"ใช้ "เทคนิเคิล" เพื่อเล่นหุ้นยาวได้อย่างไร"


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

"เทคนิเคิล" เป็นเครื่องมือที่ใช้เล่นหุ้นยาวได้ ถึงต้นปีหน้า สัญญานเทคนิเคิล ช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจได้ สิ่งนี้คือการทวนกระแสพฤติกรรมการลงทุนของนักเล่นหุ้นในขณะนี้"

นักเทคนิเคิลมีความเชื่อที่ว่า "หุ้น คือศูนย์รวมข่าว" ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกตัวหุ้น ดังนั้นการขึ้นลงของอินเด็กซ์หรือราคาหุ้นจึงเป็นผลกระทบของข่าวสารทั้งที่เปิดเผยแล้วหรือรับรู้กันในวงจำกัด ส่งผลให้ราคาหุ้นจะเคลื่อนที่อย่างเป็นระบบ (DISCIPLINE) โดยมีรูปแบบ (PATTERN) ที่มักซ้ำกันอันอาจมาคำนวณทางสถิติ (STATISTIC) โดยนำมาอธิบายจิตวิทยาของผู้คนนับแสนในตลาดหุ้นซึ่งรับรู้ข่าวสารไม่เท่ากัน และคาดการณ์แนวโน้มหุ้นจากผลกระทบของข่าวสารนั้น ๆ

นักเล่นหุ้นกลุ่มหนึ่ง จึงเชื่อมั่นและฝึกฝนเทคนิเคิล จนเหมือนสูตรวิเศษ เพื่อค้นหา "จังหวะซื้อขายหุ้น" เพื่อเงินทุนที่มีอยู่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

วัตถุประสงค์ของการวิเคราะห์ทางเทคนิค คือการหาราคาที่เหมาะสมในการลงทุน หรือขาย ในจังหวะเวลาใดเวลาหนึ่งซึ่งผู้เล่นเทคนิเคิล จะต้องมีความเชื่อในปรัชญาหรือความคิดรวบยอดของการวิเคราะห์เทคนิเคิลเสียก่อน ซึ่งเป็นสมมุติฐาน 3 ประการคือ

หนึ่ง. ตลาดหุ้นจะรับรู้ปัจจัยทุก ๆ ปัจจัย (MARKET ACTION DESCOUNTS EVERTHING) หมายความว่า นักวิเคราะห์เทคนิเคิลต้องเชื่อว่าราคาหุ้นได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐานทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว เช่นหากกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจและการเมืองดี คนที่จะมาลงทุนมากขึ้นส่งผลให้ราคาหุ้นสูงขึ้น ตรงกันข้าม ถ้ามีปัจจัยพื้นฐานไม่ดีก็ทำให้ราคาหุ้นลดต่ำลง

สอง. ราคาหุ้นจะเคลื่อนไหวเป็นระบบและมีรูปแบบ สามารถคาดการณ์แนวโน้มได้ (PRICES MOVE IN TREND) หมายถึงกราฟของราคาหุ้นที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น สะท้อนถึงราคาในอนาคตที่สามารถพยากรณ์แนวโน้มได้ หรือที่เรียกว่า "เป็นรอบของหุ้นนั้น ๆ"

และสาม. หลักประวัติศาสตร์ที่เกิดซ้ำรอยเดิม (HISTORY REPEATS ITSELF) เป็นการอธิบายพฤติกรรมของคนเล่นหุ้นที่มีจำนวนเป็นแสน ๆ คนหรือจิตวิทยามวลชน (MASS PHYCHOLOGY) ที่เล่นหุ้น

ภายใต้สมมุติฐานดังกล่าว ความพยายามที่ล่วงรู้ระบบหรือรูปแบบการเคลื่อนไหวอย่างมีวินัย (DISCIPLINE) ของราคาหุ้นนี้มักจะใช้กับตลาดที่ยังบกพร่องเรื่องประสิทธิภาพ (INEFFICIENT MARKET)

เพราะข้อมูลข่าวสารไม่ได้กระจายรับรู้ในวงกว้าง ยังไม่ได้รับการเปิดเผยเพียงพอ หรือเกิดจากการวิเคราะห์และการสื่อข้อมูลยังมีจำกัด ราคาหุ้นจึงไม่อาจสะท้อนถึงราคาที่เหมาะสมหรือราคาที่แท้จริง (INTRINSIC VALUE) ทั้งนี้ส่วนหนึ่งด้วยเหตุนี้นักวิเคราะห์ค่ายตะวันตก จึงใช้ความบกพร่องของกลไกตลาดที่ยังไม่สมบูรณ์เพื่อหาประโยชน์ได้ก่อนผู้อื่น

