การที่บริษัทโค้วยู่ฮะกรุงเทพ แต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ นับว่าเป็นการวางแผนก้าวสำคัญของราชาภูธร
"วิญญู คุวานันท์" อย่างมาก และเสริมภาพพจน์บารมีของวิญญูให้ยิ่งใหญ่ในภาคอีสานด้วยความเป็นเจ้าที่ดินผู้มั่งคั่งจากการค้ารถอีซูซุมากขึ้น
กล่าวกันว่าสินทรัพย์ในอาณาจักรโค้วยู่ฮะกรุ๊ปบอกว่า ทำได้กว่า 5,000 ล้านบาท
และ 90% เขาได้มาจากค้ารถยนต์นี่เอง
โค้วยู่ฮะตั้งมาได้ 30 ปี แต่ละช่วงทศวรรษบ่งบอกถึงความสำเร็จและล้มเหลวของคนอย่างวิญญูได้ดี
นับตั้งแต่ช่วงเขายังเป็นยอดคนแดนอีสานมีความฝันอันยิ่งใหญ่ที่จะเป็นพ่อค้าโรงสีที่ร่ำรวย
จนถึงช่วงที่เขาเริ่มลงหลักปักฐานกับการเป็นดีลเลอร์รถอีซูซุรายใหญ่ที่สุดของอีสาน
จนกระทั่งขยายอาณาจักรได้ยอดขายมากที่สุด ตามด้วยช่วงทศวรรษที่สามคือการขยายฐานธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมอื่น
ๆ เพื่อทำให้กิจการครบวงจร
ก่อนหน้าปี 2501 วิญญูหรือ "ฮกเช้ง แซ่โค้ว" เป็นเพียงพ่อค้ารับซื้อของป่าที่สืบอาชีพจากบิดาซุยหยู
แซ่โค้ว และเขาเองก็คงไม่รู้ว่า เมื่อวันที่ 20 ต.ค. ปี 2501 การปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์
ธนะรัชต์ ได้นำการพัฒนาถนนสายใหม่หลายสายสู่ขอนแก่น ที่ถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางความเจริญของอีสานและอำนวยโชคให้หนุ่มเมืองพลที่มีกิจการห้องแถวเล็ก
ๆ ชื่อ ห้างหุ้นส่วนโต๊ะเฮียงเตียงมอเตอร์ ได้เติบใหญ่มาเป็นบริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์ในปัจจุบัน
ในช่วงทศวรรษแรกปี พ.ศ.2503-2513 การก่อตั้งบริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์ที่ขอนแก่นและเลือกค้ารถอีซูซุเพียงอย่างเดียวถือได้ว่าเป็นหัวหอกสำคัญที่ทำให้ฐานการค้าแข็งแกร่งขึ้น
เพราะในช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 1 ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2505-2509 จอมพลสฤษดิ์เริ่มนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญ
ๆ ของประเทศตามคำแนะนำของธนาคารโลก และเกิดกระทรวงพัฒนาการที่มี พจน์ สารสิน
เป็นรัฐมนตรีคนแรก
"ผมจำได้ว่า ในห้องของท่านมีแผนที่ภาคอีสาน และเส้นทางพาหนะมากมายเหลือเกิน
ท่านบอกว่าถ้าจะให้อีสานก้าวหน้าต้องทำถนน" พิชัย วาศนาส่ง ที่ปรึกษาใหญ่ของโค้วยู่ฮะ
ย้อนรอยอดีตให้ฟัง
และถนนสายใหม่นี้เองทำให้วิญญูมองเห็นการณ์ไกลโดยหวังทำกำไรระยะยาวจากการเป็นดีลเลอร์ค้ารถอีซูซุ
6 ล้อ
แม้ว่าขณะนั้นพนักงานจะมีไม่ถึง 10 คนก็ตาม และการบริหารก็ไม่เป็นระบบประเภทช่วยๆ
กันทำในหมู่เถ้าแก่ 3 คน คือ วิญญู มาลิน และสมพร ศิริอมตวัฒน์ ซึ่งเป็นน้องชายวิญญู
โดยแต่ละคนก็ทำหน้าที่ที่ถนัด มาลินต้องวิ่งตัวเป็นเกลียวหาเงินมาหมุนใช้ในการอาวัลตั๋วโดยเอาที่ดินไปจำนองกับแบงก์
ส่วนวิญญูก็วิ่งขึ้นล่องขอนแก่น-กรุงเทพฯ เพื่อติดต่อบริษัทมิตซูบิชิ คอร์เปอเรชั่น
โดยมีสำนักงานติดต่อแห่งแรกที่สามแยกสวนกวางตุ้ง สวนสมพร หรือเสี่ยน้อยก็คุมงานอยู่ที่ขอนแก่น
ขณะเดียวกัน วิญญูก็ไม่ทิ้งสิ่งที่เขาโตมากับมัน คือ ค้าข้าวและปอ ซึ่งในปี
2508-2509 วิญญูได้กำไรจากการค้าปอมากทีเดียว และเขายังมีกิจการโรงสีไฟโค้วยู่ฮะตั้งที่หนองบัวลาย
