เมื่อประมาณปลายเดือนสิงหาคม'35 ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการส่งออก หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์
ได้ดำเนินการเปิดศูนย์พาณิชยกรรม ภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานีขึ้นนับเป็นศูนย์พาณิชยกรรมภูมิภาคแห่งที่
5
เช่นเดียวกันกับการเปิดศูนย์พาณิชยกรรมที่ได้เปิดดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ประกอบด้วยศูนย์พาณิชยกรรม
ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์พาณิชยกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น,
ศูนย์พาณิชยกรรมภาคใต้ตอนล่าง จังหวัดสงขลา และศูนย์พาณิชยกรรมภาคตะวันออก
จังหวัดจันทบุรีเพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาการส่งออกของภูมิภาคนั้น ๆ
โดยได้ถือตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้พิจารณาเห็นว่า "ภูมิภาค"
คือแหล่งผลิตสินค้าที่สามารถจะพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมส่งออกครบวงจร เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
ดังนั้นการพัฒนาการส่งออกสู่ภูมิภาคจึงเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล ที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องตอบสนองอย่างเร่งด่วน
โดยการจัดตั้งศูนย์พาณิชยกรรมในภูมิภาคขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือที่จะบริหารกิจกรรมการส่งออกนั้นให้สัมฤทธิ์ผล
เป็นการเพิ่มศักยภาพของการส่งออกโดยการวางจุดยุทธศาสตร์ของการลงทุนผลิตในแต่ละภูมิภาคให้มีการกระจายมากขึ้น
ส่งเสริมสนับสนุนให้แต่ละท้องถิ่นแต่ละภูมิภาคได้พัฒนาสินค้าของตนเอง
ไม่ว่าจะเป็นทางภาคเหนือ ที่มีผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือน ผลิตภัณฑ์หัตถกรรม
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีผลิตภัณฑ์อาหาร สิ่งทอ เครื่องตกแต่งบ้าน ภาคใต้ที่มีผลิตภัณฑ์อาหารทะเลสำเร็จรูป
เฟอร์นิเจอร์ หรือจะเป็นภาคตะวันออกที่มี ผักและผลไม้สด เป็นต้น
สุราษฎร์ธานี ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของธุรกิจอุตสาหกรรมของภาคใต้ตอนบน การเข้ามาตั้งศูนย์พาณิชยกรรมภูมิภาคนั้น
ด้วยบทบาทหน้าที่ ที่จะให้ข้อมูลข่าวสารทางการค้า และเป็นสื่อกลางในการติดต่อระหว่างผู้นำเข้าต่างประเทศและผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกของไทย
รวมทั้งการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากวัตถุดิบพื้นฐาน ที่มีอยู่ในท้องถิ่น
ไม่ว่าจะเป็นยางพารา ปาล์ม กาแฟ สัตว์น้ำ ฯลฯ
เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมแปรรูปหรืออุตสาหกรรมอื่นอาทิ เช่น อุตสาหกรรมยางพารา
อุตสาหกรรมสกัดน้ำมันปาล์ม อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์จากไม้ยาง อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง
และอาหารทะเลกระป๋อง
