บัมเบิ้ล บี 1+1 2

โดย ขุนทอง ลอเสรีวานิช
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

"ถ้าคำนวณตามมูลค่าการตลาดปัจจุบันจะตกประมาณห้าถึงหกร้อยล้านเหรียญ ในขณะที่เราจ่ายเงินซื้อมาแค่ 283 ล้านเหรียญเท่านั้น" ดำริห์บอกว่าไม่ว่าราคาบัมเบิ้ล บี จะเป็นเท่าไรก็ตาม เมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้แล้ว เขาคิดว่าคุ้มค่า

หลังจากยูนิคอร์ดเข้าเป็นเจ้าของบัมเบิ้ล บี โดยผ่านบริษัทยูนิกรุ๊ปแล้ว ดำริห์ยังคงใช้ผู้บริหารชุดเดิมต่อไป เพียงแต่มีการสับเปลี่ยนตำแหน่งเท่านั้น โดยตัวเขาเองรั้งเก้าอี้ประธานบริษัทและประธานกรรมการบริหาร (CHIEF EXECUTIVE OFFICER) กำหนดนโยบายให้ทีมบริหารเดิมทำตาม และเน้นการควบคุมทางด้านการเงินเป็นพิเศษที่จะต้องมีการรายงานกันโดยตรงถึงตัวอย่างสม่ำเสมอ

หลักในการควบคุมการบริหารงานที่ดำริห์ใช้กับทีมงานที่บัมเบิ้ล บี คือ การควบคุมโดยวิธีงบประมาณ (BUDGETARY CONTROL) และตั้งเป้าหมายกำไรขั้นต่ำในระยะต้นนี้ปีละ 20 ล้านเหรียญ

ไตรมาสสุดท้ายของปี 2532 ซึ่งเป็นสามเดือนแรกหลังจากบัมเบิ้ล บี เป็นของยูนิคอร์ดแล้ว เป็นไตรมาสที่มีกำไรมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของบัมเบิ้ล บี ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2442

ตัวเลขในงบประมาณการกำไรขาดทุนที่ยังไม่ได้สอบทานเฉพาะช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี 2532 บัมเบิ้ล บี มีกำไรสุทธิ 1.9 ล้านเหรียญสหรัฐ จากยอดขาย 81.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

"ต้นทุนของเราลดลงอย่างน้อย 10-12.5 เปอร์เซ็นต์ นี่อย่างน้อยนะ" ดำริห์เปิดเผยถึงสาเหตุที่กำไรเพิ่มขึ้น

ต้นทุนสำคัญที่ลดลงไปคือ ต้นทุนทางด้านภาษีและต้นทุนแรงงาน

บัมเบิ้ล บี มีโรงงานแปรรูปปลาทูน่าอีควาดอร์ แล้วส่งไปบรรจุกระป๋องที่มายาเกซในเปอร์โตริโก ตอนที่ยูนิคอร์ดซื้อบัมเบิ้ล บีนั้น ได้ซื้อโรงงานผลิตอาหารทะเลกระป๋อง ที่ SANTA FE SPRING รัฐแคลิฟอร์เนียจาก PILLSBURY 7 ล้านเหรียญด้วยเพื่อดัดแปลงเป็นโรงงานทำปลาทูน่ากระป๋อง

เนื่องจากการส่งปลาทูน่ากระป๋องจากเปอร์โตริโก้เข้าไปขายยังฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของบัมเบิ้ล บีนั้น มีค่าขนส่งสูง ยูนิคอร์ดจึงใช้โรงงานที่ SANTA FE SPRING เป็นที่บรรจุปลาใส่กระป๋องป้อนให้กับตลาดในฝั่งตะวันตกแทน ให้โรงงานเปอร์โตริโก้เป็นฐานการผลิตสำหรับตลาดในฝั่งตะวันออกเท่านั้น

นอกจากนั้นแล้ว แรงงานที่เปอร์โตริโก้ยังสูงมาก ซึ่งยูนิคอร์ดต้องใช้การเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานต่อหน่วยเป็นการลดต้นทุนผลิตแทน ในขณะเดียวกันก็พยายามลดกำลังการผลิตลงทีละน้อย โดยใช้ฐานการผลิตจากโรงงานยูนิคอร์ดที่มหาชัยเพราะมีต้นทุนถูกกว่ามาก ถึงแม้จะบวกค่าขนส่งและภาษีแล้วก็ยังถูกกว่า

