู้นำที่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงก็ยิ่งยากขึ้นทุกที แทบไม่น่าเชื่อว่า เมื่อ 2 ปีที่แล้วนี้เอง เฟิร์สต์ บอสตัน กับเดร็กเซล เบอร์แน่ม แลมเบิร์ต ยังอยู่ในฐานะฟู่ฟ่าทำกำไรงาม พอถึงตอนนี้กลับมีสภาพเป็นแค่เงาจาง ๆ ของสิ่งที่ตนเคยเป็นอยู่ เพราะผลพวงจากการขาดทุนยับเยินในธุรกิจจังค์บอนด์และการผนวกกิจการนั่นเอง

เชียร์สัน เลห์แมน ฮัตตัน ก็บอบช้ำไม่แพ้กัน อยู่ในระหว่างพยายามลดต้นทุนค่าใช้จ่ายเต็มที่ถึงกับต้องตัดค่าคอมมิชชั่นสำหรับโบรกเกอร์เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี และปลดพนักงานออกอีก 800 คน

เมอร์ริลลินช์ก็วางแผนจะถอนตัวจากธุรกิจบางประเภท และปลดพนักงานระดับบริหารอีก 1,000 คนในทั่วโลก และประธานบริหารของพรูเดนเชียล บาค ก็ให้ของขวัญวันคริสต์มาสแก่นพักงานได้แค่ช็อคโกแลต 1 แท่ง และจดหมายให้กำลังใจอีก 1 ฉบับ

แต่จะอย่างไรก็ตาม ที่ต้องจดจำไว้เสมอก็คือ ธุรกิจในวอลล์สตรีทนั้นเปลี่ยนแปลงผันผวนตลอดเวลา และมีแนวโน้มว่าภาวะซบเซาที่เกิดขึ้นมักกินเวลาไม่นานนัก และจอห์น นีน ก็พูดให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า

"ใครก็ตามที่ทำธุรกิจในวอลล์สตรีทช่วง 15 ปีหลังมานี้ ต้องยอมรับว่าทำเงินได้มากกว่าพวกนักบริหารของเจเนอรัล อิเล็คทริคหรือไอบีเอ็ม ซึ่งพวกนี้ได้ชื่อว่าเป็นนักบริหารที่ทำงานอย่างมีระบบและหลักการ นั่นย่อมหมายความว่า หากมองในแง่ผลตอบแทนโดยรวมแล้ว วอลล์สตรีทก็ได้ทำหน้าที่ที่ถูกต้องของมันแล้ว"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.