ดนัย หาสตะนันทน์ ใช้ชีวิต 64 ปีของเขาอยู่ในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกานั้น
เขามีรกรากและกิจการอยู่อย่างมั่นคง และตัวเขาเองก็ยังถือสัญชาติอเมริกันอยู่ด้วย
มาวันนี้เขากลับมาเมืองไทย พร้อมกับทุ่มเทมันสมองประดิษฐ์ "อีแตน"
เฮลิคอปเตอร์ที่อาจจัดได้ว่าเป็นลำแรก ๆ ของไทย
ดนัยไม่ค่อยกล่าวถึงชีวิตแต่หนหลังให้ใครต่อใครฟังนัก "ผู้จัดการ"
ทราบแต่เพียงว่าเขาจากประเทศไทยไปอังกฤษตั้งแต่อายุ 17 ปี ไปศึกษาต่อในสถาบันที่ดนัยไม่ขออ้างถึง
แต่เป็นแขนงวิชาที่ดนัยสรุปว่า "INTELLIGENT" หรือเป็นสารพัดสาขาวิชาตั้งแต่สังคมศาสตร์
วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีวิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งดนัยกล่าวว่าวิชาที่เขาเรียนส่วนใหญ่เป็นวิชาการสร้างตั้งแต่จักรยานสองล้อถึงเครื่องบิน
"ผมทำงานมาหลายอาชีพ แต่ส่วนมากจะเป็นครู" เขากล่าวกับ "ผู้จัดการ"
แต่การเป็นครูของเขานั้นคือการเดินทางไปในหลายประเทศ หลายทวีป ทั้งยุโรป
ตะวันออกกลาง อเมริกากลาง เป็นต้น ชีวิตที่ขึ้นกับการเดินทางของดนัย ทำให้เขาต้องผูกพันกับเครื่องบินมากเป็นพิเศษ
จนกระทั่งเขามีความชำนาญและรอบรู้เกี่ยวกับเรื่องเครื่องบินและการก่อสร้างเฮลิคอปเตอร์
เขากลับมาเมืองไทยเป็นบางครั้งบางคราว มีอยู่ช่วงหนึ่งที่เขากลับมาช่วยราชการตำรวจ
และได้รับยศ "ร้อยตำรวจตรี" กลับไป
เมื่ออายุมากขึ้น ดนัยก็ลงหลักปักฐานที่สหรัฐอเมริกาและที่แปลกก็คือ เขาไปปักหลัก
ณ ถิ่นไกลโพ้น หนาวยะเยือก คือ "อลาสก้า"
"คนไทยเข้าใจผิดคิดว่า ที่นั่นมีแต่อากาศหนาวเย็น ความจริงอลาสก้าก็มีบริเวณพื้นที่ที่อากาศอุ่นสบายอยู่เหมือนกัน
เพราะมีธารน้ำอุ่นไหลผ่าน และเมืองที่ผมอยู่เป็นเมืองเล็ก ๆ ผู้คนคุ้นเคยกันเหมือนเมืองไทยที่ผมเคยอยู่"
ดนัยเล่าให้เห็นสภาพ
ดนัยเปิดดำเนินกิจการ AIRCRAFT DESIGNER / BUILDER อย่างเป็นล่ำเป็นสัน
หลังจากที่คลุกคลีกับมันมานานและสร้างมาเองก็หลายลำ
"ที่อเมริกา เขาให้อิสระในการมีเฮลิคอปเตอร์ในครอบครอง และเกษตรกรเขาก็มีใช้กันทั้งนั้น
กิจการสร้างเฮลิคอปเตอร์ก็เลยมีกันเยอะแยะ ส่วนของผมนั้นเป็นกิจการในครอบครัวก็ว่าได้
แต่ก็ขายดี บางช่วงผลิตส่งออกไปแถบอเมริกากลางด้วยซ้ำ" ดนัยกล่าวอย่างภาคภูมิ
ดนัยมีบ้านอยู่ในเมืองไทยด้วย ดังนั้นในช่วงวัยอายุ 60 ปีเป็นต้นมา ดนัยก็กลับมาอยู่เมืองไทยบ่อยครั้งขึ้น
ในบั้นปลายของชีวิตประกอบกับความรู้ความสามารถที่มีอยู่ ดนัยก็เลยเกิดความคิดที่จะสร้างเฮลิคอปเตอร์ในเมืองไทยให้เป็นเรื่องเป็นราว
"ที่ผมมาทำที่นี่เพราะผมแก่แล้ว ปลดเกษียณแล้วก็อยากกลับมาทำประโยชน์ให้กับประเทศไทย
ผมกลับมาเที่ยวเมืองไทยอยู่เรื่อย ๆ ก็เห็นว่าชาวนาเรามีปัญหามากแล้วผู้บริหารประเทศของเราก็มักชอบโวยว่าข้าวอเมริกันดั้มพ์ตลาดข้าวไทย
ที่อเมริกันเขาทำได้เพราะกำลังการผลิตเขาสูงมาก ทั้งที่คนงานเขาราคาแพงกว่า
เพราะเขามีเทคโนโลยี มีเครื่องมือ อย่างเช่น การฉีดยาฆ่าแมลง ทางอเมริกันเขาใช้เฮลิคอปเตอร์
