|

Made in China = ห่วย?!?
โดย
วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
เดือนสิงหาคมต่อกันยายนที่ผ่านมาผมเดินทางไปปฏิบัติภารกิจกับคุณสนธิ ลิ้มทองกุล และคณะของเอเอสทีวีที่สหรัฐอเมริกา เกือบสามสัปดาห์ พวกเราเดินทางไปทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ทั้งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นิวยอร์ก ลอสแองเจลิส, ลาสเวกัส และซานฟรานซิสโก
ระหว่างอยู่ที่แมรี่แลนด์ คุณจารุณี จันทรปรรณิก หรือที่ผมเรียกว่า 'ป้าติ๋ว' แกนนำพันธมิตรคนสำคัญในแถบวอชิงตัน ดี.ซี. และเจ้าของร้านขายของเล่น ทอยส์ ยูนีค (Toys Unique) เมื่อทราบว่าผมเพิ่งเดินทางกลับมาจากกรุงปักกิ่งได้ไม่นานก็รีบบอกกับผมทันทีว่า ช่วงนี้ของเล่นที่ผลิตจากประเทศจีนมีปัญหามากเพราะบริษัทแม่เรียกคืนของเล่นหลายล็อตใหญ่รวมถึงที่ร้านของป้าด้วย
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาจนถึงต้นเดือนกันยายน กระทั่งระหว่างที่ผมปิดต้นฉบับอยู่นี้ก็มีข่าวเกี่ยวกับการเรียกคืนของเล่นและปัญหาคุณภาพสินค้าผลิตจากจีนเผยแพร่ออกมาอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ทั้งนั้นข่าวใหญ่ที่สุดก็คือข่าวการเรียกคืนของเล่นที่ผลิตจากจีนจำนวน 19 ล้านชิ้นของบริษัท แมทเทล (Mattel Inc.) บริษัทของเล่นยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันผู้ผลิตของเล่นชื่อดังอย่างเช่น ตุ๊กตาบาร์บี้ รถของเล่น Matchbox Hot Wheels โดยของเล่นจำนวน 19 ล้านชิ้นที่ถูกเรียกคืนนั้นมีตั้งแต่ตุ๊กตา รถเด็กเล่น หุ่นการ์ตูนรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้สาเหตุของการเรียกคืนนั้นก็มีตั้งแต่ปัญหาสารตะกั่วปนเปื้อน ในสีที่ใช้กับของเล่นไปจนถึงปัญหาแม่เหล็กที่ติดบนของเล่นนั้นชิ้นเล็กเกินไปและอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กได้หากเด็กกลืนชิ้นส่วนแม่เหล็กเหล่านั้นลงไปในร่างกาย
ก่อนหน้านั้นในเดือนมิถุนายน บริษัทอาร์ซี 2 คอร์ป (RC2 Corp) บริษัทสหรัฐฯ ผู้ผลิตของเล่นไม้ เรียกเก็บรถไฟไม้ 'โทมัส แอนด์ เฟรนด์' จำนวน 1.5 ล้านคัน ที่ผลิตในจีนด้วยสาเหตุที่สีปนเปื้อนตะกั่ว เดือนถัดมา บริษัทแฮสโบร (Hasbro Inc.) ประกาศเรียกคืนเตาของเล่น Easy-Bake Ovens จำนวน 1 ล้านชิ้น โดยระบุถึงสาเหตุของการเรียกคืน ว่าเจ้าเตาของเล่นนี้อาจทำให้มือและนิ้วของเด็กไหม้ได้ หากเด็กสอดมือเข้าไปในช่องด้าน หน้าของเตา ทั้งนี้แฮสโบรระบุว่ามีการร้องเรียนมากถึง 249 กรณี ว่าเด็กได้รับอันตรายจากการสอดมือเข้าไปในเตาของเล่นดังกล่าว
ปลายเดือนสิงหาคมบริษัททอยส์ อาร์ อัส (Toys 'R' Us Inc.) ร่วมกับคณะกรรมการ คุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภคประกาศ เรียกคืนกล่องไม้บรรจุด้วยสีหลากชนิด รุ่น Imaginarium จำนวนกว่า 27,000 กล่องจากผู้บริโภคโดยระบุว่าสีบางชนิดในกล่องนั้นมีสารตะกั่วปนเปื้อนเกินว่ามาตรฐานที่กำหนด
จากเหตุการณ์ดังกล่าว 'ทอยส์ อาร์อัส' กล่าวโทษบริษัท Funtastic บริษัทฮ่องกง ผู้เป็นตัวกลางสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยระบุว่าบริษัท Funtastic สั่งสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้มาจากบริษัทผู้ผลิตที่ชื่อ ตานเสียง อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดดิ้ง บริษัทที่ตั้งอยู่ในเมืองหนิงปอ มณฑลเจ้อเจียง
