"เสี้ยวชีวิตการเป็นนักรบที่ไม่ใช่นักฆ่า"

โดย สุปราณี คงนิรันดรสุข
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

น้อยคนนักที่จะรู้ว่าเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้งเคยเป็นนักบินทหารมาก่อนในฝูงบินฝ่ายสัมพันธมิตร เกียรติได้ผ่านสมรภูมิรบเมื่อครั้งเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีชื่อฝรั่งที่บรรดาเพื่อนฝูงพากันเรียกชื่อเกียรติว่า "TOM CHENG"

ความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนร่วมเป็นร่วมตายในสนามรบครั้งนั้น ส่งผลผูกพันจากอดีตสู่ปัจจุบันที่ทำให้เกียรติสามารถตั้งบริษัทกู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) ขึ้นได้ เนื่องจากประธานกู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) ก็มาจากเพื่อนที่อยู่ในกองทัพเดียวกัน

"นอกจากนี้กิจการบริษัท แทรเวิล เอเยนต์ เมโทรโพลก็เกิดขึ้นเพราะคอนเนคชั่นดั้งเดิมตรงนี้ด้วย ที่ทำให้ท่านทำธุรกิจได้เยอะมาก" อรุณี โศภิษฐ์พงศธร บุตรสาวของเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้งเล่าถึงที่มาของสายสัมพันธ์ธุรกิจเก่าแก่

สมรภูมิสนามรบได้พลิกผันชะตากรรมของเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง ขณะที่กำลังเรียนมหาวิทยาลัยลินนานที่กวางเจา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยคริสเตียน สงครามเอเชียบูรพาได้ระเบิดขึ้น ญี่ปุ่นเข้าครอบครองเมืองจีน

เกียรติไม่สามารถติดต่อกับเมืองไทย ความอดอยากยากแค้นระบาดไปทั่ว เกียรติไม่มีทั้งเงินและงาน เพราะไม่มีใครมีเงินจ้าง สิ่งที่ดีที่สุดเพื่อความอยู่รอดในยามสงครามนี้ เกียรติต้องสมัครเข้าเป็นทหารฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ต้องผ่านข้อสอบจึงจะได้รับการบรรจุกินเงินเดือนมีขั้น

โชคดีที่เกียรติสอบผ่าน และได้เข้าไปอยู่ในกองทัพอากาศอเมริกัน ความเฉลียวฉลาด มีปฏิภาณไหวพริบ เรียนรู้ได้เร็วทำให้ผู้บังคับบัญชาชมชอบเกียรติ หรือ "TOM CHENG" มาก ๆ

เกียรติได้เล่าให้อรุณี บุตรสาวที่เขียน "THE BOY FROM SUPHANBURI" บันทึกประวัติชีวิตของตนฟังว่า หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกอบรมนักบินที่ลุคส์ฟิลด์ เท็กซัส สหรัฐฯ แล้ว เขาได้กลับเมืองจีนและได้รับตำแหน่งเป็นกัปตัน บรรจุเข้าหน่วยรบ "กองทัพที่ 14" (THETH AIRFORCE BASE) ซึ่งมีฐานการบินอยู่ที่เมืองคุนมิง

แม่ทัพบัญชาการของกองทัพที่ 14 นี้คือนายพลแชนนอล (GENERAL CHENNUALT) ซึ่งเป็นผู้นำของหน่วยรบกล้าตาย "FLYING TIGER" (พยัคฆ์ติดปีก) อันมีชื่อเสียงจากการสู้รบกับญี่ปุ่นจนประสบชัยชนะหลายครั้ง ต่อมาหน่วยรบ "FLYING TIGER" นี้ได้กลายมาเป็นกองทัพที่ 14 อันแกร่งกล้าขึ้น

ในสมรภูมิรบครั้งสงครามโลกครั้งที่สองนั้น เกียรติหรือ TOM CHENG ทำหน้าที่ขับเครื่องบินทิ้งระเบิดและบรรทุกสินค้าตลอดจนได้รับมอบภารกิจสำรวจเส้นทางและเป็นครูฝึกทหารจีน

"ตอนนั้นท่านเล่าว่า เอเชียอาคเนย์ทั้งหมดถูกญี่ปุ่นครอบครองและได้ข่าวจากครอบครัวทางเมืองไทยว่า ผู้ใหญ่จุ้ย ผู้เป็นบิดานั้นอยู่ในบัญชีดำของทางการญี่ปุ่น เพราะทำงานใต้ดินอย่างลับ ๆ เพื่อช่วยพวกเสรีไทยซึ่งขณะนั้นมี ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมชเป็นผู้นำปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากญี่ปุ่น ผู้ใหญ่จุ้ยถูกจับได้ขณะพยายามจมเรือบรรทุกสินค้าญี่ปุ่น" ลูกสาวที่ใกล้ชิดเกียรติเล่าให้ฟัง

