ในวัย 37 ปีวันนี้หลายคนอาจจะเพิ่มเริ่มต้นชีวิตธุรกิจโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสายวิชาชีพบริการสาธารณสุข
แต่สำหรับหมอเฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการและแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเกษมราษฎร์
เริ่มจะประสบความสำเร็จกับกิจการโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ที่บากบั่นต่อสู้มานานกว่า
8 ปีจนสามารถขยายกิจการออกมาเป็นโรงพยาบาลแห่งที่สองคือโรงพยาบาลรัตนาธิเบศร์
ผู้คนในวงการธุรกิจค่อนข้างคุ้นเคยกับนามสกุลหาญพาณิชย์ เพราะเพียงใจ หาญพาณิชย์-พี่สาวคนโตสุดของตระกูลเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในฐานะเจ้าของแลนด์
แอนด์ เฮ้าส์ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในเมืองไทย
หมอเฉลิมเป็นพี่น้องคนละท้องเดียวกันของเพียงใจธุรกิจของพี่น้องคู่นี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวพันกันมาก่อน
และพี่น้องตระกูลนี้ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 13 คนต่างก็มีธุรกิจของตัวเอง รพ.
รัตนาธิเบศร์เป็นธุรกิจแรกที่พี่น้องสายเดียวกับหมอเฉลิมร่วมกันลงทุน ส่วนโครงการลงทุนร่วมกับเพียงใจนั้นเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่อาจจะถึง
1,000 เตียงอยู่ในโซนกลางใจเมือง
โครงการลงทุนทั้งหมดของหมอเฉลิมมี บ.โรงพยาบาลรัตนาธิเบศร์, บ. โรงพยาบาลเกษมราษฎร์,
บ. พิสุทธิกิจ (โรงเรียนอนุบาลเปี่ยมรักและเนิร์สเซอรี่), บ. เรืองจรัส (ทำภัตตาคาร),
บ. จรัสแลนด์ ดีเวลลอปเมนท์ ซึ่งทำด้านอสังหาริมทรัพย์
แต่กิจการที่จะเอาเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีเพียงแห่งเดียวคือโรงพยาบาลรัตนาธิเบศร์ซึ่งมีทุนจดทะเบียน
200 ล้านบาท เป็นโรงพยาบาลขนาด 400 เตียง บนพื้นที่ 3 ไร่เศษ มูลค่าการลงทุนทั้งหมดประมาณ
500 ล้านบาท มีที่ปรึกษาทางการเงินและการนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
คือ บงล. ธนสยาม
เหตุที่ไม่เอาเกษมราษฎร์เข้าจดทะเบียนเพราะต้องการขยายจำนวนเตียงจาก 80
เพิ่มเป็น 150 และต่อไปให้ครบ 500 เตียงก่อน หลังจากนั้นค่อยมาดูอีกทีว่าจะเข้าหรือไม่
ส่วน 2 บริษัทหลังเป็นธุรกิจคนละด้านกับกิจการโรงพยาบาล หมอเฉลิมอธิบายว่า
"อันนี้ผมไปร่วมธุรกิจกับแม่และพี่ชายของรัฐมนตรีสุวัจน์ ลิปตวัลลภ
จรัสแลนด์ฯ เป็นการซื้อที่ดินเข้าพอร์ตเอาไว้ยังไม่ได้ขยับทำอะไรเท่าไหร่มีที่แหลงฉบัง
ที่ราชบุรีประมาณสัก 2 ล้านไร่"
ด้านโครงการลงทุนอื่น ๆ ยังคงเป็นกิจการโรงพยาบาล ซึ่งมีเป้าหมายที่จะทำอีก
