ชั่วเวลาเพียง 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดการเงินเมืองไทยได้พัฒนาอย่างสลับซับซ้อนและมีการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ศัพท์เทคนิคการเงินใหม่ ๆ ไหลทะลักเข้ามาชนิดผู้บัญญัติศัพท์ไทยติดตามไม่ทัน
CORPORATE FINANCE, MEZZANINE FINANCE, MERGER & ACQUISITION (M &
A), JAPANESE LEVERAGE LEASE (JLL), FSC LEASE ETC.
บรรดาสถาบันการเงินต่าง ๆ เริ่มให้ความสนใจในการทำธุรกิจประเภทนี้มากขึ้น
แม้จะมีการแข่งขันสูง แต่ช่องว่างในการทำธุรกิจก็ยังมีอยู่มาก เพราะจะหาคนที่มีความรู้และประสบการณ์จากตลาดการเงินต่างประเทศมาทำในตลาดการเงินไทยนั้น
เป็นเรื่องค่อนข้างยาก
อย่างไรก็ดี ความยากประการนี้เป็นเรื่องที่ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี และชินเวศ
สารสาส สามารถทำให้ง่ายขึ้นมาได้ เมื่อเสาะหาผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนอย่างณัฐศิลป์
จงสงวน ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคและผู้จัดการทั่วไปแห่ง SECURITY PACIFIC
LEASING CORP. (SECPAC.) ในฮ่องกง มาเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทมอร์แกน เกรนเฟลล์
ไทย จำกัด ซึ่งเป็นกลไกด้านธุรกิจวาณิชธนกิจของ บ.จีเอฟ โฮลดิ้ง และมอร์แกน
เกรนเฟลล์ เอเชีย
แต่ความยากประการต่อไป คือ การที่ผู้มีประสบการณ์จากตลาดการเงินต่างประเทศอย่างณัฐศิลป์
จะใช้ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการเงินชั้นสูงดำเนินธุรกิจในไทยได้อย่างไร ณัฐศิลป์จบปริญญาตรีและโททางด้านรัฐศาสตร์
และเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ โดยปริญญาโทใบสุดท้ายจบเมื่อ ปี
1982 แล้วเริ่มงานกับธนาคารเชสแมนฮัตตัน เอ็นเอ สถาบันที่ช่างเทคนิคการเงินระดับสูงในตลาดเวลานี้
ล้วนเคยมีประสบการณ์การทำงานมาด้วยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารในบริษัทเอกธนกิจ
ศรีมิตร ณัฐศิลป์ทำอยู่ 2 ปีในทีม PROJECT FINANCE ก็ลาออกมาโดยมีตำแหน่งสุดท้ายเป็น
ASSISTANT TREASURER
จากธนาคารในนิวยอร์คก็เข้าไปสู่ธนาคารในแคลิฟอร์เนียที่ SECURITY PACIFIC
NATIONAL BANK โดยเป็นผู้แทนสำนักงานในกรุงเทพฯ หลังจากนั้นไม่นานก็ย้ายไปทำด้านลิสซิ่งที่ฮ่องกง
และเก็บรับประสบการณ์จากตลาดลิสซิ่งที่ซับซ้อนที่นี่เอาไว้มาก ส่วนในเรื่องตราสารทางการเงินนั้น
เขาก็เรียนรู้จากตลาดตราสารฯ ของสิงคโปร์ ซึ่งมอร์แกนฯ มีผลงานด้วยส่วนแบ่งการตลาดสูงเป็นอันดับ
1 ด้วยมูลค่า 1,741 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
ส่วนเมืองไทยนั้น มอร์แกน เกรนเฟลล์ ไทย มีขอบข่ายงานทางด้านการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินทุกรูปแบบ
ไม่ว่าจะเป็น CORPORATE FINANCE, PROJECT FINANCE, PROPERTY FINANCE, STRUCTURE
FINANCE, INVESTMENT MANAGEMENT และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
ณัฐศิลป์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ด้วยอารมณ์รื่นเริงในสายวันหนึ่งว่า
"ในประเทศไทยนี่จุดเน้นของเราในระยะแรกหนักไปทางคอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ คือ
เราให้ความสนใจด้านตลาดเงินทุนมากกว่าตลาดหนี้คล้ายกับให้การปรึกษาในการจัดหาทุน"
ในเรื่องตราสารฯ นี้ มอร์แกนฯ มีลูกค้าที่ให้ความสนใจอยู่ 2-3 ราย แต่ยังติดขัดปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสิทธิในการจองหุ้นที่เปลี่ยนหุ้นที่เปลี่ยนมือได้
(TRANSFERABLE SUBSCRIPTION RIGHT) ซึ่งณัฐศิลป์ กล่าวว่า "เรื่องนี้เราต้องการกฎระเบียบที่แน่ชัดจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
หรือแบงก์ชาติ"
ทั้งนี้ สมัยอยู่ที่ SECPAC. ณัฐศิลป์ได้เก็บรับประสบการณ์จากที่ SECPAC.
