อุทยานแห่งชาติ Mt.Cook มรดกโลกของนิวซีแลนด์

โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ประมาณห้าปีก่อน ผมมีโอกาสอ่านสัมภาษณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิชาวไทยท่านหนึ่ง ซึ่งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อแตกต่างระหว่างอุทยานแห่งชาติในไทยกับต่างประเทศไว้ว่า อุทยานแห่งชาติในไทยนั้นจะค่อนข้างจะเคร่งครัดในการเข้าเยี่ยมชม โดยเฉพาะการเข้าไปเที่ยวค้างคืนในเขตวนอุทยาน ปัจจุบันผมไม่ทราบว่าในเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปมากหรือน้อยเท่าไรแล้ว แต่ในอุทยานแห่งชาติของฝรั่ง การเปิดกว้างให้ประชาชนเข้าไปเที่ยวชมและยังจัดสถานที่เช่นกระท่อมและป้ายบอกทางสำหรับนักท่องเที่ยวเพื่อค้างคืนเพื่อเรียนรู้และอนุรักษ์ธรรมชาติถือเป็นนโยบายสำคัญของเขา ในบรรดาอุทยานแห่งชาติทั้งหมดของนิวซีแลนด์ อุทยานแห่งชาติ Mt.Cook ซึ่งยูเนสโกยกให้เป็นมรดกโลกเป็นหนึ่งในสถานที่ซึ่งสามารถเดินทางไปเที่ยวได้สะดวกสบายที่สุด

การเดินทางไป Mt.Cook จากนครไครส์เชิร์ชสามารถทำได้ง่าย โดยขับรถผ่านที่ราบแคนเทอเบอรี่ไปตามทางหลวงหมายเลข 8 ซึ่งอยู่ในทิศตะวันตกเฉียงใต้ เมื่อผ่านที่ราบ ดังกล่าวแล้ว ภาพแรกที่ปรากฏคือแนวเทือกเขาสีขาวโพลนซึ่งยาวสุดลูกหูลูกตาทีเดียว ทำให้ผมนึกถึงชื่อภาษาเมารีของประเทศนิวซีแลนด์ว่า เอาเทียรัว ซึ่งแปลเป็นอังกฤษว่า The land of the long white cloud โดยมีเรื่องเล่ามาจากชาวเมารีเผ่าไนทาฮู ว่าเมื่อพวกเขาเดินเรือจากทะเลใต้เพื่อหาแผ่นดินใหม่ พวกเขาได้มาถึงทางตะวันตกของเกาะใต้ สิ่ง แรกที่พวกเขาพบเห็นคือ แผ่นดินซึ่งมีภูเขาหิมะที่ปกคลุมด้วยเมฆสีขาวยาวสุดลูกหูลูกตา เนื่องจากชาวเมารีซึ่งเดินทางมาจากทะเลใต้ยังไม่เคยเห็นภูเขาหิมะจึงเข้าใจว่าเมฆสีขาวปกคลุมแผ่นดินใหม่ของพวกเขา จึงตั้งชื่อแผ่นดินนั้นว่า เอาเทียรัว