จังหวัดนครราชสีมาทำควบคู่กันไป และที่นี่เขาได้ประยูร อังสนันท์เป็นลูกน้องที่รับใช้อย่างซื่อสัตย์จนได้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ในวันนี้
อย่างไรก็ดี การทำธุรกิจการค้าจะหยุดนิ่งไม่ได้จำเป็นต้องขยายสาขาให้ครอบคลุมมากที่สุด
ใครมีอำนาจต่อรองสูงก็ได้สินค้าในราคาต้นทุนต่ำกว่าคู่แข่ง และการที่โค้วยู่ฮะได้ผงาดเป็นผู้ขายรถอีซูซุอันดับหนึ่งได้
นั่นก็เป็นผลมาจากการวางแผนของวิญญูที่ต้องการจะครองตลาดรถอีซูซุในอีสาน
ด้วยการแตกบริษัทลูกจากบริษัทแม่โค้วยู่ฮะมอเตอร์ ขอนแก่นให้กระจายไปทั่วอีสาน
และโค้วยู่ฮะได้กลายเป็นผู้จำหน่ายอันดับหนึ่งต่อมา และในปี 2510 นี้เองที่วิญญูได้เปลี่ยนนามสกุลจาก
"ศิริอมตวัฒน์" เป็น "คุวานันท์"
"ข้าพเจ้าเดินทางกลับไปประจำที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2510 และกลับมาประเทศไทยอีกครั้งเพื่อรับตำแหน่งรองประธานบริษัทมิตซูบิชิ
ประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการบริษัทมิตซูบิชิ ประเทศไทย สาขาบางเขน ในปี
พ.ศ.2514 ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทตรีเพชรอีซูซุเซลล์ จำกัด ในปัจจุบัน
ซึ่งนับเป็นการกลับมาประจำประเทศไทยครั้งที่ 3 ของข้าพเจ้า "มร.วาย
โมริตะ ที่ปรึกษามิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น แห่งญี่ปุ่นเล่าให้ฟัง
ในช่วงเวลานั้น โค้วยู่ฮะก็เติบใหญ่ขยายกิจการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม
สำนักงานขายของโค้วยู่ฮะคับแคบและไม่มีศูนย์บริการที่เพียงพอสำหรับลูกค้า
หลังจากที่โมริตะกลับมารับตำแหน่งใหม่ครั้งนั้น ได้เสนอให้โค้วยู่ฮะสร้างสำนักงานขายและศูนย์บริการใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นผู้จำหน่ายอันดับหนึ่ง
ระหว่างปี 2514-2524 บริษัทใหม่ ๆ ด้านการค้ารถของโค้วยู่ฮะเกิดขึ้นมากในเขตจำหน่ายของอีซูซุ
4 จังหวัด คือ ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และจังหวัดเลย ส่วนนอกเขตจำหน่ายหรือขายรถยี่ห้ออื่น
ๆ ก็ตั้งบริษัทขึ้นมา นับตั้งแต่ขอนแก่นยนต์ เฟิส์ทมอเตอร์ ขายรถฟอร์ด มาร์วินมอเตอร์
เบนซ์กรุงเทพ ฯลฯ และกิจการค้ารถอีซูซุที่โค้วมอเตอร์ขอนแก่นไปได้ดีมาก ๆ
และในปี 2524 วิญญูได้ตั้งบริษัทโตโยต้าปากน้ำโพที่นครสวรรค์โดยให้จารุวรรณ
พินนาพิเชษฐ์ ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทโค้วยู่ฮะเซนเตอร์ เป็นผู้ถือหุ้นและต่อมาโอนให้หลานสาววิญญูคือหทัยทิพย์
ศิริอมตวัฒน์ภายหลัง
ในทศวรรษที่สองระหว่างปี 2514-2524 นี้เอง ความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในโลกและประเทศไทยค่อนข้างแปรปรวนมาก
นับตั้งแต่การยกเลิกความสัมพันธ์ระหว่างดอลลาร์สหรัฐฯ กับทองคำในปี 2514
ซึ่งมีผลเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว และในปี 2516 ก็เกิดวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งแรก
และการตกต่ำของดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ตัวเลขการเติบโตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลงจากเคยสูงถึง 13.1% ในปี 2516 กลับตกต่ำลงเหลือแค่
