|
ศึกเกตเวย์อินเทอร์เน็ตระอุทีทีจีเอ็นส่งเน็ตความเร็วสูงเข้าสู้
ผู้จัดการรายสัปดาห์(15 ตุลาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ทริปเปิลที โกลบอล เน็ท พร้อมแล้วกับการให้บริการเกตเวย์อินเทอร์เน็ตต่างประเทศ ชูจุดขายด้านความเร็ว หลังลงทุนเชื่อมต่อเกตเวย์ตรงถึงคอนเทนต์ 3 ทวีปหลัก แถมยังต่อตรงกับโครงข่ายเซิร์ชเอ็นจิ้นระดับโลก "กูเกิล" เพิ่มความเร็วในการใช้งานผู้ใช้ปลายทาง เผยปีหน้าเตรียมขยายโครงข่ายเชื่อมต่อกับประเทศเวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่า หวังเป็นฮับเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอินโดจีน
ตลาดผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศและบริการชุมสายอินเทอร์เน็ตเริ่มคึกคัก หลังจากที่ปล่อยให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยมานานหลายสิบปี ล่าสุด บริษัท ทริปเปิลที โกลบอล เน็ท จำกัด บริษัทในเครือบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศและบริการชุมสายอินเทอร์เน็ตที่มีโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเองจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ได้เปิดตัวโครงข่ายอินเทอร์เน็ตแบ็กโบนพร้อมกันทีเดียว 3 แห่ง
สุวัฒน์ ปุณณชัยยะ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทริปเปิลที โกลบอล เน็ท จำกัด หรือทีทีจีเอ็น เล่าให้ฟังถึงบริการใหม่ที่พร้อมเปิดให้บริการว่า ขณะนี้ทางบริษัทพร้อมที่จะให้บริการเกตเวย์อินเทอร์เน็ตแล้ว โดยได้เชื่อมต่อโครงข่ายเข้าสู่แบ็กโบนหลักๆ ใน 3 ทวีป ประกอบด้วยฮ่องกง สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส โดยมีแบนด์วิธในเบื้องต้นอยู่ที่ 1.3 กิกะบิตต่อนาที ซึ่งปัจจุบันมีบริษัท ทีทีแอนด์ที ซับสไครเบอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือไอเอสพีในบริการของทีทีจีเอ็นอยู่ รวมทั้งอยู่ระหว่างเจรจากับไอเอสพีอีก 2 รายที่สนใจใช้บริการ
"การเชื่อมโยงไปที่เกตเวย์ที่ฮ่องกงนั้น ก็เพราะว่า ฮ่องกงเป็นศูนย์รวมของทราฟฟิกที่รองรับการเรียกใช้คอนเทนต์ในทวีปเอเชีย ขณะที่เกตเวย์สหรัฐอเมริกา รองรับความต้องการคอนเทนต์จากสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ส่วนที่ ฝรั่งเศส เป็นช่องทางรับความต้องการคอนเทนต์จากยุโรปเป็นหลัก ซึ่งจะทำให้บริษัทมีเกตเวย์ที่วิ่งตรงเข้าถึงคอนทนต์จากทุกทวีป ทำให้การใช้บริการมีความเร็วกว่า"
นอกเหนือจากการลงทุนต่อเกตเวย์เชื่อมต่อกับแหล่งคอนเทนต์ใน 3 ทวีปหลักๆ แล้ว ทางทีทีจีเอ็นยังได้สร้างความแตกต่างด้วยการจัดทำวงจรต่อตรงผ่านเราเตอร์ทางทีทีจีเอ็นเข้ากับโครงข่ายของกูเกิล เซิร์ชเอ็นจิ้นยอดนิยม
สุพจน์ กล่าวอีกว่า ทางบริษัทได้จัดทำวงจรต่อตรงผ่านเราเตอร์ของทีทีจีเอ็นเข้ากับโครงข่ายของกูเกิลซึ่งจะทำให้ผู้ที่ค้นหาข้อมูลในกูเกิลที่ใช้เกตเวย์ของบริษัทสามารถใช้แอปพลิเคชั่นต่างๆ เช่น จีเมล เซิร์ชเอ็นจิ้น กูเกิล เอิร์ท ยูทิวบ์ ฯลฯ ของกูเกิลได้เร็วขึ้น เนื่องจากทราฟฟิกไม่ต้องวิ่งอ้อมผ่านโครงข่ายอื่นอีกต่อไป นอกจากนี้บริษัทยังมีข้อตกลงในการจัดทำวงจรต่อตรงเข้ากับผู้ให้บริการคอนเทนต์อื่นๆ ประกอบด้วย ไทม์วอลเนอร์ ไลม์ไลต์และโคเจนต์เน็ตเวิร์กซึ่งครอบคลุมบริการและคอนเทนต์ต่างๆ ได้มากที่สุด และในอนาคตยังมีแผนที่จะต่อตรงกับยาฮูและไมโครซอฟท์ในอนาคตด้วย
