"ราคาไฟฟ้าแพงกว่าก๋วยเตี๋ยว" หากหลับตาลง ย้อนยุคไปสัก 100 ปีคงจะได้ยินเสียงบ่นประโยคข้างต้นตามภาษาราษฎรเต็มขั้นเพราะยุคคุณทวด
คุณปู่ยังวัยขบเผาะนั้นราคาก๋วยเตี๋ยวเพียงแค่ชามละ 25-50 สตางค์เท่านั้นแต่ราคาไฟฟ้ากลับมากถึงหน่วยละ
1 บาท 50 สตางค์ถึง 3 บาททีเดียว ทั้งนี้แล้วแต่ผู้รับสัมปทานจะกำหนดเองตามชอบใจ
ถึงกระนั้นก็ตามแสงไฟอันสว่างไสวของโคมระย้าหลากสีของสถานที่ราชการใหญ่
ๆ ก็ยังเป็นที่เย้ายวนใจให้บ้านเรือนหลายหลังนิยมใช้ไฟฟ้ามากขึ้น
โรงไฟฟ้าดีเซลล์ขนาดเล็กถือกำเนิดขึ้นหลายแห่ง แต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
จึงจ่ายไฟฟ้าในเขตเมืองเฉพาะตอนกลางคืน ไม่สามารถบริการได้อย่างสม่ำเสมอ
ไฟดับๆ ติด ๆ อยู่บ่อย ๆ จนทำให้หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลได้ตัดสินใจรวบรวมกิจการไฟฟ้าเข้าด้วยกันโดยให้เหตุผลว่า
เพื่อความเป็นปึกแผ่นและมั่นคง
เจ้าหมื่นไวยวรนารถ (เจิม แสงชูโต) เป็นคนแรกที่นำไฟฟ้าเข้าสู่ประเทศไทย
เมื่อปี พ.ศ. 2427 เขาเอาแบบอย่างมาจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยลงทุนขายที่ดินอันเป็นมรดกของตนเองที่บางอ้อ
และได้ส่ง มาโยลา ชาวอิตาลี ซึ่งมารับราชการเป็นครูฝึกทหารเดินทางไปซื้อเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
2 เครื่องและอุปกรณ์ รวมทั้งโคมไฟฟ้าที่ประเทศอังกฤษ พร้อมทั้งเรียนวิชาไฟฟ้าด้วย
โดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางราชการ แม้ว่าเมื่อครั้งกลับจากปารีสในฐานะอุปทูตได้กราบทูลให้รัชกาลที่
5 ทรงทราบแล้วก็ตาม
กลยุทธของเจ้าหมื่นไวยฯที่ทำให้ไฟฟ้าเป็นที่รู้จัก และยอมรับก็คือ นำไฟฟ้านั้นไปติดตั้งในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทและในท้องพระโรงในวันคล้ายวันพระราชสมภพของรัชกาลที่
5 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานเงินค่าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและอุปกรณ์คือให้ทั้งหมด
ด้วยการที่ไฟฟ้าเป็นที่ต้องการมากขึ้น ทำให้เจ้าหมื่นยังคงดำเนินกิจการนี้ต่อไป
รวมทั้งมีแผนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่แต่ยังไม่ทันดำเนินการก็ต้องไปราชการสงครามฮ่อ
ทางราชการจึงรับมาดำเนินการแทนตั้งแต่ปี 2437 จนถึง พ.ศ. 2440 จึงโอนกิจการให้เป็นบริษัท
โดยการร่วมทุนของเลียวนาดี ชาวอเมริกันกับเจ้านายข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จัดตั้งบริษัทชื่อว่า
บางกอกอิเล็กตริก ไลท์ ซินดิเคท (BANGKOK ELECTRIC LIGHT SYNDICATE) ขึ้น
มีสัญญาจ่ายไฟฟ้าตามท้องถนน สถานที่ราชการ ดำเนินการได้ไม่นานก็ต้องล้มเลิกเพราะขาดทุนจึงโอนกิจการให้กับบริษัทไฟฟ้าสยาม
(SIAM ELECTRICITY CO.,LTD.) ซึ่งดำเนินการโดยเวสเตนโฮลซ์ ชาวเดนมาร์ก
บริษัทไฟฟ้าสยามได้ตั้งที่ทำการและสร้างโรงไฟฟ้าที่ข้างวัดราชบูรณะวรวิหารหรือวัดเลียบ
(ที่ตั้งสำนักงานของการไฟฟ้านครหลวงในปัจจุบัน) นอกจากนี้ยังได้รับสัมปทานเดินรถรางในกรุงเทพ
ซึ่งทับกับเส้นทางของบริษัทรถรางบางกอก จนมีอันต้องรวมกิจการกันในปี 2451
ปี 2455 ล้นเกล้ารัชการที่ 6 ได้โปรดให้สร้างการประปาและโรงไฟฟ้าพร้อมกันที่สามเสน
โดยใช้ชื่อว่าการไฟฟ้าหลวงสามเสน มีสถานภาพเป็นรัฐพาณิชย์ (เหมือนการบินไทยปัจจุบัน)
อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย
ในระหว่างนี้การใช้ไฟฟ้าได้แพร่หลายไปสู่ต่างจังหวัด จนปี 2470 สุขาภิบาลหลายแห่งได้เริ่มต้นกิจการไฟฟ้าในท้องที่ของตนเอง