9% ในปี 2517 และตกลงไปเหลือ 8% ในปี 2518
โค้วยู่ฮะก็โดนผลกระทบนี้ด้วย บริษัทการค้ารถและอะไหล่รถยนต์ที่ต้องอิงกับอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม
ต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตการณ์น้ำมันครั้งที่สองในปี 2522 ที่ทำให้ยอดการขายของโค้วยู่อะตกต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
แต่อาศัยที่โค้วยู่ฮะมีเครดิตการขายรถบรรทุกได้บ้างและการขายเงินผ่อนที่เหมือนน้ำซึมบ่อทราย
จึงทำให้กิจการประคองตัวไปได้ นอกจากนี้การสะสมซื้อที่ดินหลายสิบแปลงในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำของกลุ่มโค้วยู่ฮะมีมาก
จนตั้งเป็นบริษัทโค้วยู่ฮะเซนเตอร์ตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา
แต่กิจการประกันภัยที่วิญญูซื้อมาในปี 2515 ต้องประสบปัญหาภายในและภายนอกมาก
เริ่มตั้งแต่บริษัทนี้เดิมก็มีปัญหาขาดทุนสะสมมาตั้งแต่ยุคแรกสมัยยังเป็น
"กรุงเทพฯ ประกันภัย" ที่ตั้งเมื่อปี 2492 และถูกฟ้องล้มละลายเปลี่ยนชื่อเป็นไทยเรืองประกันภัย
เมื่อวิญญูซื้อมาตกแต่งในชื่อใหมว่า "ธนกิจประกันภัย" แล้วเปลี่ยนอีกครั้งเป็น
"พิทักษ์สินประกันภัย" ก็ยังประสบปัญหาขาดทุนเพราะในสมัยก่อนลูกค้าไม่นิยมเพิ่มเงินประกัน
ดังนั้นการแก้ปัญหาก็คือการเพิ่มทุน ปัจจุบันได้ร่วมกับบริษัท AGF (ASSURANCE
GENERALES DE FRANCE) แห่งฝรั่งเศส และให้จิรวุฒิ คุวานันท์ ลูกชายเป็นผู้บริหารด้วย
นอกจากนี้ ความล้มเหลวจากการทำคลังสินค้าก็เกิดขึ้น โดยวิญญูได้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนประเภทกิจการคลังสินค้าต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
สำนักนายกรัฐมนตรี ในนามของ "บริษัทคุวานันท์คลังสินค้า" ซึ่งมีทุนจดทะเบียน
20 ล้านบาทในปี 2524 กิจการคลังสินค้าประสบปัญหาขาดทุนและเพิ่มทุนเป็น 40
ล้านก็ยังไปไม่ได้ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงทำให้ในปี 2528 ต้องเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น
"เค เทรดดิ้ง" หันไปค้ารถซึ่งการณ์ก็ปรากฏว่า ปัจจุบันบริษัทนี้มีสาขามากมายถึง
7 แห่งทั่วอีสาน โดยมีสำนักงานใหญ่ที่อุดรธานี
แต่ในระยะเวลานี้เอง นโยบายรัฐบาลเปิดให้เอกชนทำกิจการรถทัวร์ได้ บริษัทไทยบัสบอดี้
ซึ่งเป็นโรงงานต่อตัวถังรถทัวร์และรถบรรทุกซึ่งมาลินตั้งในปี 2515 ก็ประสบปัญหาการบริหารที่ผิดพลาด
เพราะการย้ายโรงงานจากกรุงเทพฯ ไปตั้งที่ขอนแก่น ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ทั้งค่าขนส่ง
ค่าสั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการต่อตัวถังรถ ทำให้กิจการขาดทุน และในปี 2522
ก็ต้องหยุดกิจการไป ขณะที่ทางบริษัทเชิดชัยอุตสาหกรรมที่ทำแบบเดียวกันได้พัฒนาไปได้ดีกว่าในสายอุตสาหกรรมนี้
แต่ดูเหมือนว่าแม้จะมีบางธุรกิจไม่ประสบผลสำเร็จ แต่วิญญูก็ผลักดันโค้วยู่ฮะขยายตัวต่อไป
! โดยคาดหมายว่าการโตต่อไปเท่านั้นที่จะมีโอกาสเพิ่มปริมาณรายได้และผลกำไรได้
นับตั้งแต่ปี 2525-2532 อาณาจักรของโค้วยู่ฮะไม่ได้จำกัดเพียงแค่ราชาภูธรค้ารถอีซูซุ
