โอสถสภาต้องเข้าไปอุ้มบริษัทการตลาดที่ชื่อ "พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง"
ในปี 2528 ว่ากันว่าครั้งนั้นเป็นบทสรุปสำหรับโจทย์ทางการตลาดที่สุวิทย์ตั้งขึ้นและยากเกินกว่าที่จะไขว่คว้าหาคำตอบ
ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เป็นกรรมการผู้จัดการคนแรกของพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งในปี
2520 ขณะที่ยังมีอายุเพียง 28 ปี ก่อนหน้านั้นเขาเคยเป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของฟาร์อีสท์
แล้วลาออกมาทำบริษัทโฆษณาและทำหนังสือซึ่งเป็นกิจการส่วนตัว แต่ทำได้ไม่กี่เดือนก็ยุบบริษัทแล้วมาอยู่กับสุวิทย์
โอสถานุเคราะห์ที่พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง
การเริ่มต้นของพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งและสาเหตุของการเข้ามามีบทบาทของไพบูลย์ค่อนข้างจะเป็นเหตุผลที่ง่ายมากตามที่ไพบูลย์เล่า
เพียงเพราะว่าขณะนั้นสุวิทย์มีพรีเมียร์อินเตอร์เนชั่นแนลและพรีเมียร์โพรดักส์อยู่แล้ว
ม.ล.ชัยนิมิตร เนาวรัตน์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการของพรีเมียร์โพรดักส์ต้องการทำโฆษณา
"ถังแซทส์" ก็เลยมาติดต่อไพบูลย์ ซึ่งขณะนั้นทำบริษัทส่วนตัวคุยไปคุยมาสุวิทย์ก็เลยชวนไพบูลย์มาทำงานด้วยกัน
"ท่านต้องการสนับสนุนคนหนุ่มให้ขึ้นมามีบทบาท ท่านบอกกับผมว่า อยากทำอะไรก็ทำ
ท่านจะออกทุนให้หมด" ไพบูลย์รำลึกความหลัง
เป็นโอกาสที่หายากมาก ๆ สำหรับคนหนุ่มอย่างไพบูลย์ เขาเสนอแผนงานให้สุวิทย์พิจารณาและก็ได้รับการอนุมัติทั้งหมด
ไพบูลย์เสนอแผนงานขึ้นทั้งหมดสามส่วน โดยอาศัยประสบการณ์และความสนใจส่วนตัวเป็นพื้นฐาน
นั่นคือ หนึ่ง - ทำหนังสือ สอง - โฆษณา สาม - การตลาด
แต่ความจริงที่ไพบูลย์ตระหนักในภายหลังก็คือ การเดินหมากนั้นยากกว่าการตั้งกระดานสาหัสสากรรจ์นัก
!
จุดที่พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งเจ็บหนักก็คือ การลงทุนไปทำหนังสือ
ไพบูลย์ชวนเพื่อนและนักเขียน นักหนังสือพิมพ์มากมายเข้ามาอยู่ในเครือพรีเมียร์
ตั้งแต่สุจิตต์ วงษ์เทศ อรุณ วัชระสวัสดิ์ สำเริง คำพะอุ ประพันธ์ ผลเสวก
ออกหนังสือ "เพื่อนเดินทาง" รายเดือน "เศรษฐกิจการเมือง"
รายสัปดาห์ และยังมีหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คตามออกมาเป็นพรวน หนังสือน่าจะขายดี
แต่ด้วยความอ่อนด้อยในเรื่องสายส่ง หรือการจัดจำหน่าย ประกอบกับการลงทุนทำหนังสือรายสัปดาห์ต้องใช้เงินทุนมหาศาลทำให้พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งขาดทุนขนาดหนัก
ส่นการทำโฆษณาและต่อมาออกไปจัดรายการโทรทัศน์ด้วยนั้น ไพบูลย์ยืนยันว่าไม่ค่อยมีปัญหาการเงินนักเพราะเป็นงานลักษณะรับจ้าง
ไม่ต้องลงทุนมากเท่าไร
ที่มีปัญหาอีกตัวแน่ ๆ ก็คือ ด้านมาร์เก็ตติ้ง แต่เดิมไพบูลย์คาดหวังว่าจะได้รับสินค้าบางตัวจากโอสถสภามาให้พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งเป็นผู้รับจำหน่าย
