"พ.ร.บ. ทุนของรัฐวิสาหกิจ เหตุใดจึงไม่มีใครผลักดันจริงจัง"

โดย ธัชมน หงส์จรรยา
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อประมาณต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงการคลังเสนอร่างพระราชบัญญัติทุนของรัฐวิสาหกิจต่อคณะรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญให้เปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็น "หุ้น" เพื่อนำออกจำหน่ายแก่ประชาชนและจำหน่ายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นั่นหมายถึงว่า รัฐวิสาหกิจทั้งหลายต้องจัดรูปเป็นบริษัท กลายสภาพเป็นเอกชนมากขึ้น ซึ่งนับเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะไม่ทำให้การระดมทุนเพื่อขยายกิจการรัฐวิสาหกิจเป็นภาระแก่รัฐบาลมากนัก

ความสำคัญของ พ.ร.บ. นี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าจำเป็นแค่ไหน ซึ่ง พันศักดิ์ วิญญรัตน์ อดีตประธานคณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ ให้ความเห็นว่า ถ้ามี พ.ร.บ. แปรรูปออกมาอย่างชัดเจน ก็จะทำให้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจมีขบวนการขั้นตอนอย่างเป็นระบบ ไม่ต้องเสียเวลาแก้กฎหมายทีละฉบับ แต่ที่ทุกวันนี้ไม่มี พ.ร.บ. ปรากฏให้เห็นเพราะความเกรงใจเครื่องแบบสีเขียวที่ยึดสมรภูมิรัฐวิสาหกิจไว้แน่น

ในขณะที่ สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักทรัพย์ มองว่าไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ เพราะความต้องการขยายสาธารณูปโภคจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการแปลี่ยนแปลงภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล

สาระสำคัญของ พ.ร.บ. ทุนของรัฐวิสาหกิจอาจสรุปได้ดังนี้

(1) ให้ทุนของรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยกฎหมายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่ตั้งขึ้นโดย พระราชบัญญัติ

ประกาศคณะปฏิวัติ พระราชกฤษฎีกา หรือมติคณะรัฐมนตรี (ยกเว้นรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัดหรือมีทุนเรือนหุ้นอยู่แล้ว) เปลี่ยนเป็นทุนเรือนหุ้นโดยให้กำหนด ถือความตามวงที่รัฐวิสาหกิจได้รับจากงบประมาณแผ่นดินหรือกระทรวงการคลัง แบ่งเป็นหุ้นสามัญมีมูลค่าหุ้นเท่ากันชำระเต็มค่าแล้ว และให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด

(2) รัฐวิสาหกิจใดที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่น้อยกว่า 70% ให้รัฐวิสาหกิจนั้นเป็นบริษัทจำกัด โดยกรรมการของรัฐวิสาหกิจนั้นต้องไปจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดกับกระทรวงพาณิชย์โดยไม่ชักช้า ส่วนรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ไม่น้อยกว่า 70% คณะกรรมการทุนของรัฐวิสาหกิจอาจเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้เป็นบริษัทจำกัดก็ได้

(3) ให้มี "คณะกรรมการทุนของรัฐวิสาหกิจ" ขึ้นประกอบด้วยบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวน 6 คน โดยมีผู้แทนกระทรวงการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

ก. ให้มีอำนาจดำเนินการให้รัฐวิสาหกิจที่มีทุนเป็นทุนเรือนหุ้นโดยความเห็นชอบของคณะรัฐ

มนตรีดังนี้

1.เสนอให้รัฐวิสาหกิจใดที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้นตั้งแต่ 70% ขึ้นไปเป็นบริษัทจำกัด

2. กำหนดมูลค่าของสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจก่อนนำหุ้นออกขาย

3. กำหนดชนิด จำนวน และมูลค่าหุ้น

4. กำหนดอัตราส่วนของหุ้น หรือชนิดและจำนวนหุ้นที่จะให้กระทรวงการคลังถือไว้ต่อไป

5. กำหนดอัตราส่วนของหุ้นหรือชนิด และจำนวนหุ้นขั้นต่ำที่จะขายให้แก่พนักงาน และลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจรวมทั้งกำหนดเงื่อนไขในการขายหุ้นคือในกรณีที่พนักงานและลูกจ้างออกจากรัฐวิสาหกิจ

6. กำหนดอัตราส่วนของหุ้นหรือชนิด และจำนวนหุ้นขั้นต่ำที่จะขายให้แก่ประชาชน

7. กำหนดอัตราส่วนของหุ้นหรือชนิด และจำนวนหุ้นขั้นต่ำที่จะขายให้แก่ชาวต่างประเทศ

8. แก้ไขเปลี่ยนแปลง "สิทธิพิเศษ" ขอองรัฐวิสาหกิจ (เช่นสิทธิของการไฟฟ้าฯ ในการเดินสายไฟฟ้าผ่านห้องของเอกชน)

9. พิจารณาการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่รัฐวิสาหกิจ

10. พิจารณาเรื่องอื่น ๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ข. ให้ความเห็นชอบในระเบียบข้อบังคับของในส่วนที่เกี่ยวกับการประชุมผู้ถือหุ้นและการลงคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้น รวมทั้งหนังสือบริคณห์สนธิเพื่อประโยชน์ในการจดทะเบียนบริษัท

ค. ควบคุมดูแลให้รัฐวิสาหกิจปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่มีกระทรวงการคลังค้ำประกันอยู่ก่อนที่จะแปลงทุนเป็นหุ้น หรือเป็นบริษัทจำกัดก็ให้การค้ำประกันมีผลอยู่ต่อไป จนกว่าจะได้มีการชำระหนี้นั้นครบถ้วย

ภายหลังจากการแปรรูปนี้แล้ว ทุนของรัฐวิสาหกิจก็อาจจะเพิ่มขึ้นได้โดยมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้น และกำไรสุทธิประจำปีก็สามารถนำมาจัดสรรเป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้ขอถอนเรื่องที่จะนำเสนอกลางคัน ด้วยเหตุผลว่ายังไม่พร้อมพอที่รัฐวิสาหกิจทุกแห่งจะทำได้

ฉะนั้นรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง หากต้องการเปลี่ยนแปลงจากทุนเป็นทุนเรือนหุ้นก็ต้องแก้ พ.ร.บ.ที่ตราขึ้นเพื่อจัดตั้งรัฐวิสาหกิจแห่งนั้น ๆ เอง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.