หรือเจ้าที่ดินแห่งเมืองไทยเท่านั้น แต่วิญญูได้วางแผนการเติบโตไปสู่ภาพพจน์นักธุรกิจสมัยใหม่ที่มีพยายามแสดงออกถึงการบริหารทุน
บริหารธุรกิจ และบุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้ง ๆ ที่ปรัชญาการทำธุรกิจของเขา
คือ พ่อค้าที่ถนัดงานซื้อมาขายไปมากกว่า
ในปี 2524 และ 2527 รัฐบาลได้ใช้มาตรการทางการเงินลดค่าเงินบาทสองครั้ง
พร้อมกับกำหนดระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทใหม่จากผูกติดตายตัวกับดอลลาร์เป็นลอยตัว
เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมไปสู่การส่งออกและพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาค แต่ในปี
2527 นโยบายจำกัดสินเชื่อ 18% ก็ทำให้เศรษฐกิจถดถอยมาก
ปี 2525 โรงงานต่อตัวถังรถยนต์ก็เกิดขึ้นในนาม "เฟิส์ทบอดี้"
ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ "บริษัทเคเอ็มที" กิจการขาดทุนตลอดจนต้องเพิ่มทุนเกือบทุกปีจาก
5 ล้านเป็น 30 ล้านในปัจจุบัน เหตุของการขาดทุนเพราะค่าใช้จ่ายสูงมากและการบริหารรั่วไหล
มีการเปลี่ยนผู้บริหารคนแล้วคนเล่า ล่าสุดวิญญูดึงผู้เชี่ยวชาญจากอีซูซุได้
เป็นชาวญี่ปุ่นชื่อ KAZUMASA FUSEYA มาจากเมืองจิฟู ญี่ปุ่น และเคยทำงานให้อีซูซุที่นครราชสีมา
มาเป็นรองกรรมการผู้จัดการ บริหาร 3 โรงงาน ส่วนสถาพร ณ พัทลุง ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารที่นี่ก็ย้ายไปดูแลบริษัทแวมโก้ที่จะผลิตรถเฟี้ยต
เคเอ็มทีเป็นตัวอย่างของการขาดแคลนผู้บริหารระดับสูงและระดับกลางอย่างมาก
คือ ขาดตำแหน่ง GENERAL MANAGER ผู้จัดการโรงงานหนึ่งคน ผู้จัดการฝ่าย และผู้ช่วยผู้จัดการส่วน
ในขณะที่มีโรงงานที่ต้องดูแลถึง 3 แห่ง มีพนักงานเกือบ 600 คน ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นซับคอนแทคเตอร์ซึ่งประกอบตัวถังรถพ่วงชนิดเซมิ-เทรลเลอร์และรถดัมพ์
ถึงกระนั้นก็ตาม วิญญูก็ไม่ปล่อย เขาได้พันธมิตรธุรกิจที่จะมาร่วมลงทุนสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่
ๆ ให้เคเอ็มทีแล้ว ในช่วงปี่แล้ววิญญูเดินทางไปเกาหลีและญี่ปุ่นบ่อยมาก เพื่อเจรจาข้อตกลงการร่วมลงทุนกับบริษัทซันญองแห่งเกาหลีใต้
ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในการผลิตตู้คอนเทนเนอร์ และที่ญี่ปุ่น บริษัทเคียวคูโตะซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่ง
(รองมาเป็นบริษัทชิมไงหว่าและบริษัทโตคิว) ก็เป็นเป้าหมายของวิญญูที่จะมีการร่วมลงทุนเพื่อประกอบรถดัมพ์ในปีนี้
ดังนั้น ปีนี้จึงเป็นปีที่โค้วยู่ฮะก้าวสู่อุตสาหกรรมต่อนเองจากการค้ารถ
(VERTICAL INTREGRATION) เพราะในปี 2532 บริษัทเวิร์ล ออโตพาร์ท แมนูแฟคเจอริ่ง
(แวมโก้) ได้เข้าไปเช่าช่วงโรงงานกรรณสูตเจอเนอรัล แอสเซมบลีที่ถูกสถาบันการเงินฟ้องล้มละลายเพราะหนี้สินกว่า
459 ล้านบาท ตามแผนการของวิญญูเขาได้ติดต่อกับทางบริษัทเฟี๊ยต ประเทศอิตาลี
เพื่อขอเป็นผู้ประกอบรถเฟี๊ยตในภูมิภาคนี้
"ขณะนี้เรารอคุยกันก่อนว่า เฟี๊ยตจะให้เราประกอบกี่รุ่นหรือรุ่นอะไรบ้าง
นอกจากนี้ เรายังมีโครงการประกอบรถบรรทุกซึ่งยังไม่รู้ว่าจะใชุ้นเท่าไหร่
เพราะต้องใช้เวลา" วิญญู คุวานันท์ เล่าให้ฟังแต่ปัญหาขณะนี้คือ สิทธิการเช่าช่วงของแวมโก้ได้หมดลงแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์
