อุตสาหกรรมพลาสติกและน้ำมันพืชเป็น 2 กลุ่มสินค้าใน 15 กลุ่มที่รับผลสั่นสะเทือนจากการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน
(AFTA) อย่างหนักหน่วง เพราะมีกำแพงภาษีสูงสุดถึง 40% ตามเป้าประสงค์ในการสลายธุรกิจที่ไม่ยอมโตด้วยตัวเอง
และ เพื่อผนึกกำลังต่อรองกับกลุ่มการค้าเฉพาะของโลกได้อย่างแข็งขันมากขึ้น
โดยใช้วิธีการทลายกำแพงภาษีให้หมดลงที่ 0% ใน 15 ปี และเริ่มลดเหลือ 20%
ในต้นปี 2537 สองกลุ่มนี้จึงต้องใช้ความพยายามอย่างหนักที่จะต้องแข่งขันกับสิงคโปร์และมาเลเซียเพื่อนบ้านผู้ได้เปรียบ…!
5 ปีจากปีนี้จึงเป็นห้วงแห่งการพิสูจน์ว่าใครแน่พอที่จะอยู่ต่อไปหรือไม่..?!?
โลกหมุนเวียนเปลี่ยนไปตลอดเวลาดังสัจจธรรมที่ว่าสรรพสิ่งมิเคยหยุดนิ่ง
ระบบการค้าซึ่งเป็นมิติหนึ่งของโลกเฉกเช่นกัน..! โลกธุรกิจวันนี้ได้ย่อขนาดเล็กลงเป็นลำดับ
เนื่องจากระบบการสื่อสารที่ถึงกันในพริบตา เครือข่ายการลงทุนของตลาดโลกกลายเป็นอาณาจักรธุรกิจที่ไร้พรมแดน
พลังต่อรองจึงเป็นเครื่องมือสำคัญของการต่อสู้ในสงครามการค้าที่เข้มข้นและซับซ้อนขึ้นทุกขณะ
การรวมเป็นกลุ่มเศรษฐกิจเฉพาะหรือ TRADE BLOCK คือกลยุทธ์ที่ดีในการสร้างอำนาจต่อรองของกลุ่มการค้าแต่ละภูมิภาค
ดังคำกล่าวที่ว่า "หลายเสียงย่อมดีกว่าเสียงเดียว"
เขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้า (AFTA- - ASEAN FREE TRADE AREA) ซึ่งประกาศจัดตั้งไปเมื่อวันที่
28 มกราคม 2535 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ก็อยู่ภายใต้กฎข้อนี้ เพื่อให้กลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหก
คือ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน ได้รวมตัวต่อรองกับกลุ่มเศรษฐกิจอื่นในโลกได้อย่างเป็นจริงเป็นจังอีกครั้งหนึ่งภายใต้การนำของรัฐบาลในยุคอานันท์
ปันยารชุน
จำเป็นอย่างมากที่กลุ่มอาเซียนจักต้องจับมือเพื่อสร้างความสมัครสมานที่แน่นแฟ้น
เพราะตอนนี้พูดได้ว่าภูมิภาคอาเซียนกำลังตกอยู่ในภาวะที่กำลังหวั่นไหวต่อการรวมพลังของกลุ่มเศรษฐกิจของประชาคมยุโรปหรืออเมริกาเหนือที่เป็นไปอย่างเหนียวแน่น
รวมถึงมาตรการกีดกันต่าง ๆ ที่ประเทศพัฒนาแล้วทยอยมาใช้กับกลุ่มอาเซียนต่อเนื่องเป็นระยะ
จะเห็นว่าภูมิภาคอื่นมีการรวมตัวทางเศรษฐกิจอย่างเข้มข้นและจริงจัง นอกจากประชาคมยุโรปหรืออีซีรวมเป็นตลาดเดียว
และกำลังจะไปจับมือกับกลุ่ม "สมาคมการค้าเสรีแห่งชาติยุโรป" (EFTA)
แล้ว ยังมีการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างสหรัฐอเมริกาแคนาดา และเม็กซิโก
ที่เรียกว่า "ข้อตกลงการค้าเสรีแห่งอเมริกาเหนือ" หรือ NAFTA"
และจะกลายเป็นตลาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด
ความน่าดึงดูดใจของเม็กซิดก ในแง่ค่าแรงต่ำ ค่าขนส่งไปยังสหรัฐถูก เพราะมีพรมแดนติดต่อกับสหรัฐฯ
ซึ่งจะเป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเม็กซิโกให้รุดหน้าไปได้แม้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก็ตาม
แต่เชื่อกันว่าจะทำให้กระแสเงินทุนต่างประเทศบางส่วนที่เข้าสู่ไทยนั้นหันไปหาเม็กซิโกเพื่อเป็นฐานการผลิตเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ
