"เครื่องปรับอากาศที่ประหยัดไฟได้ 15%"


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ในขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตกำลังมีปัญหาเรื่องการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าใหม่อีกแห่งหนึ่ง เพื่อสนองความต้องการของประชากรในเรื่องของการใช้ไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่กำลังเกิดขึ้นอย่างมากมายก็ตามการลงทุน เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ต้องใช้งบประมาณในการลงทุนอย่างมหาศาล ซึ่ง ณ วันนี้แผนการสร้างโรงงานไฟฟ้าแห่งใหม่ก็ยังไม่ลุล่วงไปด้วยดี

ปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าจึงเริ่มเกิดขึ้น

ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ใช้ความพยายามที่จะให้ประชากรช่วยกันประหยัดพลังงานไฟฟ้า การหาทางออกของรัฐโดยวิธีการเปลี่ยนแปลงการเก็บค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชากรลดจำนวนการใช้ไฟลง เช่นใช้วิธีการเก็บค่าไฟเพิ่มโดยคิดอัตราก้าวหน้าโดยกำหนดช่วง DEMEND CHARGE ตั้งแต่เวลา 06.00-21.30 น.ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่รัฐคิดค่าไฟฟ้าสูงกว่าช่วงเวลาที่เหลืออยู่คือตั้งแต่เวลา 22.00-06.00 น. ประมาณ 10-15%

ดูเหมือนว่าวิธีนี้จะไร้เหตุผลเพราะความจำเป็นใน การใช้ไฟฟ้าในชีวิตประจำวันของคนไทยทั้งประเทศมันเกิดขึ้นในเวลาช่วงเดียวกัน !!!

มีการประมาณการกันว่าในช่วงเวลาที่ประชากรมีความต้องการใช้ไฟฟ้าพร้อม ๆ กันนั้น ทางโรงไฟฟ้าจะต้องผลิตการะแสไฟฟ้าให้ได้จำนวน 8,000 เมกกะวัตต์เลย ทีเดียวจึงจะสนองความต้องการของประชากรได้อย่างเพียงพอ

ส่วนเวลาที่เหลือหลังจากนั้นคือ 22.00-06.00 น.ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้ากลับลดลงเหลืออยู่เพียงกึ่งหนึ่ง ของช่วงแรกเท่านั้น

หากพิจารณาจากตัวเลขจำนวนความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าใน 2 ช่วงเวลาที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัดประเด็นสำคัญในการพิจารณาหาทางออกคือเรื่องของความพยายาม ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคไฟของคนไทยส่วนหนึ่ง

"มีวิธีเดียวที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้คือ เริ่มประหยัดพลังงานซึ่งทำได้ตั้งแต่หาพลังงานทดแทนเช่น พลังงานแสงอาทิตย์หรือใช้หลอดไฟที่ประหยัดพลังงาน หรือลดจำนวนการใช้เครื่องปรับอากาศซึ่งเป็นที่มาของการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม" แหล่งข่าวจากศูนย์อนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทยเสนอแนวทางแก้ไข

ศูนย์อนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้วโดยมีจุดประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า พวกเขาเหล่านี้ได้สรรหาวิธีป้องกันการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าก่อนที่จะเกิดขึ้นในเมืองไทย

ประเด็นที่ศูนย์อนุรักษ์ฯ หยิบยกขึ้นมาเป็นวิธีการแก้ไขก็คือการประหยัดไฟฟ้า นั่นเป็นขั้นสามัญพื้นฐานที่ต้องเริ่มต้นจากบทแรกนี้ ทว่าใครจะเป็นผู้ริเริ่มก่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการลดการใช้เครื่องปรับอากาศลง

เมืองไทยเป็นประเทศที่มีภูมิอากาศร้อนเป็นทุนเดิม และรับวันฤดูร้อนของไทยก็ยิ่งขยายเดือนออกไป และนี่คือสาเหตุที่ทำให้เครื่องปรับอากาศเริ่มขายดิบขายดี

จะเห็นได้จากการแข่งขันของตลาดเครื่องปรับอากาศที่ยี่ห้อต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 10 ยี่ห้อทั้งของนอกและของไทยทำแข่งกันลดราคาเพื่อสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคเป็นพัลวัน ซึ่งกลยุทธ์ที่สำคัญในการแสวงหาตลาดของผู้ค้าเครื่องปรับอากาศก็คือการลดราคา จน ณ วันนี้ผู้ที่มีระดับฐานะปานกลางลงล่างก็สามารถซื้อหาเครื่องปรับอากาศมาติดตั้งในที่อยู่อาศัยของตนเองได้

แล้วอย่างนี้ประเด็นลดจำนวนการใช้เครื่องปรับอากาศซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญตัวหนึ่งที่ทำให้เกิดการใช้ไฟฟ้าเพิ่มจะทำได้อย่างไร ?

