Green Mirror...แม่น้ำเซน (Seine) เส้นชีวิตแห่งเมืองปารีส

โดย พัชรพิมพ์ เสถบุตร
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อเราเอ่ยถึงเมืองปารีส จะต้องนึกถึงแม่น้ำเซนควบคู่กันเสมอ เช่นเดียวกับแม่น้ำเจ้าพระยาและเมืองบางกอก จะขาดจากกันไม่ได้เลย 'เจ้าพระยา' และ 'เซน' มีทั้งความเหมือนและความแตกต่าง มันเป็นมุมมองที่ท้าทายคนช่างคิด ที่จะวิเคราะห์แยกแยะออกมาเพื่อเป็นความรู้ย่อยๆ แลกเปลี่ยนกัน

แม่น้ำเซน (Seine) รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นแม่น้ำแห่งชาติฝรั่งเศส เป็นเอกลักษณ์ที่แสดงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ของชาวฝรั่งเศส มีความขลังในความโรแมนติกปรากฏอยู่ในภาพยนตร์รักหวานชื่นของฮอลลีวูดหลายเรื่อง และล่าสุดก็เป็น scene ของหนังโด่งดังเรื่อง Da Vinci Code จริงๆ แล้ว แม่น้ำเซนมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม มาตั้งแต่สมัยที่โรมันยึดครองฝรั่งเศสเมื่อกว่าพันปีมาแล้ว แม่น้ำเซนมีต้นกำเนิดจากที่ราบสูงในภาคตะวันออกของฝรั่งเศส แถบเทือกเขาแอลป์ (Alps) ไหลมารวมกับแม่น้ำสาขาหลายสายก่อนจะไหลผ่านเมืองปารีส เป็นสายใย แห่งชีวิตของชาวฝรั่งเศส ตั้งแต่ที่ราบสูง ทางตะวันออกไปจนจรดที่ราบลุ่มทางตะวันตกเฉียงเหนือ

ภูมิประเทศ เมืองชนบท สถานที่สำคัญต่างๆ ที่แม่น้ำเซนไหลผ่าน ล้วนบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของประเทศ ฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี แม่น้ำเซนไหลเอื่อยๆผ่านปารีส โดยมีคลองเชื่อมหลายสายคล้าย คลึงกับแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อผ่านเมืองปารีสไปแล้ว แม่น้ำเซนก็จะไหลเลี้ยวลดคดเคี้ยวผ่านเมือง Rouen อันเป็นเมืองประวัติศาสตร์ ของโจน ออฟ อาร์ค หรือฌาน ดาร์ก (Jeanne d'Arc) วีรสตรีที่กู้บ้านกู้เมืองของชาวฝรั่งเศส ในยุคที่อังกฤษเข้ามารุกราน แม่น้ำเซนไหลออกสู่ทะเลที่เมือง Le Harve ซึ่งเป็นเมืองท่า ริมทะเล North Sea ที่ต่อเชื่อมกับมหาสมุทร แอตแลนติก ใกล้ช่องแคบอังกฤษ

คุ้งน้ำที่มีชื่อเสียงที่สุดของแม่น้ำเซน คือส่วนที่ผ่านสถานที่สำคัญๆ ที่ผู้มาเยือนทุกคนจะพลาดไปเสียไม่ได้ เช่น พิพิธภัณฑ์ Louvre, วิหาร Norte Dame, Hotel de ville คุ้งน้ำนี้มีเกาะเล็กๆ อยู่ตรงกลาง (Ile de la Cite) ใช้เป็นสวนสาธารณะและ เป็นจุดชมวิว มีสะพานข้ามแม่น้ำอยู่หลายช่วง ทั้งที่เป็นสะพานเก่าแบบโบราณและสะพานที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ มีเรือรับนักท่องเที่ยวแล่นขึ้นล่องลอดสะพานเหล่านี้อยู่เสมอ ตาม แนวสองฝั่งเป็นทางเดินกว้าง มีต้นไม้ใหญ่ และท่าจอดเรือ ยกระดับขึ้นไปบนถนนก็มีร้านรวงขายของที่ระลึกต่างๆ บางคนเลือกที่จะนั่งเรือ ชมสองฝั่งแม่น้ำ แต่หลายคนก็เลือกที่จะเดินเอื่อยๆ ไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับคนรู้ใจ และ บางคนก็เลือกที่จะขี่จักรยาน นับเป็นถนนสายหนึ่งที่มีความงดงามและมีการจัดวางผังเมืองได้ดีเยี่ยมแห่งหนึ่งของโลก

