ไพศาล สุริยะวงศ์ไพศาล"พีอาร์ต้องเน้นงาน LOBBY มากขึ้น"


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

ในแวดวงประชาสัมพันธ์อาจจะมีหลายคนที่โดดเด่น แต่ก็มีน้อยคนมากที่จะเดินบนถนนสายประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องชนิดที่เรียกว่า "ยึดเป็นวิชาชีพ" หรือ "BORN TO BE PR"

หนึ่งในจำนวนนักประชาสัมพันธ ์หรือพีอาร์ที่ผู้คนกล่าวขานถึง และมักจะได้การทาบทามให้ไปเป็นหัวหน้าทีมพีอาร์ที่ไหนต่อที่ไหนอยู่มิได้ขาด จนพูดได้ว่า "เนื้อหอม" ก็คือ "ไพศาล สุริยะวงศ์ไพศาล" EXECUTIVE GROUP HEAD PUBLIC RELATIONS ของลินตาส ไอเอ็มซี

หลังจากที่ไพศาลนั่งเป็นบรรณาธิการข่าวต่างประเทศของหนังสือพิมพ์ประชากรเครือบีอาร์ มีเพื่อนร่วมทีมหลายคน เช่น อัศศิริ ธรรมโชติ ชัย ราชวัตร และธงชัย ณ นคร เป็นต้น อยู่ได้พักใหญ่หนังสือประสบภาวะขาดทุนจึงเลิกไป

ไพศาลเป็นที่รู้จักกันดีของคนในวงการน้ำมัน

เขาเริ่มต้นงานพีอาร์สำนักแรกที่บริษัท เอสโซ่สแตนดาร์ด ประเทศไทย จำกัด ที่นี่….. เขาได้ขับเคี่ยวตัวเองกับงานพีอาร์ทุกส่วนทุกรูปแบบ จนไพศาลบอกว่า ดูเหมือน "ผมจะยุ่งเขาไปทุกเรื่อง" เพราะงานพีอาร์ที่เป็นสากลก็คือ "ทุกอย่างเป็นพีอาร์" หมด

ทุกครั้งที่เขามีความคิดใหม่ ๆ เขาไม่เคยรีรอที่จะเสนอต่อบริษัท แต่บริษัทจะทำได้หรือไม่นั่นอีกเรื่องหนึ่ง

ไพศาลรับผิดชอบวารสารข่าวลูกค้าของเอสโซ่ ครั้งหนึ่งเมื่อไปถ่ายรูปปั๊มน้ำมันต่างจังหวัด เมื่อสิบสามสิบสี่ปีย้อนหลัง ปั๊มเอสโซ่ "เลอะมาก" และปั๊มน้ำมันก็มีลักษณะต่าง ๆ กันหลายแบบ เขาจึงเสนอบริษัทให้ปรับปรุง ดูแลห้องน้ำให้สะอาด และออกแบบให้ปั๊มมีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำและช่วยส่งเสริมภาพพจน์และการตลาดของบริษัท

เรื่องนี้จะทำได้ก็ต้องขึ้นกับบริษัทแม่ ต่อมาอีกสี่ห้าปีก็มีนโยบายจากบริษัทแม่ให้เปลี่ยนแบบเป็นมาตรฐานเดียวกัน ไพศาลบอกว่า "คงเผอิญมีความคิดไปตรงกับเมืองนอก"

ที่เด่นที่สุดก็คือ รายการทีวี "ความรู้คือประทีป"

ไพศาลเสนอให้มีเนื้อหาด้านวัฒนธรรมและอื่น ๆ นอกจากเรื่องน้ำมัน จนกลายเป็นรายการที่ประสบความสำเร็จมากของเอสโซ่ คว้ารางวัลได้มากที่สุด เช่น รางวัลเมขลาสี่ครั้ง รางวัลส่งเสริมความมั่นคงดีเด่น เป็นต้น ทำให้เอสโซ่ปลื้มกันมาก เพราะช่วยเสริมสร้างภาพพจน์ของเอสโซ่ได้เป็นอย่างดี

รายการนี้ ไพศาลเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการชักชวน ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล มาร่วมทีมด้วย