เมื่อเดินทางบนทางหลวงหมายเลข 8 จะพบทางแยกคือ ทางหลวงหมายเลข 80 ซึ่งจะตัดตรงเข้าอุทยานแห่งชาติ Mt.Cook ในบรรดายอดเขาในเทือกเขาแอลป์ใต้นั้นมียอดเขาสูงที่สุดคือ Mt.Cook ซึ่งสูง 3,754 เมตร เป็นยอดเขาที่สูงอันดับที่ 37 ของโลกซึ่งตั้งชื่อตามกัปตันเจมส์ คุก โดยพลเรือเอก จอห์น สโตก ในปี 1846 แต่ว่าก่อนที่ฝรั่งจะค้นพบภูเขาลูกนี้ชาวเมารีได้ตั้งชื่อภูเขาลูกนี้เอาไว้แล้วว่า เอารังกิ ซึ่งแปลว่า เขาสูงเสียดเมฆ ในสมัยที่ฝรั่งเข้ามาในนิวซีแลนด์ใหม่ๆนักไต่เขาจำนวนมากได้แสดงความต้องการที่จะปีนเขา ขณะที่ชาวเมารีซึ่งเหมือนกับวัฒนธรรมหลายๆ แห่งบนโลกมองว่า เขาเอารังกินั้นเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพราะพวกเขาเชื่อว่าเทพเจ้าของเมารีสิงสถิตอยู่บนยอดเขา แต่ฝรั่งนั้นกลับเห็นว่า การพิชิตยอดเขาสูงเป็นเรื่องท้าทาย โดยทีมไต่เขาทีมแรกเริ่มทำการพิชิต Mt.Cook ประกอบด้วยสาธุคุณกรีน นักบวชเชื้อสายไอริช และนักไต่เขาชาว สวิสอีก 2 คน ทีมของสาธุคุณกรีนทำการปีน เขาในฤดูใบไม้ร่วงของปี 1882 โดยเลือกชาวเมารีนำทางไปเอารังกิ แต่เมื่อเข้าใกล้ภูเขาก็เกิดลมพัดค่อนข้างรุนแรง ซึ่งเป็นที่บ่งชี้ว่าทัศนวิสัยไม่ดีและมีแนวโน้มว่าจะเกิดพายุฝนแต่ชาวเมารีมองว่าเป็นการตักเตือนจากเทพเจ้า จึงพากันหนีกลับไปหมด ทำให้สาธุคุณกับนักไต่เขาสองคนต้องปีนเขาอย่างยากลำบาก เพราะอุปกรณ์ที่ล้าสมัยประกอบกับพายุที่รุนแรง ในที่สุดสาธุคุณและคณะได้ปีนถึงตอนบนและห่างจากยอดเขาเพียงห้าสิบกว่า เมตร แต่ด้วยพายุที่รุนแรงประกอบกับไม่มีที่กำบังลมสาธุคุณกรีนจึงต้องจำใจเลิกทัพกลับบ้าน อย่างไรก็ตาม 12 ปีต่อมา คล้าก ไฟฟ์ และเกรแฮม สามสหายนักปีนเขาชาวกีวี สามารถพิชิต Mt.Cook ได้สำเร็จเมื่อกลางฤดูร้อน ปี 1894 ปัจจุบันนี้นักปีนเขาที่ต้อง การพิชิตยอดเขา Mt.Cook สามารถติดต่อ ผ่านสำนักงานป่าไม้ที่หมู่บ้าน Mt.Cook โดยเสียค่าใช้จ่ายในการขอเข้าพักตามกระท่อม ที่กรมป่าไม้ได้ปลูกไว้ถึง 17 แห่งเพื่ออำนวย ความสะดวกให้นักปีนเขา นอกจากนี้กระท่อม หลายแห่งจะมีวิทยุสื่อสารให้ใช้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่หากเกิดอุบัติเหตุ หรือภัยธรรมชาติ เช่น หิมะถล่ม

ในปี 1953 รัฐบาลได้ยกสถานะ Mt.Cook เป็นอุทยานแห่งชาติเพื่อพิทักษ์พันธุ์พืชและดอกไม้รวมถึงนกป่า ในประเทศนิวซีแลนด์นั้นจะเน้นการอนุรักษ์พันธุ์นกป่าเป็นอย่างมาก จะสังเกตได้จากด้านหลังของเหรียญดอลลาร์ และธนบัตรทุกชนิดจะเป็นภาพนกป่าแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นนกกีวีเหยี่ยวนิวซีแลนด์ ไก่ฟ้า เพนกวินคิ้วเหลือง หรือนกเป็ดน้ำ และตามขอบธนบัตรยังมีภาพ ดอกไม้ป่าพันธุ์ต่างๆ จากความพยายามอนุรักษ์ดังกล่าวทำให้ยูเนสโกยก Mt.Cook ขึ้นเป็นมรดกโลกในปี 1987 มีพื้นที่ทั้งหมด 432 ตารางกิโลเมตร ทำให้ครอบคลุมดอกไม้ ป่ากว่า 750 ชนิด รวมทั้งดอกลิลลี่ภูเขา ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติของนิวซีแลนด์ร่วมกับต้นซิลเวอร์เฟิร์น ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำชาติ นอกจากนี้ในเขตอนุรักษ์ของ Mt.Cook ยังคุ้มครองนกป่ากว่า 40 พันธุ์

