ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ธุรกิจที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศ


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2533)



กลับสู่หน้าหลัก

สำนักกฎหมาย ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน จะมีอายุครบรอบ 20 ปีพอดีในเดือนธันวาคม 2533 นี้ ซึ่งมีอายุไล่เลี่ยกันกับอายุของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งสองแห่งดูเหมือนจะเป็นสถาบันทางกฎหมายที่มีทิศทางในการเจริญเติบโต ที่เกือบจะเรียกว่า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

จะต่างกันก็แต่เพียงคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้น เป็นที่ประสิทธิประสาทความรู้ทางกฎหมาย ซึ่งไม่อาจจะดำเนินการธุรกิจทางกฎหมายได้ ในขณะที่สำนักกฎหมาย ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน เป็นสถานประกอบการทางธุรกิจวิชาชีพกำหมายแท้ ๆ

ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน เป็นอีกคนหนึ่งที่เป็นผลิตผลนิติศาสตรบัณฑิตในยุคเริ่มต้น การพัฒนาประชาธิปไตยจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งบ้านเมืองกำลังต้องการวิศวกรทางสังคมอย่างมากในการร่วมกันพัฒนาชาติ ไม่ว่านักกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ หรือแม้แต่นักบัญชี

บัณฑิตจากธรรมศาสตร์จำนวนมาก ถูกป้อนเข้าไปรองรับภาระงานในภาครัฐบาลแทนที่ข้าทาสบริวาร และผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาดเล็กหลวงโดยตรงในระบบการปกครองดั้งเดิม

ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน เป็นคนหนึ่งในจำนวนบัณฑิตจากธรรมศาสตร์เพียงน้อยนิดที่มไเข้าไปอยู่ในวงราชการ เขาตัดสินใจที่จะเป็นทนายความ โดยเข้าอยู่ในสังกัดสำนักงานทนายความชมพู อรรถจินดา ที่โด่งดังมากในยุค 30 ปีก่อน

แต่ทำทนายอยู่สำนักงานชมพูได้ไม่นานนัก ดร.อุกฤษก็ได้รับทุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสให้ไปศึกษากฎหมายต่อ และก็ได้ใช้เวลาในคราวเดียวกันเรียนจนจบปริญญาเอกทางด้านกฎหมาย

ดร.อุกฤษมีโอกาสดีกว่าทนายความคนอื่น ๆ จากการที่เขาได้รับทุนให้ไปศึกษายังต่างประเทศ ซึ่งได้เรียนรู้ทั้งวิชากฎหมาย ภาษา ตลอดทั้งวัฒนธรรมของชาวต่างชาติดีกว่า เขากลับเข้ามาอยู่กับสำนักงานชมพูได้ระยะหนึ่ง ก็ถูกชวนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เข้าร่วมเป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมายในแผนกวิชากฎหมายในคณะรัฐศาสตร์ พร้อมกับเตรียมการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์ขึ้นมาจนสำเร็จ

"ขณะนั้นก็ได้เริ่มมีกระแสต่อต้านทนายความฝรั่งที่เข้ามาหากินในเมืองไทยขึ้นมาแล้ว ผมก็เห็นว่าในขณะที่เราต่อต้านเขา แต่ปรากฏว่าตัวเราเองยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย และก็ยังไม่มีการพัฒนาคนของเราให้ขึ้นมามีความสามารถพิที่จะเป็นที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศได้ คงจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากที่จะกีดกันเขา หนทางที่ดีที่สุดสำหรับเรานั้นควรจะหันกลับมาเริ่มต้นพัฒนาคนของเราให้ทันเขาเสียก่อน อันนี้เป็นจุดหนึ่งที่ผมตัดสินใจหันหน้าเข้ามาเป็นอาจารย์สอนหนังสือ และก็เตรียมการจัดตั้งคณะนิติศาสตร์จุฬาฯ ขึ้นมา ซึ่งจะเห็นได้ว่า โครงสร้างหลักสูตรหรือการเรียนการสอนขงเราสร้างขึ้นมาในขณะนั้น และก็พัฒนามาเรื่อยจนถึงปัจจุบันนี้ ก็เพื่อรองรับวัตถุประสงค์นี้โดยตรง" ดร.อุกฤษ มงคลนาวินพูดเหตุผลที่ต้องเข้ารับราชการและการเริ่มต้นก่อตั้งคณะนิติศาสตร์จุฬาฯ ขึ้นมาเมื่อ 20 ปีก่อน

ความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดระหว่างนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์กับนิติศาสตร์จุฬาฯ คือ หลักสูตรดั้งเดิมของนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์นั้นได้ทุ่มเน้นการเรียนกฎหมายเพียง 4 เล่มหลัก คือ ประมวลกฎหมายแพ่ง ประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง นอกนั้นก็จะเป็นกฎหมายมหาชนเสียส่วนใหญ่ เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง

นิติศาสตร์จุฬาฯ ได้เพิ่มวิชากฎหมายที่ทางธรรมศาสตร์ยังขาดอยู่เข้ามาไว้ในหลักสูตรด้วย โดยเฉพาะกฎหมายเอกชน หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เศรษฐกิจ และกฎหมายระหว่างประเทศ

"ยิ่งกว่านั้น เราเน้นที่จะให้นิสิตของเราเก่งทางด้านภาษาต่างประเทศ ตลอดทั้งเรียนรู้วัฒนธรรมของเขาด้วย" ดร.อุกฤษกล่าว

เมื่อก่อตั้งคณะนิติศาสตร์จุฬาฯ สำเร็จ ดร.อุกฤษก็ขึ้นเป็นคณบดีคนที่ 2 หลังจากคณบดีคนแรกอยู่ได้เพียงปีเดียวก็เกษียณอายุราชการออกไป

แนวทางการพัฒนานิติศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาฯ ค่อนข้างได้ผลตามเป้าหมายดี เมื่อจบออกมาแล้วสามารถประกอบอาชีพการงานเป็นทนายความที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศไทยได้ ซึ่งจะด้วยเหตุผลที่คนเข้าเรียนจุฬาฯ นั้นเป็นคนที่มีพื้นฐานทางด้านภาษาดีอยู่แล้วจากระบบการคัดเลือกเข้าเรียน หรือฐานะทางบ้านของเหล่านิสิตทั้งหลายก็ค่อนข้างดีด้วย โอกาสที่จะไปเรียนต่อยังต่างประเทศก็สูงกว่าบัณฑิตจากธรรมศาสตร์

แต่ไม่ว่าจะไปเรียนต่อยังต่างประเทศหรือออกมาประกอบอาชีพการงาน ดร.อุกฤษก็ยังมีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษาแนะนำที่จะให้เน้นไปทางด้านกฎหมายธุรกิจ

"คือ ถ้าจะออกไปทำงาน ผมก็แนะนำเขาว่าให้เข้าทำงานในสำนักงานกฎหมายของฝรั่งเขาเสียก่อน ถ้าจะเรียนต่อ ผมก็บอกว่าต้องเรียนกฎหมายธุรกิจแล้วกลับมาประกอบอาชีพในบ้านเรา ซึ่งมีมากมายเหลือเกิน" อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์จุฬาฯ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

นักกฎหมายจากธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่จะอยู่ในวงราชการทั้งด้านตุลาการ อัยการ ทนายความ หรือนิติกรในกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ในขณะที่นิติศาสตร์บัณฑิตจากจุฬาฯ มักจะอยู่ทางภาคธุรกิจเอกชนเสียส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในบรรดาสำนักงานที่ปรึกษากฎหมายระหว่างประเทศนั้นเกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นทีมของนักกฎหมายจากจุฬาฯ

จึงมักจะเป็นข้อเปรียบเทียบกระแนะกระแหนกันในวงการทนายความว่า ทนายความจากจุฬาฯ นั้นไม่ใช่ทนายความที่แท้จริง เพราะไม่ค่อยได้ขึ้นว่าความในศาล ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็โต้กลับว่า คนที่หากินกับการว่าความนั้นเป็นพวกกินตามตีนโรงตีนศาล

ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ออกมาตั้งสำนักกฎหมายของตัวเองขึ้นมาหลังจากอยู่เป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์จุฬาฯ ได้ 6 ปี และสำนักงานทีเขาตั้งขึ้นมานั้นเน้นที่จะให้คำปรึกษาด้านกฎหมายธุรกิจมากกว่าด้านคดีความในโรงศาล

"ผมเป็นคนชาตินิยมมาก เมื่อตัวเองได้วางแนวการพัฒนานักกฎหมายของไทยขึ้นมารองรับงานทางด้านที่ปรึกษากฎหมายธุรกิจให้ได้แล้ว ก็ลองมาตั้งสำนักงานของตัวเองขึ้นมาให้เป็นของไทยแท้ ๆ ดูซิว่า จะสามารถทำได้หรือไม่ ผมเริ่มต้นด้วยตัวของผมเองคนเดียว ทั้ง ๆ ที่มีนักกฎหมายชาวฝรั่งเข้ามาขอร่วมด้วยหลายคนทั้งในรูปของหุ้นส่วนและลูกจ้าง ผมก็ยังปฏิเสธไป เพราะอยากจะให้สำนักกฎหมายระหว่างประเทศที่เป็นของคนไทยแท้ ๆ ไม่ให้มีฝรั่งปนอยู่เลย เพื่อเป็นตัวอย่างว่าคนไทยเราก็สามารถทำได้จะได้เป็นกำลังสำหรับลูกศิษย์ของเราด้วย จนถึงวันนี้เราก็ได้พิสูจน์แล้ว และก็เป็นกำลังใจอย่างดีแก่ลูกศิษย์ลูกหาของเราว่าคนไทยเราก็ทำได้" ดร.อุกฤษ กล่าวถึงตอนเริ่มต้นเปิดสำนักงาน