ข้ออ่อนด้วยประการหนึ่ง ยอมรับว่าวิธีเทคนิเคิลก้าวช้ากว่าข่าวสารหนึ่งขั้น (ONE-STEP BEHIND FUNDAMENTAL) แต่ในปัจจุบันเกือบทุกโบรคเกอร์มีโปรแกรมเทคนิเคิล REAL-TIME อ่านผลการวิเคราะห์ได้รวดเร็วจึงเกิดการซื้อง่าย-ขายสะดวกทำให้นักเลงหุ้นจำนวนไม่น้อย ที่ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือนี้มาทำกำไรรายวัน

การนำเสนอการวิเคราะห์เทคนิเคิ้ล เพื่อใช้คาดการณ์แนวโน้มหุ้นในระยะปานกลางถึงระยะยาว จึงจงใจชี้สวนทาง (DIFFERE NCIATE) ความคิดของนักวิเคราะห์และนักลงทุนส่วนใหญ่ ที่มักจะมองว่าการวิเคราะห์ทางเทคนิคใช้เพื่อการเล่นหุ้นเก็งกำไรช่วงสั้น ๆ เท่านั้น

การซื้อขายหุ้นเมื่อ 19 กันยายน หนังสือพิมพ์รายวันหน้าหนึ่งแทบทุกฉบับลงข่าวนำเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นหน้าสำคัญ นั่นคือ ตลาดหลักทรัพย์ของไทย ได้สร้างสถิติขึ้นมาใหม่ด้วยมูลค่าซื้อขายสูงสุดถึง 16,665 ล้านบาท นับตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาเป็นเวลา 17 ปีแถมด้วยดัชนีตลาดฯ (SET INDEX) พุ่งขึ้น 835.45 จุด ซึ่งก็เป็น RECORD ใหม่ในรอบ 17 เดือนเช่นกัน และวันรุ่งขึ้นจันทร์ที่ 21 กันยายน สถิติก็ต้องถูกทำลายลงด้วยสถิติใหม่ด้วยการซื้อขายสูงถึง 20000 ล้านบาท

แน่นอนล่ะ ในวันนี้พรุ่งนี้ สถิติก็ต้องถูกทำลายลงด้วยสถิติใหม่ มิเช่นนั้น หนังสือ "กินเนสส์บุ๊คเรคคอร์ด" จะพิจารณาออกขายไม่ได้เลย

จากแผนภูมิที่ 1 เป็นแผนภูมิ SET INDEX ตั้งแต่ปี 1986 ถึง 1992 แสดงให้อิทธิพลของเส้นแนวโน้มทางขึ้น (UPTREND LINE) แม้ว่าจะเกิดวิกฤติการณ์ที่ทำให้หุ้นตก ถึงขีดสุดครั้งแล้วครั้งเล่า

แต่เส้นแนวโน้มที่เก่งฉกาจเส้นนี้ รับ CRISIS ไว้ถึง 6 วิกฤติคือ จุดที่ 2. แบล็กมันเดย์ ปี 1987 จุด 3. MINI แบ็คมันเดย์ ปี 1989 จุด 4. สงครามอ่าวเปอร์เซีย ปี 1990 จุด 5. รสช. ยึดอำนาจปี 1991 จุดที่ 6 ก็คือ กรณี "พฤษภาทมิฬ"

ความน่าเชื่อถือของเส้นแนวทางหนุนเส้นนี้สามารถรับสิ่งเลวร้ายอันจะเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทยแทบทั้งหมด ในทางเทคนิเคิ้ลเรียก SUPER STRONG SUPPORT แปลว่า เหตุการณ์อะไรก็ตามที่ทำให้หุ้นตกให้ตั้งซื้อได้เต็มที่เหนือเส้นแนวหนุนเส้นนี้

จากแผนภูมิเดียวกัน ดัชนีหุ้นกระเตื้องจากจุดต่ำสุดที่ดัชนี 727 เมื่อครั้งพฤษภาคม มาถึงวันนี้นักเทคนิเคิ้ลมองเป็น BULLISH มาโดยตลอด จาก TREND ที่กำลังขึ้น เพราะจุดต่ำสุดค่อย ๆ สูงขึ้น ๆ จนดัชนีทะลุแนว DOWNTREND LINE พ้น 800 จุดขึ้นมาได้แล้ว ซึ่งเป็นจุด BUY SIGNAL ของนักลงทุนระยะยาว

เมื่อพิจารณาแผนภูมิที่ 2 เป็นการใช้เครื่องมือ PRICE PATTERN หรือรูปแบบ-ราคามาชี้ทิศทางหุ้นในระยะปานกลางประวัติศาสตร์ได้เกิดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรก เป็นการฟอร์มตัวของดัชนีตั้งแต่ปี 1987-1989 เป็นรูปสามเหลี่ยมมุมฉาก (ASCENDING TRIANGLE) ชนแนวต้านบริเวณดัชนี 470 ถึงสองครั้งโดยที่ BOTTOM สูงกว่าเดิม ซึ่งก็ทะลุแนวนี้ขึ้นไปอีก 250 จุดนั่นคือ TARGET ที่ดัชนี 800 นั่นเอง…

