|
1 ร้าน 3,000 แบบ 50,000 รายการ
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2550)
กลับสู่หน้าหลัก
ความโดดเด่นและแตกต่างของผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยพิมพ์ลายของแบรนด์ Naraya ไม่ได้อยู่ที่ราคาถูก เริ่มต้นแค่ 20 บาท ทำให้ผู้ซื้อสะดวกใจที่จะหยิบจับเงินในกระเป๋าออกมาจับจ่ายและหิ้วกลับไปใช้เองหรือฝากคนรู้จักเพียงเท่านั้น
แต่ต้องยอมรับว่า เหตุผลสำคัญมากที่สุดที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การที่ Naraya สามารถออกแบบกระเป๋าได้หลากหลายถึง 3,000 แบบ แบ่งเป็นลายผ้า สีสัน และขนาด รวมแล้วมีสินค้ากว่า 50,000 รายการ วางขายอยู่ตามแต่ละสาขาของตนเอง
กระเป๋าผ้าบนชั้นที่จัดเรียงกันเป็นตัวอย่างให้ลูกค้าได้เห็น ก่อนการสอบถามพนักงานถึงสถานที่จัดเก็บของสินค้าแบบนั้นๆ จ่ายเงินที่เคาน์เตอร์แล้วหิ้วกลับบ้าน เป็นกระเป๋าแบบที่วาสนาและแผนกดีไซน์ตั้งชื่อเล่นว่า "กระเป๋าพี่ กระเป๋าน้อง"
กระเป๋าแบบเดียวกันไม่เพียงแต่แตกต่างกันที่ขนาด แต่ว่ายังแตกต่างกันที่สี ซึ่งอาจจะลงตัวหรือถูกใจใครสักคนในครอบครัว
ขนาดที่เหมือนเป็นพี่น้องกัน พอๆ กับความหมายโดยนัยที่ต้องการให้พี่สาวก็สามารถใช้ใส่ของได้ น้องสาวก็หิ้วไปโรงเรียนได้ด้วยเช่นกัน เผลอๆ กระเป๋าแบบเดียวกัน แต่ขนาดใหญ่กว่าก็อาจจะถูกใช้จากคุณแม่หรือคุณย่าก็เป็นได้
ดังนั้น หากจะใช้คำว่า "ละลานตา" เพื่ออธิบายความรู้สึกของลูกค้าที่ก้าวเท้าเข้าไปในร้านสีเหลืองขาวหลายๆ สาขาของ Naraya ก็ดูเหมือนจะไม่ผิดจากความเป็นจริงนัก
"ละลานตา" ยังใช้เป็นคำอธิบายที่ "ผู้จัดการ" ใช้อธิบายจำนวนของลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าใน Naraya เมื่อมีโอกาสเข้าเยี่ยมชมสาขาที่ตั้งอยู่ชั้นกราวด์ของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์
หากแต่ว่าพนักงานดูแลร้านกลับบอกว่า นี่คือบรรยากาศ "ธรรมดา" เพราะหากเป็นวันที่ลูกทัวร์ชาวเกาหลี ญี่ปุ่น หรือไต้หวันมาลงหลายคันรถบัส พื้นที่ทุกตารางนิ้วไม่มีที่ว่างสำหรับลูกค้าใหม่ๆ เลยด้วยซ้ำ
ความสำเร็จของ Naraya ที่สามารถออกแบบกระเป๋าผ้าและข้าวของที่ใช้ผ้าเป็นวัสดุพื้นฐาน เริ่มต้นจากผ้าเพียงไม่กี่ลายในวันที่เริ่มกิจการ
จนกระทั่งรู้จักมักคุ้นกับเจ้าของโรงงานผ้า เริ่มซื้อขายกันแบบจับมือให้คำมั่นที่จะผลิตผ้าในรูปแบบหรือลายที่ขายให้กับ Naraya แต่เพียงผู้เดียวในเวลาต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ทั้งโรงงานผ้าที่คุ้นเคยและจากการออกแบบของแผนกดีไซเนอร์ของ Naraya ทำให้มีลายผ้าที่จดลิขสิทธิ์ออกแบบมาจาก Naraya ห้ามลอกเลียนแบบแล้วเป็นร้อยลาย