ไม่ไกลจากคุ้งน้ำนี้ห่างออกไปเพียงระยะทางเดินสิบนาทีบนถนน Champs-Elysees (เปรียบได้กับถนนราชดำเนินของเรา) คือ หอไอเฟล (Tour Eiffel), ประตูชัย (Arc de Triumph) อันเลื่องชื่อ มนตร์เสน่ห์ของเมืองปารีสและแม่น้ำเซนยังมีอีกมากมาย แต่ เบื้องหลังนั้นคือ 'ความมีศิลปะ'และ 'การจัด การเมืองและสิ่งแวดล้อม' ที่ดีเยี่ยม เขาทำกัน อย่างไร? เราจะมาวิพากษ์วิจารณ์กันตามประสาผู้มาเยือน ให้เห็นเทียบกับกรุงเทพฯและแม่น้ำเจ้าพระยาของเรา

ลักษณะของแม่น้ำเซน

แม่น้ำเซนมีความยาวเป็นอันดับสองของฝรั่งเศส รองจากแม่น้ำลัวร์ (Le Loire) ที่ไหลผ่านตอนกลางของประเทศ มีลักษณะการไหลแบบเอื่อยๆ ไม่เชี่ยวกราก เลี้ยวลดคดเคี้ยวมาจากที่ราบสูงทางภาคตะวันออกบนเทือกเขาแอลป์ของฝรั่งเศสที่ต่อเนื่องมาจากสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยามีความยาวใกล้เคียงกัน แต่ไหลเชี่ยวกว่า มีปริมาณน้ำมากกว่า สาขาของเจ้าพระยาคือ ปิง วัง ยม น่าน แต่ละสายล้วนเป็นหลักของภาคเหนือ เมื่อถึงคราวน้ำหลากก็จะมีปัญหาเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับเมืองไทยอยู่ในเขตมรสุมจึงมีฝนตกมาก เพิ่มปริมาณน้ำหลากให้สูงขึ้น

ระดับน้ำในแม่น้ำเซนโดยปกติจะอยู่ต่ำกว่าระดับถนน 30 ฟุต (10 เมตร) ทั้งนี้เป็นเพราะมีการยกระดับถนนและการจราจรริมแม่น้ำให้สูงขึ้น เพื่อให้มีการระบาย น้ำจากพื้นผิวถนนได้ดี สิ่งสำคัญที่ช่วย การระบายน้ำอีกอย่างหนึ่ง คือการสงวนพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำนอกเขตเมืองปารีสไว้เป็นพื้นที่ชนบทสีเขียว มีต้นไม้ คลอง พื้นที่ชุ่มน้ำ ทุ่งหญ้า เพื่อซึมซับ น้ำหลาก กำหนดห้ามไม่ให้มีการสร้าง ถนนใหญ่พาดผ่านและตึกสูง มีแต่บ้านเดี่ยวและปราสาทที่มีบริเวณสวยงามตั้งอยู่กระจัดกระจาย ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อการระบายน้ำแล้ว ยังรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สร้างรายได้ให้กับประเทศอีกด้วย

ลำน้ำของแม่น้ำเซนออกสีน้ำเงินเข้ม ดูใสสะอาด ไม่ขุ่นเป็นสีดิน โคลน มีสาหร่ายและวัชพืชลอยมากับกระแสน้ำบ้างเล็กน้อย ทั้งนี้เพราะ ท้องน้ำเป็นหินและทราย และต้นน้ำมาจากหิมะบนภูเขาที่ละลายมาตามไหล่เขา แม้จะไหลผ่านมาหลายเมืองก่อนถึงเมืองปารีส แต่คุณภาพ น้ำก็อยู่ในขั้นดี (ดูด้วยสายตา) อาจจะเป็นเพราะการควบคุมมลพิษและ การกำหนดการใช้ที่ดินสองฝั่งแม่น้ำนั้นเข้มงวด ไม่มีโรงงาน อาคารริมน้ำที่จะปล่อยของสกปรกออกมาได้ง่ายๆ