ไม่เพียงแต่ทอยส์ อาร์ อัส เท่านั้น ที่โยนความผิดจากความไม่ได้มาตรฐานของผลิตภัณฑ์ให้กับผู้ผลิต เพราะบริษัทมะริกันอื่นๆ ก็ปฏิบัติในทำนองเดียวกัน โดยข่าวที่โด่งดังที่สุดก็คือ กรณีที่จาง ซูหง เจ้าของบริษัท Lee Der Industrial Co. ผู้ผลิตของเล่นให้กับ ฟิชเชอร์-ไพร์ส (Fisher-Price) บริษัทในเครือของ Mattel ทำอัตวินิบาตกรรมด้วยการแขวนคอภายในโกดังแห่งหนึ่งในเมืองฝอซัน มณฑลกวางตุ้ง เมื่อวันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม หลังจากที่สำนักงานตรวจสอบคุณภาพแห่งชาติจีนสั่งระงับใบอนุญาตการส่งออกสินค้าของบริษัทจีน 2 แห่งเป็นการชั่วคราว ซึ่งหนึ่งในสองมีบริษัท Lee Der ของจางอยู่ด้วย ทั้งนี้การระงับใบอนุญาตดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่บริษัทอเมริกันร้องเรียนต่อรัฐบาลจีนว่า บริษัทของจางใช้ผงสีปลอมที่ปนเปื้อนสารตะกั่วเกินกว่าระดับมาตรฐาน
ถามว่าของเล่นที่ผลิตในจีนไร้มาตรฐาน และมีปัญหามากขนาดนั้นจริงหรือ?
สถิติจากกวงหมิงเน็ต อันเป็นเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์รายวันกวงหมิงระบุว่า ปัจจุบันประเทศจีนเป็นประเทศที่ส่งออกของเล่นมากที่สุดในโลก โดยในปี 2549 ประเทศจีนส่งออกของเล่นรวมทั้งสิ้นกว่า 22,000 ล้านชิ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของปริมาณของเล่นที่ส่งออกทั่วโลก ขณะที่มูลค่า การส่งออกของเล่นของประเทศจีน ในปี 2549 นั้นก็สูงถึง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ในสถานการณ์ที่อเมริกาและหลายประเทศทั่วโลกร่วมกันรุมประณามของเล่นที่ผลิตจากประเทศจีน และสินค้า Made in China ว่าไร้มาตรฐาน กลับมีนักวิชาการชาวไต้หวันคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
ต้นเดือนสำนักข่าว AFP เผยแพร่บทความของเฉิน ซื่อเฟิน (Shih-Fen S. Chen) นักวิชาการด้านบริหารธุรกิจชาวไต้หวันที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ทางด้านธุรกิจระหว่างประเทศ ณ Richard Ivey School of Business มหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ออนทาริโอ โดยบทความดังกล่าววิเคราะห์ถึงวิกฤติของเล่นจีนที่เกิดขึ้นไว้ดังนี้คือ
เหตุการณ์การเรียกคืนของเล่นของแมทเทล (รวมถึงของเล่นและสินค้าของบริษัท อเมริกันอื่นๆ) ชี้ให้เห็นว่าสินค้าและของเล่นเหล่านี้ผลิตโดย 'โรงงานรับจ้างผลิตช่วง' ในประเทศจีน ทั้งนี้ทั้งนั้นตามหลักของการจ้างหน่วยงานภายนอกให้ผลิตสินค้าให้ (Out-sourcing) ที่เรียกว่า Original Equipment Manufacture หรือ OEM นั้น บริษัทของเล่น อเมริกันจะต้องเป็นผู้ออกแบบ, ส่งแบบ-วิธีการผลิตไปให้กับผู้รับเหมาช่วงในประเทศจีน หลังจากนั้นจึงซื้อสินค้าที่ผลิตสำเร็จกลับมา ก่อนที่จะนำสินค้านั้นออกขายสู่ผู้บริโภคภายใต้ 'ยี่ห้อ/แบรนด์' ของตัวเอง
เป็นที่ทราบกันดีว่าวิธีการจ้างหน่วยงานอื่นให้ผลิตสินค้าให้นั้นก่อประโยชน์ต่อบรรดาบรรษัทข้ามชาติอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากบรรษัทเหล่านี้ไม่ต้องเสียเวลาไปลงทุนตั้งโรงงานในต่างประเทศ จ้างคนงานและวุ่นวายกับกฎหมายในประเทศนั้นๆ สิ่งเหล่านี้ช่วยลดขั้นตอนการทำงานให้กับบริษัทอเมริกันเหลือเพียงแค่ลงทุนในการออกแบบ ถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำการตลาดและกระจายสินค้าเท่านั้น