2533 และทางเจ้าหนี้รายใหญ่ คือ ธนาคารสยามจำกัดต้องการให้กรมบังคับคดีขายทอดตลาดเพื่อนำเงินจากการประมูลมาชำระหนี้สิน
แทนที่จะให้ทางแวมโก้เช่าเดือนละ 5 แสนบาท
การประมูลครั้งนี้มีบริษัทผู้ค้ารถยนต์หลายแห่งที่ต้องการใบอนุญาตนี้ นอกจากของโค้วยู่ฮะกรุ๊ปแล้วก็มีบริษัทฮอนด้าคาร์
(ประเทศไทย) ด้วยงานนี้เสี่ยวิญญูต้องสู้ชิงดำแน่นอน
นอกจากนี้ วิญญูยังมีโครงการระยะสั้นและระยะยาวเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอีกมากที่ทำไม่ได้
เช่น นิคมอุตสาหกรรมที่น้ำพอง โครงการเมืองอิเล็คทรอนิกส์ โครงการผลิตนาฬิกาในนามบริษัทโค้ววอชช์
"ผมเคยไป MATCH JOINT VENTURE โรงงานนาฬิกาที่สวิตส์ซึ่งเขยคุณวิญญูเป็นคนนำเข้ามา
เพื่อตั้งบริษัทโค้ววอชช์ ปัญหาก็คือ พอตอบว่าลงทุน 2 ปีครึ่งถึง 3 ปี ถึงจะคืนทุนท่านตกใจว่า
ทำไมนานเหลือเกิน...ผมตั้งดีลเลอร์ขึ้นมาเพียงเดือนเดียวก็ได้เงินคืนแล้ว"
ดร.เชียรช่วง กัลยาณมิตร เล่าให้ฟังในสมัยเมื่อเขายังเป็นที่ปรึกษาไฟแรงให้โค้วยู่ฮะกรุ๊ป
อีกด้านหนึ่งการค้าในอินโดจีนตามนโยบายพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ที่ต้องการเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า
ก็ทำให้วิญญูซึ่งมีคอนเนคชั่นแนบแน่นกับประเทศลาวมานานก็ได้ตั้งบริษัทโค้วยู่ฮะ
(ไทย-ลาว) และบริษัทส่งเสริมการเกษตรขึ้นมาในปี 2531 และ 32 แต่ปรากฏว่า
การค้าล้มเหลวไม่ได้ตามเป้าหมาย เพราะรัฐบาลลาวไม่มีความแน่นอนเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีและกฎระเบียบการนำเข้าส่งออกทำให้คำนวณต้นทุนและราคาขายลำบาก
ในรอบบัญชีปี 2531 ระหว่างเดือนเมษา 31 ถึงมีนา 32 ผลการดำเนินงานของบริษัทโค้วยู่ฮะ
(ไทย-ลาว) ขาดทุนประมาณ 150,000 บาท จากทุน 1,000,000 บาท โดยมีรายได้จากการขายสินค้านำเข้าจากลาว
ซึ่งเป็นสินค้าเศษโลหะเป็นเงินถึง 13 ล้านกว่าบาท ขณะที่รายได้จากการส่งออกสินค้ารถอีซูซุหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าไปลาวมีมูลค่าเพียง
2.6 ล้านบาท
และอีกฐานหนึ่งที่วิญญูไม่ทิ้งแน่นอนก็คือ ธุรกิจส่งออกข้าวและค้าพืชไร่
วิญญูได้เดินหน้าเข้าสู่วงการค้าพืชไร่มันสำปะหลังเต็มตัวโดยขอซื้อโกดัง
และโรงงานผลิตมันสำปะหลังอัดเม็ดของบริษัททวีแสงศิริที่ถูกธนาคารกรุงเทพยึดไว้
เนื่องจากค้างหนี้อยู่ถึง 200-300 ล้านบาท และซื้อตัวคนจากบริษัทเริ่มอุดมด้วยเงินเดือนสูงถึง
4 หมื่นบาทขณะที่ปกติจ้างแค่ 2 หมื่นบาท หลังจากพร้อมแล้ววิญญูได้ใช้คอนเนคชั่นผลักดันให้การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรกำหนดว่า
เขตขอนแก่นเป็นเขตส่งออกมันสำปะหลังด้วยจากเดิมที่เขตสิ้นสุดที่นครราชสีมา
เพื่อเอาผลตรวจสอบสต็อกไปจัดสรรเป็นโควต้าส่งออกให้และแผนการต่อไปของวิญญู
คือ ผลักดันขยายเขตส่งออกไปถึงอุดรด้วย เพราะขณะนี้ที่อุดรธานีวิญญูได้สร้างโรงอัดมันเม็ดขนาด
4 หัวใหญ่ ซึ่งจะผลิตได้ราวเดือนเมษายนปีนี้ และโรงสีข้าวขนาด 200 เกวียนด้วย
สินค้าเกษตรพืชผลเหล่านี้ส่งออกโดยผ่านบริษัทไรซ์ชอยส์ที่กรุงเทพ เมื่อปี
31 วิญญูได้เข้าวงการค้าข้าวโดยตั้งบริษัทเกษตรไพศาลเพื่อส่งออกข้าวไปยังจีนเป็นรายใหญ่
