"จากเถ้าแก่โรงสี พ่อค้าส่งออกมันข้าว และข้าวโพด จนมียอดขายกว่า 7
พันล้านบาท แต่ต้องฝากอนาคตไว้กับการค้าพืชเกษตรในตลาดโลก ที่มีราคาผันผวนด้วยสัญชาติญาณของพ่อค้าจึงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด
และเติบโตต่อไปโดยเข้าสู่อุตสาหกรรมเกษตรอย่างหนักหน่วงและจริงจังจึงเกิดขึ้น"
"อนาคตเราคงจะมุ่งไปในสิ่งที่เราถนัด และขยายไปในสิ่งที่เรารู้"
ไพศาล วนิชจักร์วงศ์ ประธานกรรมการเครือบริษัทเอส ที ซี กล่าวทิ้งท้ายหลังจากการให้สัมภาษณ์กับ
"ผู้จัดการ"
แต่ความหมายนั้นไม่ใช่เป็นการสิ้นสุดเหมือนกับคำพูดประโยคสุดท้ายแต่อย่างใด
ทว่ากำลังจะเป็นก้าวย่างของยุทธศาสตร์การลงทุน และปรัชญาการบริหารของกลุ่มบริษัท
เอส ที ซี (STC GROUP) ที่เข้มข้นขึ้นจากช่วงนี้ไป
เอส ที ซีเป็นกลุ่มบริษัทที่วงการแบงก์เกอร์ที่ตลาดเงินในกรุงเทพยอมรับว่า
เป็นกลุ่มธุรกิจที่เติบโตรวดเร็วมาก
เพราะตลอดระยะเวลาช่วง 4 ปีที่ผ่านมา กลุ่มเอส ที ซีได้ลงทุนสู่อุตสาหกรรมเกษตรหลายโครงการอย่างต่อเนื่องรวมกันประมาณ
2800 ล้านบาท
โดยเริ่มจากอุตสาหกรรมผลิตอาหารกุ้ง ในปี 2531 และนำผลผลิตกุ้งจากฟาร์มที่ลงทุนด้วยขนาด
1000 ไร่ในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกันป้อนเข้าโรงงานกุ้งสำเร็จรูป ทำเป็นธุรกิจครบวงจร
"การลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรจำเป็นต้องทำแบบครบวงจร เพื่อความแน่นอนในวัตถุดิบ
และมูลค่าเพิ่ม" วรพงศ์ พิชญ์พงศ์ศา รองประธานกลุ่มเอสทีซีกล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ถึงยุทธศาสตร์การลงทุนอุตสาหกรรมเกษตร
ผลจากการลงทุนอย่างต่อเนื่องทำให้รายได้จากการลงทุนอุตสาหกรรมกุ้งครบวงจรช่วง
4 ปีที่ผ่านมา เริ่มออกดอกออกผลบ้างแล้วในเวลานี้ "จากยอดขาย 1.6% ของยอดขายรวมทั้งกลุ่มในปี
2532 เพิ่มเป็น 10.4% ในปี 2534" รายงานผลประกอบการของกลุ่มเอส ที ซี
ปี 2534 เปิดเผย
การเข้าลงทุนอุตสาหกรรมเกษตร เป็นแนวโน้มใหม่ของธุรกิจค้าพืชไร่ที่กำลังปรับตัวหนีห่างจากความผันผวนของราคาในตลาดโลกที่อยู่เหนือการควบคุม
"มันเสี่ยงเกินไปที่จะยืนอยู่ที่การค้าพืชไร่อย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน"
วรพงศ์กล่าว
กลุ่มบริษัท เอส ที ซี ก้าวเข้าสู่ธุรกิจเริ่มแรกจากการค้ามันสำปะหลัง
ในนามของบริษัท แสงไทยบางปะกง จำกัด ในปี 2517
จากการที่ผู้บริหารเล็งเห็นถึงความสำคัญของพืชเศรษฐกิจว่าจะมีอนาคตไกล
จึงได้ร่วมกันนำประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับจากการทำธุรกิจพืชไร่ในอดีตที่สะสมมากกว่า
40 ปีก้าวเข้าสู่ธุรกิจส่งออกพืชเกษตร
"พวกเราถือว่ามาจากพ่อค้าท้องถิ่น และการก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจส่งออกเป็นสิ่งที่ท้าทายเรามาก"
ในความหมายนั้น "พวกเรา" คือเพื่อนสนิทคนหนึ่ง "วรพงศ์ พิชญ์พงศา"
รองประธานกรรมการ เครือบริษัท เอสทีซีในปัจจุบันนั้นเอง
ทั้ง 2 คนเป็นเถ้าแก่ท้องถิ่นทำโรงสีและค้าข้าวในภาคตะวันออก ไพศาลมีโรงสีชื่อ
"แสงไทย" อยู่ที่บางปะกง ในฉะเชิงเทรา ส่วนวรพงศ์ มีโรงสีชื่อ
"บุญเจริญ" อยู่บางบ่อ สมุทรปราการ ด้วยต้นตระกูลของทั้ง 2 นั้นมีความสัมพันธ์กันตั้งแต่รุ่นพ่อที่เป็นเพื่อนสนิทกันมาก่อนแล้ว
ในสมัยเริ่มบุกเบิกโรงสีใหม่ ๆ
ไพศาล เป็นคนที่มีมนุษย์สัมพันธ์ดีจึงมีเพื่อนฝูงมากมาย วรพงศ์ ก็เป็นเพื่อนสนิทคนหนึ่งของไพศาลในฐานะรุ่นน้องและมีฐานะเป็นน้องเขย
เนื่องจากไพศาล ได้แต่งงานกับน้องสาวของวรพงศ์
การทำโรงสีและค้าข้าวในท้องถิ่นตั้งแต่วันหนุ่ม ได้สั่งสมประสบการณ์จนเติบโตมาได้ระยะหนึ่ง
จึงได้คิดร่วมกันค้ามันสำปะหลังเพราะโอกาสตลาดเปิดให้ทั้ง 2 หันเหเข้าสู่วงการส่งออกมัน
ไพศาลเริ่มเข้าสู่ธุรกิจมันสำปะหลังขั้นแรกโดยจัดสร้างโกดังขึ้นที่บางปะกง
มีการแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของโกดังสำหรับให้เช่าเก็บมันสำปะหลังขณะนั้นมันสำปะหลังกำลังเป็นพืชเศรษฐกิจส่งออกที่กำลังรุ่งเรืองมาก
มีผู้ค้าจากต่างประเทศเข้ามาติดต่อค้ากับพ่อค้าไทยมากมาย
ด้วยความเป็นพ่อค้าทำให้มุ่งแสวงหากำไรทุกกิจการที่ตนมองเห็นลู่ทาง จึงได้หันมารับซื้อมันสำปะหลังเพื่อส่งออกด้วยตัวเอง