การคมนาคมขนส่งทางน้ำ

ตลอดลำน้ำเซนมีระบบประตูน้ำที่เรียกว่า Locks และคลองเชื่อม อยู่หลายแห่ง ต่อกันเป็นระยะๆ บางแห่งสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยโรมันและต่อเชื่อมไปถึงแม่น้ำสำคัญสายอื่นๆ เช่นแม่น้ำ Loire และ Le Marne ประตูน้ำและคลองเหล่านี้ใช้ประโยชน์หลักในด้านการคมนาคมทางน้ำมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน คลองเชื่อมใกล้เมืองปารีส ได้แก่ Canal Saint Martin, Canal Saint Denis นอกจากจะเป็นเส้นทางขนส่งทางเรือ ปัจจุบันยังกลายเป็นเส้นทางล่องเรือของนักท่องเที่ยวที่นิยม ภูมิประเทศสองฝั่งคลอง

Locks เหล่านี้เป็นประตูน้ำที่ทำหน้าที่ปรับระดับน้ำให้เหมาะสม คือยกระดับน้ำให้สูงขึ้นและปล่อยน้ำให้ต่ำลง รับช่วงกันเป็นระยะๆ เพื่อ ประโยชน์ในการเดินเรือ และควบคุมการไหลของลำน้ำ ชะลอการไหลของลำน้ำเมื่อเกิดน้ำหลากเพื่อป้องกันน้ำท่วม นับว่าเป็นวิทยาการในการจัดการการไหลของน้ำที่เหมาะสม เมืองไทยเพิ่งคิดจะวางแผนป้องกัน น้ำท่วมและแก้มลิงเอาเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง หลังจากเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ ไปหลายครั้งหลายหนแล้ว และที่จริงก็เป็นแนวพระราชดำริของในหลวง ท่านพระองค์เดียวเท่านั้น

การที่แม่น้ำเซนไหลเอื่อยๆ ไม่เชี่ยวกราก จึงเป็นประโยชน์ต่อการขนส่งสินค้าทาง น้ำ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการค้าขายและเศรษฐกิจ ของฝรั่งเศสมานานหลายร้อยปี นอกจากการค้าภายในประเทศแล้ว เส้นทางขนส่งทาง เรือของแม่น้ำเซนยังต่อเนื่องไปถึงการขนส่งทางทะเลเพื่อค้าขายกับอังกฤษ และประเทศแถบสแกนดิเนเวียอีกด้วย จึงมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมมิใช่น้อย

แหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค

แม่น้ำเซนเป็นแหล่งน้ำกินน้ำใช้สำหรับ ชาวเมืองปารีสเพียงส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือมาจากแหล่งน้ำใต้ดิน ปารีสดึงน้ำจากลำน้ำทาง ด้านเหนือน้ำก่อนผ่านเข้าเมืองมาเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำ (reservoirs) บนเขา ที่จุดสูงสุดของเมือง บำบัดและแจกจ่ายให้กับประชากรในตัวเมืองและชานเมืองปารีสประมาณ 5.7 ล้านคน (เมื่อรวมนักท่องเที่ยวในฤดูร้อน ก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 7 ล้านคน) ควบคุมด้วยระบบ คอมพิวเตอร์ทันสมัยครอบคลุมทั้งเมือง รวมทั้งควบคุมการไหลของลำน้ำในแม่น้ำเซนที่ผ่านเมืองปารีสด้วย คุณภาพน้ำจากท่อประปา ในปารีส เทศบาลรับประกันว่า ดื่มได้อย่างปลอดภัย (เช่นเดียวกับในกรุงเทพฯ) แต่น้ำขวดก็ยังขายดิบขายดีอยู่นั่นเอง และจากการ สังเกตของผู้เขียน น้ำประปาจากก๊อกดูจะมีปริมาณแคลเซียมค่อนข้างสูง สังเกตจากตะกอนสีขาวที่ติดก้นกาน้ำหลังจากต้มแล้ว