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมได้บูมมาก ดังนั้น
โค้วยู่ฮะกรุ๊ป ก็ได้ซื้อกิจการโรงแรมเข้ามาอยู่ในเครือ 2 แห่ง คือ โรงแรมนิวแมเจสติคที่ราชดำเนินกรุงเทพ
และอีกแห่งที่เชียงใหม่ชื่อโรงแรมพรอวิเดนซ์ ซึ่งมาลิน คุวานันท์ซื้อจากลิตเติ้ลดั๊กกรุ๊ปในราคาเกือบ
200 ล้านบาททั้งสองแห่งให้ลูกสาวชื่อสาลินีบริหาร
แต่โครงการใหญ่ที่วิญญูตั้งใจสร้างที่ขอนแก่นแน่นอน คือ "โค้วยู่ฮะคอมเพล็กซ์"
ที่ประกอบด้วยโรงแรมชั้นหนึ่งขนาด 400 ห้อง สูง 6 ชั้นมีห้องประชุมใหญ่จุคนได้ถึง
2,000-3,000 คน และมีห้างสรรพสินค้า สปอร์ตคลับ และมีสวนน้ำบนเนื้อที่ 100
ไร่ริมถนนมิตรภาพบริเวณใกล้ขอนแก่นสปอร์ตคลับ ซึ่งวิญญูได้เช่าสิทธิทำสนามม้าแข่งจากสโมสรนครขอนแก่นโดยจ่ายไป
8,561,442 บาท
วิญญูเป็นนักลงทุนที่ฉวยโอกาสเก่งแท้ ๆ ปัญหามีเพียงว่าเขาเอาทุนมาจากไหนตั้งมากมายมาเที่ยวไล่ซื้อกิจการต่าง
ๆ
"มีเหลือไม่ถึง 10 จังหวัดที่ตระกูลคุวานันท์ไม่ได้ซื้อ" นายหน้าค้าที่ดินรายหนึ่งเล่าให้ฟังแต่มีเป็นสิบ
ๆ จังหวัดที่มาลิน คุวานันท์ และเสี่ยวิญญูสะสมไว้ตั้งแต่รุ่นหนุ่มสาวจนถึงปัจจุบัน
"คุณแม่ชอบสะสมที่ดินมานานตั้งแต่ซื้อไม่กี่ไร่เป็น 20 ไร่ แต่เดี๋ยวนี้ถ้าต่ำกว่า
40-50 ไร่ คุณแม่จะขี้เกียจไปดูเพราะเสียเวลา และบางทีคุณพ่อและพี่ใหญ่ไปเจอที่ไหนดี
ๆ ก็จะซื้อด้วย" ลูกสาวคนเล็ก ศรีนภา คุวานันท์ เล่าให้ฟัง
แต่ลักษณะการพัฒนาที่ดินยังมีน้อย ส่วนใหญ่จะเก็บไว้และมีบางแปลงที่นำไปจำนองกับแบงก์เพื่อกู้เงินทุนหมุนเวียนในกิจการที่ขยายตัว
หรือเปิดใหม่ หรือบางทีก็ขาดทุน การบริหารด้านการเงินส่วนใหญ่มาลินที่คนโค้วยู่ฮะเรียกว่า
"เสี่ยเนี้ย" นั่นเป็นผู้ดูแล และเป็นผู้วิ่งเต้นหาเงินตัวเป็นเกลียวในระยะบุกเบิกกิจการแรก
ๆ
แบงก์พาณิชย์ใหญ่ 7 แห่งในประเทศต่างซูฮกให้โค้วยู่ฮะเป็นลูกค้าชั้นดี โดยปีที่แล้วทางบริษัทโค้วยู่ฮะกรุงเทพมีวงเงินเบิกเกินบัญชี
44.5 ล้านบาท และวงเงินสำหรับตั๋วเงินจ่ายและ LETTER OF CREDIT ในประเทศจำนวนรวม
465 ล้านบาท วงเงินเหล่านี้ค้ำประกันโดยเงินฝากประจำ 43.2 ล้านบาท และวงเงินส่วนที่เหลือค้ำโดยกรรมการและที่ดินหลายแปลง
ในอดีตเมื่อปี 2527 ด้วยสายสัมพันธ์กับพารณ อิศรเสนา แห่งปูนใหญ่วิญญูก็ได้ซื้อที่ดินสำนักงานใหญ่บริษัทของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยริมถนนพหลโยธิน
ในนามบริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์มาทำเป็นสำนักงานใหญ่โค้วยู่ฮะกรุงเทพด้วยเงิน
123 ล้านบาท โดยได้กู้แบงก์กสิกรไทย 21 ล้านกว่าบาทมาชำระพร้อมกับธนาคารอเมริกาก็ให้กู้ถึง
90 ล้านบาท นี่คือตัวอย่างของการหมุนเงินที่อาศัยที่ดินค้ำประกัน ทำให้ราชาที่ดินอย่างวิญญูและมาลินนับเป็นลูกค้าชั้นดีมาก
ๆ ที่แบงก์ให้เครดิตเต็มที่ทุกโครงการ
นอกจากนี้ การใช้เงินทุนหมุนเวียนเช่นโครงการขยายงานค้ารถยนต์ของบริษัทโตโยต้าปากน้ำโพในช่วงแรก
ๆ ประมาณปี 27 ก็มีการขอวงเงินในรูปการค้ำประกันตั๋วแลกเงิน (อาวัลตั๋ว)
ในวงเงินไม่เกิน 60 ล้านบาท โดยมีที่ดินจำนองและตัววิญญูค้ำประกัน
คำถามมีอยู่ว่า ทำไมวิญญูและโค้วยู่ฮะมอเตอร์จึงมีเครดิตดีมากมายเพียงนี้
?