ไพศาลโชคดีที่ประมุข บุณยะรัตเวช รองกรรมการผู้จัดการคนไทยคนแรกของเอสโซ่ประเทศไทย ได้ให้ความสนใจในการวางระบบพีอาร์อย่างมาก เขาริเริ่มให้พัฒนาเทคนิคการถ่ายทำรายการด้านสื่อมวลชน จัดทีมบริหารของบริษัทพบปะทีมบริหารของหนังสือพิมพ์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ได้รับการสนับสนุนจากประมุขอย่างดี

เขาเสนอแม้กระทั่งให้บริษัทจัดสวัสดิการเงินกู้ซื้อบ้านให้พนักงาน แต่มาเป็นจริงในสี่ห้าปีต่อมา จนปี 2528 ซึ่งโสภณ สุภาพงษ์ได้ชัชวนไพศาลไปช่วยกันทำงานให้กับบริษัทน้ำมันของคนไทยที่กำลังปรับโครงสร้างใหม่ นั่นก็คือ บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด พร้อมกับทีมของเอสโซ่อีกกว่า 30 คน เอสโซ่จึงเริ่มโครงการสวัสดิการเงินกู้ขึ้นมา

ที่บางจากฯ ไพศาลได้ริเริ่มให้บางจากฯ เป็น "ศูนย์ข้อมูลปิโตรเลียม" ซึ่งนับเป็นแห่งแรกของไทย เนื่องจากเห็นว่าปิโตรเลียมเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การให้ข้อมูลที่ถูกต้องจะช่วยสร้างความเข้าใจและส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจปิโตรเลียม พร้อมทั้งสร้างภาพพจน์ที่ดีขององค์กรด้วย และเป็นงานที่ประสบความสำเร็จของบางจากฯ ทีเดียว

เขาอยู่ที่บางจากฯ ได้ 2 ปี "ตอนหลังเริ่มเบื่อรู้สึกไม่สนุก" หลังจากที่ได้ช่วยสร้างฐานวางระบบพีอาร์ ทั้งที่เป็นงานสื่อมวลชนและ SOCIAL CONTRIBUTION ต่าง ๆ แล้ว ไพศาลได้โยกมาอยู่ที่แอแมคแอนด์ เกรย์ จนกระทั่งได้รับการทาบทามมาช่วยกันสร้างองค์กรใหม่อย่างลินตาสไอเอ็มซีเมื่อต้นปี 32

หน้าที่ของพีอาร์ก็คือ การสร้างภาพพจน์องค์กรด้วยการกระทำสิ่งที่ถูกต้องและสร้างคุณค่าต่อสังคม งานของบริษัทที่เป็น PUBLIC RELATIONS AGENCY เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่หนุนช่วยสังคมได้ "อยู่ที่ว่าเราจะเสนอขายไอเดียได้มากน้อยแค่ไหน" ไพศาลกล่าวถึงงานพีอาร์อีกลักษณะหนึ่ง "งานเอเย่นซี่ ทำให้รู้กว้างสนุกไปอีกแบบ แต่ไม่รู้สึก"

สำหรับที่ลินตาส ไอเอ็มซี มีหลายโครงการที่ถือว่าประสบความสำเร็จ…..

ไม่ว่าจะเป็นโครงการศิริราช ซึ่งเป็นโครงการรณรงค์บริจาคโลหิตท่ามกลางความหวาดผวาต่อโรคเอดส์ของผู้คนจนไม่กล้าบริจาคโลหิต เมื่อทางแบรนด์ซุปไก่ เคยเริ่มที่มาเลเซีย ก็ได้ไพศาลมาช่วยประสานงานวางแผนรณรงค์ด้วยสื่อทุกรูปแบบ

ปี 2532 ทางศิริราชอันเป็นศูนย์บริจาคโลหิตทั่วประเทศ และกำลังสร้างตึกสยามินทร์ ได้ปริมาณโลหิตเพิ่มอีก 50% จากบริษัทเอกชนที่ให้ความร่วมมือกว่า 30 บริษัท ขณะที่ปี 2531 ลดลง 20%