ความกระจัดกระจายและความเติบโตของกิจการ ทำให้รัฐบาลตัดสินใจประกาศใช้
พรบ. ควบคุมกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภคไว้รวม 7 อย่างคือรถไฟ รถราง ขุดคลอง
เดินอากาศ ประปา ชลประทาน และโรงไฟฟ้า โดยมีข้อความสำคัญคือห้ามผู้หนึ่งผู้ใดประกอบกิจการสาธารณูปโภคดังกล่าว
ยกเว้นจะได้รับสัมปทานหรืออนุญาตจากรัฐบาล
หลัง พรบ. ประกาศเพียง 1 ปี รัฐบาลก็จัดตั้ง แผนกไฟฟ้าขึ้นให้สังกัดกองบุราภิบาล
กรมสาธารณสุขและได้จัดสร้างไฟฟ้าสุขาภิบาลแห่งแรกที่นครปฐม
อีก 3 ปีให้หลังประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองทำให้มีการปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม
ซึ่งมีผลให้แผนกไฟฟ้าถูกจัดตั้งขึ้นเป็นกองไฟฟ้า สังกัดกรมโยธาเทศบาล กระทรวงมหาดไทยในปี
2477
ก่อนหน้านั้นไม่นานมีเสนาบดีกระทรวงพาณิชย ์และคมนาคมคิดว่าควรมีการนำพลังน้ำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า
เพราะจะทำให้ได้กำไรมากขึ้นตามข้อความจดหมาย ลงวันที่ 9 มกราคม 2471 ว่า
"ผลประโยชน์ซึ่งได้จากไฟฟ้าหลวงก็ได้ทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทอยู่แล้ว
ไฟฟ้าแม้แต่ในขณะนี้ใช้ไอตีม (ไอน้ำ) ก็ยังได้กำไรมากมาย เหตุใดเล่าไฟฟ้าซึ่งทำขึ้นด้วยแรงน้ำซึ่งเป็นของมีมาเองโดยไม่มีผู้ใดคิดขึ้นนี้จะไม่ได้ผลประโยชน์งอกงาม
ยิ่งกว่านั้น" (เดิมโรงไฟฟ้าทั้งหลายเป็นโรงไฟฟ้าระบบไอน้ำใช้ถ่านหิน
ไม้ฟืนและแกลบเป็นเชื้อเพลิง)
จากความคิดดังกล่าวจึงได้มีการแต่งตั้ง คณะกรรมการไฟฟ้ากำลังน้ำ ขึ้นในปี
2481 รัฐบาลได้ชักชวนบริษัทนานาชาติให้มาทำการศึกษา และสำรวจโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่กาญจนบุรีแต่ไม่ทันที่จะดำเนินการต่อจนแล้วเสร็จก็เกิดสงครามโลกครั้งที่
2
ทุกอย่างผันผวนและเปลี่ยนไป แม้แต่ชื่อของประเทศก็เปลี่ยนจากสยามเป็นไทย
ชื่อบริษัทไฟฟ้าสยามจึงเปลี่ยนตามเป็นไฟฟ้าไทยคอร์เปอเรชั่น (THAI ELECTRIC
CORPORATION LIMITED) ได้ดำเนินกิจการเรื่อยมาจนหมดอายุสัมปทาน จึงโอนมาเป็นของรัฐบาลเมื่อวันที่
1 มกราคม 2493 โดยอยู่ในความควบคุมของการไฟฟ้ากรุงเทพ
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบ สถานการณ์เศรษฐกิจย่ำแย่รัฐบาลไม่สามารถจัดให้บริการไฟฟ้าแก่ประชาชนตามความต้องการ
จึงเปิดโอกาสให้เอกชนมารับสัมปทานมากขึ้น แต่ราคาไฟฟ้าก็แพงเหลือหลาย
จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นจึงได้สั่งให้สำรวจโครงการแก่งเรียง
แม่น้ำแควใหญ่ และขอความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาในการจัดทำแผนและระบบไฟฟ้าในประเทศไทยขึ้น
พร้อมทั้งรื้อฟื้นโครงการสำรวจถ่านหินลิกไนต์ในเวลาต่อมา และจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าทั่วราชอาณาจักร
ขึ้นแทนคณะกรรมการไฟฟ้ากำลังน้ำ ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการไฟฟ้าและพลังงานแห่งประเทศไทย
และแร่งทำโครงการยันฮีที่แม่ปิง
พ.ศ. 2497 เค้าลางของการผูกกิจการไฟฟ้าโดยรัฐบาลเริ่มก่อตัวขึ้น มีการจัดตั้งองค์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อรับซื้อกิจการไฟฟ้าจากเอกชนที่ได้รับสัมปทาน
เวลาผ่านไปไม่นานรัฐบาลได้เสนอโครงการยันฮี (เขื่อนภูมิพล) เพื่อขอกู้เงินธนาคารโลก
66 ล้านเหรียญสหรัฐ
อีก 3 ปีให้หลัง รัฐบาลตรา พ.ร.บ. จัดตั้ง การไฟฟ้ายันฮีรับผิดชอบภาคเหนือ