คำตอบมีว่า เพราะไม่เพียงแต่จะมีที่ดินมามายเท่านั้น หากโค้วยู่ฮะรวยเงินสดจากธุรกิจด้วย
ขอให้ดูงบดุลบริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์ (ขอนแก่น) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทในเครือข่ายเป็นตัวอย่าง
ปี 2531 มี CASH ASSET ประมาณ 300 ล้านเทียบกับรายได้สุทธิจากยอดขายประมาณ
656 ล้านบาทหรือคิดเป็นเกือบ 50% ซึ่งบ่งบอกถึงตัวธุรกิจว่าสามารถสร้างเงินสดได้ดี
เมื่อมองในแง่นี้แล้วจึงไม่แปลกใจที่ธนาคารต่างเดินเข้าหาโค้วยู่ฮะเพื่อปล่อยเครดิตให้
มีข้อมูลที่ยืนยันได้ว่า โค้วยู่ฮะใช้ความแข็งแรงในเครดิตเป็นตัวผ่องถ่ายเม็ดเงินจากธนาคารไปให้บริษัทเครือข่าย
จากเอกสารรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชีบริษัทกรุงเทพสรรพกิจระบุว่า ปี 2531
บริษัทเป็นลูกหนี้เงินให้กู้ยืมแก่บริษัทในเครือ 501 ล้านบาท และเอาไปลงทุนแสวงผลระยะสั้นและถือหุ้นในบริษัทจำกัดอื่น
ๆ ในเครือประมาณ 78 ล้านบาท นอกจากนี้ยังไปให้กรรมการกู้อีก 84 ล้านบาท
รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 662 ล้านบาทที่บริษัทแม่เป็นตัวผ่องถ่ายเม็ดเงินจากระบบธนาคารไปใช้ในกิจการที่นอกเหนือธุรกิจของบริษัทแม่
การใช้ที่ดินและเครดิตตัววิญญูเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันจึงเป็นที่มาของการใช้ทุนจากระบบธนาคารในการลงทุนขยายกิจการนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ถึงจุดหนึ่งการก่อหนี้เพื่อการเติบโตของธุรกิจย่อมเป็นภาระมากมายและมีความเสี่ยงสูงในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ
ทางออกคือการระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์
ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนปี 2532 ที่วิญญูได้ให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซิตี้คอร์ป
เป็นอันเดอร์ไรเตอร์ในการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นของบริษัทโค้วยู่ฮะกรุงเทพ
และต่อมาได้ยื่นสมัครเข้าเป็นบริษัทรับอนุญาตต่อตลาดหลักทรัพย์ เป็นที่จับตาว่าเมื่อไหร่ที่หุ้นตัวนี้จะผ่านการอนุมัติให้ซื้อขายกันได้
ขณะที่ปัจจุบันราคาซื้อขายนอกตลาดไต่อยู่ระดับราคา 150-180 บาทแล้ว หลังจากที่ได้มีการขายหุ้นให้แก่พนักงานบริษัทในราคาหุ้นละ
52 บาท
"ทุนจดทะเบียนของเราเพิ่มจาก 10 ล้านเป็น 80 ล้านบาทเมื่อปีที่แล้ว
และจะกระจายไปสู่ประชาชนประมาณ 40% ราคาพาร์ก็ 10 บาท ถ้าจะขายก็ประมาณร้อยบาทได้"
วิญญู ประธานโค้วยู่ฮะกรุงเทพเปิดเผยถึงเงินทุนที่จะระดมได้จากการเป็นบริษัทมหาชนนับล้าน
ๆ บาท
บริษัทโค้วยู่ฮะกรุงเทพเดิมชื่อบริษัท ยู.ดี. มหานคร ตั้งเมื่อปี 2521 ด้วยทุนจดทะเบียน
5 ล้านบาท และเมื่อถูกวิญญูซื้อกิจการเมื่อปี 2523 ก็เปลี่ยนชื่อเป็น "อีซูซุขอนแก่น"