เพื่อที่จะสนับสนุนและพัฒนาให้สินค้า และอุตสาหกรรมต่อเนื่องเหล่านั้นได้ผลิตและพร้อมที่จะเป็นรากฐานการส่งออกของประเทศด้วยแรงงานในท้องถิ่น
โดยอาศัยสนามบินพาณิชย์ของสุราษฎร์ฯ หรือท่าเรือพาณิชย์ที่สงขลาเป็นท่าเรือน้ำลึกที่สำคัญเพื่อใช้เป็นศูนย์การส่งออกได้ทันที
ไม่ต้องเข้ามากระจุกอยู่ในส่วนกลางที่กรุงเทพฯ
เพราะประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาการที่จะเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัวในอนาคต
การติดต่อการค้ากับต่างประเทศจึงมีความสำคัญมากขึ้น
นอกจากการเปิดศูนย์พาณิชยกรรมดังกล่าวนี้ แล้วยังมีการจัดให้มีการสัมมนาให้ความรู้แก่นักธุรกิจในหัวข้อ
"ภาคใต้ปรับตัวอย่างไรในการส่งออกยุค AFTA" ขึ้น ณ โรงแรมวังใต้
สุราษฎร์ธานีอีกด้วย
ทางกรมส่งเสริมการส่งออก และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ด้วยความร่วมมือจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
และหอการค้าภาคใต้ได้ร่วมกันจัดขึ้น
ด้วยเห็นว่าเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้านั้นกำลังเป็นที่สนใจของนักธุรกิจส่งออกในขณะนี้เป็นอย่างมากและได้รับความสนใจจากนักธุรกิจภาคใต้เข้าฟังสัมมนากันอย่างคับคั่ง
แม้ว่าการสัมมนาในครั้งนั้น จะเป็นการเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ แต่ก็ยังมีนักธุรกิจอีกจำนวนมากยังไม่เข้าใจถึงหลักการวิธีการของเขตการค้าเสรีหรือ
อาฟต้า ที่ชัดเจนนัก จึงได้ให้ความสนใจเข้าฟังเพื่อที่จะรับทราบปัญหาของอุตสาหกรรมและเสนอแนะการปรับตัวของภาคใต้โดยเฉพาะ
อย่างอุตสาหกรรมน้ำมันพืชหรือจะเป็นอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพารา และอุตสาหกรรมจากผลิตภัณฑ์ยางซึ่งเป็นสินค้าที่สำคัญของทางภาคใต้เป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงของอาฟต้าใน
15 รายการที่จะมีผลภายใต้กฎเกณฑ์เปิดให้ค้าเสรีในกลุ่มประเทศสมาชิก
ในช่วงแรกของการสัมมนา ได้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นมาของเขตการค้าเสรีนั้น
ว่ามีความเป็นมาของการตกลงร่วมของกลุ่มประเทศในอาเซียนอย่างไรกับเขตการค้าเสรีอาเซียน
อาจกล่าวโดยสรุปคือว่าการเล็งเห็นสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนและของประเทศต่าง
ๆ ทั่วโลก กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วหลายกลุ่มได้มีการรวมกันทางเศรษฐกิจและมีการปรับระบบเศรษฐกิจของตนให้สอดคล้องกับประเทศสมาชิกอื่น
ๆ
ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน ซึ่งได้มีการรวมตัวกันมาระยะเวลาหนึ่ง ก็เริ่มที่จะปรับระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศสมาชิกให้เข้ากันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาคแนวความคิดในการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน
หรือ อาฟต้า จึงได้เกิดขึ้นมา
อาฟต้าจะกลายเป็นกระแสการปรับตัวครั้งใหญ่ของกลุ่มอาเซียน เพื่อให้ธุรกรรมทางการค้าภายในกลุ่มเป็นไปโดยเสรีมีอัตราภาษีต่ำที่สุดและปราศจากข้อจำกัดที่มิใช่ภาษี
และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติสู่ภูมิภาคนี้อย่างคึกคัก พร้อมทั้งรับสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าโลกที่จะเสรียิ่งขึ้นจากผลการเจรจาในแกตต์
กติกาและวิธีที่จะนำไปสู่เป้าหมาย โดยผู้นำในกลุ่มอาเซียนได้ร่วมลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการใช้อัตราภาษีร่วมหรือ
"CEPT" (AGEEMENT NO COMMON EFFECTIVE PREGERENTIAL TARIFF) ซึ่งได้กำหนดให้แต่ละประเทศลดภาษีระหว่างกันเหลือ
0-5% ภายใน 15 ปี
สินค้าที่จะต้องลดภาษีลงตามเงื่อนไขทั้งหมดมี 15 กลุ่มได้แก่ปูนซีเมนต์
ปุ๋ย ผลิตภัณฑ์หนัง เยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ
เครื่องใช้อีเลคโทรนิคส์ เฟอร์นิเจอร์และหวาย น้ำมันพืช เคมีภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์
พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ และแคโทดหรือหลอดที่ทำจากทองแดง
ใน 15 กลุ่มนี้ สินค้าตัวใดมีภาษีสูงกว่า 20% ภายใน 5-8 ปี หรืออย่างช้าที่สุดคือปี
2543 ประเทศสมาชิกจะต้องลดภาษีให้เหลือ 20% และหลังจากนั้นอีก 7 ปี คือปี
2551 จะต้องลดลงเหลือเพียง 5% หรือไม่มีภาษีเลย
ส่วนสินค้าที่มีภาษี 20% หรือต่ำกว่านี้ประเทศคู่ค้าในกลุ่มตกลงลดภาษีให้เหลือ
0-5% กันเองได้ทันทีแม้ว่าจะเป็นเพียงสองประเทศก็ตามโดยไม่ต้องทำพร้อมกันทุกประเทศ
15 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่จะมีการลดอัตราภาษีโดยเร็วนั้นคาดว่าอุตสาหกรรมไทยที่อาจจะได้รับผลกระทบ
และต้องปรับประสิทธิภาพให้แข่งขันกับประเทศอื่นได้จะมีเพียง 2 กลุ่ม คืออุตสาหกรรมพลาสติก
และน้ำมันพืช
ในขณะที่อุตสาหกรรมอีก 13 กลุ่ม เป็นอุตสาหกรรมที่ไทยน่าจะได้เปรียบประเทศอื่น
ๆ หรือมีโอกาสที่จะขยายการลงทุน เพื่อรองรับตลาดอาเซียนที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น
ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในระยะยาว
แล้วภาคใต้จะปรับตัวอย่างไรเมื่อเข้าสู่อาฟต้า สินค้าที่เป็นผลผลิตของภาคใต้และเข้าสู่การลดภาษีหรือ
"CEPT" ที่สำคัญคือ อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน อุตสาหกรรมจากผลิตภัณฑ์ยาง
อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์
หรือจะเป็นอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งหรืออาหารทะเลกระป๋อง ถึงแม้ว่าไม่ได้อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในกฎเกณฑ์ของอาฟต้าก็ตามก็ถูกหยิบยกมาอภิปรายว่าต้องมีการปรับตัวเองในการส่งออกด้วยเช่นเดียวกัน
อาหารทะเลแช่แข็งและอาหารทะเลกระป๋อง ได้มีการเสนอแนะว่าควรจะหันมาผลิตอยู่ในแบรนด์สินค้าและพัฒนาเป็นของตนเองมากกว่าการเป็นเพียงผู้ที่รับจ้างผลิต
เพราะเท่าที่ผ่านมาอำนาจการต่อรองของอุตสาหกรรมนี้น้อยมากจะขึ้นอยู่กับเจ้าของสินค้าที่จะมาบีบให้ต้องปฏิบัติตาม
เนื่องจากเป็นผู้ว่าจ้างเป็นเจ้าของตลาด