หลายปีมานี้ วาสนาไม่ได้หยุดการออกแบบกระเป๋า และมองหาลายผ้าใหม่ๆ มาใช้กับสินค้าของ Naraya ด้วยตนเอง แต่การมีมืออาชีพเข้ามาช่วยเหลือเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับแบรนด์ที่ต้องการจะเติบโตในตลาดยิ่งๆ ขึ้นไป
วาสนาเริ่มจ้างดีไซเนอร์คนแรกเข้ามาทำงานเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว หลานสาวของเธอซึ่งจบจากศิลปากร ถูกจ้างเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้สร้างจินตนาการ แล้วนำมาวาดให้เป็นรูปร่างกระเป๋า ข้าวของเครื่องใช้ที่ผลิตจากผ้าลายดอกตามสไตล์ของ Naraya
ช่วงแรก เมื่อดีไซเนอร์วาดภาพออกมาแล้ว การขึ้นแบบกลับเป็นปัญหา เพราะชาวบ้านที่เป็นแรงงานเย็บสินค้าเคยเป็นที่พึ่งในการขึ้นแบบตลอดมา วาสนาจึงตัดสินใจจ้างคนงานที่จบเสื้อผ้าสิ่งทอมาทำงานด้วย เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ถึงตอนนี้รวมฝ่ายพัฒนาและวิจัยสินค้าเข้าไปด้วยก็เกือบสิบชีวิต
ทุกอย่างทำงานเป็นกระบวนการผลิตที่รัดกุม เมื่อฝ่ายวิจัยค้นพบสินค้าที่น่าจะออกแบบ ก็จะแนะนำฝ่ายดีไซเนอร์ให้วาดภาพออกมา พร้อมทดลองจับคู่ลายผ้าที่มีอยู่ในคลังข้อมูลคอมพิวเตอร์ ผลงานถูกส่งต่อไปยังแผนกขึ้นตัวอย่าง เสร็จแล้วส่งไปให้วาสนาพิจารณา ติชมและส่งเข้าสู่กระบวนการผลิตต่อไป
ไม่เพียงแต่ลายผ้าเท่านั้นที่วาสนาจดลิขสิทธิ์เฉพาะ แต่ยังหมายรวมถึงการจดลิขสิทธิ์แบรนด์ของตนให้กระจายครอบคลุมหรือมีผลทางการค้าทั่วโลกอีกด้วย
ประเทศแรกที่มีการจดลิขสิทธิ์แบรนด์ Naraya ก็คือสาธารณรัฐเชค เนื่องจากมีลูกค้าจากประเทศนี้หิ้วของ Naraya ไปจำหน่ายที่นั่นเป็นจำนวนมาก ก่อนขยายมาจดลิขสิทธิ์ในญี่ปุ่น ยุโรป อินเดีย และอื่นๆ จนเกือบครบทั่วโลก
"ตอนนั้นเพิ่งเริ่มจะมีเงิน แต่สามีบอกว่าต้องจดลิขสิทธิ์แล้วล่ะ เพราะไม่อย่างนั้นอาจจะโดนลอกเลียนแบบได้ ค่าจดลิขสิทธิ์นั้นก็เป็นล้าน แต่ก็ยังน้อยกว่าค่าจ้างทนายต่างประเทศที่ช่วยดำเนินการให้เพราะต้องใช้สำนักงานทนายความหรือบริษัททนายความนานาชาติ เราเคยใช้ที่ปรึกษาด้านกฎหมายจากทั้งเบเกอร์ แอนด์ แมคแคนซี่, ไพรซ์วอเตอร์เฮ้าส์คูเปอร์ส หรือแม้แต่ติลิกี้ แอนด์ กิบบิ้นส์ อินเตอร์เนชั่นแนล นี่ก็จนเกือบครบแล้ว แบรนด์เราเลยไม่เหมือนคนอื่นตรงที่ทำเพราะความจำเป็นแทบทุกอย่าง" วาสนาบอก
ใบประกาศนียบัตรจดลิขสิทธิ์ในหลายๆ ประเทศ อาจไม่ใช่สิ่งที่แสดงความสำเร็จของ Naraya เป็นแน่ แต่สิ่งที่เป็นตัวบ่งบอกความสำเร็จที่แท้จริงของ Naraya กลับเป็นกระเป๋าทั้ง 3,000 แบบ 50,000 รายการ ที่วางอยู่ในร้านของ Naraya ต่างหาก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|