วัฒนธรรมการบริหารแบบโค้วฯ

โดย Mary Seldman
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

การบริหารสไตล์วิญญู คือ เถ้าแก่ที่รวบยอดการตัดสินใจแต่ผู้เดียวเพิ่งไม่ถึง 3 ปีมานี้ที่วิญญูกระจายอำนาจเน้นเรื่องการบริหารคนมากขึ้น โดยมีปรัชญาว่า "เลือกคนให้เหมาะกับงาน"

จากพนักงานไม่ถึง 10 คนเมื่อ 30 ปีก่อนจนปัจจุบันโค้วยู่ฮะกรุ๊ปมีคนถึง 3,000 คน พื้นฐานการค้ารถที่สร้างลูกหม้อบริษัทที่ทำงานนานกว่า 10 ปีขึ้นไปสู่ตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารบริษัทในเครือโค้วยู่ฮะต่าง ๆ จำนวนหนึ่ง เช่น ประยูร อังสนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์ รัชชพร กุลเลิศจริยา กรรมการผู้จัดการบริษัทโค้วยู่ฮะกรุงเทพซึ่งอยู่นานถึง 22 ปี จารุวรรณ พินนาพิเชษฐ์ทำงานที่นี่นาน 19 ปีและปัจจุบันเป็นกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการโค้วยู่ฮะเซ็นเตอร์ และอดีตสองผู้จัดการแบงก์กำจร ชีวาพัฒนานนท์ กรรมการรองผู้จัดการโค้วยู่ฮะมอเตอร์, ดุสิต ทองดี ลูกหม้อเก่าก็ไปบริหารขอนแก่นยนต์ ฯลฯ

แต่เมื่อกิจการขยายไปเป็นธุรกิจอื่น ๆ ที่ซับซ้อนและไม่ใช่การค้ากึ่งผูกขาด ความจำเป็นต้องมีมืออาชีพก็เกิดขึ้น แต่วัฒนธรรมการบริหารที่ไม่ตรงกันระหว่างลูกหม้อเก่ากับคนใหม่ก่อปัญหา คนเก่าโตมาจากการทำงานหนักแบบนักขายที่ลุยงาน ขณะที่คนใหม่เข้ามาด้วยผลตอบแทนที่สูแงละระดมสมองวางแผนงานที่ไปสู่อุตสาหกรรมไฮเทคและการค้าที่แข่งขันรุนแรง

กรณีของ ดร.เชียรช่วง กัลยาณมิตร เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนได้ชัดเหมือนดำกับขาว เพราะ ดร.เชียรช่วงเข้ามาเป็นที่ปรึกษา CORPERATE PLANNER และเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโค้วโอเอคอร์เปอเรชั่นได้เพียง 6 เดือนก็ขอลาออกกลางที่ประชุมบอร์ด" ผมบอกว่า ผมได้ RESPONSIBILITY แต่ NO AUTHORITY ดังนั้นผมทำงานไม่ได้ครับ"

ในความเห็นของประยูร อังสนันท์ ผู้บริหารโค้วยู่ฮะมอเตอร์ เขากลับแย้งว่า "เราให้เต็มที่นะ ตอนหลังคุณวิญญูเขาสปอร์ตมากหลังจากเรียกมืออาชีพมา เขาให้หมดเลย อย่าง ดร.เชียรช่วงเราให้โอกาสเขาเต็มที่ โดยพวกผมไม่ต้องไปยุ่ง เขาจะรับผิดชอบหมดเรื่องโค้ววอชช์ หรือโค้วโอเอและให้เขามีอำนาจ แต่เขามาแบบว่าเอาของเมืองนอกมาใช้ พอเราให้โอกาสเขาในการบริหารงานเขาก็ทำเป็นสวยหรู เหมือนของต่างประเทศที่ลงทุนสูงเกินไป แต่เราก็ไม่ว่า ถ้าทำไปแล้ว แต่ตอนหลังก็ไปไม่ได้ เขาวิ่งเร็วเกินไปจนสะดุดและเราปิดโค้วโอเอชั่วคราว"

ในอดีต วิญญูพยายามที่จะวางแผนการบริหารบริษัทให้มีระบบและประสิทธิภาพ เช่น การซื้อตัวทีมซิงเกอร์มาทำที่โค้วยู่ฮะมอเตอร์ทั้งฝ่ายขาย ฝ่ายเร่งรัดหนี้สินในยุคแรก ซึ่งแน่นอนย่อมกระทบถึงลูกหม้อเก่าที่ต้องเด้งไปอยู่ตามสาขาเล็ก เช่น อุดร หรือเอาคนจากสยามกลการมาวางแผนต่าง ๆ เพื่อศึกษาแบบแผนการทำงาน บางปีวิญญูก็นำเอาระบบแบงก์มาใช้ แต่มาลินก็ไม่กล้าจ่ายสวัสดิการหรือโบนัสเหมือนแบงก์

"ที่จริงเสี่ยวิญญูแกกล้าจ่ายเพราะเป็นคนสปอร์ตอยู่แล้ว แต่ติดที่เสี่ยเนี้ยลูกน้องถ้าเห็นเสี่ยเนี้ยมาปีไหนใจไม่ดีแล้ว เพราะแทนที่จะจ่ายโบนัส 5 เดือนก็จ่าย 2-3 เดือนเอง" อดีตลูกหม้อโค้วยู่ฮะเล่าให้ฟัง