ได้ทำตราสารการเงินให้บริษัทใหญ่ ๆ หลายแห่ง เช่น SEMBAWANG SHIPYARD LTD.
มูลค่า 50 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ OVERSEAS UNION BANK LTD. มูลค่า 100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
เป็นต้น
ส่วนในเรื่องของการทำการเช่าซื้อโดยใช้ระบบภาษี หรือ JAPANESE LEVERAGE
LEASE (JLL) ซึ่งเป็นเทคนิคที่สลับซับซ้อนในตลาดไฟแนนซ์ ณัฐศิลป์ก็ได้เรียนรู้จากตลาดสิงคโปร์ในกรณีที่
SECPAC. เป็นผู้จัดหาเงินกู้เพื่อการซื้อเครื่องบินให้ SINGAPORE AIRLINE
และบริษัทเดินอากาศไทยสมัยที่ซื้อเครื่องบินแอร์บัส A 310
ณัฐศิลป์ กล่าวว่า "เทคนิคการทำ JLL ถือเป็นตลาดไฟแนนซ์ที่มีคนน้อยคนรู้
และมีลักษณะซับซ้อนมาก ตลาดที่จะทำการเช่าซื้อโดยใช้ระบบภาษีนี่มี 2 ตลาดใหญ่
ๆ คือ ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ"
JLL เป็นเทคนิคที่ใช้ทำกับเครื่องบินโดยเฉพาะ ซึ่งหากจะว่าไปแล้วตลาดเมืองไทยด้านนี้ก็ยังไม่ขยายมากนัก
แต่ณัฐศิลป์ก็สามารถหารายได้จากบริการอื่น ๆ เช่น ในตลาดหนี้ก็มีการจัดหาเงินกู้เพื่อโครงการด้วยวิธีต่าง
ๆ
ณัฐศิลป์ เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า "สิ่งที่นิยมพอสมควร
คือ การทำ MEZZANINE FINANCING ซึ่งมี BRIDGE LOAN คือ เงินกู้เพื่อที่จะเชื่อมระหว่างจุดสองจุดได้
หรืออธิบายง่าย ๆ คือ เงินกู้ที่อาจจะมีทางเลือกในการใช้คืนเป็นหุ้นสามัญได้ในอนาคตเมื่อเจ้าของกิจการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
นอกจากนี้ ก็ยังมีบริการในเรื่องของการจัดหารูปแบบหรือวิธีการไฟแนนซ์เงินแบบใหม่และแหวกแนว
จุดประสงค์ คือ ลดต้นทุนในการกู้ยืมของลูกค้า เช่น SUB-ORDINATED DEBT, INSTALMENT
BUYING AND SELLING ซึ่งเป็นการกู้เงินการซื้อหรือขายโดยวิธีผ่อนส่งเป็นงวด
ๆ
ส่วนในเรื่องของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น ณัฐศิลป์มีความเห็นว่า เป็นเรื่องที่น่าจะทำได้แต่ไม่ใช่ในคำจำกัดความของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
เขาไม่เชื่อว่า วิธี LEVERAGE BUY OUT และ MANAGEMENT BUY OUT หรืออะไรก็ตามในเทือกนั้นจะเป็นไปได้
"เราคิดว่าสิ่งที่เป็นไปได้ คือ JOINT PUBLIC และ PRIVATE PARTICIPATION
ในโครงการใดโครงการหนึ่งมากกว่า และบริษัทเหล่านี้ก็ควรจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์"
แต่การจัดหาเงินกู้ด้วยเทคนิคทางการเงินที่สลับซับซ้อนเช่นนี้ อาจจะเจาะตลาดหาลูกค้าได้ลำบาก
เพราะผู้กู้หรือนักลงทุนในบ้านเรานั้นคุ้นเคยกับการกู้ในวิธีง่าย ๆ จากธนาคารมาแต่ไหนแต่ไร