5-6 โรงตอนนี้ศึกษาเรื่องที่ดินอยู่ นักลงทุนกลุ่มนี้มีแผนการที่จะเปิดโรงพยาบาลรอบนอกอย่างน้อย
2 ปีต่อ 1 โรง หลังจากที่เปิดโรงพยาบาลรอบนอกได้ครบตามโครงการแล้วก็จะกลับเข้ามาทำโครงการ
รพ. ขนาดใหญ่ที่หมอเฉลิมเรียกว่าเป็นตัวแม่บทในใจกลางเมือง
แนวคิดในการทำโรงพยาบาลในเขตชุมชนรอบนอกถือเป็นยุทธศาสตร์ที่เหมาะเจาะกับการขยายตัวของเมืองหลวงในเวลานี้
หมอเฉลิมให้ความเห็นว่า "การทำโรงพยาบาลรอบนอกมีข้อได้เปรียบในแง่ที่มีต้นทุนของที่ดินต่ำ
ไม่มีปัญหาการจราจรรุนแรงเหมือนในเขตใจกลางเมือง มีชุมชนใหญ่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย
การสร้างโรงพยาบาลจะตอบสนองชุมชนเหล่านี้ในแง่ที่เป็น FACILITY ด้านสุขภาพซึ่งยังขาดอยู่"
ประชากรในชุมชนเกิดใหม่รอบนอกกรุงเทพฯ ในขณะนี้ก็คือคนที่ทำงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร
คนเหล่านี้ได้มีโอกาสซื้อบ้านในเขตชานเมืองเป็นจำนวนมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
พวกเขายังคงทำงานในใจกลางเมืองหลวง แต่เมื่อเจ็บป่วยมีปัญหาทางสุขภาพขึ้นมาก็ยังต้องขับรถเข้ามารักษาพยาบาลในใจกลางเมืองอยู่อีกนั้น
ถือเป็นวิธีปฏิบัติที่ไม่สะดวก
หมอเฉลิมมองธุรกิจของตัวเองว่าเป็นตัวเสริม เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในบริการด้านสุขภาพแก่ชุมชนแนวคิดนี้ทำให้หมอตั้งเป้าว่าจะทำโรงพยาบาลในย่านชานเมือง
ลูกค้าของหมอเฉลิม ซึ่งเป็นคนทำงานในเมืองนั้นจัดได้ว่าเป็นผู้มีกำลังซื้อพอสมควร
คนเหล่านี้ค่อนข้างคุ้นเคยกับสถานพยาบาลในกลางเมืองซึ่งมีระบบและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
หมอเฉลิมจึงต้องสร้างสถานพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ เหมือนกับโรงพยาบาลใหญ่ในใจกลางเมืองหลวง
ปัญหาสำคัญในการสร้างโรงพยาบาลในเขตรอบนอกไม่ใช่เรื่องการหาที่ดิน หรือเงินลงทุนที่มีวงเงินลงทุนสูงพอกับการสร้างโรงพยาบาลในใจกลางเมืองหลวง
แต่อยู่ที่เรื่องบุคลากร ทั้งแพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์อื่น
ๆ
หมอเฉลิมแก้ปัญหาการขาดบุคลากร โดยเริ่มทำการสำรวจจำนวนแพทย์พยาบาล ที่ย้ายมาอยู่ในย่านรัตนาธิเบศร์แล้วติดต่อโดยเสนออัตราเงินเดือนและสวัสดิการต่าง
ๆ ในอัตราที่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลในส่วนกลาง ซึ่งโดยส่วนมากจะได้รับการตอบสนองด้วยดีเพราะการได้ทำงานใกล้บ้านในองค์กรที่ได้มาตรฐาน
ไม่ต้องเจอปัญหาจราจรเป็นสิ่งพึงปรารถนาของคนทำงานส่วนมาก
ด้วยเหตุนี้หมอเฉลิมจึงได้รับการตอบรับจากหมอจำนวนกว่า 100 คนว่าจะเข้ามาร่วมทำงานในโรงพยาบาลรัตนาธิเบศร์