โดยมีโกดัง โรงงาน และไซโลที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพตามแหล่งรับซื้อที่สำคัญ
และอยู่ในทำเลที่เหมาะสมกับการลำเลียงสินค้า เพื่อส่งออกตั้งแต่โคราชบางไทร
(อยุธยา) บางปะกงและพระประแดง
"เรามองดูแล้วเห็นว่าทำมันส่งออกนั้นก็เข้าที ทางฝรั่งที่เขาเช่าโกดังเราคือ
บริษัท โครนส์ ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าค้ามันรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในขณะนั้น
โครนส์ให้การสนับสนุนและหาตลาดให้ เรื่องต่างประเทศขณะนั้นต้องยอมรับว่าเราไม่รู้อะไรเลย
เมื่อโครนส์มีข้อเสนอที่ดี รับผิดชอบเรื่องต่างประเทศไปทั้งหมด เพียงเรามีโกดังเก็บมันและมีการจัดซื้อจากแหล่งในประเทศ
พร้อมกับสามารถส่งมอบให้ได้เท่านั้นก็พอ" ไพศาลกล่าวถึงการเริ่มต้นค้ามันสำปะหลังส่งออกในระยะแรก
ก้าวแรกเป็นที่สงสัยกันมากว่าทำไมกลุ่มนี้ถึงไม่ส่งออกข้าวในเมื่อข้าว
คือธุรกิจที่ตัวเองถนัดและเริ่มต้นค้ามาก่อน ไพศาลได้เล่าให้ฟังว่าตลาดข้าวในต่างประเทศนั้น
ยังมองไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร ไม่รู้ว่าลูกค้าจะได้มาอย่างไร การสต็อกสินค้าทำกันอย่างไร
มืดแปดด้านจริง ๆ
แต่ทางด้านการค้ามันสำปะหลังมีผู้ที่เข้ามาช่วยเหลือทำตลาดต่างประเทศให้อยู่แล้ว
หากว่าจะส่งออกข้าวนั้นคงต้องมาศึกษาตลาดเองใหม่ทั้งหมด เพราะยังไม่เคยติดต่อกับพ่อค้าที่ไหนมาก่อนเลย
แสงไทยบางปะกง จึงถือกำเนิดมาเป็นบริษัทเริ่มแรกของการทำธุรกิจในกลุ่มเอส
ที ซี ในอดีตเพื่อรับซื้อมันเส้น มันอัดเม็ด ส่งออกโดยขายผ่านบริษัทโครนส์
การค้ามันฯ ในยุคเริ่มต้น ไพศาลและวรพงศ์ ทั้ง 2 คนยังไม่ได้ลงไปบริหารเองอย่างจริงจังเพราะมีโรงสีที่ต้องดูแลอยู่วรพงศ์มอบให้
สุรศักดิ์ ซึ่งเป็นญาติมาดูแลรับผิดชอบ ส่วนไพศาล ให้น้องชายคือวิเชียร มาเป็นผู้ดูแล
แต่ไพศาล และวรพงศ์ คือผู้ถือหุ้นใหญ่ของแสงไทยบางปะกง
กิจการค้ามันสำปะหลังดำเนินการไปด้วยดี ด้วยทำเลที่เหมาะสมของโกดังเก็บมัน
บนเนื้อที่เกือบ 20 ไรที่อยู่ริมแม่น้ำใช้สำหรับเป็นท่าเรือไปในตัว กอปรกับมันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่กำลังเป็นที่ต้องการของผู้ซื้อในยุโรป
เมื่อตลาดมันฯ มีอนาคตที่ดี ในขณะที่แสงไทยบางปะกงเป็นเพียงบริษัทรับซื้ออย่างเดียว
การเกิดของบริษัท แคซซาวา อินดันเตรียล ซึ่งเป็นโรงงานผลิตมันอัดเม็ด (มีอุปกรณ์เครื่องจักรที่ทันสมัยที่สุดโรงงานหนึ่ง)
จึงเกิดขึ้นมารองรับ และเป็นช่องเดียวกันที่ทาง ไพศาล และวรพงศ์ ได้กระโดดลงมาบริหารเองอย่างเต็มตัว
การค้ามันฯ ในช่วงนั้น โคราช คือแหล่งที่ผลิตและค้าขายมันฯ ได้คุณภาพมากที่สุด
ถือได้ว่าเป็นสถานที่ปล่อยสินค้ามาตรฐานสำหรับส่งออกเลยทีเดียว โดยอาศัยท่าเรือน้ำลึกที่สัตหีบเป็นท่าเทียบเรือใหญ่
ทางแสงไทยบางปะกง จึงได้ขยับขยายฐานไปตั้งโรงงานที่โคราชส่วนหนึ่ง
มันฯ ชนิดต่างๆ จากโคราชจะขนใส่รถบรรทุกมาลงเรือใหญ่ที่สัตหีบ โคราชจะเป็นแหล่งรับซื้อเป็นโรงงานผลิตและเป็นจุดรวบรวมขนสินค้า
"เราเข้าไปลงทุนทำโรงงานมันเม็ดแห่งหนึ่งคือเซ็นทรัลเกรนจนกิจการค้ามันได้เติบโตขยายตัวออกไป
ตั้งแต่ปี 2520 เป็นต้นมา ซึ่งกลุ่มแสงไทยบางปะกงถือว่ามีชื่อเสียงมากในขณะนั้น"
ไพศาลอธิบายถึงจุดเติบโตของการค้ามันสำปะหลังส่งออก
นับเป็นก้าวแรกของ เอส ที ซี สำหรับการค้ามันสำปะหลังก่อนที่จะก้าวย่างแตกตัวมาสู่ธุรกิจส่งออกพืชเกษตรชนิดอื่น
เช่นข้าวและข้าวโพด
เมื่อไพศาลและวรพงศ์มีประสบการณ์ในการติดต่อการค้ากับต่างประเทศมาพอสมควร
จึงทำให้เกิดแนวความคิดที่จะหันมาส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นอีกธุรกิจหนึ่ง
เพราะจากพื้นฐานการค้าเดิมอยู่กับการค้าข้าว จนกระทั่วเติบโต กระจายครอบคลุมไปในหลายพื้นที่ของภาคต่าง
ๆ และขยายไปทั่วประเทศ ด้วยข้าวคือพืชเกษตรหลัก และเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ
อีกทั้งผู้บริหารเองมีโรงสีข้าวและค้าข้าวอยู่แล้วจึงตัดสินใจเข้าสู่วงการค้าข้าวส่งออกโดยไม่ลังเล
"วรพงศ์" ผู้กุมบังเหียนของการค้าข้าวในกลุ่มเอส ทีซี เล่าถึงจุดเปลี่ยนแปลงการค้าข้าวในประเทศหันมาทำเพื่อส่งออกว่า