ศ.เฉินตั้งข้อสังเกตว่า แม้การว่าจ้างให้บริษัทต่างชาติผลิตสินค้าให้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่สะดวกสบายและง่ายดายที่สุดสำหรับบรรดาบรรษัทข้ามชาติ แต่ภาระที่ต้อง เพิ่มมาของบรรรษัทเหล่านี้ก็คือ การลงทุนเพื่อ เพิ่มความเข้มข้นของการตรวจสอบคุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้า และในเมื่อบริษัทของเล่นอเมริกันไปว่าจ้างให้บริษัทในประเทศที่ประชาชนมีรายได้ต่ำอย่างจีนผลิตของเล่นหรือสินค้าให้ บริษัทอเมริกันก็ไม่ควรจะไปคาดหวังถึงเรื่องคุณภาพสินค้าอะไรมากนัก และในเวลาเดียวกันบริษัทอเมริกันจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้าให้ละเอียดขึ้นเพื่อคัดเอาแต่สินค้าที่มีคุณภาพมาจำหน่าย
ทั้งนี้กระบวนการตรวจสอบคุณภาพนั้นเป็นเรื่องปกติอยู่แล้วของการ Outsourcing และที่สำคัญโรงงานผู้ผลิตสินค้าในจีนก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักของผู้บริโภคชาวอเมริกันแต่อย่างใด สิ่งดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นว่า โรงงานในจีนเหล่านี้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับ "ความน่าเชื่อถือของยี่ห้อ" ของของเล่นเหล่านี้และก็เป็นเรื่องธรรมดาที่สุดที่โรงงานในจีนเหล่านี้จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบจากปัญหาคุณภาพสินค้าเมื่อสินค้ากระจายไปสู่มือผู้บริโภคแล้ว
กระนั้นหลังจากข่าวการเรียกคืนสินค้า ที่ผลิตจากจีนเป็นจำนวนมหาศาลถูกเผยแพร่ ออกไป สื่อมวลชน หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงประชาชนชาวอเมริกันส่วนใหญ่กลับเพ่งเล็งไปที่ประเทศจีนและกล่าวว่าสินค้า Made in China นั้นไม่ได้มาตรฐาน ไม่ปลอดภัย ปนเปื้อนสารพิษ ฯลฯ แต่กลับละเลยที่จะคำนึงถึงข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่ว่าการที่สินค้าผลิตมาไม่ได้คุณภาพและถูกนำมากระจายสู่มือผู้บริโภคนั้น บริษัทอเมริกันผู้นำเข้าก็มีส่วนรับผิดชอบด้วยเช่นกัน
ปลายเดือนสิงหาคม หนังสือพิมพ์ในอเมริกาหลายฉบับตีพิมพ์การ์ตูนเหน็บแนบบริษัทของเล่นอเมริกัน โดยระบุว่า ในเมื่อเจ้าของโรงงานผลิตของเล่นในจีนทำอัตวินิบาต กรรมเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว เหตุใดเจ้าของบริษัทอเมริกันผู้นำ เข้าของเล่นเหล่านั้นจึงไม่ทำเช่นเดียวกันบ้าง?
ศาสตราจารย์ทางด้านธุรกิจระหว่างประเทศคนเดิมกล่าวด้วยว่า ไม่ใช่ว่าโรงงานในจีนจะไม่ต้องรับผิดชอบอะไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นเลย แต่ผู้ที่ควรจะมีส่วนรับผิดชอบกับกรณีนี้มากที่สุดก็คือ บริษัทสหรัฐฯ โดยยกตัวอย่างให้เห็นว่า เร็วๆ นี้มีผลการศึกษาชิ้นหนึ่งชี้ให้เห็นว่าการผลิตเครื่องเล่นเพลงยอดนิยมอย่าง iPod ในโรงงานในประเทศจีนโดยใช้ชิ้นส่วนจากประเทศข้างเคียงอย่างเช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน นั้นมีต้นทุนในการผลิตเพียงแค่ 4 เหรียญสหรัฐ เท่านั้น ขณะที่ บริษัทแอปเปิลได้กำไรจากเครื่อง iPod แต่ละ เครื่องถึง 80 เหรียญสหรัฐ จากราคาขายปลีก เครื่อง iPod 299 เหรียญสหรัฐ ดังนั้นถ้าโรงงานในประเทศจีนจะต้องรับผิดชอบหากเครื่อง iPod มีปัญหาเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย ความรับผิดชอบของโรงงานก็จะต้องน้อยกว่าบริษัทแอปเปิลหลายสิบเท่า (เปรียบเทียบผลประโยชน์จำนวน 4 เหรียญสหรัฐ ที่โรงงานจีนได้รับกับ 80 เหรียญสหรัฐ ที่บริษัทแอปเปิลได้รับ)