ด้านพยาบาลนั้น หมอก็มีโครงการที่จะให้ทุนการศึกษาตามวิทยาลัยพยาบาลต่าง
ๆ โดยมีเงื่อนไขให้เข้ามาทำงานที่โรงพยาบาลหลังจากจบการศึกษาส่วนผู้ช่วยพยาบาลนั้นก็เปิดการฝึกอบรมเอาเอง
ในด้านการแข่งขันนั้นหมอเฉลิมให้ความเห็นว่า "การเปิดธุรกิจสถานพยาบาลหลายแห่งในบริเวณใกล้เคียงกันนั้นความเสี่ยงอยู่ที่จำนวนเตียงต่อประชากร
หากมีจำนวนเตียงสูงกว่าประชากรที่ต้องการการรักษาพยาบาลก็จะมีความเสี่ยงมาก
หากมีน้อยก็ไม่มีความเสี่ยง"
นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับวิธีประกอบการ การสร้างความสบายใจให้แก่ชุมชน สำหรับ
รพ. เกษมราษฎร์ หมอไม่ห่วงเรื่องการแข่งขันแม้ว่าบนถนนเพชรเกษมจะมี รพ. ตั้งอยู่ถึง
7 โรงก็ตาม
การขยายตัวของโรงพยาบาลในชุมชนเกิดใหม่จะเกิดตามแนวถนน เช่น เส้นวิภาวดีรังสิตจะมี
รพ. แพทย์รังสิต รพ. นวนคร เส้นรามอินทรากำลังจะเกิด เส้นบางนา-ตราดมี รพ.
ไทยนครินทร์ 350 เตียงของกลุ่มแลนด์มาร์คที่กำลังจะเปิด ฯลฯ บางเส้นก็ไม่มี
รพ. เลยเช่นมีนบุรี สุวินทวงศ์ หรือบางเส้นก็มีน้อยเกินไปเช่นธนบุรีปากท่อมีเพียง
รพ. บางมดเท่านั้นเป็นต้น
หมอเฉลิมเห็นว่า รพ. เกิดใหม่ในชานเมืองเหล่านี้ต้องเป็น รพ. ใหญ่เท่านั้น
เป็น รพ. ชั้นนำมีสิ่งอำนวยความสะดวกเหมือน รพ. ในเมืองจึงจะอยู่ได้ "หากเป็น
รพ. เล็กก็ต้องวิ่งหนีจากตัวเซนเตอร์ตลอดเวลาเพราะเมืองมีการขยายตัวเร็วมากหากไป
รพ. ชานเมือง 1 โรงแล้วไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์สมองลูกค้าหรือผู้ป่วยก็ต้องไหลเข้ากรุงเทพฯเหมือนเดิม
ดังนั้นการบริการทั้งหมดจะต้องเหมือน รพ. ในกรุงเทพฯ ไม่จำเป็นต้องมีการ
REFER ผู้ป่วย"
รพ. ที่ไม่มีเครื่องมือครบครันตามแนวคิดหมอเฉลิมนั้นหมอถือว่าเป็นเพียงโพลีคลีนิคเท่านั้น
!!
การลงทุนสร้าง รพ. ตามแนวคิดหมอเฉลิมใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท/1
โรงทั้งนี้คำนวณจากเงินลงทุนต่อเตียงผู้ป่วย คือเตียงละตั้งแต่ 1.2-2.2 ล้านบาทในเวลานี้
อีก 5 ปีข้างหน้าคาดหมายว่าต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 25%
นอกจาก รพ. ในย่านชานเมืองแล้ว หมอเฉลิมยังมีแนวคิดที่จะสร้าง รพ. เฉพาะทางโดยพิจารณา
รพ. สำหรับแม่และเด็กซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีจำนวนมากและยังไม่มีใครให้ความสำคัญอย่างจริงจัง
รพ. แม่และเด็กนอกจากจะให้บริการด้านการรักษาพยาบาลแล้วยังมีศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็ก
รพ. นี้อาจจะเป็นโครงการส่วนหนึ่งของ รพ. รัตนาธิเบศร์ในการขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