และต่อมาเมื่อกิจการค้ารถเติบใหญ่มากขึ้นในขอนแก่น วิญญูก็ย้ายสำนักงานใหญ่มาที่กรุงเทพ
โดยสวมชื่อใหม่ให้เป็น "บริษัทโค้วยู่ฮะกรุงเทพฯ เป็นตัวแทนจำหน่ายรถบรรทุกขนาดกลางและใหญ่ของอีซูซุ
แทนสำนักงานติดต่อประสานงานที่โค้วยู่ฮะมอเตอร์มีอยู่ขณะนั้น
รัชชพร กุลเลิศจริยา ซึ่งขณะนั้นยังใช้ชื่อเดิมว่า "อนันต์ญา"
ได้ถูกมอบหมายให้เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทนี้ ปัจจุบันนี้รัชชพรหรือที่เรียกกันสั้น
ๆ ว่า "พี่เตียง" เป็นลูกหม้อเก่าที่ทำงานกับโค้วยู่ฮะมานานนับ
20 กว่าปี และมีคุณสมบัติของความซื่อสัตย์ ถือคุณธรรม นิยมธรรมะเข้าวัดแบบเดียวกับเสี่ยเนี้ย
มาลิน คุวานันท์
การบริหารงานของโคร้วยู่ฮะกรุงเทพยังรวมศูนย์อยู่ที่วิญญูและมาลิน แม้ว่าจะมีบอร์ดใหญ่สายงานภาคกรุงเทพมหานครและภาคกลางก็ตามที
ดังนั้การตัดสินใจนำเอาโค้วยู่ฮะกรุงเทพซึ่งขาดทุนมาตลอดตั้งแต่ปี 2527-30
เข้าตลาดหุ้นในฐานะบริษัทรับอนุญาตแทนที่จะเอาโค้วยู่ฮะมอเตอร์ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ทำกำไรได้มากที่สุดในกรุ๊ปจึงเกิดขึ้น
"เราต้องเข้าไปทีละบริษัท เพราะโค้วยู่ฮะกรุงเทพของเราค้ารถอย่างเดียว
ซึ่งเหมาะสมกับการเข้าตลาดหุ้น ส่วนโค้วยู่ฮะมอเตอร์ของเราที่ขอนแก่นไม่ใช่จะค้ารถอย่างเดียว
แต่ทำหลายอย่างทั้งเกษตร จัดซื้อที่ดิน และทำไฟแนนซ์ ดังนั้นเป็นบริษัทที่ค้าทุกอย่างซึ่งยังไม่พร้อมเข้า
แต่วันหนึ่งคงจะต้องเอาเข้าให้ได้" ประยูร อังสนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่
เล่าให้ฟัง
การใช้ตลาดหุ้นของวิญญู คุวานันท์ เป็นการวางแผนทิศทางของโค้วยู่ฮะกรุงเทพ
โดยหวังผลที่ให้เกิดขึ้น คือ จากบริษัทที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักก็จะเกิดภาพพจน์บริษัทนี้ขึ้นมา
ซึ่งก็จะหมายถึงการเพิ่มพูนกำลังทรัพย์จากมหาชนได้ง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก และนำเอาตลาดหุ้นมาใช้ในเชิงการตลาดมากขึ้น
โดยขยายขอบเขตการแข่งขันได้ทวียิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะการใช้แหล่งทรัพยากรทางการเงินจากตลาดหุ้นจะทำให้กิจการขยายขนาดใหญ่ขึ้นและหาสินค้าใหม่
ๆ ได้ด้วย
ในอนาคตเมื่อฐานการเงินเสริมความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นไปอีก บริษัทขนาดใหญ่เล็กในเครือของโค้วยู่ฮะอีกนับสิบ
ๆ บริษัทจะเริ่มมีพิษสงมากขึ้น เพราะโค้วยู่ฮะจะได้ทั้งทุนและมืออาชีพเข้าไปบริหารงานในเครือมากขึ้น
และอีก 3 ปีข้างหน้าแน่นอนว่าโค้วยู่ฮะกรุงเทพอาจจะไปซื้อกิจการใหม่ ๆ เข้ามาอีก
เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในหุ้นของตัวเอง เรื่องนี้ผู้ที่ตอบได้ดีที่สุดน่าจะเป็น
"วิญญู คุวานันท์" ยอดคนแดนอีสานคนนั้น