หนึ่งร้อยกับอีกหนึ่งปีที่ชื่อ "มิชลิน" เกิดขึ้นมาและวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องจนเป็นหนึ่งในผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ของโลก
จาก พ.ศ.2432 ที่สองพี่น้องชาวฝรั่งเศสใช้ชื่อสกุลของตนกับยางรถจักรยานชนิดอัดลมที่ถอดเปลี่ยนได้ภายในเวลาไม่เกิน
15 นาทีเส้นแรกของโลก มิชลินได้สร้าง "สิ่งแรก" ในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ขึ้นมาหลายครั้ง
เช่น ยางรถยนต์ที่สูบลมได้เส้นแรกของโลก เมื่อ พ.ศ.2438 ยางสำหรับรถรางเส้นแรกของโลกใน
พ.ศ.2472 จนมาถึงความสำเร็จครั้งสำคัญในการผลิตยางเรเดียลเส้นแรกของโลก เมื่อ
พ.ศ.2491 ซึ่งอีกสี่ปีต่อมา มิชลินได้ผลิตยางเรเดียลสำหรับเครื่องบินขึ้นเป็นครั้งแรกด้วยเช่นเดียวกัน
ตลาดยางรถยนต์ของโลก ใน พ.ศ.2531 มีมูลค่าสี่หมื่นหกพันล้านเหรียญสหรัฐฯ
ถ้าไม่นับผู้ผลิตรายเล็ก ๆ หลาย ๆ รายที่มีส่วนแบ่งตลาดรวม ๆ กันแล้ว 21%
มิชลินมีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด คือ 17.5% รองลงมาคือบริดสโตนที่รวมกับไฟร์สโตน
17% เท่ากับกู๊ดเยียร์
มิชลินจะครอบครองตลาดได้มากกว่านี้หากการซื้อกิจการของยูนิโรยัล กู๊ดดริช
ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลสหรัฐฯ ยูนิโรยัลเป็นผู้ผลิตยางในสหรัฐฯ ที่มีส่วนแบ่งตลาดดลก
4%
ปัจจุบันมิชลินมีโรงงานผลิตยาง 61 โรง ใน 14 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งฝรั่งเศสด้วย
ถึงแม้มิชลินจะหมายถึงยางรถยนต์คุณภาพดี แต่ในยุโรป มิชลินยังมีชื่อเสียงในฐานะผู้ผลิตแผนที่และหนังสือไกด์ที่ได้มาตรฐาน
"เราเป็นผู้ผลิตสิ่งพิมพ์เพื่อการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป"
ELIZABATE SEVO เจ้าหน้าที่แผนกสิ่งพิมพ์เพื่อการท่องเที่ยวของมิชลินกล่าวกับ
"ผู้จัดการ"
แผนกสิ่งพิมพ์เพื่อการท่องเที่ยวนี้ เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงในการทำแผนที่และหนังสือไกด์ที่รู้จักกันในนามว่า
MICHELIN GUIDE ในทุกขั้นตอนของการผลิตยกเว้นการพิมพ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่ไม่ได้ทำเอง
ยอดขายรวมของสิ่งพิมพ์ทุกประเภทของ MICHELIN GUIDE นั้นสูงถึง 18 ล้านเล่มต่อปี
MICHELIN GUIDE ประกอบไปด้วยสิ่งพิมพ์หลัก ๆ สามประเภท คือ RED GUIDE แผนที่
และ GREEN GUIDE
RED GUIDE คือ หนังสือแนะนำโรงแรมและร้านอาหาร นอกจากแนะนำแล้วยังจัดมาตรฐานคุณภาพการบริการโดยการให้ดาวด้วย
มิชลินจะมีทีมสำรวจประมาณ 12-20 คนตระเวนไปสำรวจคุณภาพการบริการและราคาของโรงแรม
ร้านอาหารโดยไม่เปิดเผยตัวให้เป็นที่รู้จัก ข้อมูลอีกส่วนหนึ่งจะมาจากแบบประเมินโรงแรมและร้านอาหาร
โดยผู้ใช้ที่สอดอยู่ในหนังสือด้วย ในแต่ละปีจะมีผู้อ่านส่งแบบประเมินนี้กลับมาราวหนึ่งแสนฉบับ
คณะกรรมการคัดเลือกของมิชลินจะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกและให้ดาวแก่โรงแรมและร้านอาหารที่จะใส่ชื่อลงไปใน
RED GUIDE โดยใช้ข้อมูลทั้งสองส่วนนี้ประกอบกัน
การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงข้อมูลใน RED GUIDE จะทำกันทุกปีเพื่อให้ทันสมัยที่สุด
RED GUIDE เป็นหนังสือที่มีอายุเก่าแก่ถึง 90 ปีแล้ว RED GUIDE เล่มแรกเกิดขึ้นใน
