|
ธนา ธนารักษ์โชค มือวิเคราะห์ database
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
การที่มีคนรู้ว่าเราชอบทานอาหารอะไรหรือเที่ยวที่ไหน กีฬาที่โปรดปรานคืออะไร หรือคลั่งไคล้กิจกรรมแบบไหน ชอบใช้เงินไปกับการซื้ออะไร ถ้าไม่ใช่คนใกล้ชิดที่รู้จัก หรือพ่อแม่ ก็ไม่มีใครน่าจะรู้จักอีกแล้ว แต่ KTC กลับมีข้อมูลเหล่านี้จากฐานข้อมูลลูกค้าที่มีอยู่เกือบ 2 ล้านราย
ธนา ธนารักษ์โชค วัย 41 ปี ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่าย Customer Insight Senior Vice President-Customer Insight รวมทั้งทีมงานอีก 25 ชีวิตเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมลูกค้า KTC ที่ได้แยกออกเป็นกลุ่มย่อย 4 ส่วน คือส่วนบริหารความเสี่ยงด้านเครดิต ส่วนส่งเสริมการขายด้านลูกค้าแรกเข้า ส่วนส่งเสริมการขายด้านลูกค้าทั่วไป และข้อมูลทั่วไป
เขาเล่าให้ฟังว่า ฐานข้อมูลของ KTC มีการเก็บมาโดยตลอด ทำให้สามารถรู้ว่าลูกค้าไปไหนบ้างในวันนี้ รู้ว่าพฤติกรรมการใช้บัตรเป็นอย่างไร ลูกค้าเกือบ 2 ล้านคนได้ถูกจัดกลุ่มอย่างเป็นหมวดหมู่ เช่น รับประทานข้าวนอกบ้านบ่อยแค่ไหน หรือผู้บริหารต้องการเห็นกลุ่มไหนทำอะไรบ้าง เพื่อจะนำไปทำการตลาด หรือขายพ่วงกับสินค้าที่มีอยู่ เป้าหมายการวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ เพื่อ customer loyalty และเพิ่มปริมาณการใช้จ่าย
หน้าที่หลักของธนา คือการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในเชิงสถิติ สิ่งสำคัญว่านำไปใช้อะไรได้บ้าง ใช้ทฤษฎีอะไร การตีค่า ตีความให้ถูกต้อง ข้อมูลเหล่านั้นสามารถบอกสิ่งใด หากพบข้อมูลเหล่านั้นจะรู้ได้อย่างไรว่าถูกหรือผิด เป็นเรื่องที่สำคัญมาก การวิเคราะห์ไม่ใช่ตัวเลข เพราะตัวเลขใครๆ ก็ทำได้ แต่การวิเคราะห์ว่าตัวเลขที่ออกมานั้นมีนัยสำคัญอย่างไร หรือมีความถูกต้องมากน้อยแค่ไหน และสามารถพิสูจน์ได้อย่างไร หน้าที่นี้เองจึงทำให้เขามีบทบาทสำคัญใน KTC ไม่น้อย ซึ่งเขาต้องรายงานผลข้อมูลทุกเช้าในเวลา 8.30 น. ให้กับธวัชชัย ธิติศักดิ์สกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส KTC
"ผมแนะนำให้ KTC นำระบบซอฟต์แวร์เข้ามาใช้เพราะประโยชน์ของซอฟต์แวร์มีเกินร้อย และ KTC จะได้รับผลกลับมาเกิน 150% อย่างแน่นอน และวันนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสิ่งที่ทำสามารถช่วยคิดและตัดสินใจเยอะมาก"
ธวัชชัยยอมรับว่าฝ่ายวิเคราะห์ข้อมูลมีความสำคัญอย่างมาก และเชื่อว่า KTC เป็นสถาบันการเงินอันดับต้นๆ ที่นำระบบซอฟต์แวร์ SAS มาพัฒนาข้อมูล และใช้งบประมาณในการจ้างคนเหล่านี้สูงมาก และที่สำคัญที่สุด ผู้บริหารที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายจะต้องใช้ฐานข้อมูลวิเคราะห์เหล่านี้อ้างอิง การทำงานจะไม่ใช้ความรู้สึก หรืออารมณ์ส่วนตัวในการตัดสินใจ
ธนาเริ่มทำงานกับ KTC เมื่อ 4 ที่แล้ว ก่อนที่เขาจะร่วมงานกับ KTC เขามีประสบการณ์ทำงาน 1 ปี ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ในตำแหน่ง Vice President และธนาคารกรุงไทย ในตำแหน่ง Foreign Exchange Corporate & Inter Bank Dealer รวมทั้งได้ร่วมงานกับซิตี้แบงก์ ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในตำแหน่ง Credit Risk Management เป็นระยะเวลา 7-8 ปี
เขาใช้ชีวิตในวัยเรียนและเติบโตในสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 17 ปี เริ่มเรียนไฮสกูลที่นั่น และจบการศึกษาปริญญาตรีบริหารธุรกิจการเงิน (Science in Business Administration : Finance) มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ จบปริญญาโทบริหารธุรกิจการเงิน (Business Administration : Finance) มหาวิทยาลัยแห่งเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ และจบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์การเงินและเศรษฐมิติ (Ph.D. in Economics : Financial Economics and Econometrics) มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ซึ่งเป็นสาขาที่มีคนไทยเพียงไม่กี่คนที่จบระดับดอกเตอร์
เหตุการณ์ที่พลิกผันให้ธนาตัดสินใจกลับมาทำงานในเมืองไทย เป็นเพราะว่าความไม่ปลอดภัยของชีวิต เพราะเขาเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์สะเทือนขวัญเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 มองเห็นเครื่องบินที่บินไปชนอาคารเวิล์ดเทรด เซ็นเตอร์ ด้วยสายตาของตนเอง เพราะสำนักงานใหญ่ของซิตี้แบงก์ ในนิวยอร์ก อยู่ใกล้กับอาคารดังกล่าว แต่ยังโชคดีที่ตึกอยู่ระยะห่างพอสมควรที่ไม่ได้รับความเสียหาย หลังจากนั้น เมื่อนิวยอร์กมีกลิ่นเหม็นต่อเนื่องนานถึง 3 เดือน ทำให้เขาไม่มีความเชื่อมั่นในความปลอดภัย ซึ่งไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ประเภทเดียวกันซ้ำขึ้นอีกเมื่อไหร่
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|