ในส่วนของการจัดการน้ำเสีย และควบคุมมลพิษที่ไหลลงแม่น้ำ ปารีสมีระบบท่อ สุขาภิบาลและระบบบำบัดน้ำเสียที่เป็นเครือข่ายครอบคลุมทั่วถึงและมีประสิทธิภาพดี ปัจจุบันควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์อย่างทั่วถึงเช่นเดียวกัน มีระบบเก็บขยะในแม่น้ำที่ดี เราจึงเห็นคุณภาพน้ำค่อนข้างดีและไม่มีขยะลอยอย่างในแม่น้ำเจ้าพระยาของคนกรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี เมื่อมีน้ำหลากในแม่น้ำเซน ก็มักจะมีรายงานการเฝ้าระวังระบบน้ำเสียเอ่อล้นลงสู่แม่น้ำอยู่เหมือนกัน และถึงจะจัดการดีอย่างไร ก็มีอย่างน้อยครั้งหนึ่งเมื่อปี 1910 ที่ปารีสถูกน้ำท่วมใหญ่ และปี 2003 ที่มีการเตรียมขนย้ายชิ้นงานศิลปะต่างๆออกจากพิพิธภัณฑ์เนื่องจาก ระดับน้ำขึ้นสูงกว่าปกติ

การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และจัดการเมือง

เมื่อเอ่ยถึงแม่น้ำเซน ก็จะต้องพูดถึงเมือง ปารีสไปพร้อมๆ กัน ปารีส ซึ่งปัจจุบันขึ้นชื่อว่าสวยงามและมีนักท่อง เที่ยวเดินกันยุบยับมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เคยเป็นเมืองที่คับแคบและสกปรก ในศตวรรษ ที่ 17 เกิดโรคระบาดใหญ่เนื่องจากสภาพอยู่อาศัยและระบบสุขาภิบาลไม่ดี ในเมืองมีอาคารเก่าใหญ่โตอยู่หนาแน่น มีตรอกซอกซอยเล็กๆ แคบๆ เชื่อมต่อกันวกวนไปมาหลงทางได้ง่ายๆ การระบายน้ำและบำบัดสิ่งโสโครกไม่ดี มีลักษณะที่เรียกว่า museumification หรือสภาพที่เหมือนอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีแต่ของเก่าๆ อยู่ในที่แคบๆ และมีถนนหนทางที่วนเวียนเหมือนเกมปริศนา เขาวงกต (labyrinth)

แต่ด้วยการวางแผน การจัดการที่ดี และความช่างคิดช่างทำของชาวฝรั่งเศส จึงได้พลิกจุดด้อยให้เป็นจุดเด่น จุดอ่อนให้เป็นจุดแข็ง ทำอาคารเก่าๆ ให้กลายเป็นความขลัง แห่งเมืองปารีส เน้นสถานที่ประวัติศาสตร์ ปราสาท พระราชวังเก่าๆ ให้เป็นแหล่งดึงดูด นักท่องเที่ยว และถนนตรอกซอกซอยแคบๆ ให้เป็นทางที่คนเดินถนนสัญจรเป็นหลัก บางคนนิยมจักรยาน แต่ถ้าใครจะขับรถผ่านก็ต้อง คอยระวังและต้องให้สิทธิ์กับคนเดินถนนก่อน การจัดการแบบนี้มีประโยชน์ต่อการค้าขายของ ร้านรวงเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ตามถนน ทำให้ร้านรวง ขายสินค้ากับคนเดินถนนได้ดี แทนที่คนจะไปเข้าห้างใหญ่ๆ โตๆ ที่มีที่จอดรถสูงๆ

ภูมิทัศน์สองฝั่งคลองสวยงาม มีแนวเขื่อนกันตลิ่งสองฝั่งและท่าจอดเรือที่กลมกลืน กับสภาพแวดล้อมซึ่งรักษาประวัติศาสตร์และศิลปะเป็นจุดเด่น การกำหนดกฎระเบียบ ที่เข้มงวดในการปรับปรุงอาคาร แบบ และการใช้สี ประกอบกับนิสัยรักศิลปะและ 'ความเก่า' ของคนฝรั่งเศส ทำให้สิ่งต่างๆ ที่เป็น 'ความเก่า' ปะปนกับ 'ความใหม่' ได้อย่างผสมกลมกลืนกัน การจัดการจราจรและระบบขนส่งมวลชนที่ดีก็มีส่วนช่วยทำให้ปารีสยังคงความสวยงามและเป็นระเบียบ การมีถนนแคบๆ ไม่สะดวกในการใช้รถใหญ่ ทำให้คนนิยมใช้รถยนต์เล็กๆประหยัดพลังงานและลดมลพิษทางอากาศไปในตัว

