ถึงยุคที่ KTC ต้อง Conservative

โดย นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

นิวัตต์ จิตตาลาน ถึงกับออกปากว่า ในอีก 2 ปีข้างหน้า KTC จะต้อง conservative มากขึ้น เพราะยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูได้หมดไปพร้อมกับโจทย์ใหญ่ที่เข้ามา คือการสร้างผลกำไรให้ผู้ถือหุ้นพอใจ นับเป็นความท้าทายที่เขาต้องฝ่าไปอีกครั้ง

สภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัวในครึ่งปีหลัง 2550 และมีการคาดการณ์กันว่าจะลากยาวไปจนถึงปีหน้า หลังจากที่ได้รับ ผลกระทบหลายด้าน โครงการใหญ่ๆ ของ ภาครัฐที่ไม่เกิดขึ้นเลยในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่าน มา ภาคการส่งออกเดือนกรกฎาคมมีอัตราการเติบโตลดลงเหลือเพียง 5.9% มูลค่า 11,801.0 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 29 เดือน

นอกจากนี้ ภาวะค่าเงินบาทที่แข็งส่งผลให้โรงงานหลายแห่งปิดตัวลงทำให้พนักงานตกงาน จากสภาพที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ทำให้ภาคประชาชนระมัดระวังการใช้เงินมากขึ้น เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอนาคต จะเป็นอย่างไร

บริษัทบัตรกรุงไทย (KTC) เองก็ยอม รับว่าได้รับผลกระทบกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะผลิตภัณฑ์หลักที่ให้บริการ คือ "บัตรเครดิต" และ "สินเชื่อบุคคล" ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้บริโภค โดยตรง นิวัตต์ จิตตาลาน ประธานเจ้าหน้าที่ บริหาร KTC ก็ตระหนักดีว่าบริการเหล่านี้จะมีการใช้น้อยลง และเขายังเชื่ออีกว่าจากนี้ ไปอีก 2 ปีเศรษฐกิจของไทยไม่น่าจะดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทรุดแบบฮวบฮาบ จะเหมือนกับคนป่วยซึม ต้องใช้เวลาในการปรับตัว แต่ก็ยังโชคดีกว่ายุคเศรษฐกิจปี 2540

"การทำธุรกิจในสายตาผมต้องระมัด ระวัง การเติบโตในช่วงที่ยุคเศรษฐกิจเฟื่องฟูคงหมดไปแล้ว ผมมองภาพเศรษฐกิจของโลก มากพอสมควร โดยเฉพาะเรื่องหลักๆ น้ำมัน ทองแดง โลหะ ตลาดเงิน พวกนี้ทำให้โลกเขย่า และจัดระบบใหม่ จีนรวยขึ้น ซึ่งเหล่านี้ จะกระทบเมืองไทยมากขึ้น"

จากคำพูดของนิวัตต์ บ่งชี้ทิศทางของ KTC ว่าจะบริหารงานในรูปแบบที่ conservative มากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา ที่การทำงานของ KTC จะรวดเร็วและมีสีสัน เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจฟื้นตัว อย่างเต็มที่ สอดคล้องกับ KTC ที่ต้องการขยายฐานสมาชิกทั้งบัตรเครดิต และสินเชื่อให้มากที่สุด รวมไปถึงการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ใช้สื่อทุกประเภทเพื่อโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อที่มีอิทธิพลมากที่สุด KTC ประสบความสำเร็จในการสร้างฐานบัตรเครดิต และสมาชิกสินเชื่อลูกค้าเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านบัญชี โดยเฉพาะบัตรเครดิตที่ทะลุ 1 ล้านใบ จนกลายเป็นอันดับ 1 ในตลาดจวบถึงทุกวันนี้

แต่จากนี้ไป การบริหารด้วยความระมัดระวังนั้นอาจหมายถึงยุคที่ต้องรักษาสิ่งที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 40,000 ล้านบาท ฐานลูกค้าเกือบ 2 ล้าน บัญชี และชื่อเสียงของแบรนด์ที่อยู่ในระดับที่ได้รับการยอมรับที่ดี

นอกเหนือจากการรักษาระดับธุรกิจให้คงอยู่ต่อไป สิ่งที่สำคัญที่สุด นิวัตต์จะต้อง สร้างผลประกอบการและกำไรให้กับผู้ถือหุ้น ให้มีความพึงพอใจ

"การตั้งเป้าต้องใช้เงิน เราต้องมีรายรับ สุทธิต่อการลงทุนที่ผู้ถือหุ้นเขาอยากเห็นจะกำหนดจากตัวเลข กำไรสุทธิสิ้นปี เขาคาดหวังไว้อย่างไร ก็นำตัวเลขนั้นมาดำเนินงาน ผมเรียกว่าการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ต่อตัวเลข กำไร แต่ละปีผู้ลงทุนคาดหมายว่าจะได้กำไรเท่าไร เราก็นำกำไรมาแปล ต้องทำธุรกิจเท่าไร มีค่าใช้จ่ายเท่าไรเป็นแผน งาน เพื่อให้ตัวเลขที่ต้องการ" นี่ถือว่าเป็นความท้าทายอีกอย่างหนึ่งของนิวัตต์ ที่จะต้อง พิสูจน์ให้ผู้ถือหุ้นได้เห็นอีกครั้ง