เมื่อมีการรวมกลุ่มเศรษฐกิจขึ้น ประเทศที่อยู่นอกกลุ่มก็จะเกิดข้อเสียเปรียบในการขยายหรือต่อรอทางการตลาดในภูมิภาคนั้น
อาฟต้าจึงกลายเป็นกระแสการปรับตัวครั้งใหญ่ของกลุ่มอาเซียน เพื่อให้สินค้าภายในกลุ่มเป็นไปโดยเสรี
มีอัตราภาษีต่ำที่สุด และปราศจากข้อจำกัดที่มิใช่ภาษี และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติสู่ภูมิภาคนี้อย่างคึกคัก
พร้อมทั้งรับสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าโลกที่จะเสรียิ่งขึ้นจากผลเจรจารอบอุรุกวัยที่แม้จะยังไม่มีผลในเร็ว
ๆ นี้ก็ตาม
การวาดฝันนั้นจะจินตนาการให้สวยหรูอย่างไรก็ได้ แต่การสร้างฝันให้เป็นจริงนั้นต้องมีกติกาและวิธีการที่นำไปสู่เป้าหมาย
โดยผู้นำกลุ่มอาเซียนได้ร่วมลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการใช้อัตราภาษีร่วมหรือ
"CEPT" (AGREEMENT ON COMMON EFFECTIVE PREFERENTIAL TARIFF) ซึ่งได้กำหนดให้แต่ละประเทศลดภาษีระหว่างกันเหลือ
0-5% ภายใน 15 ปี
สินค้าที่จะต้องลดภาษีลงตามเงื่อนไขทั้งหมดมี 15 กลุ่ม ได้แก่ ปูนซีเมนต์
ปุ๋ย ผลิตภัณฑ์หนังเยื่อกระดาษ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ
เครื่องใช้อิเล็กโทรนิคส์ เฟอร์นิเจอร์และหวาย น้ำมันพืช เคมีภัณฑ์ เภสัชภัณฑ์
พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ และแคโทดหรือหลอดที่ทำจากทองแดง
ใน 15 กลุ่มนี้ สินค้าตัวใดมีภาษีสูงกว่า 20% ภายใน 5-8 ปีหรืออย่างช้าที่สุดคือปี
2543 ประเทศสมาชิกจะต้องลดภาษีให้เหลือ 20% และหลังจากนั้นอีก 7 ปีคือปี
2551 จะต้องลดลงเหลือเพียง 5% หรือไม่มีภาษีเลย
ส่วนสินค้าที่มีภาษี 20% หรือต่ำกว่านี้ ประเทศคู่ค้าในกลุ่มตกลงลดภาษีให้เหลือ
0-5% กันเองได้ทันทีแม้ว่าจะเป็นเพียงสองประเทศก็ตาม โดยไม่ต้องทำพร้อมกันทุกประเทศ…!
เชื่อกันว่าโดยเงื่อนไขข้อนี้จะทำให้อาฟต้าเป็นจริงได้มากขึ้น และไม่กลายเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกับความล้มเหลวที่เกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งเหมือน
"PTA" (PREFERENTIAL TRADING ARRANGEMENT) จากข้ออ่อนของกลุ่มอาเซียนที่มักจะแข่งผลิตสินค้าหลักเหมือนกัน
ลงทุนอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน และแย่งตลาดระหว่างกัน และไม่ค่อยเห็นความสำคัญของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างแข็งขันเหมือนกลุ่มเศรษฐกิจภูมิภาคอื่น
ต่างก็พยายามที่จะรักษาผลประโยชน์เฉพาะประเทศของตนมากกว่า
จะเห็นว่าพีทีเอซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้ระบบสิทธิพิเศษทางการค้าของกลุ่มอาเซียนเมื่อประมาณ
20 ปีที่ผ่านมา มีสินค้ากว่า 15,000 ราย การอยู่ในข้อตกลง แต่ก็ไม่ได้ทำให้การขยายตัวทางการค้าระหว่างอาเซียนด้วยกัน
มีที่เป็นจริงตามระบอบพีทีเอเพียง 300 รายการหรือ 20% เท่านั้น
แต่เมื่อกระแสการค้าของโลกเปลี่ยนไป กลุ่มอาเซียนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเครื่องมือในการปกป้องผลประโยชน์ร่วมของภูมิภาคอาเซียนเพราะหากต่างคนต่างมุ่งประโยชน์เฉพาะประเทศ
และต่อสู้เพียงลำพัง จะอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบหนักข้อขึ้น
เนื่องจากฐานตลาดแต่ละประเทศจะเล็กจากตลาดประชากรของอินโดนีเซียประมาณ
