|
14สินค้าจ่อปรับขึ้นราคาพาณิชย์หวั่นตุนก๊าซหุงต้ม
ผู้จัดการรายวัน(4 ตุลาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
เผย 14 สินค้า จำนวน 588 รายการขึ้นแท่นรอพิจารณาปรับราคาเพิ่ม ไล่ไปตั้งแต่สินค้าคนจนอย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไปจนถึงสินค้าคนรวยอย่างรถยนต์ “ยรรยง”ย้ำการให้ปรับราคาหรือไม่ต้องดูข้อเท็จจริงประกอบ ยืนยันจะให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคน้อยที่สุด สั่งเจ้าหน้าที่รับมือการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม หวั่นมีการกักตุน “เกริกไกร”ระบุไม่กระทบเงินเฟ้อ
นายยรรยง พวงราช อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสินค้าจำนวน 14 สินค้า รวม 588 รายการ จากผู้ประกอบการ 30 ราย ได้ยื่นขอปรับราคามายังกรมฯ และอยู่ระหว่างการดำเนินการพิจารณาตรวจสอบต้นทุน ยังไม่ได้อนุมัติให้ปรับราคา เพราะการจะปรับราคาขึ้นได้ ต้องดูว่าต้นทุนเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ เพื่อป้องกันการแอบอ้างต้นทุนแฝง ซึ่งอาจจะกระทบต่อผู้บริโภค แต่ยืนยันว่าหากต้นทุนเพิ่มขึ้นจริง ก็จะพิจารณาให้ปรับราคาได้ตามความเหมาะสม เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้
ทั้งนี้ 14 สินค้าที่ยื่นขอปรับราคามานั้น ส่วนใหญ่ได้ยื่นขอปรับราคามาตั้งแต่ก่อนที่จะมีการปฏิรูปการปกครองก่อนวันที่ 19 ก.ย.2549 และบางรายการได้ยื่นเพิ่มเติมมาภายหลัง ได้แก่ ยางรถยนต์ แบตเตอรี่ ปุ๋ยเคมี กาแฟผงสำเร็จรูป บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ยารักษาโรค น้ำมันพืช ผงซักฟอก ยาป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ผลิตภัณฑ์ล้างจาน น้ำอัดลม ผลิตภัณฑ์นม (นมผง นมแปลงไขมัน นมเปรี้ยว) และรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ รถบรรทุกเล็ก
“การพิจารณาให้ปรับขึ้นราคา ต้องดูข้อเท็จจริงก่อนว่าต้นทุนสูงขึ้นจริงหรือไม่ โดยยึดหลักการเดิม คือ ตรวจสอบต้นทุนย้อนหลัง 2 ปี หากจำเป็นให้ขึ้นก็ต้องให้ขึ้น เพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาด แต่ขณะเดียวกันก็ต้องดูไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค”นายยรรยงกล่าว
สำหรับเหตุผลในการปรับเพิ่มราคาสินค้านั้น ส่วนใหญ่ระบุว่าต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น ทั้งวัตถุดิบในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ รวมทั้งผลกระทบจากราคาน้ำมัน เช่น ยางรถยนต์ ราคายางพาราสูงขึ้น แบตเตอรี่ ราคาตะกั่วเพิ่มสูงขึ้น กาแฟ ราคาเมล็ดกาแฟดิบสูงขึ้น ผลิตภัณฑ์นม ราคานมผงในตลาดโลกปรับเพิ่มสูงขึ้น เป็นต้น
นายยรรยงกล่าวว่า การลอยตัวก๊าซหุงต้ม ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการปรับขึ้นราคากี่บาท แต่กรมฯ ได้มีการประเมินผลกระทบในเบื้องต้นแล้วพบว่าหากปรับขึ้น 1 บาท จะมีผลในด้านการขนส่ง คือ รถแท๊กซี่ ได้รับผลกระทบ 35 บาทต่อวัน ภาคครัวเรือนได้รับผลกระทบ 15 บาทต่อเดือน และอาหารสำเร็จรูปที่ใช้ก๊าซหุงต้มในการปรุงอาหาร ได้รับผลกระทบเป็นเศษสตางค์ ส่วนในด้านสินค้าอุปโภคบริโภค ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่มีการตรวจสอบสถานการณ์ผลิตและจำหน่ายก๊าซหุงต้ม ทั้งต้นทางและปลายทางแล้ว เพื่อป้องกันการกักตุน และป้องกันไม่ให้ก๊าซหุงต้มขาดตลาด โดยหากประชาชนพบเห็นภาวะผิดปกติ ให้แจ้งได้ที่สายด่วนแม่บ้าน 1569
ส่วนกรณีที่จะมีการปรับขึ้นเงินเดือนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ถือเป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้ภาคประชาชน แต่ไม่ใช่เหตุผลที่ผู้ประกอบการจะใช้เป็นข้ออ้างในการขึ้นราคาสินค้า ซึ่งกรมฯ ก็ได้มีการจับตาในเรื่องนี้อยู่แล้ว
นายเกริกไกร จีระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบผลกระทบหากมีการลอยตัวก๊าซหุงต้มแล้วว่ามีน้ำหนักในการคำนวณเงินเฟ้อมากน้อยแค่ไหน แต่มั่นใจว่าจะไม่เกิดผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อมากนัก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|