ปารีสมีสวนสาธารณะอยู่ทุกมุมเมือง เพิ่มสีสันและคุณภาพสิ่งแวดล้อมให้แก่เมือง สวน หรือ Jardin ที่มีชื่อเสียงได้แก่ Jardin de Plante, Jardin de Luxemburg สวนเหล่านี้ทำให้เมืองน่าอยู่ แม้จะมีอาคารอยู่หนาแน่น ส่วนของแม่น้ำบริเวณนอก เมืองก็ยังมีสภาพธรรมชาติเขียวร่มรื่น เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำแทรกกับบ้านและปราสาท เป็นความสวยงามที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้เช่นกัน

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการจัดที่พักผ่อนหย่อนใจให้ชาวปารีสเพิ่มขึ้น คือบริเวณริมคลอง Canal Saint Martin และการสร้างชายหาดสำหรับเล่นน้ำริมแม่น้ำเซน Canal Saint Martin อยู่ทางด้านเหนือของคนปารีส เดิมเป็นที่พักนอนของคนเร่ร่อน แต่นายกเทศมนตรีของเมืองคนปัจจุบันได้ปรับเป็นสถานที่พักผ่อนและบันเทิงเริงรมย์ มีโรงภาพยนตร์ ร้านกาแฟ ลานน้ำพุ ลานสเกต สนามเด็กเล่น และสนามวิ่งของสุนัข (แม้ว่าคนปารีสส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ ก็อดที่จะเลี้ยงสุนัขไม่ได้ ดังนั้นในยามเช้าๆ เย็นๆ ก็จะเห็นคนจูงสุนัขออกมาเดินเล่นกันขวักไขว่ โดยมีประเพณีว่าจะต้องเก็บของเสีย อันไม่พึงปรารถนากลับไปด้วย)

นิสัยที่รักศิลปะและ 'ของเก่า'

ปารีสเมืองแห่งศิลปะและวัฒนธรรม เห็นได้จากพิพิธภัณฑ์และสถานที่แสดงศิลปะ แขนงต่างๆ มากมาย เช่น Louvre, Museum d'Orsay นอกจากนั้นยังมีโรงละครที่หรูหรา ทั้งแบบคลาสสิกและแบบร่วมสมัย เช่น Grand Opera, Moulin Rouge มีโบสถ์เก่าๆ อยู่ทุกมุมเมืองและชนบท ที่ยังคงรักษาสภาพเดิมไว้ได้ มีปราสาท หรือ chateau ให้เห็นมากมาย คนฝรั่งเศสรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ได้อย่างอยู่ยงคงกระพัน และภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของตน ในขณะที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ก้าวหน้าไปได้อย่างไม่ล้าหลังใคร สิ่งเหล่านี้ต้องนับว่าไม่ธรรมดา และไม่ได้ขึ้นอยู่กับประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลใดที่มาบริหารประเทศ แต่ขึ้นอยู่กับคุณภาพของคนเป็นสำคัญ ระบบการศึกษาของฝรั่งเศสน่าจะมีรากฐานที่ดีพอควรจึงหล่อหลอมคนของเขาออกมาให้รักษาเอกลักษณ์อันยิ่งใหญ่ของเขาไว้ได้จนทุกวันนี้

อีกมุมมองหนึ่งที่น่าสังเกต คือสถาบัน การศึกษาของเขาอนุรักษ์อาคารเก่าๆ ดั้งเดิม อย่างที่เคยเป็นมาเมื่อหลายร้อยปีก่อน เห็นได้ชัดกับมหาวิทยาลัย Sorborne ที่มีชื่อเสียง ทางด้านรัฐศาสตร์และการเมือง มหาวิทยาลัย นี้ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเมืองปารีส เป็น ต้นกำเนิดแนวคิด "ประชาธิปไตย" ให้กับหลายประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ทั้งที่ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม และที่ประสบความสำเร็จเป็นประชาธิปไตยแต่เพียงครึ่งใบอย่างไทย) ที่สำคัญจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประชาธิปไตยของชาติไทยเรานี้ก็สามารถย้อนรอยไปได้ว่า มีต้นเค้ามาจากกลุ่มนักเรียนไทยในฝรั่งเศสที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งนี้เมื่อ 70 กว่า ปีก่อน (โดยมีปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้นำนักเรียนไทยในยุคนั้น) ในปัจจุบันความขลังก็ยังมีอยู่ เพราะสภาพแวดล้อมและอาคารเรียนยังคงเหมือนเดิม มิได้เปลี่ยนแปลง