ครั้งที่สองเป็น PATTERN ที่เรียกว่าสามเหลี่ยมด้านเท่า (SYMETRICAL TRIANGLE) ใช้เวลาฟอร์มตัวตั้งแต่ปี 1991-1992 ซึ่งเมื่อผ่านฐานด้านบนของสามเหลี่ยม (800 จุด) ขึ้นไปอีก 360 (910-550) จะขึ้นไปที่เป้าหมาย (TARGET) แถว ๆ ยอดเดิมที่ 1142 จุด (800+360)

ไม่ใช่ว่าอินเด็กซ์จะขึ้นไปทันที อาจต้องปรับตัวหลายครั้งเป็นขั้นบันได (SIDEWAY UP) จนกว่าจะไปถึงเป้าหมายนั้น เชื่อว่าปรับตัวลงมาอย่างไรแนวหนุน 800 น่าจะรับอยู่

และแผนภูมิที่ 3 เป็นการใช้เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ระยะยาวปกติใช้ 75 วัน (วันเทรดใน 3 เดือน) และ 200 วัน หรือ 40 WEEKS ซึ่งปรากฏว่าขณะนี้ดัชนีตลาดฯ ตัดผ่าน แนวเส้นค่าเฉลี่ยทั้งสองขึ้นไปแล้ว โดยมีเครื่องมือ FIBONACCI เป็นตัวยืนยัน คือสัญญาณให้ซื้อในระยะปานกลางถึงระยะยาว แม้เส้นค่าเฉลี่ยดังกล่าวจะไม่ได้บอก TARGET แต่นักลงทุนจะขายหากดัชนีตัดเส้นค่าเฉลี่ยฯ ดังกล่าวลง

ซึ่งวิธีการอ่านค่าเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันหรือ 40 สัปดาห์ตาที่ "ไมเคิ้ล ชาร์ฮอร์แซค" กล่าวไว้ในหนังสือ THE ART OF LOW RISK INVESTING ว่า วงจร 40 สัปดาห์นี้ BULLMARKET จะถือกำเนิดขึ้นเมื่อเส้นค่าเฉลี่ย 40 สัปดาห์เริ่ม "เงยหัว" ขึ้นกระทิงตัวนี้จะเติบโตตราบเท่าที่เส้น 40 สัปดาห์สูงขึ้น ๆ แต่หาก "นอนราบหรือโค้งลง" แสดงว่าเป็นจุดจบของกระทิงตัวนั้นแล้ว

นอกจากนั้น การนับคลื่นตามทฤษฎี ELLIOTT WAVE ซึ่ง JOHN MURPHY ให้ความสำคัญ PATTERN, RATIO และ TIMING ลดหลั่นตามลำดับลงมา โดยการคิดค้นของ ฉัตรชัย กิจธิคุณ TECHNICIAN อิสระ พยากรณ์เส้นทางเดินของหุ้นไทยในช่วง INTERMEDIAT (3) ซึ่งคลื่นที่สามนี้เป็นเสมือน "คลื่นทอง" ซึ่งจะวิ่งผ่านระดับ 900 ไปถึง 1,000 จุดได้

อย่างไรก็ตาม ในคลื่นย่อยของ INTERMEDATE 3 ยังมีคลื่นย่อย (MINOR) ) ปรับตัวขึ้นลงอีก 2 ขั้น ซึ่งจับเส้นทางเดิน WAVE ที่ 3 ของ ELLIOT ได้จากผู้จัดการรายวันทุก ๆ ฉบับวันจันทร์

ในฐานะ JOURNALIST บวก TECHNICIAN พบว่ามีความเสี่ยงสูงอยู่เหมือนกัน ที่จะพยากรณ์แนวโน้ม เพราะกระบวนปิดต้นฉบับต้องทำก่อนหนังสือวางตลาด 2-3 สัปดาห์

แต่ผู้วิเคราะห์เลือกใช้เครื่องมือระยะยาวมาจับแนวโน้มตลาดหุ้น ซึ่งสะท้อนจิตวิทยาของคนที่มีความมั่นใจรัฐบาลใหม่ที่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า

ผู้คนในตลาดหุ้นจึงมองแนวโน้มสิ้นไตรมาสสี่ปีนี้ ถึงต้นปีหน้า ว่าดัชนีหุ้นจะวิ่ง ๆ พัก ๆ ขึ้นไปที่ 1,000 จุด โดยไม่ยากนัก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.