ความภาคภูมิใจ


นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

คงเป็นเรื่องที่ยากจะพิสูจน์ถึงความคุ้ม หรือไม่คุ้ม กับการที่บริษัท ปตท.สำรวจและผลิต (ปตท.สผ.) ทุ่มงบประมาณเป็นตัวเลข 7 หลัก พาสื่อมวลชนกว่า 40 ชีวิต ไปเยี่ยมชมความคืบหน้าการก่อสร้างแท่นผลิตกลางของโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติ "อาทิตย์" ซึ่งกำลังก่อสร้างอยู่ที่โรงงานของบริษัท J.Ray McDermott บนเกาะบาตัม ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อกลางเดือนก่อน

เพราะโครงการนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจที่สุดของ ปตท.สผ. เนื่องจากเป็นโครงการแรกที่ ปตท.สผ.ได้เป็นผู้ดำเนินการ (operater) เองตั้งแต่ต้นทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มต้นการสำรวจเจาะหลุมก๊าซ ก่อสร้างแท่นขุดเจาะ แท่นสำหรับ ที่พักอาศัย จนกระทั่งเริ่มต้นผลิต

โดยขั้นตอนขณะนี้เรียกว่าใกล้จะถึงเวลาเริ่มการผลิตในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มตัวเข้ามาทุกที

ก่อนหน้านี้ ปตท.สผ.ได้เข้าไปเป็น operater มาแล้ว ในโครงการ "บงกช" เป็นโครงการแรก แต่เป็นการเข้าไปรับช่วงเป็น operater ต่อจากบริษัทโทแทล จากประเทศฝรั่งเศส ที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วกว่า 5 ปี

ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการเองตั้งแต่ต้น เหมือนกับโครงการนี้

โครงการ "อาทิตย์" เป็นโครงการที่อยู่ในพื้นที่ปิโตรเลียมนวมินทร์ กลางอ่าวไทย มีขนาดของโครงการ 3,682 ตารางกิโลเมตร ได้รับสัมปทานมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2541 โดยการร่วมทุน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ปตท.สผ.ถือหุ้น 80% บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจ และผลิต (ยูโนแคลเดิม) 16% และบริษัทโมเอโกะ ไทยแลนด์ (จากญี่ปุ่น) 4%

ตามแผนการจะสามารถเริ่มดำเนินการผลิตก๊าซธรรมชาติเฟสแรกในปริมาณ 330 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในไตรมาสแรก ของปี 2551 โดยมีบริษัท ปตท.เป็นผู้รับซื้อก๊าซธรรมชาติทั้งหมด ผ่านทางท่อส่งก๊าซธรรมชาติกลางอ่าวไทยเส้นที่ 3 เพื่อนำไปส่งให้กับโรงแยกก๊าซที่จังหวัดระยอง

ปัจจุบันโครงการนี้เหลือเพียงขั้นตอนสุดท้าย คือการก่อสร้าง แท่นผลิตกลาง ซึ่งเป็นการก่อสร้างบนบก โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถนำแท่นลงเรือลากจูงไปติดตั้งยังแหล่งผลิตกลางอ่าวไทย ได้ภายในสิ้นปีนี้

เฉพาะตัวแท่นที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ ถือเป็นแท่นผลิตที่มีขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ น้ำหนักของตัวแท่น 16,800 ตัน

ประเมินคร่าวๆ จากสายตา ความใหญ่โตของตัวแท่น เรียกได้ ว่าขนาดใกล้เคียงหรืออาจจะใหญ่กว่าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาชิดลม คงไม่เกินเลยไปนัก

เทคโนโลยีการผลิตและติดตั้งแท่นดังกล่าว เรียกว่าวิธี Float-over Installation Method ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลาในการติดตั้งได้อย่างมาก และถือว่าเป็นการนำวิธีการติดตั้งแบบนี้ มาใช้ครั้งแรกในอ่าวไทย

งบลงทุนเฉพาะเฟสแรกนี้ประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งหรือประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกใช้ไป กับการก่อสร้างแท่นผลิตกลางดังกล่าว

ดูจากตัวเลขเงินลงทุนในโครงการกับการได้แสดงศักยภาพของ การเป็น operater อย่างเต็มตัวในโครงการ "อาทิตย์" เมื่อคิดดูแล้ว ผู้บริหาร ปตท.สผ.คงไม่เสียดาย หากจะควักกระเป๋าพาสื่อมวลชน ไปดูงานที่อินโดนีเซียเพียงครึ่งวัน กับพาเที่ยวและชอปปิ้งที่สิงคโปร์อีก 2 วันเต็มๆ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.