"บริษัทมีความคิดที่ว่าในเมื่อเรื่องการส่งออกมันสำปะหลังสามารถทำได้
แล้วเรื่องข้าวเราเป็นผู้ค้าในประเทศรายใหญ่เราค้าข้าวจนรู้ตลาดภายใน น่าที่จะเปิดช่องทางส่งออกข้าวดูบ้างจะเป็นไรไป"
ปี 2520 เอส ที ซี จึงหันมาส่งออกข้าว โดยจัดตั้งบริษัท นครหลวงค้าข้าว
จำกัด ขึ้นมาดำเนินธุรกิจค้าและส่งออกข้าวไปต่างประเทศซึ่งนครหลวงค้าข้าวเป็นบริษัทที่กำเนิดมาเป็นลำดับที่
3 ของกลุ่ม หลังจากตั้ง แสงไทยบางปะกง และแคซซาวา อินดัสเตรียล ในการค้าส่งออกมันมาก่อนหน้านี้
การรวมตัวของการค้าข้าวในสมัยนั้น ใช้วิธีและหลักการเดียวกันกับการถือหุ้นของกลุ่มบริษัทค้ามันสำปะหลัง
ไพศาลผู้วางแนวนโยบาย และการบริหารบริษัทสำหรับการถือหุ้นของบริษัทในกลุ่มได้ตกลงกันว่าจะกัน
10% ของสัดส่วนการถือหุ้นไว้ให้กับผู้ที่เป็นมืออาชีพ ที่จะเข้ามาร่วมลงทุนเพื่อให้มีความรู้สึกในการเป็นเจ้าของบริษัทด้วยและอีก
90% จะเป็นของกลุ่ม
อย่างในกลุ่มของการค้ามันฯ เช่นแสงไทยบางปะกง ก็มีโครนส์ถือหุ้น 10% ในโรงงานมันอัดเม็ดหรือมันเส้น
คือ แคซซาวา อินดัสเตรียล ก็มีวิมล พิทยานุคุณ เป็นคนดูแลเรื่องโรงงาน หรือในนครหลวงค้าข้าวก็มี
นที ศิระวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญมีประสบการณ์จากบริษัทแสงทองค้าข้าว ดูแลทางด้านการค้าระหว่างประเทศ
การเข้ามาในตลาดข้าวส่งออกของกลุ่มเอส ที ซี ในช่วงเริ่มต้น ไม่ได้ราบเรียบอย่างที่คิด
หนึ่งปีให้หลังคือในปี 2521 ต่อเนื่องถึง 2522 เริ่มมีอุปสรรค จากระบบค้าข้าวส่งออกกล่าวในห้วงเวลานั้น
สมาคมพ่อค้าข้าวส่งออกได้รวมหัวกันเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ ให้นโยบายให้พ่อค้าข้าวรวมตัวกันค้าข้าวส่งออกเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองกับคู่ค้า
พ่อค้าข้าวที่เห็นชอบกับนโยบายนี้ ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าข้าวส่งออกที่ทำการค้ามานาน
พ่อค้าข้าวรายใหญ่ที่เก่าแก่ในเวลานั้นประกอบด้วย บริษัท ฮ่วยชวน ป้วยเฮงล้ง
แสงทองค้าข้าว ธนาพรชัย และข้าวไชยพร ขณะที่รายใหม่ถูกกีดกัน
"โควต้าเขาแบ่งกันเฉพาะในหมู่พรรคพวก หน้าใหม่ไม่มีสิทธิ์ได้"
วรพงศ์ย้อนอดีตอันขมขื่นให้ฟัง
แต่ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ดีขึ้นเมื่อระบบการรวมกลุ่มข้าวส่งออกพังทะลายลงในปี
2523 เปิดโอกาสให้พ่อค้าข้าวหน้าใหม่อย่างนครหลวงเข้าแข่งขันในตลาดโลกได้เสรีมากขึ้นไม่ต้องหวั่นเกรงการถูกกีดกันจากพ่อค้าข้าวยักษ์ใหญ่อีกต่อไป
การค้าข้าวส่งออกนั้นกลายเป็นธุรกิจที่เด่นมากของกลุ่ม เอส ที ซี ในสมัยปี
2525 เป็นต้นมา หลังจากดำเนินธุรกิจมาได้ 5 ปีกว่า ค่อย ๆ ไต่ลำดับมาเป็นผู้ส่งข้าวออกสูงสุด
จนช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่านครหลวงค้าข้าว เป็นผู้ค้าที่รุกตลาดรุนแรงมาก
โดยการเข้าตลาดค้าแบบโฮลเซลส์ล็อตใหญ่ ๆ ในอัฟริกาตะวันตก เปิดโกดังและสำนักงานค้าขึ้นที่เมืองท่า
ในขณะที่ผู้ค้ารายอื่น ๆ ในวงการยังไม่กล้าที่จะค้าเช่นนั้นเลย "เราค้าข้าวคุณภาพต่ำ
โดยผ่านโบรคเกอร์ของสวิสและฝรั่งเศส" นทีเล่าให้ฟังถึงการเข้าตลาดอัฟริกาแรก
ๆ
แม้นครหลวงค้าข้าวจะทำตลาดเชิงรุกในอัฟริกา แต่ก็เป็นอย่างระมัดระวังเรื่องหนี้สูญ
เพราะขณะนั้นประเทศในกลุ่มอัฟริกาตะวันตกมีฐานะการเงินไม่ดีทำให้ต้องค้าผ่านโบรคเกอร์อย่างบริษัทพาราจี้
หรือบริษัทซุคเค้น ของฝรั่งเศล
การขายผ่านโบรคเกอร์ ก็ต้องยอมรับกำไรที่ต้องหดลงไปเพราะว่าบางประเทศเขามีความเคยชิน
และความใกล้ชิดมากกว่าพ่อค้าไทย จำต้องขายผ่านโบรคเกอร์พวกนั้น เปรียบเสมือนว่าเขาเป็นเซลส์แมนใหญ่
ที่จะเข้ามาดูแลการตลาดให้ จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกัน" นทีเล่าให้ฟังถึงการลดความเสี่ยงในการค้าลง
การค้าข้าวในยุคนั้นมีทั้งค้ากับรัฐบาลของประเทศคู่ค้าและค้ากับพ่อค้าเอกชนในประเทศต่าง
ๆ อย่างการขายให้กับประเทศในตะวันออกกลาง เช่น อิหร่าน ซึ่งทำต่อเนื่องมานานพอสมควรหรือการค้ากับอิรักเป็นการค้าแบบร่วมกลุ่มกันขายเป็นเงินเชื่อ
แต่การค้าข้าวส่วนใหญ่ในตลาดเอเชียจะไม่เน้นมากนักเพราะเป็นตลาดของพ่อค้าข้าวหน้าเก่า