ทุกวันนี้การบริหารโค้วยู่ฮะกรุ๊ป โดยเฉลี่ยวิญญูจะอยู่ขอนแก่น 10 วันและประจำอยู่กรุงเทพประมาณ 20 วัน และกระจายให้อำนาจลูกหม้อเก่าดูแลแต่ละจุด โดยเฉพาะประยูรจะได้รับอำนาจกรรมการผู้จัดการใหญ่ดูแลขอนแก่นและบริษัทในเครือบริเวณใกล้เคียง หลังจากนั้นทุก 15 วัน หรือเดือนหนึ่งจะมีการประชุมบอร์ด ซึ่งปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 กรุ๊ป คือ บอร์ดสายงานกรุงเทพและภาคกลาง และบอร์ดภาคอีสาน โดยมีวิญญูเป็นประธาน และกรณีเร่งด่วนจะคุยกันทางโทรศัพท์หรือทุกอาทิตย์ก็จะมาประชุมกัน

การบริหารงานของครอบครัวนี้จะมี 2 คนที่เป็นหลัก คือ วิญญูและมาลินซึ่งต่างฝ่ายต่างทำ มาลินจะไม่เข้ามายุ่งกับการบริหารในโค้วยู่ฮะมอเตอร์ในระยะหลัง ๆ นี้ โดยเธอจะมุ่งไปทางด้านการบริหารที่ดินมากมายทั่วประเทศ ซึ่งในประเทศไทยขณะนี้เถ้าแก่เนี้ยที่มีชื่อเสียงด้านนี้ก็คือ คุณหญิงประภา วิริยประไพกิจและเพียงใจ หาญพาณิชย์ เธอจะมีญาติลูกน้องของตนเองที่ไว้ใจความซื่อสัตย์ได้ เช่น รัชชพร หรือจารุวรรณ ในขณะที่วิญญูจะมีทีมงานของตัวเองเช่นประยูรหรือกำจร เป็นต้น

แต่ความเชื่ออย่างหนึ่งที่วิญญูและมาลินใช้ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในการบริหาร คือ โหราศาสตร์ และการสร้างบุญบารมีด้วยการบริจาคให้วัด มีวัดอยู่แห่งหนึ่งชื่อ "วัดป่าไชยรังษี" ตั้งอยู่ที่สมุทรสาคร ซึ่งมีพระอาจารย์สุรินทร์ที่เก่งมากด้านสร้างบุญบารมี ชื่อ พระอาจารย์จันทร์หรือพระโพธิญานรังสีเถระเป็นอธิบดีสงฆ์ จนมีคำกล่าวว่า "CORPORATE PLANNER" ตัวจริงคือพระอาจารย์จันทร์

"คุณมาลินและคุณรัชชพรก็ชอบไปวัดและนับถือมาก เวลาจะทำธุรกิจจะช่วยดูดวงหรือทำอะไรสักอย่างถ้าตกลงใจว่าชอบแล้วจะต้องไปดูก่อนว่าดีหรือไม่ดี ถ้าดีก็สบายใจไป หรือถ้ามีบางอย่างที่ท่านห้าม เช่น จะซื้อที่ดิน บางทีก็ให้อาจารย์ดูก่อน ถ้าอาจารย์บอกว่าดีก็ตกลง แต่ถ้าไม่ดีก็โยนทิ้งไป" แหล่งข่าวเล่าให้ฟัง

สำหรับทายาททางธุรกิจ 6 คน คือ มาริษา พี่สาวคนโตอายุ 32 ปีปัจจุบันดูแลโรงแรมพรอวิเดนซ์ จิรวุฒิหรือ "ใหญ่" บุตรชายคนเดียวขณะนี้วางตัวเป็นผู้บริหารนัมเบอร์วันของโค้วยู่ฮะกรุ๊ป ปัจจุบันจิรวุฒิดูแลบริษัทประกันละเคยลงทุนด้านเรียลเอสเตทในโครงการ "มูนทาวเวอร์" ร่วมกับนิพนธ์ นิรันดร์วิไชย เจ้าของ "เจ้าพระยาลากูน" ในปีนี้จิรวุฒิจะบวชถ้าไม่ติดขัดปัญหาอะไร

คนต่อมา คือ สุนิดา ซึ่งสมรสกับชาวสวิตเซอร์แลนด์และกำลังทำให้วิญญูเป็นคุณตาเร็วๆ นี้ ถัดมาอีกคน คือ สาลินีหรือ "เน็กซ์" ซึ่งจบปริญญาโทจากนิวยอร์ก เป็นคนที่มีแววเก่งผู้บริหารโรงแรมนิวแมเจซติค และ LOW PROFILE ที่สุด คือ จิรศักดิ์หรือ "เล็ก" ซึ่งถึงแก่กรรมเพราะความไม่สมบูรณ์เมื่อปีที่แล้ว และคนสุดท้อง คือ ศรีนภา ซึ่งเพิ่งจบจากเอแบคแทนที่จะเรียนต่อเมืองนอกเหมือนพี่ ๆ เธอเลือกช่วยงานที่โรงแรมพรอวิเดนซ์แทน

โอกาสการเติบโตของทายาทวิญญูคงจะไม่มีเส้นทางเหมือนทายาทสหพัฒนพิบูล เพราะขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู การศึกษา และประสบการณ์ ตลอดจนความสามารถพิเศษส่วนตัว แต่ที่แน่นอน คือ การพิสูจนคนในรุ่นที่สองของคุวานันท์บนเส้นทางกว้างไกลสู่ความยิ่งใหญ่จะได้หรือไม่?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.