หรือกลยุทธ์ของผู้ว่าจ้างที่สนับสนุนให้ผู้รับจ้างผลิตหรือจะเรียกว่า "แพ็คเกอร์"
มีมากรายเมื่อสินค้าออกมาจำนวนมากจะตก เป็นโอกาสของผู้ว่าจ้าง ผลิตที่จะเลือกซื้อสินค้าและกดราคาลงมาได้
ซึ่งจากสถิติตัวเลขการส่งออก อาหารกระป๋องของไทยมีการขยายตัวมากขึ้นจากในปี
2532 มีตัวเลขการส่งออกเพียง 4,500 ตัน มาในปี 2534 ที่ผ่านมาตัวเลขได้ขยับสูงขึ้นไปถึง
10,000 ตัน จึงเป็นโอกาสดีสำหรับการส่งออกของไทย
ส่วนอุตสาหกรรมจากผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้หลักให้กับภาคใต้
ซึ่งถูกเสนอโดยประเทศมาเลเซียสำหรับให้นำอุตสาหกรรมยางเข้าสู่ อาฟต้า
ไทยมีการปลูกยางอยู่ถึง 10 ล้านไร่ การนำยางพารามาปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจจากอดีตจนถึงปี
2533 ไทยเรามีผลิตผลจากยางธรรมชาติเป็นรองจากมาเลเซียมาตลอด จนมาในปี 2534
ประเทศไทยมีผลผลิตยางสูงกว่ามาเลเซีย คือไทยสามารถผลิตยางได้ถึง 1.34 ล้านตัน
มาเลเซียผลิตได้ 1.30 ล้านตัน
ยางดิบมีอุตสาหกรรมการผลิตยางสำเร็จรูปที่ต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าเป็นอุตสาหกรรมผลิตถุงมือยาง
อุตสาหกรรมยางรถยนต์ ฯลฯ
แต่การพัฒนาของอุตสาหกรรมยางไทยก้าวหน้ามาตลอด อย่างล่าสุดก็ได้มีการลดภาษีของยางดิบไป
เพราะการพัฒนาจนไม่จำเป็นต้องได้รับการปกป้องจากรัฐอีกต่อไป ซึ่งถือว่าได้มีการลดอัตราภาษีไปก่อนหน้าที่รัฐบาลจะมีการตกลงร่วมเรื่องเขตการค้าเสรีอาเซียน
ถือว่าอุตสาหกรรมการผลิตภัณฑ์ยางของไทยมีศักยภาพในการผลิตที่สูงมากอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง
จึงไม่น่าที่จะเห็นห่วงเพราะสามารถแข่งขันและต่อสู้ในตลาดประเทศอาเซียนได้เป็นอย่างดี
และอุตสาหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพาราก็เช่นเดียวกันการมีผลผลิตของยางพารามากเท่าใด
การปลูกยาง เพื่อนำมาทำแทนยางที่หมดอายุลงก็มีมากขึ้น
ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางก็ได้รับการสนับสนุนไปด้วยเช่นเดียวกัน
ส่วนปาล์มน้ำมัน พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของทางภาคใต้อีกชนิดหนึ่งเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง
ที่ได้ถูกหยิบขึ้นมาอภิปรายที่สำคัญที่สุด เพราะจากความเสียเปรียบในทุกประตูของพืชเศรษฐกิจตัวนี้หลังจากต้องเข้าสู่อาฟต้า
วิเคราะห์จากตัวเลขของธุรกิจทั้งทางด้านการเพราะปลูกของเกษตรกรและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็นโรงงานสกัด โรงงานกลั่นหรือการนำไขปาล์มไปใช้ประกอบในอุตสาหกรรมอื่น
เช่น การทำสบู่การนำไปเป็นส่วนผสมของน้ำมันหล่อลื่นเวชภัณฑ์ สีทาบ้าน ฯลฯ
ที่มีมูลค่ารวมสูงถึง 10,000 ล้านบาทต่อปีนั้น
อาจจะต้องสูญเสียไปเพราะไม่สามารถแข่งขันกับมาเลเซียที่มีศักยภาพในการผลิตทั้งระบบที่เหนือกว่า
เพราะจากการเปรียบเทียบตัวเลขของการผลิตไทยกับมาเลเซีย ไทยผลิตปาล์มได้เพียง