รายใหญ่ เช่นตลาดฮ่องกงที่มีผู้สนใจค้ากันมาก เป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันสูงและค่อนข้างที่จะผูกพันธ์กับผู้ซื้อรายเก่ามากกว่า
และอีกประการหนึ่งตลาดฮ่องกง จะเป็นการซื้อขายในลักษณะตั๋ว "ดีพี"
ซึ่งหมายถึง เป็นการตกลงสัญญาซื้อขายระหว่างบริษัทต่อบริษัท ไม่มีการค้ำประกันผ่านธนาคาร
ต่างจากการใช้ L/C ดังนั้นคนที่จะค้าข้าวในตลาดฮ่องกงได้ต้องรู้จักและคุ้นเคยกับคู่ค้าดีมาก
ๆ
"พ่อค้าข้าวฮ่องกงไม่ค่อยให้ความเป็นธรรมแก่พ่อค้าส่งออกเท่าไรนัก
คือราคาข้าวในประเทศลดลง ผู้ซื้อก็จะขอปรับราคาลงมา แต่เมื่อใดที่ราคาข้าวในประเทศขยับขึ้นไป
ผู้ส่งออกจะขอขึ้นราคาบ้างเขาก็ไม่ยอม" วรพงศ์เล่าให้ฟังถึงความ "หิน"
ในการเจาะตลาดฮ่องกง
ซึ่งต่างกับการค้ามันสำปะหลังที่ค้ากับประเทศในยุโรปมีการเปิด L/C ผ่านธนาคารทำเป็นระบบมีการเปลี่ยนแปลงน้อย
การทำตลาดเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ทำให้นครหลวงค้าข้าวมีลูกค้ารายใหญ่ ๆ
ที่เกิดขึ้นจากการทำตลาดโดยตรงในตะวันออกกลาง แอฟริกา และผ่านโบรคเกอร์ในยุโรป
มีการค้าข้าวในหลาย ๆ ชนิด อย่างข้าวนึ่ง ปลายข้าว ข้าวเปอร์เซ็นต์ จะเปิด
L/C ค้ากันเป็นส่วนใหญ่
"นที" ผู้เป็นกุนซือในการติดต่อค้าข้าวกับต่างประเทศ ซึ่งถูกซื้อตัวมาจากแสงทองค้าข้าว
ของกลุ่มอัศวิจิตร เพื่อมารับผิดชอบในการค้ากับต่างประเทศ ในช่วงที่การส่งออกของนครหลวงค้าข้าวสูงขึ้น
และสัมผัสอยู่กับวงการค้าข้าวส่งออกที่รู้จักตลาดข้าวของโลกดีคนหนึ่งในเมืองไทย
นที เล่าว่า เดิมทางนครหลวงค้าข้าวนั้น เน้นอยู่ที่การค้าข้าวเป็นแบบเทกอง
และเป็นกระสอบใหญ่ ๆ ทั้งปลายข้าว ข้าวนึ่ง และข้าวเปอร์เซ็นต์
แต่ในปัจจุบันการค้าได้เปลี่ยนแปลงไป หันมาเน้นหนักการขายข้าวคุณภาพมากขึ้นขายกันแบบแพ็คเป็นถุงเล็ก
ๆ แล้วบรรจุในคอนเทนเนอร์เพื่อส่งออก
และหันมาค้ากับผู้ค้ารายใหม่ ๆ ที่ต้องการซื้อในแต่ละครั้งไม่มากนัก อย่างในตลาดอเมริกา
หรือยุโรปที่หันมาบริโภคข้าวกันบ้าง
การขายเป็นล็อตเล็ก ๆ มีเป้าหมาย เพื่อต้องการเพิ่มมาร์จิน เพราะแนวการตลาดการค้าข้าวได้เปลี่ยนไป
ผู้บริโภคต้องการข้าวคุณภาพมากขึ้น ล็อตเล็ก ๆ จึงง่ายต่อการดูแลสินค้า
ดังนั้นในอดีตที่ผ่านมาการเติบโตของนครหลวงค้าข้าวคงจะพูดได้ว่าเป็นการค้าแบบล็อตใหญ่
ๆ กับแอฟริกา และประเทศในตะวันออกกลางมาก่อน ซึ่งจะเป็นลักษณะขายผ่านคนกลางอย่างในช่วงต้น
ๆ จะมีการขายผ่านคนกลางเกือบจะ 80% มาในระยะหลังลดลงมาเหลือแค่ 40-50% เท่านั้น
และมีการติดต่อค้าโดยตรงกับพ่อค้าปลีกมากขึ้นเพราะรู้จักกับผู้ค้าหน้าใหม่และมีการหันไปหาตลาดใหม่
เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องความเสี่ยงในการชำระเงินของการขายเป็นล็อตใหญ่ ๆ
"อย่างในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงในปัจจุบันเราไม่อยากที่จะไปค้าเท่าไร
แต่แอฟริกาบางประเทศเขาเริ่มมีการเปิดมากขึ้น ทำให้การค้ากับแอฟริกาดีขึ้นมาเป็นลำดับ"
นทีกล่าวในที่สุด
นครหลวงค้าข้าวได้เติบโตเรื่อยมา จนผู้บริหารของกลุ่มมีความต้องการขยายการค้าพืชเกษตรให้มากกว่าเดิม
เนื่องจากโอกาสที่เปิดขึ้นของตลาดในขณะนั้น เช่นข้าวโพดซึ่งขณะนั้นข้าวโพดของไทยมีการส่งออกเฉลี่ยสูงถึงปีละ
3-4 ล้านตัน
บริษัท แคปปิตัลไซโลและอบพืช จึงถูกจัดตั้งขึ้นมา เพื่อดูแลการค้าข้าวโพด
และเป็นศูนย์กลางรับซื้อส่งออกข้าวโพดของกลุ่ม อยู่ที่อำเภอบางไทร จังหวัดอยุธยา
ซึ่งมีระบบการเก็บและอบข้าวโพดที่มีประสิทธิภาพสูงด้วย
นอกจากจะเก็บข้าวโพดของบริษัทตัวเองแล้วยังมีบริการอบและรับฝากสินค้าแก่ลูกค้ารายอื่น
ๆ อีกด้วยเพราะธรรมชาติของเม็ดข้าวโพดต้องเก็บรักษาเป็นอย่างดี
จนมาในระยะหลัง ๆ มีการให้บริการขนถ่ายข้าวโพดด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัยในครั้งละมาก
ๆ และมีความรวดเร็วขึ้นด้วยและยังพัฒนาตั้งไซโลข้าวโพดขึ้นมาอีกแห่งที่ประแดง
เป็นการปรับปรุงจากไซโลเดิมของชุมชนสหกรณ์การเกษตรฯ ให้กลายเป็นแหล่งขนถ่ายสินค้า
ที่มีท่าเทียบเรือเป็นของตนเอง โดยเรือเดินทะเลสามารถเทียบท่าได้และสะดวกในการขนถ่ายสินค้า