แต่ปรากฏว่าไม่มีเลย
"โจทย์ที่ท่าน (สุวิทย์) ให้ผมมานั้นยากมาก ท่านให้โอกาสผม แต่ไม่ได้ให้อาวุธในการออกรบมาด้วย"
ไพบูลย์กล่าว
นั่นคือ ไพบูลย์ต้องหาสินค้ามาเอง และไม่รับเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้นจากเจ้าของสินค้า
ไม่ว่าการรับประกันการจำหน่ายขั้นต่ำ หรือการันตีโดยสถาบันการเงิน จุดนี้ไพบูลย์เองก็ยอมรับว่า
เขาไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเป็นเช่นนั้น เขาเพียงแต่พยายามอธิบายว่า สุวิทย์พยายามสร้างอาณาจักรการตลาดแห่งใหม่ขึ้น
โดยไม่พึ่งพาหรือไม่มีเงื่อนไขที่เป็นเจ้าของสินค้า เพราะสถานการณ์ในช่วงปี
2520-2525 ระบบการตลาดยังไม่ดุเดือดนัก บริษัทจัดจำหน่ายสินค้ายังมีไม่มาก
แต่สินค้ามีหลายตัว บริษัทการตลาดน่าจะมีบทบาทเหนือกว่าพอสมควรและสายโยงใยที่มีกับ
"โอสถสภา" น่าจะเป็นหลักประกันเพียงพอจะจริงหรือไม่จริงก็แล้วแต่
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ไพบูลย์ต้องเจอกับปัญหางูกินหางที่แก้ไม่ตก คือ หากรับพนักงานการตลาดมือดีเข้ามาก็ไม่มีสินค้าให้ทดสอบฝีมือ
พอจะไปรับสินค้ามาจำหน่าย เจ้าของสินค้าก็ไม่มอบสินค้าให้พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งดูแล
เพราะไม่แน่ใจในทีมงานการตลาดวนไปวนมาแบบนี้พรีเมียร์มาร์เก้ตติ้งก็เลยหืดขึ้นคอ
ไพบูลย์แก้ปัญหาโดยการไปเอาขนมตามท้องตลาดทั่วไป หรือบางครั้งไพบูลย์ต้องถ่อไปอยุธยา
เพื่อไปเอาปลาหมึกตากแห้งมาทำแพ็คเก็จจิ้งใหม่ให้ดูทันสมัยแล้วนำออกจำหน่ายและทำการตลาดเอง
โดยในช่วงนั้นพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งมีพนักงานขายเพียง 12 คน รถกระจายสินค้า
8 คันเท่านั้น
พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งมากระเตื้องขึ้นมาบ้างตรงที่ไปประมูลได้น้ำส้มสายชู
อสร. มาจัดจำหน่าย และไพบูลย์ไปดึงชาวไต้หวันมาร่วมลงทุนสร้างโรงงานผลิตปลาสวรรค์ทาโร่
ซึ่งไพบูลย์กล่าวว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่เขายืนยันกับกรรมการว่า ต้องลงทุนเพื่อความอยู่รอดบ้าง
ทั้งน้ำส้มสายชู อสร. และทาโร่ เป็นสินค้าที่ทำให้พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งมีเงินพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ไปได้แบบเดือนต่อเดือน
แม้พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งจะอยู่ในเครือของสุวิทย์และเสรี ซึ่งมีจีเอฟอยู่ด้วย
แต่พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งก็ใช้เงินของบริษัทในเครือน้อยมาก เริ่มแรกพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งมีทุนจดทะเบียนเพียง
1 ล้านบาท ซึ่งแค่ตกแต่งสำนักงานที่หลังสวนก็แทบหมดแล้ว ต่อจากนั้นก็เป็นเงินกู้ตลอด
โดยกู้จากสถาบันการเงินหลายแห่งในอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 24% แม้แต่กับจีเอฟเอง
อัตราดอกเบี้ยก็ไม่ต่ำไปกว่านี้เท่าไรนัก
