|
กลต.มาดเข้มQ3สั่งฟัน17คดีปรับ"โกมล"เกือบ4ล.
ผู้จัดการรายวัน(4 ตุลาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
คณะกรรมการเปรียบเทียบ สำนักงานก.ล.ต. สวมบทบาทเข้ม ไตรมาส 3/50 สั่งลงโทษผู้แหกกฎเพิ่ม 10 ราย รวม 17 คดี ปรับมูลค่ารวมเกือบ 8 ล้านบาท โดย "โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ" มากสุด 4 คดี ถูกปรับรวม 3.8 ล้านบาท เหตุไม่รายงานได้มาหุ้น "ปิคนิค อกริเพียว อีสเทิร์นไวร์" ในเวลาก.ล.ต.กำหนด-เลี่ยงเทนเดอร์ฯหุ้น อีสเทิร์นไวร์หลังถือหุ้นแตะ 25% ด้านบล.สินเอเซีย-บล.เคจีไอ ไม่ได้จัดเก็บเทปบันทึกออร์เดอร์ลูกค้าครบถ้วน
จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) การเปรียบเทียบโดยคณะกรรมการเปรียบเทียบ พบว่า ในไตรมาส3/50 คณะกรรมการเปรียบเทียบได้มีคำสั่งเปรียบเทียบจำนวน 10 ราย รวม 17 คดี มูลค่ารวม 7,833,700 บาท ประกอบด้วย 1.นายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ จำนวน 4 กรณี มูลค่ารวม 3.8 ล้านบาท กรณีมิได้รายงานการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งหลักทรัพย์ทุกร้อยละห้าของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการที่ถือผ่านบุคคลอื่น ตามแบบ 246-2 ต่อสำนักงานภายในเวลาที่กำหนด ใน3 บริษัท คือบริษัทปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PICNI จำนวน 2 รายการ วันที่ 16 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2549 มูลค่าเปรียบเทียบ 3.21แสนบาท
บริษัทอกริเพียว โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ APUREระหว่างวันที่ 5 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2549 จำนวน 9 รายการ มูลค่าเปรียบเทียบปรับจำนวน 1.19 ล้านบาท บริษัทบริษัทอีสเทิร์นไวร์ จำกัด (มหาชน) หรือ EWC รายงานการได้มาหลักทรัพย์ในเวลาที่กำหนดและ ไม่นำหุ้นที่ถือโดยบุคคลตามมาตรา 258 ของตนมารวมรายงาน จำนวน 7 ราย ระหว่างวันที่ 2 กันยายน 2548 ถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2549 มูลค่าเปรียบเทียบปรับจำนวน 1.82 ล้านบาท
รวมถึงนายโกมล ได้มาซึ่งหุ้น EWC เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2549 จนเป็นผลให้เมื่อรวมหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่โดยตรง ถือโดยบุคคลตามมาตรา 258 และถือผ่านบุคคลอื่นแล้ว ทำให้นายโกมลฯ เป็นผู้ถือหลักทรัพย์ EWC ข้ามจุดร้อยละ 25 ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการ โดยมิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ไม่ได้ยื่นประกาศเจตนาในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการตามแบบ 247-3 และไม่ได้จัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการตามแบบ 247-4 ภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด
ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2549 นายโกมลฯ ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้น EWC เหลือร้อยละ 24.36 ซึ่งทำให้หน้าที่ของนายโกมลฯ ในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดตามมาตรา 247 ได้สิ้นสุดลง ปรับมูลค่า 4.69 แสนบาท
2.บริษัทหลักทรัพย์(บล.)สินเอเชีย จำกัด กรณีเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2550 ไม่ได้จัดเก็บเทปบันทึกการรับคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าทางโทรศัพท์ให้ครบถ้วน จำนวน 447 รายการ ปรับมูลค่า 1.12 ล้านบาท 3.บล.ซิกโก้ กรณีระหว่างวันที่13กันยายน 2549-29 มกราคม 2550 ไม่ได้จัดเก็บบันทึกการรับคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าทางโทรศัพท์หรือทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ให้ครบถ้วน โดยเหตุเกิดที่สำนักงานสาขาของ บล. ซิกโก้ฯ จำนวน 2 แห่ง คือ สาขาสุโขทัย จำนวน 5 รายการ และสาขาสุขุมวิท 23 (ประสานมิตร) จำนวน 515 รายการ ปรับมูลค่า1.93 ล้านบาท
4. บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด จากกรณีความผิดระหว่างวันที่ 9 ตุลาคม 2549 ถึง วันที่ 4 มกราคม 2550 บลจ.ไทยพาณิชย์ในฐานะบริษัทที่รับจัดการกองทุนเปิดไทยพาณิชย์สะสมทรัยพ์ตราสารหนี้ (SCBSFF)ได้จัดสรรขายหน่วยลงทุนเกินจำนวนเงินทุนจดทะเบียนปรับมูลค่า 81,500 บาท
และในวันที่ 3 มกราคม 2550 และวันที่ 4 มกราคม 2550 บลจ. ไทยพาณิชย์ ในฐานะบริษัทที่รับจัดการกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นระยะยาวปันผล 70/30 (SCBLT1) ได้จัดสรรขายหน่วยลงทุนเกินจำนวนเงินทุนจดทะเบียน ปรับมูลค่าจำนวน 38,500 บาท
5. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)หรือ BAY จำนวน 2 คดี มูลค่ารวม 1.88 แสนบาท คือ ระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม 2549 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2550BAY ในฐานะผู้ดูแลผลประโยชน์กองทุนเปิดไทยพาณิชย์สะสมทรัพย์ตราสารหนี้ SCBSFFภายใต้การจัดการของ บลจ.ไทยพาณิชย์ฯ ไม่ดูแลให้ บลจ.ไทยพาณิชย์ฯ เสนอขายหน่วยลงทุนให้เป็นไปตามจำนวนเงินทุนจดทะเบียนในโครงการของกองทุน SCBSFF ที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงาน ปรับ 1.06 แสนบาท และกรณีวันที่ 15 ตุลาคม 2549 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2550 ธนาคาร BAY ไม่รายงานกรณีที่ บลจ.ไทยพาณิชย์ฯ เสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุน SCBSFF ระหว่างวันที่ 9 ตุลาคม 2549 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2550 เกินจำนวนเงินทุนจดทะเบียนของโครงการจัดการกองทุน SCBSFF ที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงาน ต่อสำนักงานภายในห้าวันนับแต่วันที่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว ปรับมูลค่า 82,800 บาท
6.บริษัทหลักทรัพย์(บล.)เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)หรือ KGI กรณีระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2549 ถึงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 คำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ ("NCR") ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด โดยมิได้นำรายการเงินกู้ยืมจากบริษัทย่อยที่จะครบกำหนดชำระคืนภายใน 1 ปี มาคำนวณเป็นหนี้สินรวม ปรับมูลค่า 45,000 บาท และ ระหว่างวันที่ 12 มกราคม 2550 ถึงวันที่ 4 เมษายน 2550 บล.เคจีไอ ในฐานะบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ก.ล.ต.กำหนด โดยไม่ได้รายงานข้อร้องเรียนของลูกค้าที่เกิดขึ้นในไตรมาส 4 ปี 2549 ต่อสำนักงานให้ครบถ้วน ปรับมูลค่า 7.9 หมื่นบาท
7.บริษัทหลักทรัพย์ ฟาร์อีสท์ จำกัด กรณีระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม 2549 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2549ในฐานะผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ของบริษัทมหาชนจำกัดแห่งหนึ่ง ไม่ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของก.ล.ต.จำกัดแห่งหนึ่ง โดยไม่ได้จัดเก็บเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการจองและการจัดสรรหุ้นให้ครบถ้วน ซึ่งตามข้อกำหนดของคณะกรรมการ ก.ล.ต. บล.ฟาร์อีสท์ฯ จะต้องจัดเก็บเอกสารทั้งสองส่วนเพื่อประโยชน์ในการสอบทานว่ามีการจัดสรรอย่างเป็นธรรมปรับมูลค่า 1.71แสนบาท
8.บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วรรณ จำกัด กรณี ระหว่างวันที่ 11 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2550 ในฐานะที่รับจัดการกองทุนเปิด วรรณเอเอ็ม โกลบอล อีเมอร์จิ้ง มาร์เก็ต เอควิตี้ (กองทุน 1AM-GEM) ได้ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศ 2 กองทุนซึ่งมีมูลค่าการลงทุนเกิน2%ของสินทรัพย์สุทธิกองทุน 1AM-GEM ซึ่งเกินกว่ากรอบการลงทุนที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการกองทุนรวมที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานและที่ผูกพันกับผู้ถือหน่วยลงทุน ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 และเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2550 บริษัทฯ ได้แก้ไขโดยลดอัตราส่วนการลงทุนในหน่วยลงทุนของ2 กองทุนแล้ว ปรับมูลค่า 2.8 แสนบาท
9.บริษัทหลักทรัพย์เคทีบี จำกัด กรณีวันที่ 18 มกราคม 2550 ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ก.ล.ต.กำหนด โดยโอนเงินค่าจองซื้อหลักทรัพย์ซึ่งอยู่ในบัญชีเพื่อการจองซื้อหลักทรัพย์ของลูกค้าไปไว้ในบัญชีเงินฝากที่เปิดไว้ใช้ในกิจการของบริษัท อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ให้แยกเงินค่าจองซื้อหลักทรัพย์ไว้ต่างหากจากบัญชีของบริษัท ปรับมูลค่า4.56หมื่นบาท
รวมถึงวันที่ 8 มกราคม 2550 กระทำการอันมีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือเป็นการเอาเปรียบลูกค้า หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องห้ามตามประกาศคณะกรรมการก.ล.ต. กล่าวคือ บริษัทแยกเงินเพื่อเป็นทรัพย์สินของลูกค้าไม่ครบถ้วน โดยแยกเงินเพื่อเป็นทรัพย์สินของลูกค้าน้อยกว่าผลรวมของยอดเงินสุทธิของลูกค้าทุกรายซึ่งคำนวณ ณ สิ้นวันดังกล่าว ทั้งนี้ ในวันที่ 9 มกราคม 2550 บล. เคทีบีฯ ได้แก้ไขโดยโอนเงินเข้าเพิ่มในบัญชีครบถ้วนแล้ว ปรับมูลค่า 30,400 บาท
10.เปรียบเทียบเรือโทสุปรีดิ์ ศรีผดุง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัท สยาม ทู ยู จำกัด (มหาชน)หรือ S2Yไม่ได้รายงานการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ S2Yที่ขายหุ้นวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 จำนวน 1.22 ล้านหุ้น มูลค่า 1.84 ล้าน บาท ต่อก.ล.ต.ภายในเวลาที่กำหนด จึงปรับ มูลค่า10,300 บาท
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|