หินสีผสมน้ำมันพืชเพื่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

คุณจะรู้สึกดีแค่ไหน หากรู้ว่าแก้วกระดาษที่ใส่กาแฟดำไม่ใส่น้ำตาล หรือครีมเทียมในมือของคุณ พิมพ์ลายและโลโกยี่ห้อกาแฟจากหมึกพิมพ์ที่ไม่มีสารเคมี

คุณจะรู้สึกปลอดภัยแค่ไหน หากอาหารของคุณอยู่ในกล่องกระดาษที่ด้านนอกมีสีแดงสดใส ปราศจากสารเคมี ไม่เป็นพิษต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม

นี่เป็นเพียงคุณสมบัติพื้นฐานที่พบได้ในหมึกพิมพ์น้ำมันพืชของ Panorama Ink จนเป็นที่มาของใบประกาศนียบัตรที่ระบุว่าผ่านการตรวจสอบคุณภาพและตรวจสอบโรงงานผลิตจนเป็นที่มาของโลโกหยดน้ำมันสีน้ำเงินสลับแดง เขียนคำว่า "contains soy oil" พร้อมทั้งห้อยท้ายเอาไว้ว่า "Trademark of American Soybean Association" บวกกับ "Bio-Hybrid Technology"

ส่วนผสมของหมึกน้ำมันพืชที่ทองดีเป็นเจ้าของสูตร ประกอบด้วยผงหมึก ซึ่งได้จากหินสีธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการบด และกรรมวิธี จนได้มาซึ่งผงสีธรรมชาติหรือ organic pigment อีกทั้งยังมีน้ำมันพืชเข้าไปช่วยทำให้เป็นน้ำหมึกที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ดังนั้นน้ำหมึกจึงมีส่วนประกอบที่มั่นใจได้ว่ามาจากธรรมชาติอย่างแท้จริง

ต่อให้ทิ้งลงถังขยะ และนำมารีไซเคิล กระบวนการแยกสี และกระดาษเพื่อนำกลับมาใช้อีกครั้ง ก็ยังทำได้ง่ายกว่าสีที่ผสมด้วยปิโตรเลียมที่ต้องคัดกรองเอาปิโตรเลียมออกด้วย

แต่งานทุกชิ้นจะขายออกได้หรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่คุณสมบัติที่โดดเด่นกว่าใครเพียงอย่างเดียว แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือเรื่องของราคาที่ต้องไม่แพงจนเกินกว่าโรงพิมพ์จะตัดสินใจนำมาใช้จริงในกระบวน การผลิตของตน

ปัจจุบันสีของหมึกพิมพ์หลักๆ อย่างแดง น้ำเงิน และเหลือง มีต้นทุนหรือราคาขายที่ถูกกว่าแม่สีที่ใช้ส่วนผสมของปิโตรเลียมแตกต่างกันตรงสีดำที่ยังคงมีราคาแพงกว่า แต่สำหรับทองดีแล้ว เขาบอกว่า เมื่อเทียบกับปริมาณการพิมพ์แล้วสีที่มีส่วนผสมของน้ำมันพืชยังพิมพ์ได้มากกว่า หรือใช้สีน้อยกว่า

"คุณสมบัติของหมึกที่ถูกทดแทนด้วยน้ำมันสกัดจากพืชผักและถั่วนี้ ก็คือความวาวของน้ำมันช่วยให้ค่า gross net หรือความวาวของสีที่พิมพ์ลงไปในหนังสือพิมพ์มากกว่า ทำให้ความคมชัดของภาพนั้นมีมากกว่า ขณะที่น้ำหนักของหมึกปิโตรเลียมที่บวกกับผงหมึกแล้วจะหนักกว่าหมึกถั่วเหลืองหรือหมึกจากผัก เพราะเมื่ออยู่ระหว่างกระบวนการพิมพ์ หมึกปิโตรเลียมจะซึมเข้าไปตามรูหรือช่องว่างบนเนื้อกระดาษ ทำให้ความสามารถในการดูดซับมีสูง หมึกนั้นจมไปมากกว่า นั่นหมายถึงปริมาณการสูญเสียหมึกไปกับการพิมพ์จะมากกว่าด้วย" ทองดีบอกกับ "ผู้จัดการ"