พ.ศ.2443 โดยการริเริ่มของพี่น้องมิชลิน ANDRE และ EDOUARD MICHELIN เพื่อเป็นคู่มือในการเดินทางของผู้ขับขี่รถยนต์ในสมัยนั้น
ซึ่งก็คือลูกค้าผู้ใช้ยางมิชลินด้วย
RED GUIDE เล่มแรกมีรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ที่จะเติมน้ำมัน ร้านตีเหล็กสำหรับซ่อมรถ
ที่พักแรมในกรณีที่รถเสียกลางทาง
ยอดขายของ RED GUIDE ในแต่ละปี คือ หกแสนห้าหมื่นเล่ม
แผนที่ คือ สิ่งพิมพ์ประเภทที่สองใน MICHELIN GUIDE คนที่เป็นต้นคิดในเรื่องนี้
คือ EDOUARD MICHELIN ซึ่งเคยทำงานในหน่วยงานทำแผนที่ของรัฐบาลฝรั่งเศสมาก่อน
หลังจากลาออกมาทำธุรกิจผลิตยางรถยนต์ของครอบครัวแล้ว เขาได้ขออนุญาตรัฐบาลจัดทำเครื่องหมายสัญญาณจราจร
ป้ายบอกทางขึ้นทั่วประเทศฝรั่งเศสเป็นครั้งแรกเพื่อความสะดวกของผู้ใช้รถ
เมื่อเสร็จจากการทำสัญญาณป้ายบอกทางแล้ว EDOUARD ก็ทำแผนที่ฝรั่งเศสฉบับแรกออกมาใน
พ.ศ.2453 และกลายเป็น MICHELIN GUIDE ที่มียอดขายสูงสุด คือ 12-15 ล้านฉบับต่อปี
GREEN GUIDE คือ สิ่งตีพิมพ์ประเภทที่สามเป็นหนังสือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ
ทั้ง RED GUIDE แผนที่และ GREEN GUIDE เป็นข้อมูลที่ใช้ร่วมกันและอ้างอิงถึงกันและกันได้
ทำให้ผู้ใช้มีข้อมูลที่ครบถ้วนทั้งเส้นทาง ที่พัก ร้านอาหาร และจุดท่องเที่ยว
"MICHELIN GUIDE คือ สิ่งที่ช่วยสร้างภาพพจน์ในเรื่องคุณภาพและบริการแก่ผลิตภัณพ์หลักของเรา
คือ ยางรถยนต์" SEVO พูดถึงเป้าหมายของการจัดทำ MICHELIN GUIDE ในการเป็นเครื่องมือส่งเสริมการขายอย่างหนึ่ง
แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถทำรายได้เลี้ยงตัวเองได้ด้วย
MICHELIN GUIDE ที่มิชลินทำอยู่ในปัจจุบันนั้น ครอบครองประเทศในยุโรปเกือบทุกประเทศ
ยกเว้นรัสเซียและยุโรปตะวันออกบางประเทศ และขยายออกไปนอกทวีป คือ เม็กซิโก
แคนาดา มอร็อคโค และนิวยอร์ค
SEVO พูดถึงแนวความคิดในการทำ MICHELIN GUIDE ของประเทศใดประเทศหนึ่งว่า
มีทิศทางตามการขยายตัวของการลงทุนในเรื่องยางรถยนต์ของมิชลิน เพราะเป็นเพียงผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเสริมสร้างภาพพจน์เท่านั้น
มิชลินเข้ามาลงทุนร่วมกับบริษัทยางสยามในเครือซิเมนต์ไทยตั้งบริษัทสยามมิชลินขึ้นมา
เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2530 เพื่อผลิตยางมิชลินขึ้นในประเทศไทยโดยมีโรงงานอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง
ซึ่งเริ่มต้นการผลิตได้แล้วในเดือนนี้ โอกาสที่จะมี MICHELIN GUIDE ของประเทศไทยจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้
ผลิตภัณฑ์ชิ้นล่าสุดในแผนกสิ่งตีพิมพ์เพื่อการท่องเที่ยวของมิชลินที่กำลังอยูในระหว่างการวิจัยก็คือ
A.M.I. (MICHELIN TRAVEL ASSISTANCE) ซึ่งเป็นระบบการค้นหาเส้นทางและวางแผนการเดินทางด้วยคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งบนรถ
(ON BOARD COMPUTERIZED ROUTE FINDING) ซึ่งเชื่อมกับระบบข้อมูลของมิชลินที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับระยะทางจากรถคันนั้นไปถึงจุดหมายปลายทาง
เส้นทางที่จะไปถึงได้ สภาพถนน จุดท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหารที่อยู่บนเส้นทาง