|
หมึกพิมพ์น้ำมันพืช
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อเอามือลูบแล้วไม่มีหมึกพิมพ์ติดมือ จมูกสูดดมก็ไร้กลิ่น แถมยังไม่มีสารก่อมะเร็ง สามารถนำมารีไซเคิลได้โดยไร้สารเคมี 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม อีกทั้งยังคงคุณภาพงานพิมพ์ได้อย่างครบถ้วน ทั้งหมดล้วนแต่เป็นคุณสมบัติของ "หมึกพิมพ์น้ำมันพืช"
เรื่องราวของหมึกพิมพ์จะดูไม่น่าสนใจมากเท่าไร หากไม่ได้บอกว่า
หนังสือพิมพ์ และแมกกาซีนแทบทุกฉบับในสหรัฐอเมริกาจัดพิมพ์ โดยใช้หมึกพิมพ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันถั่วเหลือง (soy ink) ทั้งหมด
เช่นเดียวกับหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในกัมพูชา ผู้จัดพิมพ์ก็เลือกใช้หมึกพิมพ์ทุกสีที่มีส่วนผสมจากน้ำมันพืช (vegetable ink) โดยปราศจาก ส่วนผสมของสารเคมี
คุณทราบไหมว่า แมกกาซีนทุกเล่มในเครือแกรมมี่ แก้วกระดาษ ในเซเว่น-อีเลฟเว่น ไปจนถึงกล่องใส่เบอร์เกอร์ ของเคเอฟซี ก็ล้วนแล้วแต่ใช้สีที่มีส่วนผสมของน้ำมันพืชมานานนับสิบปี
นี่คือความจริงที่ผู้บริโภคหลายล้านคน อาจจะไม่เคยได้ล่วงรู้มาก่อน และอาจจะไม่เคยแม้แต่ใส่ใจเลยด้วยซ้ำ หากสังคมไม่จุดกระแสเกี่ยวกับความปลอดภัยในการบริโภคและห่วงใยในสิ่งแวดล้อมเสียก่อน
ก่อนหน้านี้หมึกพิมพ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการพิมพ์ และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์นั้นจะมีส่วนผสมหลักๆ อยู่สองอย่างด้วยกัน คือ ผงหมึก และปิโตรเลียม โดยผงหมึกมีสองประเภทให้เลือกใช้คือ ผงหมึกเคมี และผงหมึกจากหินสีที่มีในธรรมชาติ แบบเดียว กับที่ใช้ผลิตอายเชโดว์ เครื่องสำอางทาสีรอบ ดวงตาสำหรับผู้หญิงนั่นเอง
ในยุคหนึ่ง สหรัฐฯ ถือว่าเป็นผู้นำในการริเริ่มเปลี่ยนจากการใช้ปิโตรเลียมเป็นส่วน ผสมของหมึกพิมพ์ ที่เชื่อกันว่าเป็นที่มาของสาร VOCs (Volatile Organic Compounds) ที่ก่อมะเร็งให้กับมนุษย์เช่นเดียวกันกับเขม่าควันจากควันรถยนต์
การตัดสินใจเปลี่ยนจากการผสมปิโตร เลียมมาเป็นน้ำมันถั่วเหลือง และบวกกับผงหินสีธรรมชาตินั้น ได้เปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมการพิมพ์ได้มากเลยทีเดียว อย่างน้อยก็การที่ผู้คนอ่านแล้วไม่ได้กลิ่นสี และไม่มีหมึก ติดมือหรือที่เรียกว่า rub off มาด้วยทุกครั้งเมื่อหยิบหนังสือพิมพ์ขึ้นมาอ่าน
ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจของไทย เป็นช่วงที่โฉมหน้าหมึกพิมพ์ในไทยก็เปลี่ยนแปลง ไปด้วย เพียงแต่ไม่เป็นข่าว และไม่เคยมีใครรู้ หรือสนใจ
ทองดี ศรีกุลศศิธร ลูกเขยของตระกูล เครือเจริญอักษร ที่รู้จักกันดีว่าเป็นผู้กว้างขวางในวงการสิ่งพิมพ์ ในฐานะของผู้จำหน่าย กระดาษ เครื่องจักร หมึกพิมพ์ รายใหญ่รายหนึ่งของไทย เป็นบุคคลสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
ทั้งๆ ที่เล่าเรียนจนจบการศึกษาในระดับปริญญาโท สาขาวิศวกรรมโยธา จากประเทศเยอรมนีด้วยทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัย แต่ด้วยความที่มีแนวความคิดไม่เหมือนใคร
จุดเริ่มต้นเล็กๆ เพียงแค่การหยิบหนังสือพิมพ์ที่มีให้บริการบนเครื่องบินขึ้นมาอ่านระหว่างการบินจากเยอรมนีกลับประเทศไทย เมื่อมีหมึกพิมพ์ติดมือและสัมผัสถึงกลิ่นของหมึกพิมพ์ที่เรียกว่ากลิ่นแรง จน "ฉุน" แต่เมื่อเปรียบเทียบกับหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์จากต่างประเทศบางฉบับ กลับไม่มีทั้งสีและกลิ่นให้ได้สัมผัส
ประกอบกับการเป็นลูกเขยของตระกูล ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้จำหน่ายหมึกรายใหญ่อย่างเจริญอักษร และได้รับมอบหมายให้ดูแลกิจการ C.A.S. INK AND EQUIPMENT บริษัทในเครือของตระกูลในเวลานั้นด้วยแล้ว ทำให้ใน ท้ายที่สุดทองดีจึงผันตัวเองมาเป็นผู้บริหาร
