"เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 5 ของจีน"


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

เซินเจิ้น

ตั้งอยู่ตรงข้ามกับเกาะฮ่องกง และเป็นเขตเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุด อุตสาหกรรมที่สำคัญในเขตนี้คือสิ่งทออิเล็กทรอนิกส์, ของเล่นและเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่ความรุ่งเรืองของอุตสาหกรรมเหล่านี้อิงอยู่กับการลงทุนจากฮ่องกงเป็นสำคัญ

ฉะนั้น นักวิเคราะห์ของจีนหลายคนจึงมองว่า เซินเจิ้นล้มเหลวในแง่ของการดึงดูดนักลงทุนจากประเทศที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างยุโรป, ญี่ปุ่นและอเมริกา

รายได้ของประชากรต่อหัวในเซินเจิ้นสูงที่สุดในประเทศคือ 2,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อปีที่ผ่านมาผลผลิตทางด้านอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 35.2% ในจำนวนนี้ 70% เป็นสินค้าส่งออก

ปลายปี 1991 มีการลงทุนของบริษัทต่างชาติในเซินเจิ้นเป็นมูลค่า 4,650 ล้านดอลลาร์ และโครงการที่เข้ามาลงทุนโดยตรงจำนวน 4,555 โครงการนั้น 2 ใน 3 เป็นธุรกิจจากฮ่องกง

ซุไฮ่

ซูไห่อยู่ตรงข้ามกับมาเก๊า และมีแผนจะพัฒนาตัวเองให้เท่าเทียมกับเซินเจิ้น เมื่อต้นปีนี้ซูไฮ่ก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการขยายพื้นที่ออกไปรอบ ๆ มาเก๊า เพื่อเป็นที่ตั้งของท่าเรือแห่งใหม่, โรงงานไฟฟ้าและเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

เมื่อโครงการซูเปอร์ไฮเวย์ของโฮปเวลล์เสร็จสิ้นลง ซูไห่จะสามารถติดต่อกับกวางจูได้โดยสะดวก สำหรับการลงทุนในเขตนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเโรงงานประกอบชิ้นส่วนเครื่องใช้อิเล็คทรอนิกส์และอาหารสำเร็จรูป

ซานตู

ซานตูเป็นเขตเศรษฐกิจที่ดึงดูดนักธุรกิจชาวจีนที่อยู่ในเอเชียมากเป็นพิเศษเพราะค่าเช่าโรงงานที่ต่ำกว่าเซินเจิ้น และยังมีแรงงานราคาต่ำกว่าด้วย จึงนับว่าประสบความสำเร็จพอสมควรแม้ว่าการติดต่อสื่อสารในเขตนี้จะยังไม่ดีนักและมีปัญหาขาดแคลนพลังงานด้วย

แม้จะมีการแก้ปัญหาด้านพลังงานด้วยการตั้งโรงงานไฟฟ้าใหม่อีก 2 แห่งในเขตนี้ แต่โครงสร้างพื้นฐานก็ยังไม่พัฒนา ฉะนั้น การเข้ามาลงทุนอย่างหนาแน่นของบริษัทต่างชาติอาจมีปัญหาในระยะใกล้นี้ก็ได้

เซียะเหมิน

ตั้งอยู่ตรงข้ามเกาะไต้หวัน ฉะนั้นจึงตกอยู่ในความขัดแย้งระหว่างจีนสองฝ่ายอยู่บ่อยครั้ง แต่เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และไต้หวันเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี เซียะเหมินก็ได้รับผลกระทบด้วย กองกำลังทหารถูกแทนที่ด้วยนักธุรกิจไต้หวันแล้วในปัจจุบัน

อุตสาหกรรมในเขตนี้มีอยู่หลายประเภท ทั้งศิลปะและงานฝีมือ, อุตสาหกรรมเคมี, และการท่องเที่ยวแต่เซียะเหมินคล้ายกับซานตูอยู่อย่างหนึ่งคือโครงสร้างพื้นฐานยังไม่พัฒนา จึงเป็นอุปสรรคในการพัฒนาการท่องเที่ยวนอกจากนั้น เซียะเหมินยังเป็นรองเซินเจิ้นในด้านการลงทุน แต่ก็ยังมีแววที่จะมีศักยภาพที่ดีหากพัฒนาการสื่อสารขึ้นได้

ไห่หนาน

ประเมินจากขนาดแล้ว ไห่หนานมีพื้นที่มากที่สุดในจำนวนเขตเศรษฐกิจทั้ง 5 แห่ง และยังเป็นเขตเศรษฐกิจเขตเดียวที่มีทรัพยากรเป็นของตนเองเช่น ยาง, ผลไม้, เครื่องเทศ, ชา และกาแฟ

แม้ว่าเกาะแห่งนี้จะยังด้อยพัฒนาและเป็นเขตเกษตรกรรม ไห่หนานก็เติบโตขึ้นมากแล้วหลังจากที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษในปี 1988

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กลุ่มบริษัทของญี่ปุนได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้เข้ามาพัฒนาเขตส่งออกเสรีในหยางปูซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของไห่หนาน กลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีแผนที่จะลงทุนกว่า 2,300 ล้านดอลลาร์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งท่าเรือและโรงไฟฟ้าด้วย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.