ยูนิคอร์ดส่งปลาทูน่ากระป๋องทั้งที่เป็นสินค้าสำเร็จรูปแล้วและที่ยังอยู่ในสภาพ SEMIFINISHED PRODUCT คือ เนื้อปลาทูน่าที่ผ่านกรรมวิธีการแปรรูปเรียบร้อยแล้วที่เรียกกันว่า FROZEN LOINS ไปบรรจุกระป๋องที่ SANTA FE SPRING แทนที่จะส่งเป็นปลาทูน่ากระป๋องสำเร็จรูปเข้าไปเลย

อัตราภาษีขาเข้าของปลาทูน่ากระป๋องในสหรัฐฯ คือ 12.5% ในขณะที่การส่งเป็น FROZEN LOINS เสียภาษีเพียง 0.25% เท่านั้น บัมเบิ้ล บี เก็บตกจากต้นทุนทางภาษีนี้ได้ถึงปีละ 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ !

"ปีนี้ยอดขายของบัมเบิ้ล บี จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล เพราะต้นทุนถูกลง ราคาของเราจะลดลงนิดหน่อยทำให้เจาะตลาดได้มากขึ้น" ดำริห์พูดถึงการใช้ประโยชน์จากต้นทุนแรงงานและภาษีที่ลดลงในการบุกตลาด

ปลาทูน่าของบัมเบิ้ล บีนั้น มีราคาแพงกว่ายี่ห้ออื่นเล็กน้อย เพราะวางตำแหน่งสินค้าไว้ในระดับสูงกว่า มีส่วนแบ่งตลาด 17.6% เป็นอันดับสามรองจาก STARKIST (35.8%) และ CHICKEN OF THE SEA (18.9%)

ยูนิคอร์ดใช้เนื้อปลาในการทำปลาทูน่ากระป๋องวันละ 300 ตัน ส่งให้บัมเบิ้ล บี 200 ตันที่เหลือผลิตให้กับลูกค้ารายอื่น ๆ ในยุโรป ญี่ปุ่น และผู้จำหน่ายที่เป็นคู่แข่งของบัมเบิ้ล บี ในสหรัฐฯ เองด้วย

"ทีแรกเราจะไม่ขาย แต่มาคิดอีกทีถ้าเรามไขาย เขาก็ซื้อจากผู้ผลิตรายอื่ไนด้ ก็เลยขายให้บัมเบิ้ล บี แข่งกับคู่แข่งด้วยตัวของมันเอง"

นอกเหนือจากปลาทูน่าแล้ว ยูนิคอร์ดยังมีแผนการที่จะส่งกุ้งแช่แข็งเข้าไปขายในสหรัฐฯ โดยผ่านเครือข่ายทางการตลาดของบัมเบิ้ล บีเองด้วย แทนที่จะต้องขายผ่านคนกลางหรือผู้นำเข้ารายอื่นเหมือนที่เคยเป็นมา

ยูนิคอร์ดได้ตัว AREA MANAGER ประจำลอสแองเจลิสของปูนซิเมนต์ไทยที่ชื่อ ปรีชา ตีรวัฒนานนท์ มาบริหารงานด้านพัฒนาธุรกิจของบัมเบิ้ม บี เพื่อวางแผนนำสินค้าทางด้านอาหารจากประเทศไทยเข้าไปขายในสหรัฐฯ โดยผ่านกลไกทางการตลาดของบัมเบิ้ล บี

"เรากำลังสนใจสัปปะรด เพราะปัจจุบันเรามีโรงสัปปะรดมากแต่ต้องขายผ่านผู้นำเข้า โบรคเกอร์ ตัวแทนจำหน่ายของเรา จะเข้าตรงถึงตลาดโดยผ่านช่องทางของบัมเบิ้ล บีเลย" ดำริห์พูดถึงแนวความคิดในการพัฒนาสินค้าตัวใหม่

ปัจจุบัน บัมเบิ้ล บี มีเครือข่ายการตลาดอยู่ใน 34 รัฐมีช่องทางการกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาด 600 ช่องทาง

"นี่คือ SYNERGY ที่เราได้" ดำริห์สรุปถึงสิ่งที่ยูนิคอร์ดได้มาจากเงิน 283 ล้านเหรียญในการซื้อบัมเบิ้ล บี

แต่คนอย่างดำริห์นั้น คนใกล้ชิดบอกว่า เขามีความคิดใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกวัน เป็นไปได้บ้าง เป็นความใฝ่ฝันบ้าง แต่ดำริห์ไม่เคยหยุดนิ่ง

ดำริห์กำลังเจรจาขอซื้อหุ้นบัมเบิ้ล บี ส่วนที่เป็นของ POISSON SHIPPING เพื่อจะได้เป็นผู้ถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียว และมีแผนการที่จะนำหุ้นบัมเบิ้ล บี ออกขายนอกตลาดตอนสิ้นปีนี้ เรื่องที่ใหญ่กว่านั้น คือ

การซื้อกิจกาในต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง !!