179 ล้านคน ฟิลิปินส์ 60 ล้านคน ไทย 56 ล้านคน มาเลเซีย 17 ล้านคนเศษ สิงคโปร์
2.7 ล้านคน และบูรไน 0.2 ล้านคน แต่ถ้ารวมตลาดที่มีขนาดใหญ่ถึงประมาณ 315
ล้านคน ไม่รวมการขยายไปสู่ตลาดอินโดจีน ทำเลทองที่ต่างชาติเริ่มเข้าไปวางฐานตลาดกันแล้วอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะญี่ปุ่นและสิงคโปร์
ดังที่อมเรศ ศิลาอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า "ในระยะ
15 ปีนี้สิงคโปร์ซึ่งถือว่ามีการส่งออกมาเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า แต่ไทยเพิ่มขึ้นถึง
4.5 เท่า ทั้งที่ส่วนใหญ่ไทยส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ถ้าเราได้ตลาดอาเซียนอีกแห่งหนึ่ง
ก็จะโตได้อีกมาก"
นั่นหมายความว่า อุตสาหกรรมไทยจะต้องเร่งปรับตัวสู่ประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อเข้าสู่ระบบการแข่งขันของการค้าเสรีได้อย่างสมศักดิ์ศรี
จากคำประกาศของอานันท์ นายกรัฐมนตรีในที่ประชุมอาเซียน ซึ่งได้กลายเป็นประเด็นเรียกเสียงโวยจากนักลงทุนบางกลุ่มที่ว่า
สินค้าไทยตัวใดที่มีภาษีสูงกว่า 30% ให้ลดลงเหลือ 30% ในวันที่ 1 มกราคม
2536 และให้เหลือ 20% ในวันปีใหม่ 2537 นั่นมีความหมายมาก
"แสดงให้เห็นว่าประสิทธิภาพของเราห่วยแค่ไหน" อมเรศสะท้อนถึงสถานะของธุรกิจไทยเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอาเซียนด้วยกัน
แต่การลดภาษีลงมานั้น "ไทยจะหารือกับกลุ่มอาเซียนอย่างใกล้ชิด โดยลดให้กันและกัน
ต้องมีความสมดุลไม่ใช่เราลดฝ่ายเดียว แต่ต้องมี 'GIVE AND TAKE'"
อาฟต้าจึงกลายเป็นตัวเร่งให้อุตสาหกรรมปรับตัวและเพิ่มประสิทธิภาพแห่งธุรกิจให้เร็วขึ้น
โดยเฉพาะไทยเป็นประเทศที่มีภาษีนำเข้าสูงสุดในกลุ่มอาเซียน อัตราภาษีที่สูงกว่า
20% มีถึงประมาณ 50% เป็นอย่างน้อยของสินค้าที่มีอยู่ทั้งหมด ขณะที่ฟิลิปปินส์มี
33% มาเลเซีย 11% และอินโดนีเซียราว 7% ส่วนสิงคโปร์และบรูไนนั้นไม่มีสินค้าที่เก็บภาษีสูงกว่า
20% เลย
เนื่องจากที่ผ่านมาไทยมีนโยบายปกป้องสินค้าที่ผลิตในประเทศ เพื่อให้ธุรกิจนั้นเกิดและเติบโตขึ้นได้ซึ่งด้านหนึ่งก็เป็นประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ
แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้ธุรกิจนั้นไม่มีประสิทธิภาพสูงเท่าที่ควร ปีกไม่กล้าขาไม่แข็งพอที่จะออกไปแข่งกับชาวโลกได้อย่างทรนง
อุตสาหกรรมใดที่ยิ่งมีระดับภาษีสูง ก็ยิ่งได้รับผลสั่นสะเทือนมากขึ้นเท่านั้น…!
ที่เสียเปรียบและหนักที่สุด ก็คือ ธุรกิจพลาสติก อันเป็นผลผลิตขั้นปลายของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพราะที่ผ่านมาเก็บภาษีสูงถึง
40% และอุตสาหกรรมน้ำมันพืชประมาณ 30%
ส่วนอีก 13 กลุ่มสินค้า ส่วนใหญ่อยู่ในฐานะได้เปรียบด้านการผลิต และจะมีโอกาสขยายตลาดในอาเซียนได้มากขึ้น
แม้ความได้เปรียบจะไม่เด่นชัดในทันทีก็ตาม
พลาสติกกับน้ำมันพืชจึงกลายเป็นด่านหน้าจะต้องรับมือกับอาฟต้าเพื่อให้อยู่รอดได้ในตลาดของการแข่งขันอันเข้มข้น
บนปรัชญาที่ว่า "ผู้แข็งแรงและมีประสิทธิภาพสูงสุดเท่านั้นคือผู้อยู่รอด"
ทันทีที่อาฟต้าเกิด เสียงแซ่ซ้องและโวยวายก็เกิดคละเคล้ากันไป อยู่ที่ว่าใครอยู่ในขั้นตอนไหนของธุรกิจ…?