3,000 กก./ไร่/ปี ในขณะที่มาเลเซียสามารถผลิตได้ 6,000 กก./ไร่/ปี เนื่องมาจากการพัฒนาพันธุ์ที่รุดหน้ากว่าไทยตลอดจนต้นทุนการผลิตที่มีความแตกต่างกันเกือบจะเท่าตัว
เป็นเพราะว่ามาเลเซียเจ้าของสวนปาล์มนั้นเป็นทั้งเกษตรกรและมีโรงงานสกัด
มีโรงกลั่นและยังเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกด้วย
ในขณะที่ไทยเราเกษตรกรผลิตแล้วต้องส่งให้โรงงานสกัด แล้วโรงงานสกัดก็นำน้ำมันปาล์มดิบไปส่งต่อให้กับโรงกลั่น
ซึ่งก็ต่อไปยังอุตสาหกรรม ต่อเนื่องทำให้ไทยเรามีต้นทุนที่สูงกว่าในการผลิตน้ำมันปาล์มในแต่ละขั้นตอน
ไทยจึงเสียเปรียบมาเลเซียตลอดเวลาความแตกต่างในเรื่องของราคาที่มาเลเซีย
หากจะเปรียบเทียบกันแล้ว จะเป็นว่าน้ำมันปาล์มดิบของไทยเฉลี่ยมีราคาตกกิโลกรัมละ
12 บาทในขณะที่มาเลเซียมีราคาเฉลี่ยเพียง 7 บาท เป็นผลให้มีการลักลอบ นำน้ำมันปาล์มดิบจากมาเลเซียเข้ามา
หากอาฟต้า มีผลบังคับใช้ ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบจากมาเลเซียจะถูกซื้อขายถ่ายเทมาในประเทศไทยสูงขึ้นอีก
เพราะไทยเองก็ผลิตไม่พอกับความต้องการในประเทศอยู่แล้ว แล้วปัญหาด้านสังคมของเกษตรกรชาวสวนปาล์มที่มีอยู่กว่า
100,000 คนก็จะกลายมาเป็นปัญหาหนักที่สุด
เพราะเมื่อมีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากมาเลเซียได้ในราคาที่ถูกกว่าไทย
โรงสกัดก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปแล้ว เมื่อโรงสกัดเลิกกิจการไป เกษตรกรชาวสวนปาล์มจะต้องลดการปลูกลงไปในที่สุด
และต้องยกเลิกการปลูกทั้งหมดเพราะไม่มีใครกล้าที่จะรับประกันได้ว่าผลผลิตที่ผลิตออกมาแล้วจะมีโรงสกัดมารองรับ
นั้นเป็นเพียงไม่กี่ประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกัน รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันอย่างไร
จะเข้ามาสนับสนุนให้อุตสาหกรรมทารก เติบโตเพื่อแข่งขันต่อไป หรือจะยอมสูญเสียอุตสาหกรรมอันนี้ไป
ก็ต้องคิดหนักกัน แต่ทว่าอย่างน้อยยังมีประเทศฟิลิปปินส์ ที่ตกอยู่ในที่นั่งเดียวกันกับไทยเรา
เพราะฟิลิปปินส์มีอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยเราซึ่งปัญหานี้ก็ยังไม่มีการสรุปกันในการสัมมนาในครั้งนี้
แต่อย่างไรก็ตามทางออกของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันการตีความของแกตต์ยังคง ถือว่าน้ำมันปาล์มเป็นสินค้าเกษตรที่อยู่ในพิกัด
1-24 ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลที่มีคณะทำงานด้านเทคนิคเฉพาะกิจ หรือ INTERIM TECHNICAL
WORKING GROUP ซึ่งมาจากเจ้าหน้าที่กระทรวงการคลัง เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับอัตราภาษีที่จะมารวบรวมและจำกัดความ
ของกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมทั้ง 15 รายการ เพื่อการตีความว่าจะให้ปาล์มน้ำมันอยู่ในอุตสาหกรรมหรือไม่
ทางออกของอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของภาคใต้จึงต้องฝากไว้กับรัฐบาลที่จะแก้ไขปัญหานี้
ในการประชุมของเขตการค้าเสรีอาเซียนต่อไป