"ปีนี้เราจะเน้นที่ตลาดร่วมยุโรป" เขาพูดถึงก้าวต่อไปของยูนิคอร์ด

ยูนิคอร์ดส่งปลาทูน่ากระป๋องไปสหรัฐฯ 54% กลุ่มตลาดร่วมยุโรป 25% อีก 15% เป็นตลาดในญี่ปุ่นและตะวันออกกลาง

ยุโรปจึงเป็นตลาดที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง ฐานะของยูนิคอร์ดในยุโรปก็เหมือนในสหรัฐฯ ก่อนที่จะซื้อบัมเบิ้ล บี คือ เป็นผู้ผลิตตามคำสั่งของลูกค้า ไม่มีตลาดเป็นของตัวเอง

การรวมตัวเป็นตลาดเดียวของประเทศยุโรปในปี 1992 เป็นตัวเร่งอีกทางหนึ่งที่ทำให้ยูนิคอร์ดต้องรีบเดินหน้าสำหรับการสร้างที่มั่นทางการตลาดในยุโรป

"เราเตรียมตัวแล้ว" เมื่อสองเดือนที่แล้ว ดำริห์เดินทางไปโปรตุเกสเพื่อดูบริษัททางการตลาดปลาทูน่ากระป๋องแห่งหนึ่ง แต่เมื่อเจรจากันแล้ว ดำริห์ไม่สนใจ เพราะถึงแม้บริษัทนี้จะมีส่วนแบ่งตลาด 75% ในโปรตุเกส แต่มียอดขายเพียง 30 ล้านเหรียญต่อปี "ไม่คุ้มกับการที่เราจะไปเสียเวลาให้"

ยุทธศาสตร์ของดำริห์ในการซื้อบริษัทการตลาดในยุโรป คือ เข้าไปในประเทศที่มีข้อจำกัดในการนำเข้าปลาทูน่าและผลิตภัณฑ์อาหารจากประเทศไทยมากที่สุด เป็นการบุกทะลวงจากภายในโดยการเข้าไปตั้งบริษัทในประเทศนั้นเสียเลย เหมือนอย่างเช่น การซื้อบัมเบิ้ล บี ในสหรัฐฯ และการไปตั้งบริษัทในประเทศอื่น ๆ ของญี่ปุ่น

"เรามองบริษัทที่มีกำลังการผลิตต่ำแต่มีกำลังการขายสูง" นี่คือยุทธศาสตร์ข้อที่สองของเขาในการสร้างฐานทางการตลาดให้เป็นวงจรเดียวกับฐานการผลิตที่ยูนิคอร์ด และประเทศไทยมีความได้เปรียบอยู่แล้ว

ขณะนี้ดำริห์ได้กำหนดเป้าหมายแรกของการซื้อกิจการในยุโรปไว้แล้ว เป็นบริษัทผู้ผลิตปลาทูน่าขนาดเล็กในฝรั่งเศสแต่มีเครือข่ายทางการตลาดที่ใหญ่มาก มีส่วนแบ่งตลาดปลาทูน่าในยุโรป 30% ในขณะเดียวกันก็กำลังมองหาฐานการผลิตจากแอฟริกาซึ่งจะเป็นประเทศที่ได้สิทธิพิเศษทางภาษีจากฝรั่งเศส

ดำริห์ได้จ้างบริษัทโกลด์แมน แซค เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและเบเคอร์ แอนด์ แมคคินเซย์เป็นที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายในแผนการใหม่นี้แล้ว

"คงต้องใช้เวลาเป็นปี อย่างเร็วก็คงเก้าเดือน" เขาประเมินระยะเวลาที่จะสิ้นสุดการปฏิบัติการนี้ และอาจจะมีเป้าหมายอื่น ๆ อีก "อาจจะเป็นอังกฤษหรืออิตาลี"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.