ถ้าเป็นผู้ประกอบการพลาสติกสำเร็จรูปจะได้ประโยชน์ และนำเข้าเม็ดพลาสติก
ซึ่งเป็นวัตถุดิบได้คล่องตัวมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันการนำเข้าเม็ดพลาสติกของไทยจะต้องเสียภาษีที่
40% จึงไม่ค่อยมีผู้นำเข้าเม็ดพลาสติกมากนัก ทั้งที่ราคาถูกกว่าเม็ดพลาสติกที่ผลิตในประเทศเป็นร้อยเหรียญต่อตัน
บรรดาผู้ประกอบการพลาสติกจึงขานรับอย่างเต็มที่ บางรายถึงกับบอกว่าน่าจะลดภาษีลงเหลือ
20% ตั้งแต่ปี 2536 ไม่ต้องรอไปถึงปี 2537 ด้วยซ้ำไป
อันที่จริงการค้าสินค้าพลาสติกของไทยนั้นมีมานาน แต่การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกเพิ่งเริ่มพัฒนาเมื่อประมาณ
10 ปีที่ผ่านมา มีบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (ทีพีไอ) เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติก
"พีอี" รายแรกและใหญ่ที่สุดของไทยทั้ง "แอลดีพีอี" และ
"เอชดีพีอี"
"พีอี" ถือเป็นตระกูลเม็ดพลาสติกที่เป็นวัตถุดิบที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดในบรรดาประเภทพลาสติกที่มีอยู่
ซึ่งจะแยกคร่าว ๆ ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ
เม็ดพลาสติกแอลดีพีอี (LOW DENSITY POLYTHYLENE) หรือเรียกย่อว่า "แอลดี"
มีปริมาณการใช้ถึง 40% ของเม็ดพลาสติกทั้งหมด ใช้ทำสินค้าสำเร็จรูปประเภทถุงข้าวสาร
ถุงซิป ฟิล์มเกษตรขวดน้ำเกลือ ฝาจุกต่าง ๆ ซองบะหมี่
ส่วนอีกชนิดหนึ่ง คือ เม็ดพลาสติกเอชดีพีอี (HIGH DENSITY POLYETHYLENE)
หรือ "เอชดี" ต่างจากแอลดีตรงที่มีความทนและเหนียวมากกว่า จะใช้ทำถุงน้ำร้อน
ถุงหูหิ้ว ถุงขยะ แห อวน ขวดน้ำ ถังน้ำมัน ตะกร้า บังโคลนรถ และท่อส่งน้ำ
ดังนั้น เพื่อให้โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกที่เกิดขึ้นเพื่อทดแทนการนำเข้าและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นดาวน์สตีมหรือขั้นปลายอยู่ได้
รัฐบาลจึงกำหนดภาษีนำเข้าเม็ดพลาสติกที่ 40% ตลอดมา ไม่รวมถึงบางช่วงที่มีการขอเซอร์ชาร์จอีก
20% อีกต่างหาก
แต่เมื่อสถานการณ์โลกเปลี่ยน กระแสการค้าได้กระจายไปสู่อาณาจักรที่ใหญ่โตขึ้นแทนที่จะอยู่เฉพาะในประเทศหรือภูมิภาค
นักลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกก็จะต้องปรับตัวต่อโลกที่พลิกผันไปอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน
ถ้ายังไม่มีอาฟต้า อุตสาหกรรมนี้ก็ต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพตัวเองอยู่แล้ว
แต่เมื่อเกิดอาฟต้าอย่างที่ไม่มีนักลงทุนธุรกิจพลาสติกรู้ตัวกันล่วงหน้าเท่าไหร่
เหมือนกับเกิดฟ้าผ่าโดยไม่มีเค้าเมฆเค้าฝน อาฟต้าจึงกลายเป็นเรื่องที่กดดันอย่างมากสำหรับวงการพลาสติก
ซึ่งจะกระทบต่อชะตากรรมของปิโตรเคมีไทยอย่างเป็นลูกโซ่
อาฟต้าส่งผลต่อโรงงานผู้ผลิตเม็ดพลาสติกโดยตรง…!