ว่ากันตามจริงแล้วปัญหาสำหรับประเด็นนี้หากเป็นเมื่อ 5 ปีที่แล้วก็อาจจะไม่ต้องคิดหนักเพราะเวลานั้นจำนวนการใช้เครื่องปรับอากาศและราคายังไม่เป็นเช่นปัจจุบัน อากาศเมืองไทยก็ยังไม่แปรปรวนเช่นทุกวันนี้ กล่าวกันว่าอากาศแปรปรวนเกิดมาจากโอโซนที่ปกคลุมโลกกำลังถูกทำลายอันเนื่องมาจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เริ่มหนาแน่นขึ้น จนเป็นที่มาของความร้อนบนผิวโลกเริ่มรุนแรงขึ้นนั่นเอง

ย้อนกลับมากล่าวถึงเครื่องปรับอากาศ จากตัวเลขการเติบโตของตลาด เครื่องปรับอากาศที่บรรดาผู้ค้าต่างให้ตัวเลขในปีที่ผ่าน ๆ มาว่าเติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% จากมูลค่า 3,500 ล้านบาท ไม่อาจกล่าวได้ว่าจะเป็นเรื่องที่ง่ายดายนักสำหรับประชากรไทยโดยเฉพาะเมืองหลวงหรือผู้ที่พอมีอันจะกินจะยอมลดปริมาณการใช้เครื่องปรับอากาศลง

อย่างไรก็ตามศูนย์อนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทยก็ได้มีทางออกให้กับวิธีนี้คือได้ร่วมมือกับเอกชนรายหนึ่ง "อินเตอร์เทคกรุ๊ป" ซึ่งมีประสบการณ์ด้านวิศวกรรมโดยเฉพาะเครื่องทำความเย็นในอุตสาหกรรมในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ช่วยกันสร้างระบบใหม่ที่ประหยัดพลังงานไฟฟ้าขึ้นมาแต่ก็ยังอยู่ในรูปของการใช้เครื่องปรับอากาศเช่นเดิม

จะผิดกันก็แต่เพียงว่าระบบใหม่ที่ว่านี้เรียกว่าระบบ ICE BANK หรือ THERMAL ICE STRONGE สามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้อย่างมากมาย

หรือพูดง่าย ๆ ก็คือว่าระบบ ICE BANK ใช้พลังงานไฟฟ้าที่น้อยกว่าเครื่องปรับอากาศทั่วไปเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันหรือภายในเวลาที่เท่ากัน

อภิชิต ล้ำเลิศพงศ์พนา ผู้บริหารอินเตอร์เทค กรุ๊ป ซึ่งเป็นแกนนำในการนำเข้าเทคโนโลยีระบบสะสมพลังงานความเย็นในรูปของน้ำแข็ง (ICE BANK) เข้ามาใช้กับประเทศไทยกล่าวว่าระบบนี้สามารถช่วยเศรษฐกิจของชาติได้ในด้านการประหยัดพลังงานและการใช้พลังงานที่เหมาะสม

ในแถบยุโรป (THERMAL ICE STRONGE) มีประวัติการเกิดระบบนี้มาตั้งแต่เมื่อ 50-60 ปีก่อนมาแล้วโดยส่วนใหญ่ระบบนี้จะถูกนำมาใช้กับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นมหรือโรงนม เพื่อเก็บรักษาอาหารไม่ให้เปลี่ยนสภาพต่อมาระบบการสะสมพลังความเย็นในรูปของน้ำแข็งก็ได้คืบคลานเข้าสู่สหรัฐอเมริกาโดยใช้เวลาไม่นานนัก

อเมริกาสามารถนำเทคโนโลยีที่เรียนรู้จากยุโรปเข้ามาพัฒนาเสียใหม่อย่างจริงจังโดยมุ่งหวังที่จะนำมาใช้กับอาคาร บ้าน เรือน ที่อยู่อาศัย ได้จนสำเร็จ จึงเรียกชื่อระบบที่ตนเองพัฒนามาจากยุโรปเสียใหม่ว่า ICE BANK ก็ได้ขยายเข้าสู่เมืองไทยเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมานี่เอง อภิชิตเล่าว่าเขาได้เจรจากับบริษัท BAC สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นเจ้าของระบบเพื่อนำเข้ามาศึกษาหาความเหมาะสมที่จะใช้ในประเทศ