เมื่อสุดทางหลวงหมายเลข 80 จะพบป้ายบอกทางไปสองทางคือ ด้านซ้ายเข้าสู่หมู่บ้าน Mt.Cook และด้านขวาสู่โรงแรมเฮอร์มิเทจ เนื่องจาก Mt.Cook เป็นอุทยานแห่งชาติ จึงไม่สามารถมีการซื้อขายที่ดินในบริเวณนี้ได้ บ้านและอาคารทุกหลังในหมู่บ้าน Mt.Cook เป็นของกรมป่าไม้โดยผู้ที่มีสิทธิพักอาศัยคือบุคคลที่ทำงานในพื้นที่ Mt.Cook และครอบครัว ทั้งส่วนราชการและเอกชนโดยจะมีกฎเหล็กคือ ห้ามสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้ามาในบริเวณอุทยานแห่งชาติสำหรับผู้พักอาศัยและนักท่องเที่ยว ยกเว้นสุนัขนำทางของคนตาบอดเท่านั้น ทำให้ประชากรในหมู่บ้าน Mt.Cook จะมีเพียง 120 คน และ จะมีสูงสุดเพียง 300 คนในช่วงฤดูท่องเที่ยวเพื่อรองรับงาน ส่วนโรงแรมเฮอร์มิเทจเป็นโรงแรมเพียงแห่งเดียวในเขต Mt.Cook มีห้องพักหลากหลายตั้งแต่ห้องสูทโรงแรมห้าดาว ไปจนถึงชาเลต์สำหรับครอบครัว ในฤดูหนาวหิมะจะปกคลุมตั้งแต่สวนหน้าโรงแรมไปจนถึงถนนเลยทีเดียว ตามทางหลวงเลข 80 จะมีทางแยกไปตามหุบเขาต่างๆ ซึ่งอนุญาตให้นักท่องเที่ยวปีนเขาได้ โดยทางแยกเหล่านี้จะเป็นถนนลูกรัง ในบรรดาหุบเขาทั้งหมดจะสามารถนำไปถึงธารน้ำแข็งได้ แต่ในฤดูหนาว เส้นทางฮุกเกอร์ วัลเลย์ดูจะเป็นที่นิยมที่สุดเพราะทางแยกอยู่หน้าโรงแรมเฮอร์มิเทจ เมื่อหิมะตกธารน้ำแข็ง จะขยายตัวทำให้นักท่องเที่ยวไม่ต้องเสียเวลา เดิน 4-5 ชั่วโมงแต่อาศัยขับรถยนต์ไปสุดถนน ลูกรังก็จะพบธารน้ำแข็งทันที

ด้วยความที่ฝรั่งมาเล่นตั้งชื่อตามใจ ชาวไนทาฮูจึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาชื่อเมารีแทน ซึ่งสุดท้ายแล้วศาลได้พิจารณาในปี 1998 ให้ประนีประนอมกันโดยเพิ่มชื่อเมารีไว้ด้านหน้าชื่อฝรั่งว่า อุทยานแห่งชาติ Aoraki Mt.Cook เพื่อความสมานฉันท์ นอก จากการปีนเขาแล้ว Mt.Cook ยังมีกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวมากมายตั้งแต่เดินเขาซึ่งทางกรมป่าไม้ได้สร้างสะพานแขวนจำนวนมากเพื่อข้ามแม่น้ำและธารน้ำแข็ง นอกจากนี้ ยังมีเส้นทาง 34 กิโลเมตรให้นักปั่นจักรยานภูเขาสามารถเที่ยวชมธารน้ำแข็งและทะเสสาบ เช่นเดียวกับนักสกีที่มีประสบการณ์สูงสามารถ เล่นสกีจากยอดเขาได้โดยการใช้เฮลิคอปเตอร์ นำนักสกีขึ้นไป นอกจากนี้ยังมีสกีเพลนนำนักท่องเที่ยวที่ชอบถ่ายรูปไปบนยอดเขาเพื่อถ่ายภาพและเล่นหิมะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ใช้อุทยานแห่งชาติให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนของตนในการเรียนรู้ธรรมชาติ และมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศในการทำอุทยานแห่งชาติให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบการผจญภัยไปในตัว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.