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสร้างอาคารสมเด็จย่าของคาลเท็กซ์ โดยหัก 3 สตางค์ต่อการซื้อน้ำมันทุกลิตร เพื่อสมทบสร้างตึกใน 3 เดือนได้มาแล้ว 9 ล้านบาทจากเป้าหมายเต็มโครงการ 15 ล้านบาท และจะมีโครงการต่อเนื่องที่จะหักจากการขายน้ำมันเครื่อง โดยจะหักเงินมากขึ้น รวมทั้งหมดจะได้ 22 ล้านบาท เป็นการสร้างภาพพจน์องค์กรที่ดี ขณะที่คนซื้อจ่ายเท่าเดิมแต่ได้บริจาคเพื่อการกุศลด้วย ซึ่งคาลเท็ซ์ยินดีกับโครงการนี้มาก

แต่โครงการใหญ่ที่เด่นที่สุด คือ "โครงการประชาสัมพันธ์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ"…..!

เนื่องจากไพศาลเห็นว่า ภาวะที่มีการพัฒนาและเติบโตไปสู่อุตสาหกรรมมากขึ้นนั้น แนวโน้มที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมที่เป็นมลพิษ จึงควรเริ่มรณรงค์ความคิดอันนี้ให้แพร่หลายและปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่อง

โครงการนี้เริ่มประมาณกลางปี 2532 เผอิญว่าไพศาลเป็นเพื่อนกับ "สุวิทย์ ยอดมณี" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อไพศาลเปรยความคิดนี้กับสุวิทย์ สุวิทย์เห็นด้วยทันที "เพราะนายกชาติชายกำลังอยากทำเรื่องนี้อยู่พอดี"

โดยสุวิทย์ เป็นประธานกรรมการ ไพศาลเป็นประธานอนุกรรมการในการผลิตสื่อต่าง ๆ และเป็นผู้ประสานทุกฝ่ายมีหน่วยงานทั้งด้านราชการและเอกชนร่วมเป็นกรรมการ

ระยะแรก โครงการนี้จะเน้นหนักมลพิษภายนอกอาคาร เช่น น้ำเสีย อากาศเสียที่ทำไปแล้ว ก็คือจัดสัปดาห์ตรวจรถ จูนรถฟรีตามอู่ต่าง ๆ ช่วงวันที่ 5-12 ธันวาคมปีที่แล้ว ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างดี และกำลังจะออกสื่อโฆษณารณรงค์อีก 10 เรื่อง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ช่วงหลังไพศาลได้เสนอให้รณรงค์มลพิษจากควันบุหรี่ด้วย เขาให้ความเห็นว่า "มีคนป่วยจากควันบุหรี่และต้องเสียค่ารักษาปีละ 1,250 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่ากำไรของโรงงานยาสูบ ถ้าปริมาณควันบุหรี่และควันรถเท่ากัน อันตรายจากควันบุหรี่มีมากกว่าใช้เวลา 20 ปีจะเห็นผล อันนี้เป็นอัตราเฉลี่ยโดยทั่วไป บางรายอาจจะนานกว่านี้

อีกประการหนึ่ง การที่เรามีห้องแอร์ก็เพื่อได้อยู่สบายขึ้น หลีกฝุ่นจากข้างนอก แต่ก็ต้องมาเจอควันบุหรี่อีกตามโครงการนี้ จะทำหนังสือถึงบริษัทเอกชน 1,000 บริษัทตามยอดขายรณรงค์เชิญชวนให้จัดเขตปลอดบุหรี่และแยกห้องสูบบุหรี่สำหรับคนสูบ "แต่อันนี้เราไม่ได้บังคับ เราจะรณรงค์ชักชวนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรระหว่างการมีเขตปลอดบุหรี่กับการไม่มีเขตปลอดบุหรี่"

โดยเนื้อหางานพีอาร์แล้ว ไพศาลกล่าวว่า "พีอาร์เป็นงานวางแผนระยะยาว ไม่เหมือนงานด้านการตลาดหรือการขายที่จะเห็นผลทันที งานพีอาร์จึงต้องหว่านเมล็ดเพื่อหวังผลในอนาคต ซึ่งถ้าทำได้ จะทำให้เกิดภาพพจน์ที่ดีขององค์กรและเป็น "ค่า" ที่ประเมินไม่ได้