ซึ่งการขยายตัวทางด้านการส่งออกพืชผลทางการเกษตรเรื่อยมานั้น ได้ทำ ให้ทีมผู้บริการของกลุ่มหันมาคำนึงถึงความสะดวกและประสิทธิภาพในด้านการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอีก
ไม่ว่าจะเป็นด้านต้นทุนการขนส่ง ตลอดจนความปลอดภัยและการควบคุมคุณภาพของสินค้าในระหว่างการลำเลียงขนส่ง
จึงได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจเรือลำเลียง ในปี พ.ศ. 2527 โดยจัดตั้ง บริษัท
พลังมิตรทรานสปอร์ต จำกัด ขึ้นมา ด้วยวัตถุประสงค์เริ่มแรกดำเนินการเพียงเพื่อสนองตอบความต้องการด้านการขนส่งสินค้าเกษตรของบริษัทในกลุ่มระหว่างท่าเรือต่าง
ๆ เท่านั้น
แต่ต่อมาได้ขยายธุรกิจออกไปอีก มีเรือเพิ่มลำเลียงเพิ่มขึ้น จึงได้หันมาให้บริการรับขนถ่ายสินค้าเกษตรหลาย
ๆ ประเภท เช่น น้ำตาล ข้าวโพด ข้าวสาร ปุ๋ย ฝ้าย และรวมไปถึงสินค้าเกี่ยวกับอุตสาหกรรมก่อสร้าง
อาทิ เหล็กปูนซีเมนต์ ไม้ หรือแร่ชนิดต่าง ๆ
จนพัฒนาเป็นกลุ่มธุรกิจบริการของเครือ อันประกอบด้วยธุรกิจเรือลำเลียง
เรือทุ่นในการขนถ่ายสินค้าแบบเทกองที่ท่าเรือในเกาะสีชัง และเป็นเอเย่นต์เรือเพื่อให้บริการลูกค้าภายนอกอย่างครบวงจร
การค้ามันสำปะหลัง การค้าข้าว และการค้าข้าวโพดส่งออกมีการเติบโตขยายตัวสูงขึ้นมาตลอด
ดูจากผลดำเนินงานของกลุ่มบริษัทเอสทีซีในการค้าพืชผลเกษตรที่ผ่านมา
ซึ่งตัวเลขในปี 2528 นั้นมีรายได้รวมถึง 3,954 ล้านบาทมาจากการค้าข้าวถึง
46.7% และมาจากการค้ามันสำปะหลัง 43.1% ข้าวโพด 8.8% และบริการขนส่ง 1.4%
และในปีต่อๆ มา การค้าพืชเกษตรยังคงขยายตัวเป็นฐานรายได้หลักเช่นเดิม อย่างในปี
2519 มียอดรายได้รวม 4,289 ล้านบาท มาจากการขายข้าว 38.3% จากการขายมันสำปะหลัง
48.1% ข้าวโพด 12.5%
ในปี 2530 มีรายได้รวม 5,368 ล้านบาท มาจากการขายข้าว 44.6% มาจากการขายมันสำปะหลัง
50.4% และข้าวโพด 4.2%
และในปี 2531 ซึ่งยังคงกิจการในการค้าพืชเกษตร มีรายได้รวมถึง 7,268 ล้านบาท
ซึ่งข้าวยังเป็นตัวทำรายได้หลักคือ 45.0% มันสำปะหลัง 44.2% และข้าวโพด 9.3%
นับเป็นการขยายตัวที่มีศักยภาพมากอีกกลุ่มบริษัทหนึ่ง
แต่การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการค้าในตลาดโลก ช่วงที่เศรษฐกิจภายในประเทศที่มีอัตราขยายตัวสูงถึงปีละ
9-10% เมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา การค้าพืชไร่เริ่มเจอปัญหามากขึ้น
วรพงศ์กล่าวอย่างเปิดอกถึงปัญหาสินค้าพืชเกษตรว่า "ราคาของสินค้าทางการเกษตรมันต่างกับสินค้าอุตสาหกรรมที่จะต้องคอยจังหวะเวลา
ความเปลี่ยนแปลงของราคานั้นสามารถขึ้นลงได้ตลอดเวลา แล้วแต่สถานการณ์"
การเติบโตมาบนถนนสายธุรกิจภาคเกษตรกรรม การรับรู้ด้วยสัญชาติญาณของความเป็นพ่อค้า
ได้สะท้อนให้เห็นถึงวิถีทางเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ
ว่าคือการค้าพืชผลทางเกษตรในตลาดโลก กำลังมีอุปสรรคเพิ่มมากขึ้น ไหนจะคู่แข่งของประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังพัฒนาการส่งออกสินค้าเกษตร
ไม่ว่าจะเป็นประเทศในกลุ่มอินโดจีนอย่าง เช่น เวียดนาม
เวียดนามกำลังเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหม่ที่สำคัญ เพราะการผลิตที่ได้เปรียบในค่าแรงงาน
ทำให้มีทุนที่ต่ำกว่า และในที่สุดตลาดข้าวในต่างประเทศส่วนหนึ่งคงจะต้องถูกแบ่งไป
แม้แต่การส่งออกมันสำปะหลังที่ต้องเจอกับมาตรการการเก็บสต็อคสินค้า อันเป็นการสร้างภาระด้านต้นทุนให้กับผู้ส่งออกมัน
ส่งผลให้ไม่สามารถจำหน่ายมันในราคาที่ควรจะเป็นและมีคู่ค้ารายใหม่เพิ่มขึ้นในตลาดค้ามันโลก
หรือการส่งออกสินค้าเกษตรขั้นพื้นฐานสิทธิพิเศษต่าง ๆ ของประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่น
จี เอส พี ฯลฯ กำลังมีการยกเลิกการให้ความช่วยเหลือกับประเทศไทย
แล้วยังรวมถึงปัญหาการกีดกันทางด้านการค้าจากนานาประเทศ มีการแบ่งกลุ่มการค้าในตลาดโลกมากขึ้น
เพราะฉะนั้นการจะพึงพาการเกษตรส่งออกในรูปสินค้าขั้นพื้นฐานเป็นความเสี่ยงที่กำลังจะเพิ่มสูงขึ้นแก่กลุ่มบริษัท
เอส ที ซี เพราะว่าจะคอยให้ ดีมานส์และซัพพลายในตลาดมาเป็นตัวกำหนดธุรกิจตัวเองไม่ได้อีกต่อไป
การปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรมเกษตรและธุรกิจอื่น ๆ ที่มีโอกาสเปิด จึงเกิดขึ้น
แต่ปัญหาอยู่กับว่าจะเริ่มปรับตัวลงทุนในธุรกิจอะไรก่อนกันดี