การที่นิวัตต์ให้ความสำคัญกับตัวเลขกำไร ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมาแม้ว่าสินทรัพย์และรายได้รวมจะเพิ่มขึ้นทุกปีก็ตาม แต่กำไรสุทธิและกำไรต่อหุ้นกลับลดลง ในปี 2547 กำไรสุทธิ 570 ล้าน บาท ปี 2548 กำไร 653 ล้านบาท และปี 2549 ลดลงเหลือ 439 ล้านบาท ส่วนกำไร ต่อหุ้น ปี 2547 หุ้นละ 2.3 บาท ปี 2548 เพิ่มเป็น 2.6 บาท แต่ปี 2549 กลับลดลงไปอีกครั้งเหลือ 1.7 บาท

ส่วนปี 2550 ผลประกอบการครึ่งปีที่ผ่านมา KTC มีรายได้ 5,002 ล้านบาท กำไร สุทธิ 279.11 ล้านบาท และมีกำไรต่อหุ้น 1.08 บาท

ผู้ถือหุ้นอาจมองว่าการดำเนินงานของ KTC ที่อายุครบ 10 ปี หลังจากที่ก่อตั้งเมื่อปี 2539 และเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2545 ดังนั้นการลงทุนที่ผ่านมาน่าจะเพียงพอ ขนาด ตลาดที่มีอยู่ก็พร้อมแล้วที่จะผลิดอกออกผล อย่างเต็มที่ และน่าจะถึงเวลาแล้วที่ผู้ถือหุ้น จะต้องเก็บเกี่ยวกำไรที่เพิ่มขึ้นจากผลการดำเนินงานของ KTC นับจากนี้ไป

ดังนั้นเป้าหมายต่อไปของ KTC คือเน้นสร้างรายได้จากค่าธรรมเนียมเพิ่มให้มีสัดส่วน 50% และที่เหลืออีก 50% เป็นรายได้ ที่เกิดจากดอกเบี้ย ซึ่งปัจจุบันรายได้หลักของ KTC เกิดจากดอกเบี้ยถึง 60% นอกจากนั้นยัง มีเป้าหมายขยายฐานผู้ใช้เพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านบัญชี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองนิวัตต์ยอมรับว่าต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพักหนึ่ง

แต่สิ่งที่ KTC สามารถสร้างรายได้ทันที คือการสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างสร้างสรรค์ (Value Creation) ให้ฐานลูกค้า 2 ล้านบัญชีที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และ นำผลิตภัณฑ์ใหม่เหล่านั้นมาทำตลาดร่วมกัน และให้พนักงานขายที่มีอยู่ในปัจจุบัน 3,000 คน และในต้นปีหน้าจะเห็น KTC ทำตลาดร่วมกับโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้น

และจากที่บริษัทมีฐานข้อมูลลูกค้าอยู่แล้ว เคทีซีมองว่าจะขยายธุรกิจไปสู่บริการใหม่ๆ อาทิ ขาย content ขายรายการทีวี ขายเพลง ขายอินเทอร์เน็ตอี่นๆ อีกมากมาย และการโฆษณาขายตรง (Direct Advertising) ซึ่งนิวัตต์บอกว่า KTC ได้ไปยืนอยู่หน้าบ้านแล้ว แต่ว่ายังขายไม่ได้เท่านั้นเอง

"จะเห็นว่าตอนที่เราเข้ามา กำไรของเราดี แต่หลังจากที่ถูกกำกับจากภาครัฐ จะถูก กดดัน ตอนนี้ขายพอไปได้ มีอัตราการเติบโต ปีละ 30% แต่สิ่งที่น่ากลัวคือต้นทุนการเงินมันเข้าไปสอดคล้องต้นทุนเครดิตหนี้เสีย"

นิวัตต์บอกว่าในอนาคต หลังจากที่ พ.ร.บ.การเงินออกมาในอีก 5 ปีข้างหน้า การฝากเงินจะน้อยลง คนจะเคลื่อนไหวมาอยู่ตลาดทุนเพิ่มมากขึ้น จะทำให้กลุ่มธุรกิจ non-bank มีโอกาสเพิ่มมากขึ้น มีลูกค้าดีๆ หรือมีบริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น อย่างเช่น ขายตั๋วเครื่องบิน จากปัจจุบันถ้าจะเปิดบริการใหม่ๆ จะต้องมีใบอนุญาต เพราะถูกกำกับดูแลจากหน่วยงานรัฐ

จากคำถามถึงอนาคตอีก 4 ปีข้างหน้า ของนิวัตต์ ซึ่งจะมีอายุครบ 60 ปี เขาตอบกับ "ผู้จัดการ" ว่า "จะกลับไปเลี้ยงลูก ได้วางไว้หมดแล้วธุรกิจของ KTC ได้สร้างแบรนด์ สร้าง ดาต้าเบส สร้างธุรกิจหลัก อย่าไปหวังว่า สิ่งที่ทำไปแล้วเป็นของเรา หรือทำเป็นอนุสาวรีย์ ของเราจริงๆ เป็นคำกล่าวทิ้งท้ายในบทสนทนาในวันนั้น"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.