ภาคกลาง รวม 36 จังหวัด จากนั้นก็ประกาศใช้ พ.ร.บ. อีก 2 ฉบับ คือการไฟฟ้านครหลวง
รวมกิจการไฟฟ้ากรุงเทพกับกองไฟฟ้าหลวงสามเสนเข้าไปด้วย ตามด้วย พร.บ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
แทน องค์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
พ.ร.บ. การไฟฟ้ายังมีตามมาอีก ในปี 2505 การไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
รับผิดชอบไฟฟ้าภาคอีสาน ในขณะนั้นมีการให้สัมปทานแก่เอกชนถึง 50 แห่ง อนุญาตชั่วคราว
157 แห่ง
โรงไฟฟ้ามีมากมายในยุคนั้นล้วนมีประสิทธิภาพการผลิตต่ำ ถือเป็นปฏิภาคผกผันกับความต้องการไฟฟ้า
โดยเฉพาะเมื่อเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ทำให้เกิดโรงงาน
โรงมหรสพ โรงแรมต่าง ๆ รวมทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่เคยมีใช้ในประเทศก็ทะลักเข้ามามากมายอาทิ
วิทยุ โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
เมื่อมาถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 2 กิจการไฟฟ้าได้ถูกรัฐบาลผูกขาดเต็มรูปแบบโดยรวมการไฟฟ้ายันฮี
การลิกไนต์ และการไฟฟ้าตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกัน เป็น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
(กฟผ.) ด้วยเหตุผลที่ว่า สามารถนำกำลังการผลิต กำลังส่ง กำลังคน ความรู้
เครื่องมือ มารวมกัน เพื่อผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งประสานงานในด้านเป้าหมายนโยบาย
ปฏิบัติการ ได้ง่ายและประหยัด โดยให้หน้าที่การผลิต จัดหาไฟฟ้าทั้งหมดตกแก่
กฟผ. เพื่อจัดส่งและจำหน่ายให้ลูกค้าอุตสาหกรรมรายใหญ่และการไฟฟ้านครหลวง
ภูมิภาครวมทั้งประเทศข้างเคียง
มาถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 รัฐวิสาหกิจหลายแห่งประสบการขาดทุน ฐานะการคลังของรัฐบาลย่ำแย่
สถาบันการเงินทยอยกันล้ม จนรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ ประกาศนโยบายแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
แต่ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวผลักดันอย่างจริงจังเพราะสิ่งที่ประกาศออกมาเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
หรือการป้องกันอุบัติเหตุทางการเมืองเท่านั้น
จนมาถึงยุคปัจจุบัน รัฐบาลไม่สามารถแบกรับภาระเงินกู้ต่างประเทศได้แล้ว
จึงต้องปล่อยให้มีการแปลงรูปทุนที่จะนำมาใช้ในโครงการรัฐวิสาหกิจ แต่ยังไม่มีการแปลงอำนาจการจัดการองค์กรแห่งนั้นๆ
ให้หลุดพ้นมือรัฐบาล
พิพัฒน์ ไทยอารี ผู้อำนวยการสถานศึกษา และวิจัยรัฐวิสาหกิจจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ให้ความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นวัฏจักรอย่างหนึ่งของรัฐวิสาหกิจ เมื่อมีอุตสาหกรรมใหญ่เกิดขึ้นอันเกี่ยวเนื่องกับความเป็นอยู่
และการกระจายความเสมอภาคของประชาชนพร้อมทั้งอุตสาหกรรมนั้นก็สามารถทำกำไรงาม
รัฐมีเงินทุนมากพอก็จะเข้ามาอาสาจัดการ ซึ่งถึงจุดหนึ่งที่เงินทุนของรัฐไม่สามารถรองรับความต้องการได้
รัฐก็ต้องปล่อยมือให้เอกชน
และถึงจุดหนึ่งที่รัฐมีเงินมากพอ วัฏจักรการซื้อคืนหรือผูกขาดก็จะกลับมาอีก
แม้ว่าบรรยากาศทั่วโลกขณะนี้กำลังเรียกร้องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็ตาม แต่ในอีกระยะเวลาหนึ่งอาจจะไม่เกิน
15 ปี คงได้เห็นรัฐซื้อสาธารณูปโภคกลับเข้ามาบริหารเอง และปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นที่ประเทศยุโรปก่อนซีกโลกอื่นใด