ทองดียังบอกด้วยว่า เมื่อเปรียบเทียบกับหมึกถั่วเหลืองแล้ว แม้จะน้ำหนักมาก แต่ก็ยังประหยัดกว่าหมึกปิโตรเลียม ถึง 20% ส่วนหมึกน้ำมันพืชของเขา เมื่อพิมพ์แล้วน้ำหนักของน้ำมันจะหนักกว่าผงหมึก น้ำมันก็จะวิ่งไปทดแทนในรูกระดาษก่อน ผงหมึกแค่ทำหน้าที่ปาดหน้าของกระดาษ ทำให้ประหยัดในการใช้หมึกในกระบวนการพิมพ์อย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้น หากมองในแง่ของสิ่งแวดล้อมและคุณภาพที่ได้แล้ว เขาก็เชื่อว่า หมึกน้ำมันพืชก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีไม่น้อยสำหรับโรงพิมพ์ทั่วไป

นอกเหนือจากแม่สีหลัก และสีดำ หรือเฉดสีอื่นๆ นับพันเฉดสีซึ่งจะใช้ไปกับกระบวนการพิมพ์หนังสือพิมพ์ เอกสาร และงานกระดาษปกติทั่วไป แล้วแต่ความต้องการของโรงพิมพ์แล้ว

ทองดียังคิดค้นหมึกพิมพ์แบบพิเศษที่เรียกว่า Scrub Ink เพื่อนำมาใช้พิมพ์ลงบนงานประเภทถ้วยกระดาษหรือบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารทั่วไปด้วย ซึ่งแต่เดิมนั้นกระบวนการผลิตของถ้วยกระดาษประเภทนี้จะอาศัยผงเคมีประเภทหนึ่งที่ช่วยเคลือบผิวทับสีที่พิมพ์ลงไปอีกที เพื่อให้สีนั้นยึดติดกับถ้วยกระดาษได้ดี ไม่หลุด และแห้งเร็ว

Scrub Ink เป็นสูตรของหมึกแบบใหม่ที่เกิดจากการต่อยอดของ Bio Hybrid Technology ซึ่งเป็นน้ำมันจากพืชแบบ 100% โดยหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย แต่สามารถพิมพ์ลงบนบรรจุภัณฑ์ และไม่หลุดลอกได้เช่นเดียวกัน

ปัจจุบันมีลูกค้าในไทยที่เลือกใช้ Scrub Ink แล้วหลายราย โดยเฉพาะบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและถ้วยกระดาษที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอย่าง K.M. Packaging ซึ่งเป็นผู้ผลิตถ้วยและแพ็กเกจจิ้งให้กับ Coca-Cola, Yum Restaurant และ 7-eleven

Panorama Ink ยังอยู่ในระหว่างการจดสิทธิบัตรหมึกแบบใหม่ที่เรียกว่า Flexo soy ink เป็นหมึกที่พิมพ์บนกระดาษพลาสติก โพลีเอสเตอร์ พีวีซี หรือแม้แต่กระดาษฟอยล์ โดยเปลี่ยนจากปิโตรเลียมมาเป็นน้ำมันพืช

อีกทั้งยังมีสินค้าอื่นๆ ที่รอวางตลาดอีกด้วย เช่น Digital printing ink หรือหมึกที่ใส่หลอดแล้วใช้กับเครื่องถ่ายเอกสารทั่วไป โดยอยู่ในช่วงของการเจรจากับเจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องถ่ายเอกสาร เพื่อให้เห็นความสำคัญของการใช้หมึกปลอดปิโตรเลียม ให้สีสดและไม่มีกลิ่น ที่เกาหลีวางขายหมึกแบบนี้ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.