เอสทีซีตัดสินใจหันมามองธุรกิจทางด้านอาหารสัตว์ เพราะเป็นธุรกิจที่ช่วยให้มองถึงอนาคตของอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์และอุตสาหกรรมการแปรรูปได้ชัดเจนขึ้น
ประเสริฐ พุ่งกุมาร ผู้บริหารระดับสูงสุดคนหนึ่งของกลุ่มซีพีเคยกล่าวกับ
"ผู้จัดการ" และวิเคราะห์ให้ฟังว่า อุตสาหกรรมอาหารสัตว์เป็นดัชนีที่จะบ่งบอกว่าอนาคตการเติบโตของอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์และแปรรูปจะไปได้ดีหรือไม่
ซึ่งดูจากอัตราการเติบโตทางธุรกิจอาหารสัตว์เป็นเกณฑ์
ในปี 2531 ซึ่งเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของเอส ที ซี ธุรกิจการทำฟาร์มเลี้ยงกุ้งกำลังบูมและขยายตัวมีมากขึ้น
เนื่องจากกุ้งเป็นสินค้าเกษตรที่ให้ผลตอบแทนต่อการลงทุนสูง "ช่วงที่ไม่มีปัญหาอะไร
กุ้งมีราคาถึงกิโลกรัมละ 200 บาทต่อให้ราคาลดลงมาอีก 50% ก็ยังไม่ขาดทุน"
ไพศาล กล่าวถึงเหตุผลที่เข้าลงทุน ในธุรกิจอาหารกุ้ง กุ้งกำลังเริ่มเป็นสินค้าส่งออกที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเพราะได้รับความนิยมเป็นที่ต้องการในต่างประเทศมากเช่นญี่ปุ่นหรือยุโรป
เอส ที ซี จึงได้หันมาจับธุรกิจอาหารกุ้งในนาม บริษัท เอสทีซี ฟีด จำกัด
ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาประมาณต้นปี 2531 แต่การก้าวเข้าสู่ ธุรกิจอาหารกุ้งของเอสทีซีหากจะมองดูแล้วมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อยเพราะว่าไม่มีประสบการณ์ด้านกุ้งมาก่อนจู่
ๆ จากธุรกิจการค้าข้าว ค้ามัน หรือค้าข้าวโพดแล้วลงไปทำธุรกิจอาหารกุ้ง แต่ด้วยสัญชาติญาณการระวังภัยของพ่อค้า
อันจะเกิดความเสี่ยง เรื่องทั้งหมดจึงได้นำเสนอเข้าที่ประชุมของกลุ่ม จึงตกลงใจจ้างให้
บริษัท อินอาม เข้ามาเป็นที่ปรึกษา
บริษัท อินอาม เองมีข้าราชการในกรมประมงระดับซี 8 อยู่หลายคนทำงานให้อยู่
จึงเป็นจุดที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริหารเอส ที ซี มากขึ้น
การผลิตอาหารกุ้งในช่วงต้นได้นำเทคโนโลยีและเครื่องจักรมาจากไต้หวันเข้ามาก่อน
และต่อจากนั้นทางมิตซูบิชิ เริ่มเข้ามาสานต่อ พร้อม ๆ กับมีการพัฒนาขึ้นมาเองบ้าง
"ตอนที่เรากำลังจะลงสู่ธุรกิจอาหารกุ้ง มีคนมาเสนอตัวทำให้หลายเจ้าแต่ความสัมพันธ์กับมิตซูบิชิซึ่ง
ถือว่าเป็นคู่ค้าที่ดีกับเราและมิตซูบิชิของเขาเป็นบริษัทที่ใหญ่มาก มีธุรกิจหลายประเภท
เราคิดว่าสามารถพึ่งพาเทคโนโลยีได้ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการผลิตอะไรก็ตามในอนาคต"
ไพศาลกล่าว
บริษัทมิตซูบิชิได้เริ่มเข้ามาเป็นคู่ค้าสำคัญและเริ่มเข้ามามีบทบาทการค้ากับกลุ่มเอส
ทีซี ในช่วงที่นครหลวงค้าข้าวกำลังเติบโตมีการติดต่อค้าข้าวกันกว่า 10 ปีก่อน
หน้าที่จะมาลงทุนร่วมกันในธุรกิจกุ้ง
มิตซูบิชิเป็นคู่ค้าข้าวที่มีปริมาณรับซื้อจากนครหลวงค้าข้าวปีละหลายหมื่นตันบางปีเคยซื้อถึงแสนตันต่อครั้ง
เพื่อส่งไปเวียดนามในปี 2525-2526
"เราได้เงินจากมิตซูบิชิล็อตที่ส่งข้าวให้เวียดนามแล้วขณะที่เขายังไม่ได้เงินครบจากเวียดนามเลย"
วรพงศ์ยกตัวอย่างถึงความซื่อตรงและจริงใจของมิตซูบิชิซึ่งจากจุดนี้เอง คือรากฐานของการตัดสินใจเลือกพาร์ตเนอร์ร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรของกลุ่ม
มิตซูบิชิถือหุ้น 10% ในธุรกิจอาหารกุ้งที่เริ่มลงรากจนการมาเป็นธุรกิจกุ้งครบวงจรเมื่อปลายปี
2531 เพราะธุรกิจกุ้งในขณะนั้นได้เติบโตอย่างรวดเร็วมากส่งผลให้มีการพัฒนาและเพิ่มปริมาณการผลิตอาหารกุ้งสูงขึ้นเรื่อย
ๆ ซึ่งผู้บริหารของเอสทีซีเองได้เล้งเห็นถึงแนวโน้มที่จะมีฟาร์มกุ้ง สำหรับทดลองอาหารกุ้งและเพื่อประโยชน์ทางการตลาดด้านอื่น
ๆ
จึงลงมาสู่ธุรกิจฟาร์มกุ้ง จนกลายมาเป็นธุรกิจการเลี้ยงขนาดใหญ่ในเวลาต่อมา
ภายใต้ชื่อ เอสทีซี ชรินฟาร์ม โดยมีจำนวนเนื้อที่ในการเลี้ยงกว่า 1,000 ไร่ที่จังหวัดจันทบุรี
ซึ่งก็ร่วมลงทุนกับมิตซูบิชิอีกเช่นเคยในสัดส่วน 10%
"เราแน่นแฟ้นกับทางมิตซูบิชิมาก เรามีประเพณีร่วมแข่งขันกอล์ฟปีละ
2 ครั้ง" ไพศาลเล่าให้ฟัง
และเมื่อเกิดวงจรที่มีทั้งอาหารกุ้ง และผลิตผลจากฟาร์มกุ้งแล้ว วงจรสุดท้ายของธุรกิจกุ้ง