"ทุกวันนี้ กทช. อนุญาตให้ต่อตรงกับผู้ให้บริการต่างประเทศได้ ทำให้ธุรกิจเกตเวย์มีพัฒนาการไปอีกขั้น มีความแปลกใหม่ ต่างจากเดิมที่แค่เชื่อมต่อไปยังปลายทางเพียงอย่างเดียว"
สำหรับแผนการลงทุนเพิ่มนั้น สุวัฒน์ กล่าวว่า ทางบริษัทมีแผนการลงทุนในปี 2551 ที่จะลงทุนสร้างโครงข่ายเพื่อต่อเชื่อมไปยังผู้ให้บริการในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม กัมพูชา ลาว และพม่าเพื่อให้เกตเวย์ของบริษัทเป็นฮับในการเชื่อมต่อออกต่างประเทศแก่กลุ่มประเทศดังกล่าว โดยปัจจุบันได้บรรลุข้อตกลงกับผู้ให้บริการในกัมพูชาแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ให้บริการในพม่าและลาว ทั้งนี้คาดว่าบริษัทจะต้องลงทุนในส่วนนี้เพิ่มอีก 50 ล้านบาท
"วิธีนี้จะเป็นเส้นทางหนึ่งในการดึงลูกค้าจากต่างประเทศเข้ามา และทำให้เราเป็นฮับในภูมิภาคนี้ อย่างกัมพูชาเองมีไอเอสพีกว่า 20 ราย นอกจากนี้ ยังมีโทรศัพท์ 3จีอีกด้วย ซึ่งความต้องการใช้งานแบนด์วิธก็มีมาก การเชื่อมเกตเวย์ผ่านไทยก็ทำได้ง่าย คิดว่าโครงข่ายที่วางแผนไว้น่าจะเสร็จในปีหน้า"
ส่วนเป้าหมายรายได้ของบริษัทในปีนี้นั้น สุวัฒน์ กล่าวว่า ทางบริษัทตั้งเป้าหมายว่ารายได้จากการให้บริการในปีนี้น่าจะอยู่ที่ 200 ล้านบาท และในปีหน้าเพิ่มเป็น 400 ล้านบาท โดยมีผลกำไรอยู่ที่ 20%
นอกจากนี้ ทางบริษัทยังมีแผนที่จะเปิดให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศหรือไอดีดี ในปีหน้าด้วย โดยจะเน้นให้บริการกลุ่มลูกค้าพรีเมียมและลูกค้าองค์กรเป็นหลัก แต่รายได้จากบริการดังกล่าวไม่น่าจะสูงมากเพราะยังเป็นรายใหม่ในตลาด ต้องใช้เวลาในการสร้างความมั่นใจในการให้บริการแก่ลูกค้าสักระยะหนึ่ง รายได้ประมาณ 70-80% น่าจะมาจากเกตเวย์อินเทอร์เน็ตมากกว่า
"ขณะนี้บริษัทได้ยื่นขอใบอนุญาตไอดีดีไปยัง กทช.แล้ว คาดว่าจะได้ใบอนุญาตในไตรมาส 4 ของปีนี้โดยใช้เงินลงทุนอีก 100 ล้านบาท สำหรับติดตั้งอุปกรณ์ เราต้องฉีกแนวในการให้บริการ เพื่อหาลูกค้าใหม่ๆ แต่ก็ยังรักษาฐานลูกค้าเก่าด้วย โดยเราจะโฟกัสลูกค้าที่เป็นพรีเมี่ยม และองค์กรธุรกิจแทน"
สุวัฒน์ ยังได้วิเคราะห์ถึงความต้องการแบนด์วิธอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยว่า ตลาดอินเทอร์เน็ตในไทยตอนนี้มีความเร็วมาตรฐานอยู่ที่ 1 เมกะบิตต่อนาทีแล้ว ทำให้ความต้องการใช้งานแบนด์วิธอินเทอร์เน็ตก็มากขึ้น ตัวเกตเวย์เองก็ต้องพยายามหาแบนด์วิธมากขึ้น ในส่วนของทริปเปิลที คาดว่าปี 2551 ลูกค้าอินเทอร์เน็ตในต่างจังหวัดจะขยายตัวจาก 200,000 ราย เป็น 500,000 ราย ดังนั้นคงต้องเพิ่มแบนด์วิธอีก 2 กิกะบิตต่อนาที ซึ่งยังไม่รวมความต้องการใช้งานจากประเทศในอินโดจีน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|