"สมพงษ์ ฝึกการค้า เปลี่ยนจากท่าน้ำมาวิ่งรถไมโครบัส"


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

จากอดีตเจ้าของ "บริษัทบางกอกวอเตอร์รีซอส" โครงการจัดหาน้ำดิบเพื่อโรงงานอุตสาหกรรมเขตสมุทรปราการวันนี้ "สมพงษ์ ฝึกการค้า" ได้กลายเป็นเจ้าของ "บริษัทบางกอก ไมโครบัส" ผู้รับสัมปทาน 10 ปีทำธุรกิจวิ่งรถโดยสารปรับอากาศขนาดเล็กจำนวน 400 คัน บนเส้นทาง 10 สายในเขตธุรกิจ

ประมาณสิงหาคมปีหน้าไมโครบัสคันแรกก็จะเปิดบริการให้ใช้ได้ในเส้นทางสายแรกจากจำนวน 10 สาย ซึ่งประกอบด้วย หนึ่ง เส้นทางสายจตุจักร-ประชาชื่น ระยะทาง 20 กม. สอง เส้นทางสายสีลม-ประตูน้ำระยะทาง 12 กม. สาม เส้นทางสายวงเวียนใหญ่-ปทุมวัน ระยะทาง 19 กม. สี่ เส้นทางสายท่าน้ำสี่พระยา-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิระยะทาง 16 กม. ห้า เส้นทางสายเดอะมอลล์ท่าพระ-หัวลำโพง ระยะทาง 24 กม. หก เส้นทางสายลุมพินี-พระโขนง ระยะทาง 17 กม. เจ็ด เส้นทาง สายรามคำแหง 39-ถนนพระรามที่ 9 ระยะทาง 14 กม. แปดเส้นทางสายสถานีขนส่งสายใต้ใหม่-สามเสน ระยะทาง 14 กม.เก้า เส้นทางสายบางลำภู-ขนส่งสายใต้ใหม่-ท่าพระ ระยะทาง 27 กม. และสิบ เส้นทางสายเซ็นทรัลลาดพร้าว ระยะทาง 27 กม.

"ในหลักการที่พูดกันแบบเดิมคือให้วิ่งเป็นวงในกรุงเทพ จากจุดธุรกิจไปยังจุดธุรกิจอีกแห่งหนึ่ง นี่คือคอนเซปท์เวลาเราประมูลเราไม่อยากจะกำหนดเส้นทางให้เพราะเราอยากให้เอกชนกำหนดว่าอะไรทำแล้วกำไร อะไรทำแล้วไม่กำไรซึ่งถ้าโครงการนี้ออกมาแล้วจะวิ่งในจุดธุรกิจเช่น อนุสาวรีย์ไปสีลมไปทางคลองเตย เป็นวงกลม" ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุลหรือ "หม่อมเต่า" อธิบดีกรมบัญชีกลางซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการ ขสมก. เล่าให้ฟัง

ในอดีตสมพงษ์เคยเป็นตำรวจกองทะเบียนรถยนต์และมีธุรกิจเดินรถเมล์วิ่งเส้นทางบางลำภู-หมู่บ้านเศรษฐกิจและสามารถสร้างตัวขึ้นมาได้จากสงครามเวียดนามซึ่งสมพงษ์ทำธุรกิจเดินรถขนส่งทหาร จีไอ. ของสหรัฐจากสนามบินดอนเมืองไปยังโรงแรมต่าง ๆ ในกรุงเทพ-ด้วยรถโค้ชปรับอากาศ หลังสงครามเลิกไปเขาได้หันมาเป็นตัวแทนขายรถดั้มพ์และนำเข้าเครื่องจักรขนาดใหญ่ในกิจการรับเหมาก่อสร้าง

ผู้ร่วมลงทุนกับสมพงษ์ในโครงการไมโครบัสนี้ ได้แก่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งถือหุ้น 10% ของทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท และองค์การขนส่งมวลชน (ขสมก.) ถือหุ้น 20% โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือบริษัท บางกอกมอเตอร์ อิควิปเมนท์ถือ 70%

"การถือหุ้นของบริษัทในโครงการไมโครบัส 70% นั้นบริษัทจะถือจริงแค่ 51% ส่วนที่เหลือ 19% กำลังเจรจากับสถาบันการเงินในประเทศอยู่ เพื่อให้เข้าถือหุ้นดังกล่าว หลังการดำเนินการไประยะหนึ่งจะมีแผนนำบริษัทเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป และเมื่อสัญญาเดินรถได้สิ้นสุดลง ขสมก.จะต่อสัญญาให้อีกคราวละ 2 ป ี" สมพงษ์เล่าถึงแผนการในอนาคตของบริษัท