ท่ามกลางการพัฒนาที่เราเริ่มเน้นหนักไปทางด้านอุตสาหกรรมนั้น สิ่งแวดล้อมยิ่งจะเป็นสิ่งที่สังคมให้ความสำคัญมากขึ้น "ต่อไปเรายิ่งจะต้องการพีอาร์มืออาชีพมากขึ้นต้องรู้รอบและรอบรู้ด้วย

องค์กรใดที่มีระบบพีอาร์ที่ดี การดำเนินธุรกิจก็สะดวกราบรื่น บริษัทต่างชาติที่มีระบบพีอาร์มาตรฐาน เช่น ไอบีเอ็ม เอสโซ่ ส่วนบริษัทคนไทย ได้แก่ ปูนใหญ่ ไพศาลยกตัวอย่าง และสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยเวลาในการสร้าง

ที่ผ่านมา โรงงานแทนทาลัมคงเป็นกรณีตัวอย่างได้ว่าด้วยเหตุที่ไม่มีการสร้างระบบมวลชนสัมพันธ์ จึงเกิดปัญหาถูกต่อต้านและถูกเผาในที่สุด

ขณะที่ล่าสุด ก็มีกรณีสวนกิตติที่จะสร้างโรงงานเยื่อกระดาษ โดยต้องปลูกป่ายูคาลิปตัสสี่แสนไร่เพื่อป้อนวัตถุดิบแก่โรงงานนั้น หลายคนบอกว่า ถ้าสวนกิตติมีระบบพีอาร์ที่ดีก็คงไม่เกิดปัญหาตกเป็นผู้ทำลายป่าตามข่าวที่ออกมาอย่างครึกโครมก่อนหน้านี้ หรือเรื่องที่หนักหนาก็จะเบาลง

โดย CONCEPT ของงานพีอาร์ก็คือ การป้องกันมิให้เหตุร้ายเกิดขึ้น โดยจะต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบทั้งแนวดิ่งและแนวนอน

สำหรับไพศาล เขาให้ความเห็นในฐานะที่คร่ำหวอดกับงานพีอาร์มาแล้วกว่า 10 ปี "หัวใจของการดำเนินธุรกิจจะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง"

ถ้าเราจะลงทุนทำสวนป่าก็จะต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้านทุกส่วนในรัศมี 3-5 กิโลเมตรหรือกว่านี้ก็แล้วแต่สภาพชุมชนนั้น ต้องลงพื้นที่ก่อนเลยอาจจะสัก 3 เดือน 6 เดือน เป็นต้น อันนี้จะเป็นหลักเลยและจำเป็นมาก

เพราะการปลูกป่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับไทยและชุมชนแถบนั้น ไม่ว่าจะส่งผลให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อนย้ายออกจากพื้นที่หรือไม่ก็ตาม ต้องลงไปอย่างใกล้ชิดเลย ทุกหมู่บ้านสร้างความเข้าใจแก่ชุมชนถึงผลที่จะเกิดจากสวนป่าว่า ได้ประโยชน์อย่างไร บริษัทจะเกื้อกูลในการพัฒนาชุมชนได้ด้วยวิธีใด

ถ้าชาวบ้านไม่เข้าใจก็จะกลายเป็นศัตรู มีอะไรแทนที่จะปกป้องก็จะคอยจับผิดเกิดอะไรนิดอะไรหน่อยก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ง่าย แต่ถ้ารู้สึกเป็นมิตร มีอะไรไม่ชอบมาพากล เขาก็จะรู้สึกว่า ลองเช็กดูก่อน

เช่น ที่บางจากฯ ในช่วงแรก เมื่อนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นในโรงกลั่น จะมีกลิ่นแปลก ๆ ซึ่งเป็นการรบกวนชุมชน แต่ที่นั่นชุมชนรอบข้างก็คือ เพื่อนบ้านของบางจากฯ ชาวบ้านเขาก็จะมาบอก มาถามบริษัทก็รู้ได้และนำไปปรับปรุงซึ่งเป็นการช่วยองค์กรไปด้วย เป็นต้น

"อันนี้ เป็น COMMONSENSE ธรรมดา เหมือนกับเราไปสร้างบ้านใหม่ก็ต้องผูกมิตรกับเขา" ไพศาลเปรียบเทียบลักษณะปัจเจกชนกับองค์กรธุรกิจ

