รับเหมารายใหญ่รุมทึ้งรถไฟสายสีม่วง ส.ก่อสร้างฯเตือนทีโออาร์ต้องรอบคอบ


ผู้จัดการรายวัน(4 ตุลาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ส.อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ ย้ำร่างTOR รถไฟฟ้าสายสีม่วง แบ่งช่วงประมูลหรือประมูลแบบยกโครงการ ต้องพิจารณาอย่างรอบครอบ หวั่นเกิดปัญหาแย่งงานรุนแรง หลังโครงการรัฐบาลขนาดใหญ่ขาดช่วงมานาน เผยยังกังวลปัญหาแหล่งเงินก่อสร้าง เหตุความชัดเจนไม่มี เผยนายกสมาคมฯยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พิจารณาแก้ปัญหาสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ระบุสัญญาไม่เป็นธรรม หากให้ผู้รับเหมาจ่ายค่ารื้อย้ายและไล่รื้อผู้บุกรุกที่ดินที่ใช้ในการก่อสร้างรถไฟฟ้า

นายภูมิสัน โรจน์เลิศจรรยา ที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย เปิดเผยถึงการอนุมัติการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางซื่อ-บางใหญ่ ว่า มีผลดีในเชิงจิตวิทยา ช่วยสร้างบรรยากาศในธุรกิจก่อสร้างให้มีสีสรรมากขึ้น แต่อาจจะยังไม่ส่งผลทางด้านการลงทุนต่อธุรกิจก่อสร้าง และธุรกิจเกี่ยวเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม โดยผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในตลาดธุรกิจก่อสร้างอย่างจริงจังนั้น คาดจะเริ่มเห็นได้ชัดเจนหลังจากที่มีการเริ่มดำเนินการก่อสร้างจริงแล้วไม่ต่ำกว่า 18 เดือน คาดว่าการก่อสร้างโครงการดังกล่าวน่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงกลางปี2551

สำหรับกลุ่มบริษัทที่คาดว่าจะได้รับงานก่อสร้างโครงการดังกล่าว จะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้างรายใหญ่ๆ 2-3 รายเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการก่อสร้างรายย่อยเอง แม้จะไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า แต่ก็จะได้รับประโยชน์จากธุรกิจเกี่ยวเนื่อง อาทิ การก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยในแนวรถไฟฟ้า

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย กล่าวว่า เป็นงานใหญ่ที่ผู้รับเหมาก่อสร้าง ต่างต้องการเข้าร่วมประมูลงาน ดังนั้น การร่างข้อกำหนดเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) หน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการประมูลงานมากที่สุด ซึ่งในเรื่องดังกล่าว ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง ยังมีความกังวลว่าร่างTOR ที่จะออกมานี้จะมีรูปแบบอย่างไร ทั้งนี้ หากร่างTOR มีรูปแบบการประมูลงานแบบให้แบ่งการประมูลออกเป็นหลายๆช่วง ก็จะช่วยให้ผู้รับเหมาก่อสร้างในตลาด ได้มีโอกาสในการได้งานมากขึ้น แต่หาก TOR กำหนดรูปแบบการประมูลออกมาว่า ให้ประมูลแบบเหมารวม จะทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น

อนึ่ง คณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่ผ่านมา ได้อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางซื่อ-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร โดยให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รับผิดชอบงานโยธามูลค่า 31,217 ล้านบาท และงานที่ปรึกษาระหว่างก่อสร้าง 1,248 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่า 32,465 ล้านบาท จากวงเงินลงทุนรวม 55,997 ล้านบาทนั้น