คนใกล้ชิดกับสุวิทย์ในยุคนั้น กล่าวว่า คนดูแลเรื่องไฟแนนซ์ของพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้ง
และพรีเมียร์อื่น ๆ ให้กับสุวิทย์ขณะนั้น คือ อุดม ชาติยานนท์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการจีเอฟและเป็นมือขวาของสุวิทย์อย่างแนบแน่น
ปัจจุบันอุดมเป็นกรรมการบริษัทซันโย ยูนิเวอร์แซล อิเลคทริค บริษัทในเครือพรีเมียร์กรุ๊ปอีกแห่งหนึ่ง
การเสียชีวิตของสุวิทย์ในปี 2523 ทำให้การแก้ไขปัญหาของพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งดูอ้างว้างมากขึ้น
เพราะไพบูลย์ขอคำปรึกษาและคำแนะนำจากสุวิทย์เป็นส่วนมาก เว้นแต่ในเรื่องการดำเนินงานและรายละเอียดอื่น
ๆ ที่ไพบูลย์ต้องปรึกษากับอุดมเพียงผู้เดียว ซึ่งคนเก่าแก่ในพรีเมียร์ เล่าว่า
อุดมออกจะเป็นมือไฟแนนซ์มากกว่าที่จะเป็นนักการตลาด
หลังจากทุลักทุเลอยู่กับพรีเมียร์มาร์เก้ตติ้งประมาณ 7 ปีและบริษัทมียอดขาดทุนประมาณ
70 ล้านบาท ไพบูลย์ก็ขอลาออกเพื่อมาตั้งบริษัทแกรมมี่ ซึ่งก็เป็นกิจการส่วนตัวเช่นที่เขาเคยใฝ่ฝัน
ซึ่งต่อมาแกรมมี่ได้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ในวงการเทปเพลงปัจจุบัน
ดูเหมือนว่า การลาออกของไพบูลย์จะทำให้การแก้ไขปัญหาของพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งง่ายขึ้น
นั่นคือโอสถสภาเข้าเทคโอเวอร์พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งเพื่อกู้สถานการณ์ตามประสาบริษัทพี่น้องเครือญาติ
โดยใช้วิธีเพิ่มทุนส่งสินค้าจากโอสถสภามาให้จัดจำหน่าย และส่งมานิต รัตนสุวรรณ
มาบริหาร
เสรี โอสถานุเคราะห์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า การให้โอสถสภาเทคโอเวอร์เป็นทางออกที่ดีที่สุดในเวลานั้น
เพราะลักษณะการทำธุรกิจคล้ายคลึงกัน ตัวสินค้าก็รับมาจากโอสถสภาได้ และก็เป็นบริษัทพี่
ๆ น้อง ๆ กัน การเชื่อมต่อไม่น่าจะมีปัญหา
อดีตพนักงานพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งคนหนึ่ง กล่าวว่า ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนั้น
มีการพูดกันว่าจะยุบบริษัทนี้เสีย เพราะมีปัญหาในการบริหารงานมาก แต่มีเสียงทัดทานไว้เพราะหากยุบจะกระเทือนต่อชื่อเสียงของพรีเมียร์โดยรวม
โอสถสภาเข้าถือหุ้นประมาณ 50% ในนามของบริษัทนิวเทค แต่อีก 50% ก็ยังเป็นของเสรีและลูก
ๆ หลาน ๆ ของเขา ส่วนกรรมการยังเป็นคนของครอบครัวสุวิทย์และเสรีดังเดิมเป็นส่วนใหญ่
คือ เสรี วิมลทิพย์ ภาสุรี วิเชียร และมานิต ช่วงหลัง ๆ ก็มีประกายเพ็ชร
อินทุโศภน รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสโอสถสภามานั่งด้วย
มานิต รัตนสุวรรณ เข้ามาในนามตัวแทนของ "มืออาชีพ" จากโอสถสภา
แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาจะลาออกจากโอสถสภามากว่า 1 ปีเพื่อไปทำธุรกิจส่วนตัวแล้วก็ตาม
มานิต รัตนสุวรรณ เข้าบริหารพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งในปี 2528 โดยขอเวลา 3