อีกประการหนึ่ง ธุรกิจเอกชนที่ดีไม่ควรให้การเมืองนำหน้า หรือผูกกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะต้อง KEEP RELATION ทุกพรรคการเมือง ไม่ควรให้ภาพที่ TAKE SIDE ออกมา จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ

ไพศาลบอกว่า ทางที่ดีที่สุด ควรทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

กรณีที่ต้องขออนุญาตในการทำสวนป่า ควรจะขออนุญาตเป็นแปลงใหญ่ไปเลย แต่โดยข้อกฎหมายแล้วจะอนุญาตให้ได้คราวละ 2,000 ไร่ อันนี้รัฐบาลเองก็ต้อง SERIOUS ถ้าส่งเสริมธุรกิจนี้จริงก็ต้องปรับกฎระเบียบในอันที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจไทยมีศักยภาพสูงสุด การที่รัฐบาลปล่อยให้ขอทีละ 2,000 ไร่ขณะที่มีนโยบายอีกอย่างหนึ่งทำให้เกิดการเลี่ยงกฎหมายในรูปแบบต่างๆ ได้ง่าย ต้องถามว่าเพื่ออะไร หรือไม่อีกทีก็แบ่งการให้อนุญาตปลูกป่าเป็น 2 ประเภท คือ แปลงใหญ่กับแปลงเล็ก เพื่อการค้าและเลี้ยงชีพ เป็นต้น

เขาอดไม่ได้ที่จะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลตามบุคลิกที่เป็นคนแข็ง ตรงไปตรงมา แต่สุภาพอ่อมน้อม ซึ่งเขาบอกว่า "อย่าให้ผมพูดถึงรัฐบาลมากดีกว่า"

วกมาในประเด็นของพีอาร์ ถ้ารัฐบาลยังไม่แก้กฎหมายให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ถ้าเราจะลงทุนจริง ๆ ควรจะนำข้อมูลไป PRESENT กับรัฐบาล LOBBY ชี้ให้เห็นประโยชน์ของโครงการว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งรัฐบาลเองก็ต้องศึกษาด้วย

ถ้ารัฐบาลเห็นด้วยก็ต้องแก้ไขกติกาให้สอดคล้องกับนโยบายที่ว่าไว้ เพื่อให้เอกชนแข่งกับต่างประเทศได้ด้วยให้มีศักยภาพมากพอที่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะเดี๋ยวนี้ ตลาดการค้าเป็น MULTI NATIONAL MARKETING แล้ว

อย่างต่างชาติที่จะมาลงทุน ถ้าเขารู้ว่ามีอุปสรรคเขาก็จะต้อง LOBBY ให้ได้เงื่อนไขที่เขาจะมาลงทุนก่อน ถ้าได้ก็ลง ถ้าไม่ได้เขาก็จะไปที่อื่น

ลักษณะการลงทุนอย่างนี้ รัฐบาลต้องหนุนช่วย ส่วนเรื่องป่าธรรมชาติหรือป่าชุมชนนั้น รัฐบาลสามารถกำหนดเป็นเงื่อนไขการลงทุนไปได้ เช่น ปลูกสวนป่ายูคาลิปจะต้องมีป่าธรรมชาติเท่าไหร่ หรือจัดเป็นป่าชุมชนแค่ไหน "เพราะทุกอย่างแก้ไขได้ ต้องให้ทันต่อเศรษฐกิจ
โลก" ไพศาลย้ำถึงการทำธุรกิจใหม่ขนาดใหญ่ที่รัฐจะต้องเล่นด้วย จึงจะไปได้กับ "ผู้จัดการ"

ถ้าไม่มีการแก้ไขกติกาในการลงทุน ก็ไม่ควรลงทุนเพราะเมื่อกฎหมายไม่เอื้อกว่าจะขอได้ครบตามกฎหมายแล้วทำตัวเป็นพลเมืองดี ก็ไม่ทันการณ์ในเชิงพาณิชย์

