วิกฤติสายการบินต้นทุนต่ำ


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

อุบัติเหตุของสายการบิน วัน ทู โก เที่ยวบินดอนเมือง-ภูเก็ต ไม่ได้สร้างความสูญเสียเฉพาะแค่ผู้โดยสารที่อยู่บนเครื่องเท่านั้น ยังทำให้ภาพลักษณ์ของสายการบินต้นทุนต่ำถูกลดชั้นลงไปอีก เพราะจุดเริ่มต้นของสายการบินประเภทนี้ต้องลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนให้ต่ำที่สุด เพื่อราคาค่าโดยสารจะได้ถูกลง เนื่องจากเป็นจุดขายที่ชัดเจนและเด่นชัดที่สุด

การเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ ไม่ได้หมายความว่า ต้นทุนด้านความปลอดภัยจะต้องต่ำลงไปด้วย แต่จะเป็นการลดต้นทุนในด้านอื่นแทน เช่น สิ่งอำนวยความสะดวก การบริการที่ไม่จำเป็น ซึ่งแน่นอนว่า ลูกค้าที่ใช้บริการรับทราบและยอมรับเงื่อนไขเหล่านี้อยู่แล้ว

วิธีการที่จะทำให้สายการบินต้นทุนต่ำสามารถอยู่ได้ในธุรกิจ นี้ก็คือ พยายามขนผู้โดยสารให้มากที่สุด นั่นก็คือต้องมีเที่ยวบินที่มาก ขึ้นตามไปด้วย โดยมุ่งไปที่ปริมาณผู้โดยสารเพื่อชดเชยกับค่าโดยสาร ที่ถูกลง การเพิ่มเที่ยวบินให้มากขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือ การใช้เครื่องบิน และบุคลากรการบินที่เต็มกำลัง

มีบางคนเปรียบว่า เหมือนกับการขึ้นรถโดยสารเต็มแล้วออก เพราะบางเส้นทางบินที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก เที่ยวบินจะแน่นมาก

หากสายการบินมีเครื่องบินที่เพียงพอ ก็สามารถเฉลี่ยการใช้งานเครื่องบินและบุคลากรได้เหมาะสม แต่ถ้ามีเครื่องบินและบุคลากร น้อย ก็จำเป็นต้องทำงานมากขึ้นกว่าเดิม

ต้นทุนที่สำคัญของสายการบินทุกประเภทก็คือ ต้นทุนเชื้อเพลิง ที่สูงกว่า 40%

การขึ้นบิน 1 เที่ยวต้องคุ้มค่าน้ำมันที่สุด

ปัญหาเรื่องนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งนายสมชาย แสวงการ ให้ข้อมูลว่า สายการบินต้นทุนต่ำแห่งหนึ่งมีตารางการทำงานที่แน่นเกินไป โดยมีเที่ยวบินถึง 21 เที่ยวต่อวัน สายการบิน วัน ทู โก มีเครื่องบิน 14 ลำ มีเที่ยวบิน ไปต่างประเทศ 6 เที่ยวบินต่อลำ เที่ยวบินในประเทศ 42 เที่ยวบินต่อ วัน การกำหนดตารางบินที่แน่นเกินไป ทำให้นักบินถูกบังคับให้บิน โดยไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ ส่งผลต่อการตัดสินใจและการปฏิบัติหน้าที่

การจัดเที่ยวบินจำนวนมากก็ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องการล่าช้า หรือต้องรอขึ้นเครื่องเป็นเวลานาน บางครั้งมากกว่า 2 ชั่วโมงก็มี หรือ บางครั้งบางเที่ยวบินที่มีผู้โดยสารน้อย การยกเลิกเที่ยวบินก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงแรกของการให้บริการของสายการบินต้นทุนต่ำ จนกระทรวงคมนาคมต้องออกมาเตือนสายการบินว่าไม่ให้เกิดเหตุการณ์ เช่นนี้อีก

สายการบินต้นทุนต่ำไม่ได้หมายความว่าเป็นการสายการบินที่ด้อยคุณภาพ ผู้โดยสารที่เลือกใช้บริการ ก็คือผู้ที่เลือกแล้วว่า ความสะดวกสบายบางสิ่งบางอย่างอาจขาดหายไป แต่แลกมาด้วยการเดิน ทางที่รวดเร็วขึ้น ราคาถูกลงก็พร้อมที่จะจ่าย แต่ผู้โดยสารไม่ยินยอม ที่จะให้ลดความปลอดภัยลงไปแม้แต่น้อย

ผู้โดยสารชั้นหนึ่งกับผู้โดยสารสายการบินต้นทุนต่ำ ต้องได้รับมาตรฐานความปลอดภัยเท่ากัน

ความปลอดภัยไม่ได้ตัดสินที่ราคาค่าโดยสาร

ช่วงนี้ผู้โดยสารของสายการบินต้นทุนต่ำ อาจจะหายหน้าไปบ้าง แต่ก็คงไม่นาน แล้วพวกเขาก็กลับมาใช้บริการเหมือนเดิม

แล้วอุบัติเหตุครั้งนี้ก็จะค่อยๆ ถูกลืมเลือนไป จนกว่าจะมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.