นายอังสุรัสมิ์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าจับตามองอีกเรื่องหนึ่งคือ การหาแหล่งเงินในการก่อสร้าง ซึ่ง ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาหาแหล่งเงินลงทุนในการก่อสร้างโครงการที่เหมาะสม โดยเบื้องต้นการจัดหาแหล่งเงินทุนมีอยู่ 2 ส่วนคือ เงินงบประมาณจากรัฐบาล25% ส่วนที่เหลือจะเป็นเงินกู้จากทั้งในประเทศและต่างประเทศ 75% ขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะกู้เงินจากที่ใด คาดว่าเบื้องต้นแหล่งเงินดังกล่าวจะมาจากการกู้เงินธนาคารเพื่อความร่วมมือแห่งประเทศญี่ปุ่น (เจบิก) หรือกู้เงินจากประเทศจีน

“ในช่วงที่ผ่านมา ตลาดก่อสร้างรวมในประเทศ มีงานขนาดใหญ่จากรัฐบาลเข้ามาน้อยมาก ทำให้ผู้ประกอบการระดับกลางและรายย่อยได้รับผลกระทบอย่างมาก ทำให้ขณะนี้ ตลาดก่อสร้างมีสภาพเหมือนเสือหิว การอนุมัติก่อสร้างรถไฟฟ้าที่เข้ามา เปรียบเสมือนโยนก้อนเนื้อขนาดใหญ่เข้ามาในกลุ่มรับเหมา ที่มีสภาพเหมือนเสือที่หิว ดังนั้นหากTOR กำหนดให้รูปแบบการประมูลงานเป็นก้อนเดียว จะเกิดการแข่งขันที่รุนแรงในการแย่งงาน และ ผู้รับเหมารายกลาง รายเล็กก็จะเข้าไม่ถึง”

นายอังสุรัสมิ์ กล่าวว่า สำหรับภาพรวมตลาดธุรกิจก่อสร้างในปัจจุบันนั้น ปัญหาหนักของผู้รับเหมากำลังเผชิญในขณะนี้ สะท้อนให้เห็นว่า การลงทุนโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ของรัฐบาลชุดก่อน ทำให้งบประมาณที่ใส่เข้ามาไม่ถึงผู้รับเหมารายกลางและรายเล็ก เมื่อมีการปฏิวัติก็ยิ่งทำให้ท่อน้ำเลี้ยงของวงการก่อสร้างถูกตัดออกไป

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ผู้รับเหมารายใหญ่ที่มีสายป่านยาวปรับตัวหันไปรับงานในต่างประเทศมากขึ้น แต่ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (เอ็กซิมแบงก์) อยู่ที่ 5% ถือว่าสูงเมื่อเปรียบเทียบกับบางประเทศที่ปล่อยกู้ให้กับผู้รับเหมาที่ออกไปรับงานต่างประเทศในอัตราที่ต่ำมาก ตั้งแต่ 0.1-1% ที่อาการหนักคือ ผู้รับเหมาขนาดกลางเริ่มขาดสภาพคล่อง เพราะไม่มีงาน ส่วนผู้รับเหมารายเล็กปีนี้ทยอยปิดกิจการไปหลายราย

เลขาธิการสมาคมฯ กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะมีความชัดเจนในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง แต่ในส่วนของทีโออาร์สายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่กำหนดให้ผู้รับเหมาก่อสร้างที่ชนะการประมูล ต้องตั้งวงเงินในการรื้อถอนและขนย้าย รวมถึงการจัดการเรื่องการย้ายกลุ่มผู้บุกรุกในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการดำเนินงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่มีจำนวนถึง 3,000 ราย โดยไม่มีการขยายเวลาในการก่อสร้างให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้าง ค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่ลำบาก และถือว่าไม่ยุติธรรมต่อผู้รับเหมาก่อสร้างที่ได้งานดังกล่าว เนื่องจากการไล่ที่และย้ายผู้บุกรุกดังกล่าวนั้น มีปัญหาทางด้านข้อกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะทำให้ต้องใช้เวลาในการไล่รื้อและย้ายกลุ่มผู้บุกรุกออกจากพื้นที่ก่อสร้าง ดังนั้นรัฐบาลต้องเข้ามาดูแลในเรื่องดังกล่าวด้วย

" ล่าสุดนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างฯ ได้ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีให้ช่วยแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับร่างTOR "


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.