ไม่อย่างนั้น ถ้าเป็นเหมือนที่เกิดขึ้น สวนป่าก็ปลูกกันไป และถ้าจะจับก็ต้องจับหมด

จำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรธุรกิจจะต้องสร้างความสัมพันธ์กับมวลชน รัฐบาล สื่อมวลชนทุกฉบับอย่างทัดเทียมกัน รวมถึงกลุ่มที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งเราจะต้องให้ข้อมูลชัดเจนแก่ทุกฝ่ายทุกหน่วยงานไม่ใช่โกหกหรือมีอามิสสินจ้าง หรือแม้แต่คู่แข่งก็ต้องสร้างความสัมพันธ์ด้วยเช่นเดียวกัน จึงจะพัฒนาองค์กรธุรกิจในระยะยาวได้ดี

ไพศาลย้ำว่า เมื่อคนรอบข้างรู้สึกเป็นเพื่อนเมื่อมีข่าวไม่ดี คนจะไม่ค่อยเชื่อหรืออย่างน้อยก็ต้องถามเราก่อน ทำให้เรารู้สถานการณ์ได้ดีกว่า

ขณะเดียวกัน ผู้บริหารหรือนัมเบอร์วันของบริษัทไม่ควรจะออกมาตอบโต้หรือชี้แจงเอง เพราะเมื่อคนที่เป็นเบอร์หนึ่งพูดผิดหรือพลาดไปก็แก้ไขไม่ได้

แต่ถ้าให้พีอาร์ ซึ่งควรจะเป็นเบอร์สองขององค์กรโดยทำงาอย่างเป็นระบบ สมมุติถ้าพลาดไป คนที่เป็นเบอร์หนึ่งมีสามารถมาพูดแก้ไขได้

พีอาร์เหมือนทูตและถือเป็นด่านแรกขององค์กรนั้น ถ้าเป็นประเทศก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เผชิญถ้าพลาด นายกมาพูดใหม่ ก็ไม่น่าเกลียดหรือเสียภาพพจน์เท่ากับนายกพูดเองแล้วค้านคำพูดตัวเองในภายหลัง

ไพศาลเน้นแล้วเน้นอีกว่า งานมวลชนสำคัญมาก เพราะถ้าทำหลังจากเกิดปัญหาก็จะเหมือนเป็นการแก้ตัวที่สำคัญ การลงพื้นที่จะต้องทำความเข้าใจและให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือในชีวิตความเป็นอยู่ พร้อมกับการลงโครงการเป็นอย่างช้า

นอกจากนี้ งานพีอาร์จะมีแนวโน้มทำเป็นทีมและเป็นระบบมากขึ้น ที่จริงโดยตัวกิตติ (ดำเนินชาญวนิชย์) เองเป็นคนเก่ง เพียงแต่ทำพีอาร์ในนามของตัวเองไม่ได้ทำในนามขององค์กร

"เศรษฐกิจกำลังวิ่งไปอย่างรวดเร็ว ต่างชาติก็เข้ามาก ลักษณะงานซับซ้อน แนวโน้มของงานพีอาร์จะมีการแบ่งเป็นสัดส่วน เป็นเซ็กเม้นท์มากขึ้น ต่อไปอาจจะมีผู้จัดการเฉพาะด้านออกไป และต้องทำหน้าที่วิจัยวิเคราะห์มากขึ้น"

พีอาร์ในระยะต่อไป จึงต้องอาศัยความชำนาญมากขึ้น เน้นด้าน COMMODITY RELATION สิ่งแวดล้อมมากขึ้นว่า มีผลกระทบอย่างไร และบริษัทจะทำงานโดยไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมได้อย่างไร พีอาร์ต้องเป็นมืออาชีพมากขึ้น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล สภาพเศรษฐกิจ การเมือง สังคม พีอาร์ต้องวิเคราะห์ได้แม่นยำและเป็นผู้ช่วยมองปัญหาและเสนอทางออกแก่บริษัท

แนวโน้มอย่างนี้ ทำให้พีอาร์ต้องเน้นงาน LOBBY มากขึ้น และการ LOBBY นั้นจะไม่ใช่ทำเพื่อองค์กรอย่างเดียว แต่จะช่วยให้การพัฒนาของธุรกิจลายน์นั้นคล่องตัวยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างภาพพจน์ที่ดีให้แก่ประเทศทางอ้อมด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.