ย้อนกลับดูแม่น้ำเจ้าพระยา

เมื่อย้อนกลับมาดูแม่น้ำเจ้าพระยาของเรา ในแง่ของศิลปะและวัฒนธรรม 'เจ้าพระยา' ไม่ได้ด้อยไปกว่าแม่น้ำเซนเลย สองฝั่งแม่น้ำและคลองของ 'เจ้าพระยา' เคย เรียงรายไปด้วยวัดวาอารามและบ้านเรือนไทย ที่แสดงสถาปัตยกรรมและอารยธรรมที่สะสมมานานตั้งแต่สมัยอยุธยา และยังแสดงถึงพุทธ ศาสนาและวิถีชุมชนของไทยที่มีความสงบเอื้ออารีต่อกัน มีการใส่บาตรพระสงฆ์ตอนเช้า ประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา ประเพณีลอยกระทง การแข่งเรือพาย เป็นต้น

ประเพณีเหล่านี้ยังคงมีหลงเหลืออยู่บ้าง ในบางชุมชนริมฝั่งเจ้าพระยา แต่หลายๆ แห่ง ก็ได้ถูกกระแสการเปลี่ยนแปลงแห่งโลกาภิวัตน์กลืนหายไปแล้ว เห็นได้ชัดจากพื้นที่ริมฝั่งคลองชานกรุงเทพฯ แถบคลองบางกอก น้อย บางกอกใหญ่ คลองอ้อมนนท์ ซึ่งเคยมีบ้านเรือน มีท่าน้ำอย่างไทย ได้กลายเป็นอาคารคอนโดมิเนียมสูงระฟ้า หรือบ้านเดี่ยวแบบทันสมัยมีรั้วล้อมรอบ หากเราไม่มีการควบคุมการใช้ที่ดินและการก่อสร้างอาคารสูง ริมน้ำอย่างเข้มงวด สถาปัตยกรรมเหล่านี้ก็อาจจะหายไปโดยสิ้นเชิง เช่นเดียวกับเรือกสวนที่เคยขึ้นชื่อว่ารสชาติเลิศล้ำของนนทบุรี ก็จะค่อยๆ เลือนหายไป

ทางเศรษฐกิจ เจ้าพระยาเป็นสายน้ำ ที่ให้ประโยชน์อเนกประสงค์ได้มากกว่าแม่น้ำ เซน ทั้งด้านการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การขนส่งทางน้ำ การผลิตไฟฟ้า ตลอดจนการท่องเที่ยว และรองรับน้ำเสียเมื่อเทียบกับแม่น้ำเซนที่ใช้ประโยชน์ในการท่องเที่ยวและเดินเรือเป็นหลัก 'เจ้าพระยา' ให้ประโยชน์กับคนไทยได้มากกว่า และในขณะเดียวกัน 'เจ้าพระยา' ก็มีพลังอำนาจที่จะก่อภัยได้มากกว่าด้วย เราจึงจำเป็นต้องรักษาและจัดการแม่น้ำเจ้าพระยาของเราอย่างรอบคอบมากกว่า โดยมีแผนบูรณาการการใช้ประโยชน์ให้ลงตัว มีการจัดสรรน้ำให้กับภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม อุปโภคบริโภคอย่างเหมาะสม อนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำอย่างเข้มงวด ป้องกันน้ำท่วมและควบคุมการปล่อยมลพิษอย่างมีกลยุทธ์

เพราะ 'เจ้าพระยา' มิใช่เป็นแค่เส้นโลหิตธรรมดา แต่เป็นเส้นเลือดแดงใหญ่สู่หัวใจของชนชาติไทยเลยทีเดียว นับเป็นสิ่งท้าทายที่คนไทยจะต้องทำเพื่อความคงอยู่ของ ชนชาติไทย สิ่งท้าทายของการอนุรักษ์และจัดการแม่น้ำ มิใช่การกีดกั้นการพัฒนา แต่เราจะต้องวางแนวทางการพัฒนาใหม่ๆ และ การควบคุมให้ผสมกลมกลืนกับของเก่าและธรรมชาติให้ได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.