ตอนนี้ ผู้ผลิต "แอลดี" และ "พีอี" แยกได้เป็น 2 ค่าย
คือค่ายทีพีไอของตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ และค่ายทีพีอี (บริษัท ไทยโพลีเอททีลีน
จำกัด) ของกลุ่มปูนใหญ่
สำหรับทีพีไอนั้น เรียกว่าผ่านช่วงที่คาบลูกคาบดอกมาแล้ว เนื่องจากเป็นผู้บุกเบิกและยึดตลาดก่อน
และยอมรับกันว่าตลอดห้วงที่รัฐบาลให้การอุดหนุนด้วยการตั้งกำแพงภาษีนำเข้าเม็ดพลาสติกที่สูงถึง
40% นั้น ก็คือการคุ้มครองให้ทีพีไออยู่ได้นั่นเอง
ผลจากอาฟต้าที่กำหนดลดภาษีลงมาแม้ส่วนลึกแล้วทีพีไออาจจะไม่ชอบใจนัก แต่ก็อยู่ในฐานะได้เปรียบกว่ารายอื่น
ความเห็นของค่ายทีพีไอจึงออกมาในลักษณะที่นุ่มนวลน่าฟังกว่าครั้งใดที่ผ่านมา
มีใจความสำคัญว่า
"อาฟต้าจะทำให้ได้ตลาดเพิ่มขึ้น เราไม่กลัวว่าสินค้าของกลุ่มอาเซียนจะตีตลาด
เพราะเราพัฒนามานาน ถ้าเขาทุ่ม เราก็ทุ่มตลาดกลับ"
เพราะทีพีไอเก็บเกี่ยวกำไรได้มากพอแล้วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเรียกว่าตัดต้นทุน
หักค่าเสื่อมได้หมด ด้วยเหตุว่าช่วงนั้นตลาดเป็นของผู้ผลิตเม็ดพลาสติกคือทีพีไอบวกกับปัจจัยเกื้อหนุนด้านภาษีนั่นเอง
"ตีต้นทุนคร่าว ๆ ของเอททีลีน ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการเม็ดพลาสติกอยู่ประมาณที่
400 เหรียญสหรัฐต่อตัน สูงสุดให้ที่ 500 ถ้าเอากำไรตันละ 100-150 เหรียญต่อตัน
จะได้ 30% แต่ราคาที่ทีพีไอขายอยู่ที่ 1,000 กว่าเหรียญ ขณะที่ราคาเม็ดพลาสติกในต่างประเทศ
โดยอิงตามตลาดสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่อยู่ที่ตันละ 600-700 เหรียญ เมื่อไทยนำเข้ามาบวกภาษี
40% และค่าขนส่งแล้วตกตันละ 1,100-1,200 เหรียญแล้วแต่ภาวะตลาดในแต่ละช่วง"
แหล่งข่าวระดับสูงจากสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทยกล่าว
ทีพีไอในฐานะที่เป็นเจ้าตลาดพีอีของไทยเฉพาะตลาดแอลดีมีส่วนครองตลาดอยู่กว่า
80% และเอชดีประมาณ 60% เศษ ที่เหลือเป็นตลาดของทีพีอีค่ายปูนใหญ่
ความกล้าเสี่ยงในการบุกเบิกโรงงานเม็ดพลาสติกแต่แรก ได้กลายมาเป็นความได้เปรียบ
โดยเฉพาะในสถานะที่การแข่งขันทวีความรุนแรงขึ้นทีพีไอจึงรอดตัวจากผลกระทบของอาฟต้า
เพราะเพียงแต่ขาดทุนกำไรเท่านั้น
คราวนี้ทีพีไอจึงไม่โวยวายเสียงดังอย่างทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงในวงการพลาสติกตามสไตล์ที่รู้กันว่า
"ยังไงก็ขอโวยไว้ก่อน" เพื่อให้เกิดภาพเหมือนว่าได้รับความเสียหายรุนแรง
ส่วนจะกระทบจริงแค่ไหนก็ค่อยว่ากันทีหลัง
ส่วนค่ายปูนใหญ่จะเสียเปรียบกว่าทีพีไอในฐานะที่เป็นผู้มาทีหลัง เพิ่งจะมีเม็ดพลาสติกออกสู่ตลาดเมื่อปีสองปีนี่เอง
จึงต้องแบกรับภาระต้นทุนสูงกว่าและไม่ทันที่จะได้ปรับตัวอย่างทีพีไอ ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการลงทุนใหม่จากอาฟต้า
ทีพีอีจึงต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะส่วนต่างของกำไรที่จะได้จากภาษีนำเข้า
40% ก็หายไป ซึ่งอภิพร ภาษวัธน์ กรรมการผู้จัดการทีพีอีได้ให้ความเห็นไปแล้วว่า
"พร้อมที่จะรับการประกาศอาฟต้า" เพราะทิศทางของปูนใหญ่มุ่งการแข่งขันในระบบเสรีมากขึ้นอยู่แล้วนั่นเอง
แม้ว่าจะเสียเปรียบทีพีไอทั้งด้านต้นทุนและการตลาดในขณะนี้ และจะต้องใช้เวลาคืนทุนยาวออกไปอีก
5 ปี 7 ปีก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีเสียงโวยวายจากทีพีอีทั้งที่ตนเสียเปรียบและเป็นรองทีพีไอหลายขุม
เพราะสไตล์การบริหารและกลยุทธ์การตลาดของทีพีอีนั้นจะเน้นเคารพกติกา ตรงไปตรงมาตามที่พยายามได้สร้างภาพพจน์ให้เห็นว่า
องค์กรอย่างค่ายปูนใหญ่จะมุ่งมืออาชีพและเป็นสากล มิใช่ภาพของเถ้าแก่ที่ขอเพียงเก็บเกี่ยวกำไรเฉพาะหน้าโดยไม่ใส่ใจต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งระบบเฉกเช่นทีพีไอ