จึงต้องเกิดขึ้นตามมา เป็นธุรกิจการส่งออกกุ้งและแปรรูป ในนามของบริษัท เอส
ที ซี ฟู้ด แพค จนกลายมาเป็นธุรกิจกุ้งครบวงจรของเครือเอส ที ซี ในปี 2531
"ในเริ่มแรกเรามีห้องเย็นที่ศรีราชาทำกุ้งแช่แข็งแล้วส่งออกปัจจุบันเอสทีซีฟู้ดแพค
เกิดขึ้นมาจึงได้นำกุ้งมาแปรรูปในหลาย ๆ อย่างก่อนที่จะส่งออกสู่ตลาดเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับกุ้ง"
ไพศาลกล่าว
เดิมการส่งออกกุ้งแช่แข็งพึ่งเฉพาะตลาดญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ในปัจจุบันต้องปรับตัวให้รับกับสถานการณ์
เพราะตลาดญี่ปุ่นเริ่มจะล้นเพราะมีผู้ค้ามากรายขึ้น จำเป็นต้องพัฒนาในรูปของผลิตภัณฑ์ใหม่
กุ้งแช่แข็ง กุ้งต้มและกุ้งชุบแป้งทอด จึงถูกพัฒนาขึ้นมาและมองหาตลาดใหม่
ๆ มารองรับ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรปและปัจจุบันเอสทีซีได้เข้าไปตั้งสำนักงานสาขาขึ้นในประเทศเหล่านั้น
เช่นที่ชิคาโก ปารีส และมีแผนที่จะเปิดตลาดเพิ่ม ขึ้นอีกหลาย ๆ เมือง
เพื่อต้องการเจาะถึงตลาดผู้บริโภคโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านผู้ค้าส่ง หรือโบรกเกอร์อีกต่อไป
"การเข้าไปตั้งสำนักงานสาขาที่ชิคาโก หรือปารีส เนื่องจากว่าเป็นจุดที่จะเสริมด้านการตลาดอีกส่วนหนึ่งจะเจาะลึกและเข้าไปถึงผู้บริโภคโดยตรง
และเป็นศูนย์การเก็บวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อรายงานข้อมูลข่าวสารเหล่านั้นกลับมายังเมืองไทย
เพื่อให้ปรับปรุงการผลิตให้สอดคล้องกับตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปทันต่อเหตุการณ์
หรืออาจจะเป็นศูนย์สำหรับกระจายสินค้าชนิดอื่น ๆ ของเครือเข้าไปในประเทศเหล่านั้นได้อีกในอนาคต"
สำนักงานสาขาที่ชิคาโกเกิดขึ้นจากการร่วมลงทุนกับบริษัท บีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล
ซึ่งเป็นคู่ค้ากุ้งแช่แข็งของบริษัทชริมส์ฟาร์มอยู่แล้ว ส่วนสำนักงานที่ปารีส
เปิดขึ้นโดยใช้ตัวแทนที่นั่น เพื่อเปิดตลาดกุ้งที่ปารีสและเมืองต่าง ๆ ในฝรั่งเศส
การดำเนินธุรกิจของกลุ่มบริษัท เอส ที ซี ซึ่งเติบโตมาด้วย สัญชาติญานของความเป็นพ่อค้าการแตกตัวธุรกิจออกไปมากมาย
จึงไม่ได้มีการวางแผนและกำหนดทิศทางให้กับตัวเองที่แน่ชัดเท่าใดนัก
เพราะจะเห็นว่าธุรกิจไหนที่โดดเด่นสามารถทำกำไรได้ เอส ที ซี ก็จะกระโดดเข้าไปจะอาศัยผู้เชี่ยวชาญมาร่วมลงทุนโดยไม่มีการวางแผนถึงทิศ
ทางบริษัทไว้ล่วงหน้าเหมือนกับหลักการบริหารธุรกิจแบบมืออาชีพ
เรียลเอสเตท จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สนับสนุนคำกล่าวในประเด็นข้างต้น
เพราะหนึ่งทั้งไพศาลและวรพงศ์ ไม่เคยมีพื้นฐานหรือประสบการณ์ในการทำธุรกิจเรียลเอสเตทเชิงพาณิชย์มาก่อนเลย
ไพศาลกล่าวว่า ที่เขาเข้าสู่ธุรกิจเรียลเอสเตทเพราะมีที่ดินอยู่ก่อนแล้วไม่ได้ตั้งใจทำจริงจัง
เพียงแต่มันเป็นธุรกิจที่มีโอกาสและให้ผลตอบแทนดีน่าสนใจ
"ผมขายที่ดินที่สาธร ตอนแรกตั้งใจจะทำสำนักงานใหญ่ของกลุ่มเอสทีซี
พอกลุ่มไวท์พาวเวอร์ฮ่องกร สนใจซื้อเสนอราคากว่า 300 ล้านบาทผมจึงขายออกไป"
ไพศาลเล่าให้ฟังถึงธุรกิจเรียลเอสเตทที่ผ่านเข้ามาโดยบังเอิญ
ไพศาลตั้งเอสทีซีคอร์ปอเรชั่นเพื่อหวังทำธุรกิจพัฒนาที่ดิน อย่างโครงการเลกาซี่ที่ถนนวิภาวดีแต่โชคร้ายเกิดสงครามอ่าวเปอร์เซียก่อนที่โครงการจะขายหมด
หรือจะเป็นกลุ่มธุรกิจวัสดุก่อสร้างที่หวังว่าจะมาเป็นตัวทำกำไรในช่วงที่เรียลเอสเตทกำลังเติบโต
หากจะวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของรายได้ ในกลุ่มบริษัท เอสทีซี แล้วการค้าพืชเกษตรนั้น
มีแนวโน้มที่จะหดตัวลง ในขณะที่ธุรกิจกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรใหม่ ๆ เริ่มเข้ามาทดแทน
จากตัวเลขในปี 2532 การมียอดรายได้รวม 8,024 ล้านบาทแต่การค้าพืชเกษตรคือมันสำปะหลังเริ่มที่จะหดตัวลงจาก
44.2% ในปี 2531 มาเหลือ 38.0% หรือการค้าข้าวโพดหดตัวลงจาก 9.3% ในปี 2531
มาเหลือ 5.2% การค้าข้าว ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
แต่ในปี 2533 ถัดมาจะเห็นได้ชัดเจนว่า การค้าพืชเกษตรกับหดตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเพราะเอสทีซี
เริ่มมีการปรับตัวภายในกลุ่มหันมากทำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมมากขึ้น
ข้าวซึ่งเคยเป็นพืชเกษตรที่ทำรายได้หลักกลับลดลงมาจาก 53.7% ในปี 2532 มาเหลือ
29.0% ในปี 2533 ธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมกำลังเข้ามาทดแทนไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้ากุ้งหรือเรียลเอสเตท
และมีการขยายตัวที่ชัดเจนขึ้นอีกสำหรับเกษตรอุตสาหกรรมในปี 2534 ที่ผ่านแต่อย่างไรก็พืชเกษตรยังเป็นตัวที่ทำรายได้หลักอยู่แต่มีอัตราการเติบโตที่ลดลงนั้น
เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในตลาดการค้าโลกดังที่กล่าวมาข้างต้น
แต่อย่างไรก็ตามการปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรมเกษตรของกลุ่มเอสทีซีในช่วงถัดมาซึ่งดูจากบางโครงการไม่ได้มีลักษณะของการฉวยโอกาสอีกแล้ว
อย่างโครงการการผลิตขนมอบกรอบเพื่อส่งออกและโครงการผลิตแป้งจากข้าวสาลีที่เกิดขึ้นในปี
2534 เป็นตัวอย่างหนึ่งของการปรับตัวสู่อุตสาหกรรมเกษตรอย่างมีเหตุผลมากขึ้น
การขยายตัวธุรกิจมาทำขนมอบกรอบจากแป้งข้าวเหนียว หรือ ธุรกิจทำแป้งสาลีที่แปรรูปมาจากข้าวสาลี
ในช่วงปี 2534 ที่ผ่านมาเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร
อรรณพ วงศ์ธิติโรจน์ เล่าให้ฟังถึงการหันมาทำธุรกิจขนมปังอบกรอบว่ามันเป็นการนำวัตถุดิบจากข้าวที่เราส่งออกมาทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม
ขนมอบกรอบเป็นโครงการที่ร่วมทุนกับมิตซูบิชิ เป้าหมายส่งออกไปญี่ปุ่นเป็นตลาดหลักโดยผ่านมิตซูบิชิ
ซึ่งปัจจุบันได้เดินเครื่องผลิตสินค้าไปแล้วโดยมีกำลังการผลิตในปัจจุบันประมาณ
3,000 ตันต่อปีและคาดว่าจะสามารถผลิตได้เต็มกำลังของโรงงานทั้งหมด 4,500
ตันต่อปีในอีก 2 ปีข้างหน้า
ตัวขนมอบกรอบนี้เป็นธุรกิจที่สามารถเพิ่มมูลค่าทางการตลาดได้สูงมาก เพราะดูจากราคาของสินค้าแล้วสูงขึ้นกว่าเท่าตัว
เมื่อเทียบกับการส่งออกข้าวเหนียวในรูปสินค้าเกษตรพื้นฐาน ถึงแม้จะต้องลงทุนในการแปรรูปก็ตาม
ตลาดญี่ปุ่นเป็นหลักในการส่งออก และมีการทำตลาดในอเมริกาและยุโรปบ้าง แต่ยังไม่มากนักและตลาดในประเทศเองก็กำลัง
พัฒนาอยู่เช่นเดียวกันหรือจะเป็นโครงการผลิตแป้งข้าวสาลีก็เช่นกัน มีการร่วมทุนกับนิชชินแห่งญี่ปุ่นเพราะแป้งสาลี
ผลิตภายในไม่เพียงพอต่อความต้องการ "เราเลือกนิชชิน เพราะผู้ใหญ่คนหนึ่งของมิตซูบิชิแนะนำให้"
วรพงศ์เล่าให้ฟังถึงการเลือกนิชชิน
ในปัจจุบัน เอส ที ซี กรุ๊ป มีธุรกิจภายใต้การบริหารอยู่ทั้งหมด 9 กลุ่มหลักคือ
1 ธุรกิจมันสำปะหลัง 2 ธุรกิจข้าว 3 ข้าวโพด 4 ธุรกิจการขนส่ง และบริการ
5 ธุรกิจกุ้งครบวงจร 6 ธุรกิจวัสดุก่อสร้าง 7 ธุรกิจพัฒนาที่ดิน 8 ธุรกิจขนมอบกรอบและ
9 ธุรกิจทำแป้งสาลี ทุกธุรกิจและทุกบริษัทยังแยกกันจดทะเบียนเป็นแต่ละนิติบุคคลอยู่ในอนาคตอันใกล้
เตรียมที่จะจัดรูปองค์กรเสียใหม่ให้เป็นในรูปองค์กรเสียใหม่ให้เป็นในรูปโฮลดิ้งคัมปานี
เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมนโยบายบริหารและการลงทุนของคณะกรรมการบริหารและเพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะได้รับ
นอกจากนี้การจะเติบโตต่อไปในอุตสาหกรรมเกษตรการจัดการด้านเงินทุนเป็นหัวใจสำคัญ
"เรากำลังจ้างให้บริษัทภัทรธนกิจเป็นที่ปรึกษาเพื่อเตรียมที่จะนำบริษัทในกลุ่มกุ้งครบวงจรเข้าตลาดหลักทรัพย์"
ไพศาลพูดถึงการปรับโครงสร้างทุนของกลุ่มเพื่อลดภาระหนี้สินลง ซึ่งเกิดจากการขยายการลงทุนในช่วง
4 ปีที่ผ่านมาเพราะการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์จะเป็นการเพื่อศักยภาพของการแข่งขันท่ามกลางสภาวะที่รุนแรง
ในปัจจุบันการได้เงินทุนที่ถูกเพื่อจะทำให้ข้อได้เปรียบ ในเชิงการตลาดมีมากขึ้นเช่นเดียวกับการปรับตัวของหลาย
ๆ ธุรกิจที่เสนอตัวเข้าสู่ตลาดหุ้นเพื่อระดมทุนขยายธุรกิจ ออกไปในอนาคต
เอสทีซีในทศวรรษนี้ มีทิศทางชัดเจนที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมเกษตรเป็นหัวใจหลักตามการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการผลิตโลก
โดยมีรากฐานมาจากจิตสำนึกเพื่อความอยู่รอดตามสัญชาติญาณของพ่อค้าอย่างแท้จริง