ประเด็นปัญหานี้ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับณัฐศิลป์แต่อย่างใด เขากล่าวว่า "เราไม่ต้องการทำ
TRANSACTION เยอะจนเป็นของ "โหล" เราเลือกความเป็นไปได้ของสิ่งที่เราจะทำ
สิ่งที่เราสามารถเสนอให้ลูกค้าได้นั่นคือเรามีเครือข่ายต่างประเทศกว้างขวางใหญ่โต
เราเชื่อว่า เรามีอำนาจมากพอ ในการที่จะนำหลักทรัพย์ของบริษัทที่ต้องการเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ไปขายให้กับนักลงทุนต่างชาติได้ในราคาที่สูงอย่างน่าพึงพอใจ"
อีกประการหนึ่ง เนื่องจากมอร์แกนฯ นับเป็นวาณิชธนกิจรุ่นหลัง ๆ ที่เข้ามาเปิดดำเนินการ
แม้ตลาดด้านนี้ยังกว้างอยู่ แต่ณัฐศิลป์ก็เพียงแต่ต้องการ "เพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้ามากขึ้นเท่านั้น"
ด้วยเหตุที่เขามองว่า "คนไทยชอบมีทางเลือกเยอะ ๆ ไม่ชอบแบบมัดมือชก"
ประเด็นสุดท้ายก่อนที่ "ผู้จัดการ" จะลาจากมา คือ เบาะแสที่ได้รับมาจากหนังสือพิมพ์
FINANCIAL TIMES เมื่อปลายปี 2532 นั่นคือ ข่าวบริษัท WILIS FABER ซึ่งเป็นโบรกเกอร์ประกันภัยในตลาดลอนดอนประกาศขายหุ้นมอร์แกน
เกรนเฟลล์ กรุ๊ป อันเป็นบริษัทโฮลดิ้งของมอร์แกนฯ ในทั่วโลกจำนวน 20.4%
มอร์แกน เกรนเฟลล์ กรุ๊ป เป็นวาณิชธนกิจในตลาดลอนดอนที่มีอายุอานามมากถึง
151 ปี มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับจัดอันดับว่า เป็น "มือหนึ่ง"
ในตลาดวาณิชธนกิจโดยเฉพาะตลาดการซื้อกิจการ (M&A) บริษัทเอกชนในอังกฤษระหว่างมกราคม
2528 ถึงมกราคม 2532 มอร์แกนฯ รับเป็นที่ปรึกษาการซื้อกิจการทั้งสิ้น 162
ราย คิดเป็นมูลค่า 37,504 ล้านปอนด์
ในปลายปี 2531 มอร์แกนฯ ถอนตัวออกจากตลาด EQUITY อังกฤษ แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีผลการดำเนินงานที่ดี
โดยในระยะ 6 เดือนแรกของปี 2532 สามารถทำผลกำไรก่อนหักภาษีได้มากถึง 32,799
ล้านปอนด์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 49.6%
ในรายงานประจำครึ่งปี 2532 SIR PETER CAREY ประธานมอร์แกน เกรนเฟลล์ กรุ๊ป
กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทลูกในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกเป็นไปด้วยดี
โดยเฉพาะมอร์แกน เกรนเฟลล์ (เอเชีย) ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ดูแลควบคุมกิจการในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์นั้น
มีผลประกอบการที่ดีอย่างมาก ๆ
อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง คือ WILLIS FABER ประกาศขายหุ้นก็ทำให้คณะผู้บริหารของมอร์แกนฯ
