ธุรกิจที่แตกต่างของทองดี

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

จากการคลุกคลีอยู่ในวงการหมึกพิมพ์มานานนับสิบปี ทองดี ศรีกุลศศิธร จึงแตกต่างจากผู้จำหน่ายหมึกทั่วไป ที่อาจจะแค่ทำธุรกิจซื้อมาขายไป

นอกจากจะเป็นเจ้าของสิทธิบัตรสูตรหมึกพิมพ์เองแล้ว เขาก็ยังเป็นทั้งผู้บริหารของบริษัท คนขายหมึก เขายังเดินทางไปดูโรงพิมพ์ของลูกค้าด้วยตนเอง แนะนำกระบวนการพิมพ์ รวมถึงออกแบบโรงงานให้กับลูกค้าและทำการตลาดเองอีกด้วย

การตัดสินใจแยกบริษัทออกมาจากเครือเจริญอักษร โดยยังคงความเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกันอยู่ คือจุดเริ่มต้นที่เขาบอกว่า "เพื่อมุ่งหน้า ทำธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ"

โดยอาศัยหมึกพิมพ์เป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจ ก่อนวิจัยและพัฒนา สินค้าอื่นๆ เช่น พลาสติกที่ผลิตจากธรรมชาติ สามารถย่อยสลายได้โดยไม่ตกค้างสารเคมีหรือสารพิษ ซึ่งอยู่ระหว่างการวิจัยในห้องทดลอง

ที่ผ่านมาดูเหมือนว่าทองดีจะเป็นทุกอย่างของบริษัท นอกเหนือจากงานบัญชีที่ยกให้เป็นหน้าที่ของภรรยา และงานเอกสารที่จ้างพนักงาน มาใหม่เพียงไม่กี่ชีวิต

หลายครั้งทองดีเข้าไปในโรงพิมพ์ ไปดูแท่นพิมพ์ คุยกับหัวหน้าช่างภาพ คิดค้นระบบการใช้หมึกพิมพ์ให้คุ้มค่ามากที่สุด รวมถึงงานสำคัญอย่างการเปิดรับสายจากเจ้าของโรงพิมพ์ เมื่อมีปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือ ในเรื่องประสิทธิภาพงานพิมพ์

นอกเหนือจากใช้เวลาบางส่วนไปกับการสอนเรื่องระบบการพิมพ์และหมึกให้กับเจริญอักษรด้วยเป็นครั้งคราว หรือการเดินทาง ไปประเทศเกาหลี ที่ตั้งของ Kwang Myung Ink โรงงานผู้ผลิตหมึกที่มีส่วนผสมน้ำมันพืช ของ Panorama Ink

ดังนั้นระหว่างการพูดคุยกับ "ผู้จัดการ" จึงมีเสียงเรียกสายมาจากเจ้าของโรงพิมพ์เพื่อปรึกษาปัญหางานพิมพ์ดังขึ้นมาขัดจังหวะ การคุยอยู่บ้าง

ประสบการณ์ในอุตสาหกรรมงานพิมพ์ ทำให้ทองดีกลายเป็นคนที่รอบรู้ในกระบวน การพิมพ์คนหนึ่งอย่างปฏิเสธไม่ได้

แม้จะร่ำเรียนมาทางวิศวกรรมโยธา แต่อาชีพหลักกลับอยู่ในวงการงานศิลปะ คือการผลิตหมึกพิมพ์ขายให้กับโรงพิมพ์ ขณะที่การออกแบบบ้านหรือรับเหมาก่อสร้างกลายเป็นงานอดิเรกหรือรายได้เสริมสำหรับเขา

แม้จุดเริ่มต้นของการเข้ามายังอุตสาหกรรมการพิมพ์ของทองดีจะอยู่ที่การเป็นลูกเขยของตระกูลเจริญอักษร แต่การเข้าไปคลุกคลีที่โรงพิมพ์ Kwang Myung Ink ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลี เมื่อครั้งไปศึกษาดูงานเมื่อสิบปีที่แล้ว ถือเป็นจุดเปลี่ยนของเขา และของเจริญอักษรไปในเวลาเดียวกัน

สัมพันธภาพระหว่าง Kwang Myung Ink กับทองดีเกิดขึ้นภายหลังการพูดคุยกันถูกคอ โรงงานเก่าซอมซ่อก็ถูกปรับปรุง และพลิกฟื้น รวมถึงใช้สูตรหมึกของเขา จนกลาย เป็นบริษัทที่ส่งออกหมึกพิมพ์ไปทั่วโลก และเป็นบริษัทที่ส่งออกหมึกพิมพ์ติดอันดับรายใหญ่ ของเอเชียด้วย

เฉพาะในปี 2548 Kwang Myung Ink ให้บริการหมึกพิมพ์ของตนเองกับบริษัทผู้ผลิต หนังสือพิมพ์กว่า 35 แห่ง และโรงพิมพ์อีกกว่า 50 แห่ง ทำรายได้มากถึง 23 ล้านเหรียญ สหรัฐ