มากกว่านั้น เขายังกล่าวด้วยว่าในการ ตัดสินใจซื้อ ผู้ซื้อส่วนใหญ่ก็ให้ความสนใจกับ แบรนด์และยี่ห้อของสินค้ามากกว่าแหล่งที่ผลิตสินค้า ดังนั้นฝ่ายที่จะต้องรับภาระในการ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคก็คือผู้เป็นเจ้าของยี่ห้อ/แบรนด์ที่จำหน่ายสินค้าสู่มือผู้บริโภค มิใช่ประเทศผู้ผลิตสินค้านั้นๆ
ศ.เฉินตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในกรณีที่สินค้าที่ผู้ผลิตจีนรับจ้างผลิตนั้นมีคุณภาพสูง ผู้ที่ได้รับเครดิตแต่เพียงผู้เดียวก็คือ บริษัทอเมริกันเจ้าของยี่ห้อมิใช่โรงงานจีนที่ผลิตสินค้านั้นๆ ดังนั้นในกรณีของเล่นที่ผลิตจากจีนการที่บริษัทอเมริกันโยนความผิดไปให้ฝ่าย จีนแต่เพียงฝ่ายเดียว โดยไม่ยอมรับความผิดพลาดในเรื่องของการตรวจสอบคุณภาพสินค้าจึงเป็นเรื่องที่ไม่สู้จะถูกต้องนัก
นอกจาก ศ.เฉินแล้ว ก็ยังมีอีกหลายคนให้มุมมองที่แตกต่างออกไปอีกด้วยอย่างเช่น บางคนวิเคราะห์ว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็น 'สงครามทางจิตวิทยา' ระหว่างสหรัฐ อเมริกาและประเทศจีน ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากสภาวะการขาดดุลการค้าอย่างรุนแรงของสหรัฐฯ ต่อจีนเป็นเวลาหลายปี ทั้งยังเกี่ยวพันไปถึงปัญหาเรื่องค่าเงินหยวนที่รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามออกมาโจมตีว่ารัฐบาลจีนแทรกแซงค่าเงินหยวนให้อยู่ในระดับที่อ่อนเกินไปอีกด้วย
ล่าสุดรัฐบาลจีนได้ออกมาแสดงท่าทีประนีประนอมกับเรื่องดังกล่าว โดยพยายามออกมากล่าวชักจูงว่า หากวัดกันตามสถิติแล้วของเล่นที่ผลิตจากจีนและไม่ได้มาตรฐาน นั้นหากคิดเป็นสัดส่วนแล้วมีไม่ถึงร้อยละ 0.1 ของของเล่นจีนที่ส่งออกทั้งหมดเท่านั้น ขณะที่ ปัญหาเรื่องมาตรฐานสินค้าส่งออกนั้นส่วนหนึ่งก็เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์มาตรฐาน ของประเทศผู้นำเข้าเองอีกด้วย นอกจากนี้ทางจีนยังกล่าวด้วยว่าการทำลายชื่อเสียงของ สินค้า Made in China นั้นรังแต่จะทำให้ทั้งสหรัฐฯ และจีนเสียหายทั้งคู่ สู้ทั้งสองประเทศออกมาร่วมแสดงความรับผิดชอบและจับมือกันช่วยแก้ปัญหาดีกว่า
ขณะที่ในเชิงปฏิบัติการ ในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลจีนยังเปิดให้สื่อมวลชนต่างประเทศเข้าเยี่ยมชมศูนย์ทดสอบของเล่นเด็กในมลฑลกวางตุ้งอีกด้วย เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนเอาจริงเอาจังกับปัญหาดังกล่าว ทั้งยังจัดการให้คณะกรรมการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพสินค้า (AQSIQ) เริ่มใช้ระบบเรียกเก็บสินค้าที่มาตรฐานต่ำและไม่ปลอดภัย โดยหากผู้ผลิตไม่ดำเนินการตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ ทางการจีนก็จะสั่งให้มีการเรียกคืนสินค้าและสั่งปรับเงินผู้ผลิตมากสุดถึง 3 เท่าของราคามูลค่าสินค้า
กระนั้นเมื่อมองกันในระยะยาวแล้ว ดูเหมือนว่าสินค้า Made in China คงจะต้อง ฝ่าด่านข้อกล่าวหาที่ว่า "Made in Chine = ห่วย" ไปอีกนานหลายปี เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า การเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้คืนกลับมานั้นยากเย็นเสียยิ่งกว่าการเข็นครกขึ้นภูเขาไท่ซานเสียอีก
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|