ปั่นป่วนอยู่พักหนึ่ง เนื่องจากผู้ที่เสนอตัวเข้าซื้อหุ้นจำนวนนี้ คือ ธนาคารอินโดสุเอซ
ซึ่งก็มีหุ้นมอร์แกนฯ อยู่จำนวนหนึ่งแล้ว และหากได้หุ้นจาก WILLIS FABER
ไปอีกก็จะเปลี่ยนฐานะเป็นผู้ถือเอซและมอร์แกนฯ นั้น ปรากฏว่าไม่สามารถทำงานไปด้วยกันได้อย่างดีพอ
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการแบ่งสำนักงานกันคนละครึ่ง โดยทางมอร์แกนฯ เอาสำนักงานที่สิงคโปร์ไว้
และอินโดสุเอซได้สำนักงานที่ฮ่องกงไป
ดังนั้น เมื่อธนาคารอินโดสุเอซเสนอตัวเข้าซื้อหุ้นในส่วนของ WILLIS FABER
จึงเสมือนเป็นการประกาศ COUNTER REACTION กับคณะผู้บริหารมอร์แกนฯ
ก่อนหน้าที่มอร์แกนฯ จะจับมือตกลงให้ดอยช์แบงก์ได้นั้น มอร์แกนฯ ก็วิ่งเต้นหา
"อัศวินม้าขาว" รายอื่น ๆ แล้ว BARCLAYS de ZOETE WEDD (BZW) ซึ่งเป็นวาณิชธนกิจของธนาคาร
BARCLAYS ในอังกฤษด้วยกันก็เคยถูกทาบทามเจรจามาก่อน
อย่างไรก็ดี มอร์แกนฯ กลับตกลงกับธนาคารในเยอรมัน ซึ่งก็ไม่ใช่อื่นไกลเพราะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อีกรายหนึ่งด้วยจำนวน
29.8% ของมอร์แกนฯ นั่นเอง และการซื้อหุ้นจาก WILIS FABER ก็ทำให้ดอยช์แบงก์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดด้วยจำนวน
50.2%
ดอยช์แบงก์ส่งคนของตัวเข้าร่วมในคณะกรรมการมอร์แกนฯ รวม 3 คน ส่วนคณะผู้บริหารเดิมของมอร์แกนฯ
ก็ยังคงไว้ และดำเนินงานต่อไปเป็นเอกเทศเหมือนเดิมทุกอย่าง
ในส่วนของผลกระทบจากการซื้อหุ้นครั้งนี้ ณัฐศิลป์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ว่า "เมื่อยังไม่มีการเปลี่ยนนโยบายที่เมืองนอก เราก็ยังอยู่อย่างเอกเทศต่อไป
แต่ถ้าจะมีจริง ๆ ผมมองว่าน่าจะเป็นในด้านดีมากกว่า เพราะการรวมเครือข่ายทั้งสองเข้าด้วยกันนั้น
ผมมองว่ามันทำให้เกิดมุมมองในการทำธุรกิจได้คมชัดขึ้น ดอยช์แบงก์ซื้อมอร์แกนฯ
เพราะต้องการมีกลไกทางวาณิชธนกิจที่ดี และอาจเกิด SYNERGY ได้ในภายหลัง เพราะดอยช์แบงก์มีสำนักงานในไทยที่มีพลังอยู่พอสมควรและตั้งมานานก่อนเรา"
ณัฐศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในกรณีอย่างลูกค้าเยอรมันในแถบเอเชีย
ดอยช์แบงก์ก็มีบริษัท DB CAPITAL LTD. ซึ่งทำทางด้านการซื้อขายพันธบัตร คือ
หนักไปทางตลาดหนี้ ก็อาจจะรองรับลูกค้าได้เพียงส่วนเดียวแต่เรามีความชำนาญทางด้านตลาดทุน
ลูกค้าก็อาจจะมาหาเราได้"
ต้องนับว่า ยุทธศาสตร์ของดอยช์แบงก์ครั้งนี้สวนและเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความชื่นชมกันถ้วนหน้า
ส่วนหนุ่มอารมณ์ดีซึ่งเป็นช่างเทคนิคตลาดการเงินชั้นสูงอย่างณัฐศิลป์ก็คงจะมีงานหนักเพิ่มมากขึ้นในครานี้