อีกทั้งยังส่งออกไปอีกกว่า 24 ประเทศ กว่า 53 โรงพิมพ์ ทำรายได้รวมกว่า 10 ล้าน เหรียญสหรัฐ โดยมีทองดีเป็นผู้ช่วยดูแลธุรกิจ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงการบุกตลาดในกัมพูชา ในยุคเปิดประเทศเป็นครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน จนในที่สุดกัมพูชากลายเป็นประเทศที่มีหนังสือพิมพ์ที่ใช้หมึกเพื่อสิ่งแวดล้อมในการพิมพ์ทั้งหมด

มุมมองการทำธุรกิจของทองดีอาจจะสวนทางกับใครหลายคนอยู่บ้าง โดยเฉพาะมุมมองของการตั้งฐานโรงงานในประเทศ เพื่อ ลดต้นทุน

แต่สำหรับทองดีแล้ว เขาบอกว่า เขามักจะตั้งคำถามกับผู้ใหญ่ที่อยู่ในวงการการพิมพ์อยู่เสมอว่า ทำไมเขาต้องตั้งโรงงานในไทย เมื่อเขาค้นพบว่าการตั้งโรงงานในต่างประเทศช่วยลดต้นทุนให้กับเขามากกว่า

"สมัยก่อนเราเปิดโรงงานที่เมืองไทย แต่ก็ประสบปัญหาเรื่องราคาหมึกพิมพ์ พอเรานำเข้าผงหมึก และวัตถุดิบต่างๆ มาผลิต ในเมืองไทย เราต้องเสียภาษีนำเข้าถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ต่างกับการนำหมึกพิมพ์เข้ามาขาย ซึ่งเสียเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ แล้วเหตุผลใดที่จะต้องเปิดโรงงานผลิตที่เมืองไทย ผมจึงเลือก ส่งออกน้ำมันพืชจากเมืองไทยเพราะที่นั่นเป็น ภูเขาเสียส่วนใหญ่ไม่มีน้ำมันพืชมากเหมือนบ้านเรา การส่งออกไม่เสียภาษีเลย เนื่องจาก โรงงานในเกาหลีอยู่ในพื้นที่ของ BOI ดังนั้นการผลิตจากเกาหลี แล้วนำเข้าหมึกมาขายยังถือว่าคุ้มกว่าในแง่ของการทำธุรกิจ" ทองดี เปิดเผยมุมมองของการทำธุรกิจอีกแบบหนึ่งที่เขาค้นพบ

เมื่อสั่งสมประสบการณ์ในวงการหมึกพิมพ์ได้ที่ สิ่งหนึ่งที่มาด้วยก็คือ ความสนิทสนมระหว่างนักธุรกิจในวงการเดียวกัน

เขาไม่ปฏิเสธว่า ทุกวันนี้อยู่ได้ด้วยสาย สัมพันธ์ที่ยาวนานระหว่างเพื่อนฝูงในวงการที่รู้จักกัน ยิ่งคนรู้จักที่เป็นเจ้าโรงพิมพ์เห็นความ สำคัญของสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย เป็น มูลค่าเพิ่มและเป็นสิ่งที่ช่วยจรรโลงสังคมด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นผลดีกับทั้งเขาและคนอื่นๆ ในสังคม

แต่สำหรับโรงพิมพ์เก่าแก่ที่ยังไม่ได้ให้ ความสำคัญกับสิ่งที่ว่า มองหาแต่เรื่องของต้นทุน ความยากลำบากในการบุกตลาดก็กลายเป็นสิ่งท้าทายสำหรับเขา

ในตอนหนึ่งของการพูดคุยระหว่าง "ผู้จัดการ" กับทองดี เขาหยิบตัวอย่างของสีกระดาษและเอกสารบางอย่างที่ระบุว่าเขาจะเข้าไปช่วยให้คำปรึกษาให้กับประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือด้านความรู้เรื่องกระดาษ และหมึกพิมพ์

เกาะมาดาร์กัสการ์เป็นหนึ่งในประเทศ ที่ทองดีเข้าไปในฐานะของการช่วยเหลือรัฐบาลญี่ปุ่นที่ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ บนเกาะ และกระดาษหรือสิ่งพิมพ์เป็นหนึ่งในความต้องการ ของที่นี่

รัฐบาลญี่ปุ่นได้ขอแรงให้ทองดี ซึ่งมีความรู้เรื่องกระดาษ หมึกพิมพ์ รวมถึงความ สามารถในการออกแบบด้านโยธา ซึ่งทองดียังยึดเป็นอาชีพเสริมของเขาอยู่บ้าง โดยมีบริษัทรับออกแบบบ้านหรือรับเหมาก่อสร้างของตัวเองด้วยในเวลาเดียวกัน เมื่อกำหนดสเป็กคุณภาพและราคาที่ต้องการ ในภายหลัง ทองดีก็ได้ทำการจัดส่งความต้องการเหล่านี้จากบริษัทของตนไปยังประเทศต่างๆ อีกด้วย โดยเฉพาะหมึกพิมพ์จากบริษัทของเขาเอง

ผลงานอย่างมาดาร์กัสการ์เป็นเพียงตัวอย่าง ทองดีบอกว่า งานแบบนี้มีให้เห็นและเขาได้รับมอบหมายให้ทำอยู่เรื่อยๆ

นี่คือมุมมองการทำธุรกิจอีกแบบหนึ่ง ที่หาได้จากเจ้าของสูตรหมึกพิมพ์น้ำมันพืชอย่างทองดี ศรีกุลศศิธร


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.