ปีในการฟื้นฟูและวางเงื่อนไขว่า หนึ่ง - เพิ่มทุนจาก 4 ล้านเป็น 10 ล้าน
สอง - หนี้สินขอพักไว้ก่อน สาม - เพิ่มกำลังคนโดยเฉพาะฝ่ายการตลาด สี่ -
เพิ่มตัวสินค้า
มานิต กล่าวว่า เขาได้รับการสนับสนุนจากกรรมการและเงื่อนไขที่วางไว้ก็ได้รับการสนองตอบด้วยดี
ชั่วเวลา 3-4 ปี มานิตสามารถสร้างบริษัทการตลาดที่เคยย่ำแย่มาก่อนให้มียอดขายเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
คือ ปี 2528 ยอดขาย 80 ล้าน ปี 2529 ยอดขาย 350 ล้าน ปี 2530 ยอดขาย 800
ล้าน ปี 2531 ยอดขาย 1,150 ล้าน และปี 2532 ยอดขาย 1,250 ล้าน โดยมีกำไรในปีล่าสุดนี้ประมาณ
40 ล้านบาท
ปัจจัยแห่งการฟื้นตัวนั้นขึ้นกับการสนับสนุนจากโอสถสภาและฝีมือของมานิตก็ว่าได้
โอสถสภาช่วยเหลือในแง่ตัวสินค้า เช่น โอเล่ โรซ่า ฯลฯ ที่ให้พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งจำหน่าย
ขณะที่มานิตและทีมการตลาดใช้ฝีมือทำยอดขายให้กับสินค้าเหล่านี้ได้ไม่น้อย
นอกจากนี้บารมีทางการตลาดของมานิตก็สามารถดึงสินค้าหลายตัวเข้ามาได้ เช่น
น้ำมันพืชตราองุ่น ถั่วมิสเตอร์กรีน ฯลฯ โดยมีสินค้าตัวเอกคู่ทุกข์คู่ยากของบริษัท
คือ ทาโร่ ช่วยทำรายได้อีกแรงหนึ่ง
มานิตลาออกจากพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งเมื่อปี 2532 ด้านหนึ่งเป็นเพราะมานิตต้องการไปทุ่มเทกับกิจการส่วนตัว
คือ "มณีทัศน์" และ "เอ็มจีเอ" อีกด้านหนึ่งมีคนกล่าวว่ามีหน่อแห่งความไม่พอใจซึ่งกันและกันเกิดขึ้นอยู่พอสมควร
และมาปะทุเอาเมื่อมานิตดึงถั่วมิสเตอร์กรีนจากพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งมาให้เอ็มจีเอจัดจำหน่ายในนาม
"กรีนนัท" ซึ่งต่างอ้างเหตุผลความชอบธรรมต่าง ๆ ไป
ถนอม สุหฤทธำรง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด 2 ดูแลสินค้าเวชภัณฑ์ของโอสถสภา
มารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการแทนมานิต ในสถานการณ์ที่พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งกำลังขยายตัว
ถนอม กล่าวว่า ภายใน 5 ปี พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งน่าจะมียอดขายถึง 2,000 ล้านบาท
ซึ่งจะยกฐานะของบริษัทจากบริษัทการตลาดขนาดเล็กกลายเป็นบริษัทการตลาดขนาดกลาง
โดยมีสินค้าตัวเด่น เช่น โอเล่ โรซ่า ทาโร่ (ผลิตจากโรงงานพีเอ็มฟู้ดในเครือของพรีเมียร์กรุ๊ป)
และน้ำมันพืชตราองุ่น ส่วนสินค้าหลายตัวก็หลุดหายออกไปบ้าง เช่น ผลิตภัณฑ์
อสร. ที่สหพัฒน์ประมูลโรงงานจากราชการไปได้ และมิสเตอร์กรีน ซึ่งปัจจัยนี้เป็นปัญหาสำหรับพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งเหมือนกันที่ไม่มีโรงงานผลิตสินค้าเป็นของตนเองมากมายแบบสหพัฒน์
ทำให้สินค้าหลาย ๆ ตัวหลุดไปได้ง่าย ๆ
ส่วนการถือหุ้นหรือตัวกรรมการนั้นก็ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงแต่ประการใด ที่น่าสังเกตคือ
กรรมการผู้มีอำนาจมีด้วยกันสองคน คือ วิมลทิพย์ และถนอม