อย่างไรก็ตาม ทั้งทีพีไอ และทีพีอี รวมถึงโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชนิดอื่น
คือ พีพี ของกลุ่มศรีกรุง และพีวีซีของกลุ่มศรีเฟื่องฟุ้ง ซึ่งอยู่ในโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่
1 (เอ็นพีซี-1) นั้นคงฝ่าด้านอาฟต้าไปได้ แม้จะยังไม่แข็งแกร่งอย่างสิงคโปร์
แต่ก็เริ่มพัฒนามาแล้ว 7-8 ปี และจะต้องพัฒนาต่อไป อยู่ที่ว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการธุรกิจของตนอย่างไร
เพราะการลดภาษีจากอาฟต้า เชื่อว่าจะทำให้เม็ดพลาสติกนอกทะลักสู่ตลาดเมืองไทยมากขึ้น
ในโครงการเอ็นพีซี-1 นั้นมีบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด (ปคช.) ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย
(ปตท.) 49% และรับผิดชอบโรงโอเลฟินส์-1 นั้นเป็นผู้ผลิตเอททีลีนขายให้แก่โรงงานเม็ดพลาสติก
และ ปคช. เป็นผู้รับซื้อก๊าซอีเทนจาก ปตท. หลังจากที่ไทยค้นพบและพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยขึ้นมา
เนื่องจากที่เป็นอยู่ปัจจุบันไทยมีต้นทุนและอัตราภาษีสูงกว่าที่อื่นโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับสิงคโปร์
ซึ่งเป็นผู้เสนออุตสาหกรรมพลาสติกเข้าสู่ระบบภาษีของอาฟต้านั้น จะเป็นผู้ได้เปรียบที่สุด
ทั้งที่ไม่มีแหล่งทรัพยากรของตนเองเลย แต่มีระบบการจัดการธุรกิจที่ทรงประสิทธิภาพและโปร่งภาษีกว่าใคร
สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกและปิโตรเคมี สิงคโปร์พัฒนาล้ำหน้าไทยไปมาก โดยเริ่มมาก่อนเมื่อประมาณ
20 ปีที่แล้ว ขณะนี้มีโรงเอททีลีนขนาดใหญ่ กำลังการผลิต 4.2 แสนตันต่อปี
(จากเดิม 3 แสนตันต่อปี) และกำลังจะมีโรงใหม่ขนาดไม่น้อยกว่า 3.5 แสนตันต่อปี
กำหนดสร้างเสร็จในอีก 3-4 ปี
โรงงานขนาดใหญ่ทำให้สิงคโปร์ได้เปรียบในแง่ต้นทุนต่อหน่วย เป็นลักษณะของการพัฒนาปิโตรเคมีเยี่ยงประเทศอุตสาหกรรมอื่น
ซึ่งจะมีโรงกลั่นและมีโรงงานปิโตรเคมีต่อเนื่องตาม ๆ กันและกระจายออกไปสู่โรงงานขั้นปลายมากมายแบบเชื่อมโยงและครบวงจร
รูปแบบการจัดการเช่นนี้ทำให้การบริหารต้นทุนได้ดีกว่า โดยจะเป็นกลุ่มทุนจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเป็นหลัก
สิงคโปร์มีโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่รวม 5 โรงรวมกำลังการกลั่นกว่า 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ซึ่งเป็นแหล่งซัพพลายใหญ่ด้าน (NAPTHA) แนปธ่า หรือน้ำมันที่นำไป เพื่อผ่านระบบการกลั่นแล้วแยกออกไปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง
ๆ ตามต้องการ ซึ่งผลการวิจัยพบว่าแนปธ่าจะเป็นวัตถุดิบที่ให้ค่าทางปิโตรเคมีได้สูงกว่าวัตถุดิบตัวอื่น
ภายใต้ระบบการค้าและโรงกลั่นเสรี บวกกับสาธารณูปโภคอันเพียบพร้อม เฉพาะอย่างยิ่งระบบท่าเรือที่สมบูรณ์เป็นตัวช่วยส่งเสริมให้การพัฒนาธุรกิจของสิงคโปร์ขึ้นไปอยู่บนชั้นแนวหน้าของโลก
ขณะที่ไทยยังด้อยกว่าในเรื่องเหล่านี้ทุกด้าน "ทำให้ต้นทุนการผลิตของสิงคโปร์ถูกกว่าไทยประมาณ
10-20% เป็นอย่างน้อย" แหล่งข่าววงการปิโตรเคมีกล่าว
ดังที่สมชัย คงศาลา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด
(ทีพีซี) ยักษ์ใหญ่ด้านวัตถุดิบพลาสติกพีวีซี ซึ่งใช้ผลิตท่อ สายไฟฟ้า สายเคเบิ้ล
กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า "สิงคโปร์มีท่าเรือดี ขนส่งปิโตรเลียมได้ถูกกว่ามาก
ปลอดภาษี ต้นทุนถูกแต่มีปัญหาแรงงาน และไม่มีตลาดที่เป็น END PRODUCT หรือตลาดรองรับที่ใหญ่พอ"
เป้าหมายจึงเน้นส่งออก "อย่างถ้าเรามีท่าเรือน้ำลึกลักษณะ SEA PORT
ที่ได้มาตรฐาน ตามโครงการของท่าเรือสีชังจะได้ประโยชน์และช่วยได้มาก"
ปัญหาอีกประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องต้นทุนวัตถุดิบ คือ ก๊าซอีเทนที่ ปคช.