แต่เราใช้คนฉีด ซึ่งคำนวณแล้วการใช้คนฉีดแพงกว่าหลายสิบเท่าตัว ผมก็เลยอยากนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิต
ลดต้นทุน" ดนัยกล่าว
ดนัยกลับมาร่วมงานกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หน่วยงานราชการที่พอจะเปิดโอกาสให้เขาลงทุนลงแรงได้บ้าง
และก็ยังมีนิสิตนักศึกษาเป็นผู้ช่วยทางด้านแรงงานอีกด้วย โดยใช้ชื่อโครงการว่า
"วิจัยเทคโนโลยีพัฒนาการเกษตรทางอากาศ"
ดนัยร่วมกับอาจารย์และนิสิตเกษตรเริ่มลงมือสร้างเฮลิคอปเตอร์เมื่อประมาณกลางปีที่แล้ว
โดยดนัยเริ่มออกแบบ สั่งวัตถุดิบ โดยเฉพาะเหล็ก ซึ่งเมืองไทยยังไม่มีโรงงานที่ผลิตเหล็กสำหรับเครื่องบิน
"การสร้างเฮลิคอปเตอร์ในเมืองไทยนั้น มีการพยายามทำมานานแล้ว แต่ไม่เคยสำเร็จเป็นจริงเป็นจัง
คือ ดูแล้วการสร้างเฮลิคอปเตอร์มันไม่น่าจะยาก แต่จริง ๆ แล้ว ความยากมันอยู่ตรงที่เมื่อตัวเฮลิคอปเตอร์ลอยตัวขึ้นไปแล้ว
จะทำอย่างไรให้พุ่งไปข้างหน้า เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาได้อย่างคล่องแคล่ว โดยไม่พลิกคว่ำหรือเสียการทรงตัว
ทำอย่างไรให้มันกินลมพอดีไม่เสียสมดุล ลอยตัวอยู่ได้ บางทีเราไปลอกแบบเขามา
เรายังสร้างกันไม่ได้ ดังนั้นปัญหาคือความรู้ความสามารถทางเทคโนโลยี"
ดนัยสรุปซึ่งจากประสบการณ์จากเมืองนอกที่เขาได้รับมาจึงไม่เป็นปัญหาสำหรับดนัยเลยในกรณีนี้
ดนัยและทีมงานสามารถสร้างเฮลิคอปเตอร์สองลำแรกของไทยได้ โดยใช้เวลาสร้างแท้จริงเพียง
2 เดือน เฮลิคอปเตอร์ทั้งสองลำซึ่งเป็นต้นแบบนี้ขนานนามว่า "อีแตน"
ใช้งบสร้างลำละประมาณ 1.5 ล้านบาท
ประสิทธิภาพและประโยชน์ของ "อีแตน" ในขั้นต้นนี้คือ ใช้พ่นยาปราบศัตรูพืช
ซึ่งภายใน 1 ชั่วโมง สามารถพนได้ 270 ไร่ เชื้อเพลิงคือน้ำมันเบนซิน ซึ่งเมื่อคำนวณเฉพาะต้นทุนเชื้อเพลิงแล้วค่าใช้จ่ายคิดได้
1 ไร่ต่อ 1.10 บาทเท่านั้น
ประโยชน์อีกด้านหนึ่ง คือ บินตรวจรักษาป่าตามเขตต่าง ๆ ซึ่งดนัยยืนยันว่าเป็นการบินตรวจป่าที่สิ้นค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด
คือ เหมือนกับนั่งรถยนต์ชมป่านั่นทีเดียว
ดนัย กล่าวถึงต้นทุนการผลิตว่า ต้นทุนแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ KNOWHOW ค่าจ้าง
และวัตถุดิบ ซึ่งจากประสบการณ์ของดนัยสรุปว่า ในอเมริกานั้นต้นทุนส่วนที่แพงที่สุด
คือ ค่าจ้าง ซึ่งเทียบเท่า 50% ของต้นทุนทั้งหมด ส่วน KNOWHOW นั้น ก็อยู่ที่ดนัยและมหาวิทยาลัยเกษตร
จะตกลงกันว่าจะคิดค่าใช้จ่ายต่อไปอย่างไร ส่วนวัตถุดิบนั้นเทียบเท่า 25%
เท่านั้น และส่วนใหญ่คือเหล็ก ซึ่งไม่ว่าโรงงานผลิตเฮลิคอปเตอร์จะอยู่ในอังกฤษหรือเยอรมันก็ต้องซื้อเหล็กจากอเมริกาเหมือนกัน
"ตอนที่ผลิตอีแตนนั้น ต้นทุนถูกมาก เพราะแรงงานส่วนใหญ่ใช้นิสิตถึงต่อให้ใช้แรงงานทั่วไปผมก็ว่าเรายังถูกกว่าอยู่ดี"
ดนัยยืนยัน ยิ่งไปกว่านั้นงบประมาณในช่วงต้นที่สร้าง "อีแตน" เป็นเงินประมาณ