ปัจจุบันมีทนายความในสังกัดแผนกต่าง ๆ ของสำนักงานร่วม 100 คน ไม่รวมพนักงานด้านอื่น ๆ โดยไม่มีฝรั่งเข้ามาปะปนอยู่เลย นอกจากทนายความต่างประเทศตามโครงการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านกฎหมายเท่านั้น

ทนายความทุกคนมีเงินเดือนประจำสูงกว่ามาตรฐานทั่วไป มีเงินแบ่งปันพิเศษตอนสิ้นปี โดยคำนวณจากกำไรที่ทนายความคนนั้น ๆ ทำมาตลอดทั้งปี โดยมีส่วนแบ่งสูงถึง 40% มีสวัสดิการทุกอย่างทั้งสำหรับตัวเอง และลูกเมีย มีค่ารักษาพยาบาลโดยไม่จำกัดโรค โรงพยาบาล และจำนวนค่ารักษา มีทุนเรียนต่อต่างประเทศ ช่วยเหลือเงินดาวน์บ้าน ดาวน์รถยนต์ โดยไม่คิดดอกเบี้ยและจัดงานแต่งงานให้ สวัสดิการนี้มีให้แก่พนักงานทุกคนตั้งแต่คนทำความสะอาดขึ้นไป

ปัจจุบันนอกจาก ดร.อุกฤษจะเป็นที่รู้จักกันในฐานะนักการเมืองสายแต่งตั้ง คือ ประธานวุฒิสมาชิกสำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว ในวงการธุรกิจ ดร.อุกฤษยังเป็นคนที่มีความร่ำรวยในระดับแนวหน้าของเมืองไทย ซึ่งเป็นที่สงสัยกันว่าความรวยของเขานั้นมาจากการค้าอย่างอื่นหรือมาจากการประกอบอาชีพทนายความ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่ารายได้ทั้งหมดได้มาจากการประกอบอาชีพนักกฎหมาย ส่วนเรื่องการทำสถานที่พักผ่อนตากอากาศที่หาดจอมเทียมนั้นเป็นการทำเป็นตัวอย่างเฉย ๆ ไม่ได้มุ่งทำกำไร เพราะขณะที่เขาทำนั้นยังไม่มีใครสนใจที่จะไปพัฒนาที่ดินแบบนั้นมาก่อน ส่วนเงินที่นำไปลงทุนนั้นก็เป็นเงินรายได้จากการประกอบอาชีพทนายความโดยแท้

แม้ปัจจุบันนี้การที่เขาเข้าไปจับธุรกิจสร้างสนามกอล์ฟและสวนเกษตรก็ทำไปเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่นักลงทุนทั้งหลายว่า การลงทุนนั้นจะต้องให้มีผลด้านการพัฒนาด้วย ไม่ใช่ทำเพื่อจะกอบโกยกำไรเพียงอย่างเดียว ก็สามารถจะทำธุรกิจได้ และสุดท้ายนั้นต้องการให้อนุสรณ์สำหรับคนรุ่นหลังทั้งหมดนี้จะพิสูจน์ให้เห็นว่ากำไรที่ได้จากทำธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้เอาเข้ากระเป๋าตัวเอง แต่จะทำอะไรให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งจะมีข่าวออกมาเร็ว ๆ นี้ว่าจะเอากำไรที่ได้จากการทำสวนเกษตรและสนามกอล์ฟกว่า 100 ล้านบาทไปทำอะไร

"งานในอาชีพนักกฎหมายนั้นยังเป็นงานหลักสำหรับผมยังคงนั่งทำงานอยู่ทุกวัน โดยหลังจากพ้นวาระการเป็นประธานรัฐสภาแล้วก็มีเวลาให้กับงานในสำนักงานนี้มากขึ้น การพัฒนานักกฎหมายก็ยังคงต้องทำกันต่อไป" เจ้าของสำนักกฎหมาย ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน กล่าว

ในโอกาสจะครบรอบ 20 ปีของสำนักกฎหมาย ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ในวันที่ 4 ธันวาคม 2533 ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมีการฉลองเปิดตึกใหม่มูลค่านับร้อยล้านบาท ซึ่งหัวใจสำคัญยิ่งกว่านั้นสำหรับการฉลองครบ 20 ปีก็คือ ภายในบริเวณตึกที่กว้างขวางใหญ่โตนั้นเป็นที่สถานบริการประชาชนทางกฎหมายถึงสองส่วนใหญ่ ๆ คือ ส่วนที่เป็นห้องประชุมใหญ่ขนาดพอ ๆ กับโรงหนังสำหรับการจัดอบรมสัมมนาวิชาการทางกฎหมาย โดยเปิดให้ทุกคนเข้าใจโดยไม่คิดมูลค่าใด ๆ ทั้งสิ้น และส่วนที่สองจะเป็นห้องสมุดขนาดใหญ่ทั้งชั้นของตึก มีหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายจากทั่วทุกมุมโลกบรรจุไวที่นั่นอย่างพร้อมเพรียงที่สุดเพื่อบริการแก่ประชาชนทั่วไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.