รับซื้อจาก ปตท. มาผลิตเป็นเอททีลีน เพื่อผลิตเม็ดพลาสติกนั้นยังสูง
แต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยจะมีรูปลักษณ์ที่ต่างจากสิงคโปร์ คือขาดความพร้อมของปัจจัยพื้นฐาน
และยังแยกขั้นตอนการผลิตออกเป็นแต่ละโครงการ เช่น ปตท. เป็นผู้ผลิตก๊าซีอีเทน
ปคช. เป็นผู้ผลิตเอททีลีนในรูปของเอกชนที่มี ปตท. ถือหุ้นใหญ่ 49% ต่อลงมาก็เป็นบริษัทเอกชนเต็มตัวที่เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติก
ซึ่งแต่ละองค์กรก็มีระดับของจริยธรรมทางธุรกิจ วัฒนธรรมและสไตล์การบริหารที่ต่างกัน
การแยกองค์กรธุรกิจอย่างนี้ ทำให้แต่ละหน่วยงานต่างก็มุ่งประโยชน์และกำไรสูงสุดเฉพาะตัวเท่านั้น
ไม่ได้ดูทั้งระบบว่า จะพัฒนา และให้แข่งขันกับคู่แข่งได้อย่างไรทั้งที่ระบบบริหารที่เป็นการผลิตต่อเนื่องครบวงจรจะทำให้ถัวเฉลี่ยต้นทุนได้ดีกว่า
และลดช่วงต่างของกำไรลงเพื่อสร้างความได้เปรียบในการเข้าตลาด และมุ่งประโยชน์ของภาพรวมของอุตสาหกรรมนั้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือ ในช่วงที่ผ่านมาทีพีไอมักจะรับซื้อวัตถุดิบเอททีลีนจาก
ปคช. ในปริมาณต่ำสุดตามที่จำเป็นจะต้องรับตามเงื่อนไขเท่านั้นทั้งที่เป็นผู้ผลิตพีอีรายใหญ่
แต่จะอาศัยการนำเข้าเอททีลีนตามราคาตลาดโลกเป็นส่วนมากตามสถานการณ์ด้านราคาที่เอื้ออำนวย
แต่เมื่อเกิดวิกฤติอย่างคราวสงครามอ่าวเปอร์เซีย เอททีลีนตลาดโลกขึ้นพรวดพราดจากราคาตันละ
400 เหรียญสหรัฐเป็น 1,200 เหรียญสหรัฐต่อตัน ซึ่งในราคาขนาดนี้ก็ยังหาซื้อไม่ได้
ทีพีไอก็กลับมามุ่งซื้อจาก ปคช. แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องฉายภาพความไม่สมดุลของการจัดการปิโตรเคมีของไทย
นี่เป็นส่วนหนึ่งทำให้การจัดการผลิตแต่ละส่วนไม่เป็นไปอย่างเต็มประสิทธิภาพ
ปคช. จะวางแผนการผลิตได้ลำบาก ยังไม่รวมถึงปัญหาขัดข้องทางเทคนิคที่มีอยู่เป็นครั้งคราว
วัตถุดิบจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญที่จะบ่งบอกว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะรับมือกับอาฟต้าได้มากน้อยแค่ไหน
เพราะ ปคช. เองก็จะอ้างว่า ซื้อก๊าซอีเทนจาก ปตท. มาในราคาสูง "อย่างเมื่อราวเดือนธันวาคมปีก่อน
เทียบราคาตลาดโลกแล้วสูงกว่าประมาณ 100 เหรียญสหรัฐ แม้การนำเข้าจะต้องเสียภาษี
20% ก็ตาม ซึ่งถ้าเทียบราคาตลาดจรแล้วจะถูกลงไปอีก" แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตเม็ดพลาสติกกล่าว
ปัญหามีว่า ปตท. จะลดราคาก๊าซลงได้อีกแค่ไหน เพราะตอนนี้ได้ลดราคาลงไปจากเงื่อนไขสัญญาซื้อขายที่ตกลงกันไว้แล้ว
ตรงนี้คงกลายเป็นเรื่องของนโยบายที่รัฐบาลคงต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เอ็นพีซี-1
พลิกตัวเข้าสู่ระบบอาฟต้าได้อย่างภาคภูมิและทันการณ์
เนื่องจากอุตสาหกรรมพลาสติกแตกแขนงแยกย่อยออกไปมากมายหลายประเภท จำแนกออกเป็นพิกัดต่าง
ๆ ความหลากของผู้ประกอบการก็มีมาก ขณะนี้จึงยังไม่มีข้อสรุปอะไรที่เป็นทางการเพียงแต่อยู่ระหว่างศึกษาหารือและรวบรวมปัญหาอุปสรรคที่จะเสนอต่อรัฐบาลเพื่อหาทางออกกันต่อไป
แต่ที่เป็นปัญหาหนักกว่า ก็คือ นักลงทุนในเอ็นพีซี-2 ซึ่งจะแยกเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรก คือ โรงโอเลฟินส์-2 ดำเนินการโดยบริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (ทีโอซี)
