"เมืองท่าของจีนทั้ง 14 แห่ง"


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

เทียนจิน- อยู่ห่างจากปักกิ่ง 140 กิโลเมตร ท่าเรือ "ทังจู" ที่นี่เป็นหนึ่งในท่าเรือที่สำคัญที่สุดของจีน เป็นเขตที่มีการสื่อสารดี และยังมีทางรถไฟเชื่อมกับปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ด้วย

เซี่ยงไฮ้- เป็นเมืองท่าที่ใหญ่ที่สุดของจีน ก่อนหน้านี้เซี่ยงไฮ้ยังล้าหลังเซินเจิ้นอยู่มาก แต่ปัจจุบันเซี่ยงไฮ้พัฒนาขึ้นมากทั้งด้านอุตสาหกรรมเคมีและการพาณิชย์ เมืองสำคัญในเขตนี้คือ "ปูดอง" ซึ่งทางรัฐบาลมีแผนให้งบในการพัฒนาถึง 10 พันล้านดอลลาร์

กวงจู- เป็นเมืองหลวงของมณฑลกว้างตุ้ง ซึ่งเป็นเขตที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในเอเชีย จากที่ตั้งอยู่ตรงข้ามเกาะฮ่องกงประกอบกับเศรษฐกิจที่ได้รับการพัฒนามาอย่างดี ทำให้กวงจูเป็นแหล่งดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ ท่าเรือที่นี่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศ และเมื่อซูเปอร์ไฮเวย์ของโฮปเวลล์สร้างเสร็จ การติดต่อทางรถยนต์ระหว่างกวงจูกับศูนย์กลางเศรษฐกิจของมาเก๊า, จูไฮ่, เซินเจิ้น และฮ่องกงจะใช้เวลาเพียงชั่วโมงเดียวเท่านั้น

ต้าเหลียน- เป็นเมืองท่าที่ใหญ่เป็นอันดับสองของจีน และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว, สร้างเรือและศูนย์กลางแฟชั่นด้วย ต้าเหลียนมีเขตพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ECONOMIC AND TECHNOLOGY DEVELOPMENT ZONE) หรืออีทีดีแซทเป็นตัวดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และยังเป็นเขตปลอดภาษีอีกด้วย นักลงทุนจากญี่ปุ่นสนใจต้าเหลียนมากเป็นพิเศษ และได้เข้ามาลงทุนหลายโครงการแล้ว

ฉินฮวงต้า- มีท่าเรือที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ มีทางรถไฟเชื่อมกับปักกิ่งและเซินเจิ้น เมืองนี้ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่กำแพงเมืองจีนไปบรรจบกับทะเล จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง

ยังไฉ- ตั้งอยู่ตอนปลายของแหลมเจียวดอง จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม และมีทางรถไฟที่เชื่อมกับทางรถไฟหลัก ๆ ของประเทศด้วย ถือเป็นเขตที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจมากอีกแห่งหนึ่ง

ชิงเต้า- ชิงเต้าสามารถติดต่อกับฮ่องกงได้โดยเครื่องบิน และมีทางรถไฟเชื่อมเมืองนี้กับปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ และท่าเรือชั้นดีอีกหลายแห่ง แม้เขตอีทีดีแซทจะยังไม่เด่นนักแต่ก็มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอยู่

เหลียนยันกัง- เป็นจุดสุดสายของทางรถไฟที่เชื่อมภาคตะวันออกกับตะวันตก จึงเป็นท่าเรือใหญ่ที่สำหรับผลิตภัณฑ์ถ่านหินที่ส่งมาจากภาคกลางและภาคตะวันตกของประเทศ

นานตง- ที่ท่าเรือที่ทันสมัยและสนามบินอีกแห่งหนึ่ง และยังมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าและโรงงานผลิตเหล็กกล้าด้วย

ฟูจู- เป็นเมืองท่าที่ค้าขายกันอย่างคึกคักมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 และแม้ที่ตั้งที่อยู่ตรงข้ามกับเกาะไต้หวันจะทำให้เกิดปัญหาหลายประการ แต่ฟูจูก็มีท่าเรือและสนามบินที่ดีและเป็นเขตที่คาดว่าจะมีการลงทุนอย่างหนาแน่นในอนาคตอันใกล้

เหวินจู- แม้โครงสร้างพื้นฐานในเหวินจูจะยังไม่พัฒนานัก แต่เหวินจูก็เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมได้เพราะพลวัตรของประชากร สถาบันการเงินที่เข้าไปตั้งในเขตนี้ทำให้เมืองนี้เป็นที่สนใจของอุตสาหกรรมต่าง ๆ

จานจิง- เป็นเมืองท่าที่ค่อนข้างเงียบกว่าเมืองท่าอื่น ๆ แต่มีแววว่าเศรษฐกิจจะกระเตื้องขึ้นกว่านี้เพราะอยู่ติดกับไฮ่หนาน มีถนนเชื่อมกับกวงจูและมีระบบโทรศัพท์ IDD ด้วย

ไบไฮ้- เมืองท่าที่อยู่ติดกับเวียดนามนี้ถูกเลือกให้เป็น "เมืองพิเศษ" เพื่อดึงดูดการลงทุน และคาดว่าไปไฮ้จะสามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการเกษตรได้เป็นอย่างดี



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.