และเป็นผู้คิดค้นสูตรหมึกพิมพ์แบบใหม่ที่ทดแทนปิโตรเลียมด้วยน้ำมันพืช แทนการใช้น้ำมันถั่วเหลืองทั้งหมดแบบสหรัฐฯ ที่มีราคาแพงกว่า หลังจากได้เข้าศึกษาดูงานใน โรงงานผลิตหมึกยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นและเกาหลี เป็นเวลาหลายปี
แน่นอน ความสำเร็จไม่ได้ทอดสะพาน ให้ทองดีข้ามไปหามันได้ง่ายๆ มันมักมาพร้อมกับความผิดพลาดหลายอย่างกว่าจะได้ สูตรหมึกพิมพ์ที่ลงตัว และขายได้จริงในเวลาต่อมา
เมื่อลองผิดลองถูก โดยสกัดน้ำมันที่ได้จากเมล็ดทานตะวันหรืองา เพื่อทดแทน น้ำมันถั่วเหลืองที่สหรัฐฯ ใช้อยู่แต่เดิม แต่ราคาสูงเกินไปสำหรับตลาดโรงพิมพ์ทั่วไป สุดท้ายทองดีก็ค้นพบสูตรลับ ที่เขาเพียงแต่บอกว่าได้เลือกสกัดน้ำมันจากพืชหลายแบบด้วยกัน โดยนำมาผสมกับน้ำมันถั่วเหลืองที่ใช้แต่เดิม
เมื่อได้สูตร เขาเริ่มทำการจดทะเบียน การค้า จดทะเบียน material number รวมถึงจดสิทธิบัตรภายใต้ชื่อ Bio-Hybrid Technology ไปทั่วโลก แต่เพียงผู้เดียว ตามหลังสหรัฐฯ ที่มีสิทธิบัตรของหมึกพิมพ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันถั่วเหลือง ถือเป็นหัวใจสำคัญ ที่ทำให้เขายังคงความเป็นเจ้าของสูตรได้จน ถึงทุกวันนี้
ทองดีบอกว่า บทเรียนสำคัญของการทำธุรกิจที่มีความพิเศษและเอกลักษณ์เฉพาะไม่เหมือนใครก็คือการที่เจ้าของต้องจดเครื่อง หมายทางการค้า ทำการจดลิขสิทธิ์ หรือสิทธิบัตรสูตรเอาไว้ เพื่อป้องกันการเลียนแบบ และสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ หากมีการเลียนแบบสินค้าที่เกิดจากการใช้สูตรแบบเดียวกันกับสินค้าของเขาได้ในภายหลัง
เมื่อเป็นเจ้าของสูตรหมึกพิมพ์เป็นที่เรียบร้อย ต่อมาทองดียกเลิกการขายหมึกที่มีปิโตรเลียมเป็นส่วนผสม ซึ่งเจริญอักษรทำการขายมานานกว่า 27 ปี และเปลี่ยนเป็นหมึกพิมพ์ที่มีส่วนผสมของน้ำมันพืชทั้งหมด จนถึง วันนี้เป็นเวลากว่า 13 ปีเข้าไปแล้ว โดยทองดี เปิดเผยว่า ผู้ซื้อหมึกพิมพ์บางรายยังไม่เคยทราบด้วยซ้ำว่าหมึกที่ใช้อยู่เป็นหมึกที่มีส่วนผสมของน้ำมันพืชอยู่ด้วย
จนกระทั่งหลายปีมานี้ การจุดประเด็น ด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในการบริโภคกลายเป็นโจทย์สำคัญสำหรับผู้ผลิตไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมประเภทไหน แม้แต่ อุตสาหกรรมการพิมพ์เองก็ตามที ก็ยังคงมีหมึกที่มีส่วนประกอบของปิโตรเลียม ที่นับวัน ก็จะมีปริมาณของปิโตรเลียมลดน้อยลงไปทุกที การเริ่มประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนรู้จักหมึกพิมพ์น้ำมันพืชจึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นกว่าเดิม และกลายเป็นมูลค่าเพิ่มที่ทองดีเห็นว่า ทำให้ หมึกพิมพ์ของเขาแตกต่างจากหมึกพิมพ์ปิโตรเลียมที่ขายอยู่อย่างเห็นได้ชัด
ทองดีเพิ่งจะตัดสินใจแยกธุรกิจการทำหมึกพิมพ์ของตนออกมาจากเครือเจริญอักษรอย่างชัดเจน โดยก่อตั้งเป็นบริษัท Panorama Ink
แม้ยังคงเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างเครือเจริญอักษรกับบริษัท ใหม่ แต่เขาก็อยู่ในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัท เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และยังถือหุ้นอีก 5 เปอร์เซ็นต์ในบริษัทผู้ผลิตหมึกรายใหญ่ในเกาหลี ส่งออกหมึกไปทั่วโลก รวมถึง Hong Kong Daily ผู้พิมพ์หนังสือพิมพ์ China Post ในฐานะเป็นเจ้าของสูตร
ปีที่ผ่านมา ยอดขายของ Panorama Ink เฉพาะเมืองไทยอยู่ที่ 250 ล้านบาท ไม่นับรวมรายได้อื่นๆ ที่เกิดจากการส่งออกไปยัง ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีแนวโน้ม ว่าจะเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อธุรกิจเติบโต สังคมเริ่มขยาย หลายคน ก็เริ่มหันมามองถึงความปลอดภัยในการใช้ชีวิต และคิดถึงสิ่งแวดล้อม กันมากขึ้น
หมึกพิมพ์น้ำมันพืชของทองดีจึงไม่ได้เป็นเพียงแนวความคิดที่ขายไม่ออก แต่กลับใช้ได้จริงและขายได้ดีอีกด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|