สายสัมพันธ์ดั้งเดิมของสมพงษ์กับสำนักงานทรัพย์สินฯ ที่ต่อเนื่องจากโครงการจัดหาน้ำดิบเป็นเพราะ จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมขณะนั้นเป็นผู้หนึ่งที่ผลักดันขึ้น ดังนั้นเมื่อจิรายุขึ้นเป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ และเห็นว่าโครงการจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมจึงเข้าถือหุ้นในโครงการนี้ด้วย

"กรณีที่เราเข้าร่วมทำโครงการไมโครบัสด้วย เพราะมีการพูดถึงปัญหาจราจร เมื่อมีคนเขาคิดปรับปรุงบริการแก่มวลชนเพื่อลดปัญหาลง เราก็ให้ความร่วมมือถือหุ้นในบริษัท บางกอกไมโครบัส ประมาณ 20 ล้านบาทหรือ 10%" จิรายุ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินเล่าให้ฟัง

ในระยะแรกจุดคุ้มทุนในเชิงพาณิชย์ของการดำเนินธุรกิจนี้ สมพงษ์ในฐานะผู้ก่อการได้ให้ทัศนะว่า ตนเองไม่ได้คาดหวังว่ากี่ปีจะคุ้มทุน แต่บริษัทได้เห็นปัญหาจราจรคับคั่งเป็นสิ่งน่าวิตกสำหรับชีวิตประจำวัน บริษัทจึงเน้นให้บริการมากกว่าเก็งกำไร

ค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่สูงเพราะต้องการเน้นบริการของไมโครบัส ทำให้บริษัทต้องมีการให้บริการประกันชีวิต ชั้นหนึ่งแก่ผู้โดยสาร เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ส่วนภายในรถจุที่นั่งได้เพียง 20 ที่นั่งซึ่งไม่คุ้มทุน ขณะที่รถเมล์หรือ "รถร้อน" ตามศัพท์ ที่หม่อมเต่ากล่าวว่ารถนี้ออกแบบรับผู้โดยสารเกินกว่า 95-140 คนนอกจากนี้ยังต้องติดตั้งเครื่องกรองอากาศ โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบการ์ดโฟน พร้อมหนังสือพิมพ์และเปิดเพลงผ่อนคลายอารมณ์ให้ฟังด้วย

"รถไมโครบัสเราจะรับประกันที่นั่งว่าไม่ให้มีการยืน" สมพงษ์ กล่าว

เมื่อพิจารณาจากค่าโดยสารที่กำหนดว่าปีแรกเก็บราคา 15 บาทปีที่สองเก็บ 20 บาทปีที่สามเก็บ 25 บาทปีที่สี่เก็บราคา 30 บาทปีที่ห้าราคา 40 บาทปีที่หกถึงปีที่ 10 เก็บราคา 40 บาทตามแต่ว่าคณะกรรมการกรมขนส่งทางบกเป็นผู้กำหนด

รายได้จากค่าโดยสารเหล่านี้บริษัทบางกอกไมโครบัส ต้องจ่ายค่าสิทธิตามสัญญาเดินรถ กับ ขสมก. ดังนี้ ค่าดำเนินการ ปีละ 5% ของรายได้หรือไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทและ 35% ของกำไรในปีที่สองหรือปีต่อมาจะต้องแบ่งให้ทาง ขสมก. ด้วย

"ผมเองก็ยังไม่ค่อยแน่ใจเหมือนกันว่าโครงการนี้จะไปรอดหรือเปล่า? แต่เพื่อให้บริการแก่ประชาชนส่วนรวมและแก้ปัญหาจราจร ผมคิดว่าเราน่าสนับสนุน" จิรายุให้ความเห็น

อย่างไรก็ตามบนเส้นทางสายธุรกิจของสมพงษ์ ฝึกการค้าก็ยังคงมุ่งมั่นต่อไปในการที่จะรุกเข้าคุมพื้นที่ในสัมปทานโครงการสาธารณูปโภคแม้ว่า ครั้งหนึ่งเขาจะต้องล้มเหลวในโครงการบางกอกวอเตอร์รีซอสก็ตามที !



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.