ความยากเย็นเกิดขึ้นในช่วงแรกเมืองไทยยังไม่เข้าใจและยอมรับกับระบบนี้เท่าไรนัก ซึ่งระบบนี้อาจกล่าวได้ว่าสามารถสนองตอบได้ทั้งในรูปของผลประโยชน์ตอบแทนและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานการเริ่มต้นในครั้งแรก จึงเป็นการเริ่มต้นอย่างเดียวกับในยุโรปคือการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้กับโรงนมและขยายเข้าสู่การถนอมอาหารพวกพืชไร่เพื่อการส่งออกประเภทไก่สด หรืออาหารทะเลต่าง ๆ เช่นบริษัท เชียงใหม่ โฟรเซ่นฟู้ด สหฟาร์ม หรือบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นต้น

ปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าว ได้วิวัฒนาการตามขั้นตอนเพื่อให้นำมาใช้กับอาคารตึกสูงหรือบ้านเรือนได้ วิวัฒนาการที่เด่นชัดของระบบนี้คือจะช่วยด้านพลังงานของชาติในรูปลักษณ์ของการประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและพลังงาน

"รูปร่างหน้าตาของระบบนี้หากจะพูดให้ง่ายก็คือการที่เราทำน้ำธรรมดาให้แข็งตัวจนเป็นน้ำแข็งในช่วงที่มีค่าไฟราคาถูก (กลางคืน) และจะนำกลับมาละลายให้เป็นน้ำโดย น้ำแข็งจะละลายความร้อนแฝงออกมาใช้ในช่วงที่ค่าไฟแพงเจ้าความร้อนตัวนี้เองที่จะเป็นความเย็นที่จะปล่อยเข้าสู่ระบบความเย็นภายในตัวอาคาร ซึ่งเราก็จะได้รับความเย็นเหมือนกับเครื่องปรับอากาศทั่วไป (น้ำแข็ง 1 ปอนด์ให้ค่าความเย็น 144 BTU วิธีนี้แหละที่สามารถประหยัดค่าไฟได้พร้อม ๆ กับพลังงาน" อภิชิต อรรถาธิบายเกี่ยวกับรูปธรรมของระบบ

และหากเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องปรับอากาศทั่วไปกับระบบ ICE BANK แล้อภิชิตกล่าวว่าค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องครั้งแรกจะสูงกว่าการติดตั้งเครื่องปรับอากาศในขนาดที่เท่ากันประมาณ 15%-20% แต่อภิชิตยืนยันว่าช่วงเวลาเพียง 2-3 ปีก็สามารถคืนทุนในรูปของการประหยัดค่าไฟได้ เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เครื่องปรับอากาศทั่วไปส่วนความหมายของการประหยัดไฟที่ว่านี้คือการประหยัดส่วนต่างที่ไม่ต้องจ่ายค่า DEMAND CHARGE ที่รัฐเก็บเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10-15% นั่นเองที่เป็นเช่นนี้เพราะระบบ ICE BANK เป็นระบบที่สร้างความเย็นโดยการทำงานที่ต้องใช้กระแสไฟฟ้าในเวลาตอนกลางคืนหรือช่วงตั้งแต่ 22.00-06.00 น.ในการเปลี่ยนแปลงน้ำให้กลายเป็นน้ำแข็ง และหยุดทำงานในช่วงเวลากลางวันเพื่อละลายน้ำแข็งให้ออกมาเป็นไอเย็นเพื่อปรับอากาศภายในห้องเหมือนเช่นเครื่องปรับอากาศทั่ว ๆ ไป

ส่วนดีของระบบอีกอย่างหนึ่งคือ การที่มีถังน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้ติน ซึ่งจะเป็นแหล่งสะสมน้ำเพื่อใช้ในการผลิตน้ำแข็ง จะสามารถนำออกมาใช้ได้ในยามที่เกิดอัคคีภัยเช่นในประเทศญีปุ่นอาคารสูง ๆ หลายแห่งกำหนดให้ใช้ระบบนี้ไปวางไว้ใต้อาคาร เพื่อช่วยถ่วงให้อาคารสมดุลย์มากขึ้นไม่ให้สั่นไหวมากเมื่อเกิดแผ่นดินไหว

แม้ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เพิ่งเริ่มต้นใช้ได้เพียงแค่ 1-2 ปีเท่านั้น หากพิจารณาจากผลที่จะได้รับในอนาคตทั้งอินเตอร์เทคกรุ๊ปก็ได้ตั้งความหวังไว้ว่าความจริงใจที่คิดจะช่วยชาติน่าจะเป็นส่วนสนองตอบ

กลับสู่หน้าหลัก


Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.