ในขณะที่พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งเติบโตขึ้น ทางด้านพรีเมียร์กรุ๊ปก็กำลังขยายอาณาจักรออกมาทุกที
ความสับสนในสถานะของพรีเมียร์มาร์เก้ตติ้งจึงเกิดขึ้น ความสับสนนั้นเกิดขึ้นจากชื่อบริษัทประการหนึ่ง
และอีกประการหนึ่งเกิดการใช้โลโก้ของพรีเมียร์กรุ๊ปก็ไปใช้โลโก้ของพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งเสียอีกด้วย
นอกจากนั้นเมื่อพรีเมียร์กรุ๊ปขยายตัวและจัดสรรการบริหารออกมาขัดเจนมากขึ้นก็มีข่าวบางกระแสกล่าวว่า
พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งจะเข้าไปสังกัดในพรีเมียร์กรุ๊ปในกลุ่มการค้าภายในประเทศ
แม้แต่แผนงานการย้ายที่ทำการไปที่พรีเมียร์คอร์ปอเรทปาร์ค พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งก็ถูกจัดรวมเข้าไปอยู่ด้วย
แต่มานิตเคยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งนั้นย่อมต้องเป็นของโอสถสภาแน่นอน
และเป็นเช่นนั้นตั้งแต่การเทคโอเวอร์เมื่อ 4-5 ปีก่อน และวิมลทิพย์นั้นก็เข้าไปในพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งในฐานะตัวแทนของโอสถสภาด้วยซ้ำ
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงในพรีเมียร์กรุ๊ป กล่าวว่า พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งเป็นของโอสถสภาและพรีเมียร์กรุ๊ปคนละครึ่ง
ทั้งนี้อาจเป็นเพราะดูจากการเข้าไปมีบทบาทของวิมลทิพย์
สำหรับเสรีนั้น สถานะของพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งจะเป็นของใครนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญนัก
แต่เขาก็ยอมรับว่าควรจะเป็นของโอสถสภา ทั้งนี้ตั้งแต่การเทคโอเวอร์ครั้งนั้น
แต่จะเปลี่ยนแปลงกันอย่างไรก็เป็นเรื่องของลูก ๆ หลาน ๆ จะปรึกษากันมากกว่า
ดังนั้น การชี้ชัดลงไปว่า พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งเป็นของค่ายใดกันแน่จึงไม่ชัดเจน
ขณะเดียวกันในสายตาของพี่น้องโอสถานุเคราะห์ด้วยกันก็อาจจะยังไม่มีความจำเป็นอย่างใดที่จะต้องแบ่งแยกกันไปให้เด็ดขาด
เพราะสถานะปัจจุบันของบริษัทแห่งนี้ก็สามารถดำเนินกิจการไปด้วยดี
แต่ความสำคัญของพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งอยู่ตรงที่ว่า ความสามารถในการหารายได้ของพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งค่อนข้างสูงพอสมควร
เช่น ถ้านับรวมโอสถสภากรุ๊ป รายได้พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งถือเป็น 18% ของรายได้ทั้งหมด
หรือถ้าหากรวมไปอยู่กับพรีเมียร์กรุ๊ปก็จะเป็นสัดส่วน 17% ของทั้งกรุ๊ป (ตามตัวเลข
7,000 ล้าน) ซึ่งจัดว่าเป้นตัวเลขไม่น้อยเลยสำหรับทั้งสองกรุ๊ป
นั่นต่างหากที่จะทำให้พี่ ๆ น้อง ๆ ต้องตกลงกันให้ชัดว่า พรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งอยู่ทางปีกไหน
เพราะรายได้ของพรีเมียร์มาร์เก็ตติ้งส่งผลต่อภาพพจน์ศักยภาพของกรุ๊ปในการหารายได้มากทีเดียว
บางทีมีกระเป่าหลายใบ เงินมันก็ล้นจนไม่รู้ว่าจะไปใส่ไว้ตรงไหนเหมือนกัน
!