3 ล้านบาทนี้ ดนัยกล่าวว่า เขาเป็นผู้ลงทุนในเบื้องต้นเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้น
มหาวิทยาลัยเกษตรฯ ให้ความร่วมมือในเรื่องแรงงาน โรงงาน และการประสานงานติดต่อ
เช่น การจัดซื้อ นำเข้าอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น
การก่อสร้าง "อีแตน" เสร็จสิ้นเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา
และออกบินสาธิตในงานเกษตรแฟร์ ต่อจากนั้นไม่นาน กระทรวงกลาโหมก็มอบหมายให้กองทัพอากาศ
ส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งในที่สุด "อีแตน"
ผลงานจากมันสมองของดนัยก็ได้รับการรับรองความปลอดภัยจากสำนักวิศวกรรมอากาศยาน
กองทัพอากาศ ซึ่งนั่นหมายความว่า การผลิต "อีแตน" ออกขายในเชิงพาณิชย์จะสามารถกระทำได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น
"หากจะตั้งโรงงานผลิตอย่างเป็นจริงเป็นจัง เราต้องใช้แรงงานระดับมืออาชีพ
คือ ช่างอากาศที่ได้รับการรับรองจากกรมการบินพลเรือน ซึ่งจุดนี้คิดว่าไม่มีปัญหาอะไร
เพราะมีมากพอสมควร ปัญหาก็คือ เราต้องการผู้ร่วมลงทุน ซึ่งอาจจะลงทุนไปตั้งโรงงานที่อื่นหรือมาใช้โรงงานที่อยู่ในเกษตรนี่ก็ได้
ซึ่งก็จะประหยัดการลงทุนไปเยอะ" ดนัยให้ความหวังและอธิบายว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดการเรื่องลิขสิทธิ์
ส่วนดนัยก็จะรับแต่ค่า KNOWHOW ซึ่งเขาย้ำว่าไม่มากเท่าไร กับตอนนี้มีฐานเป็นลูกจ้างของโครงการนี้เท่านั้น
คำถามก็คือ ตลาดของเฮลิคอปเตอร์อยู่ที่ไหน ?
"หากชาวนาจะลงทุนซื้อเฮลิคอปเตอร์ ชาวนาจะต้องมีนากี่พันไร่ถึงจุดคุ้มกับการลงทุน
หรืออาจจะต้องถึงหมื่นไร่ แต่หนทางยังพอมีบ้างหากหน่วยราชการเป็นตัวกลางช่วยในเรื่องนี้
หรือจัดตั้งระบบสหกรณ์ขึ้นมาในหมู่บ้านซื้อเฮลิคอปเตอร์ไว้เป็นส่วนกลาง แต่เราจะต้องหัดบ่มนิสัยของเราให้มีความซื่อสัตย์ด้วยเมืองไทยเราเวลาใช้ของแล้วก็ใช้เสียพัง
คนต่อไปก็แย่" ดนัยกล่าวอย่างมีความหวัง
นอกจากนั้น ตลาดที่ดนัยคิดว่าจะเจาะไปได้แท้จริง คือ บริษัทเอกชนด้านการเกษตร
เช่น ซีพี หรือมาบุญครอง กับหน่วยราชการอย่างเช่น กรมป่าไม้ ส่วนราคานั้นน่าจะอยู่ในราว
ๆ 2 ล้านกว่าบาท ซึ่งดนัยอธิบายว่าราคาพอ ๆ กับที่อเมริกา แต่ของเราจะถูกกว่าเพราะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและในอนาคต
"อีแตน" ก็น่าจะถูกลงไปอีกเพราะปัจจัยทางด้านแรงงาน
"อีแตน" เป็นเพียงการเริ่มต้นการผลิตเฮลิคอปเตอร์ของไทย การพัฒนาจะต้องมีกันต่อไป
ส่วนในแง่การพาณิชย์ "อีแตน" ก็ต้องแสวงหาผู้ร่วมลงทุนและการคาดคะเนตลาดที่แม่นยำในอนาคต
แต่สำหรับดนัยแล้ว ณ วันนี้อาจถือได้ว่า ดนัยก็คือ "สมองไหล"
ผู้หวนคืนกลับบ้านผู้หนึ่งเช่นกัน สิ่งที่จะต้องพิจารณาก็คือ การผสมผสานความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของเขาให้สอดคล้องกับสังคมไทย
และขณะเดียวกันสังคมไทยหรือหน่วยงาที่เกี่ยวข้องก็ต้องรู้จักที่จะใช้ประสบการณ์ของเขาให้เป็นประโยชน์เช่นกัน
!