"ท่านเล่าว่า สงครามเป็นเวลาที่น่ากลัว เวลาเพื่อนรักถูกฆ่าคนแล้วคนเล่า คืนนี้นอนด้วยกัน พรุ่งนี้ไม่เห็นแม้เงา และอีกอย่างหนึ่ง การสู้รบกับญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อต้องทำศึกกลางเวหา เพราะเครื่องบินญี่ปุ่นที่ทาด้วยสีเหลือง จะมีลักษณะเบามากกว่า สามารถเลี้ยวได้คล่องแคล่วว่องไวเปรียบเหมือนรถโตโยต้า ขณะที่เครื่องบินของอเมริกัน มันทั้งหนักและแข็งแรงเหมือนรถแคดิแลค ที่เทอะทะใหญ่โตหมุนกลับลำได้ยากกว่า ดังนั้นคงนึกภาพออกว่า เวลาทำศึกกันผลมันจะเป็นอย่างไร?" อรุณีรำลึกถึงคำบอกเล่าของพ่อ

ครั้งหนึ่งเหตุการณ์สำคัญได้เกิดขึ้นในชีวิตการเป็นนักรบของเกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง เมื่อเกียรติถูกคนอื่นหัวเราะเยาะว่าเป็น "RUNAWAY CAPTAIN" !!

เรื่องเกิดขึ้นเมื่อเกียรติเป็นจ่าฝูงนำเครื่องบินรบเก้าลำออกไปสู้รบกับญี่ปุ่น ความได้เปรียบของเครื่องบินอเมริกันที่แข็งแรงกว่าและสามารถบินสูงเหนือกว่าคู่ต่อสู้ ทำให้ญี่ปุ่นไม่รู้ตัว ฝ่ายของเกียรติเปิดฉากโจมตียิงเครื่องบินญี่ปุ่นก่อน แต่ยิงได้เพียงสามนัด เครื่องบินญี่ปุ่นก็ตอบโต้อย่างหนักจนกระทั่งเกียรติเห็นท่าว่าจะสู้ไม่ได้จึงสั่งให้ทุกคนถอยหนี!

"เมื่อกลับมาถึง ผู้บังคับบัญชาและคนอื่น ๆ ต่างพากันหัวเราะเยาะ และเรียกพ่อว่า RUNAWAY CAPTAIN แต่ที่พ่อทำเพื่อรักษาชีวิตทุกคน นายของพ่อไม่เข้าใจ แต่เพื่อน ๆ เข้าใจดีและยังคงใช้วิธีการของพ่อตลอดคือหนีเอาตัวรอดให้ได้" เกียรติได้เล่าให้ลูกสาวฟังถึงการตัดสินใจในครั้งนั้น

"ท่านได้ทำชื่อเสียงให้แก่ตัวเองในสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ไม่ใช่ในรูปแบบที่ทุกคนเรียกว่าวีรบุรุษ แต่เป็นบุรุษที่เอาตัวรอดได้เยี่ยมยอด" อรุณีให้ความเห็น

หากจะกล่าวอีกแง่มุมหนึ่ง ยามสงครามที่คนแปลกหน้าต่างฆ่ากันและกันโดยมิได้ขุ่นแค้นกันด้วยเรื่องส่วนตัว เกียรติคงได้พบสัจธรรมว่าการเป็น "นักรบ" นั้น แตกต่างจากความเป็น "นักฆ่า" โดยสิ้นเชิง นักรบย่อมเห็นคุณค่าของชีวิตตนเองและผู้อื่น ฉะนั้นเขาจึงไม่โอ้อวดตัวเองหรือเสี่ยงภัยอย่างไร้สาระ หากพยายามทะนุถนอมชีวิตไว้เพื่อมอบให้กับเป้าหมายที่เหมาะสมจริง ๆ

นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง ถ้าเกียรติตัดสินใจบ้าบิ่นไปอีกทางหนึ่ง ประวัติศาสตร์ธุรกิจเมืองไทยคงจะไม่มีตำนานมหาเศรษฐีอย่าง "เกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง" เป็นแน่แท้ คงจะมีแต่ "วีรบุรุษที่ตายแล้ว" ผู้มีชื่อว่า "CAPTAIN TON CHENG" จารึกไว้ในอนุสาวรีย์วีรชนกลางสมรภูมิรบนั้นแล้วก็ได้!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.