ผลิตวัตถุดิบเหมือนกับโรงโอเลฟินส์-1 มีผู้ประกอบการเจ้าเก่า ได้แก่ กลุ่มทีพีไอ
กลุ่มปูนใหญ่เป็นผู้ร่วมโครงการ ตอนนี้กลุ่มสโตน แอนด์ เวบส์เตอร์ จากสหรัฐเป็นผู้ชนะประมูลก่อสร้างโรงงาน
และอยู่ระหว่างดำเนินการ
ภายใต้เงื่อนไขของอาฟต้า กลุ่มโรงงานในโครงการโอเลฟินส์-2 จะอยู่ในฐานะเสียเปรียบกลุ่มที่เกิดในโครงการโอเลฟินส์-1
โดยเฉพาะรายใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างบริษัท บางกอกโพลีเอททีลีน จำกัด (บีพีอี)
ซึ่งถือหุ้นโดยกลุ่มมิตซุยและแบงก์กรุงเทพหรือวีนิไทยของกลุ่มซีพี คงจะต้องขับเคี่ยวกับเจ้าเก่าที่มีฐานตลาดเดิมอยู่แล้วอย่างหนักหน่วงยิ่งขึ้น
ส่วนที่สอง คือ โรงงานอะโรเมติกส์ ดำเนินการโดยบริษัท ไทยอะโรเมติกส์ จำกัด
(ทีเอซี) จะเป็นผู้ผลิตสาร BTX อันเป็นวัตถุดิบต้นทางในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ไม่ใช่ตระกูลพีอีแทบทุกชนิด
ผลิตภัณฑ์เคมี หรือเส้นใยสังเคราะห์สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอ
ขณะนี้ทีเอซีถือหุ้นโดย ปตท. 100% หลังจากที่เจอปัญหาขัดแย้งระหว่างผู้ถือหุ้นผลตอบแทนและความคุ้มทุนของโครงการ
ซึ่งตอนนี้จะมีผู้สนใจร่วมโครงการ กระทั่งรายใหม่อย่างมิตซูบิชิแห่งญี่ปุ่นก็ตาม
แต่ก็ยังสรุปไม่ได้ชัดเจนว่าจะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ แม้ว่าเมื่อทีเอซีเปิดโรงงานและจะขายวัตถุดิบในราคาตลาดโลกก็ตาม
เพราะถ้ากำแพงภาษีที่ถูกทลายลงช่วงต่างของกำไรที่จะได้จากอัตราภาษีนำเข้าก็จะหดหายไป
ซึ่งยังไม่แน่นักว่าผู้ลงทุนปรับตัวแข่งกับตลาดโลกได้เพียงใด ซึ่งถ้ารับภาระไม่ไหว
ก็อาจจะต้องมาเบียดให้ผู้ผลิตต้นทางวัตถุดิบอย่างทีเอซีลดราคาลงอีก ซึ่งก็คงเป็นไปได้ยากเช่นกัน
สรุปแล้ว เอ็นพีซี-2 ในส่วนของโรงโอเลฟินส์ยังไงก็ต้องเดินหน้าต่อ แต่โรงอะโรเมติกส์ยังคงต้องไต่อยู่บนเส้นลวดต่อไป..!
จะเห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบกับสิงคโปร์แล้วไทยเสียเปรียบ แต่ในระยะยาวอีก
10 ปีขึ้นไปหากมีการลดราคาวัตถุดิบ เติมความพร้อมในเรื่องของปัจจัยพื้นฐานและสาธารณูปโภค
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องท่าเรือ ไฟฟ้า เป็นต้น ไทยจะได้ประโยชน์
เพราะถ้ารวมกำลังการผลิตโรงโอเลฟินส์ 1 และ 2 ที่กำหนดสร้างเสร็จในปี 2538
แล้ว "เราสู้เขาได้" ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกหลายเสียงกล่าวถึงความมั่นใจกับผลประโยชน์ระยะยาว
โดยเฉพาะทิศทางของปิโตรเคมีที่สิปนนท์ เกตุทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมที่ผ่อนปรนให้ขยายกำลังการผลิตได้ก่อนที่จะเปิดเสรีเต็มที่ในระยะต่อไป
ที่ผ่านหลักการแล้วมี 4 ชนิดคือ เม็ดพลาสติกพีพีซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายกับเอชดีแต่จะต่างกับเอชดีตรงที่ดูสวยบาง
น้ำหนักเบา แต่ไม่แข็งแรง เม็ดพลาสติกพีอี และวีซีเอ็ม วัตถุดิบที่ใช้ผลิตพีวีซี
ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้อยู่ในโครงการโอเลฟินส์-1 และ 2
กลุ่มที่ได้ก็คือ กลุ่มเดิมนั่นเอง โดยทีพีไอจะได้เพิ่มกำลังผลิตจาก 1.4
แสนตันเป็น 1.8 แสนตัน ทีพีอีได้จาก 1.25 แสนตันเป็น 1.8 แสนตัน ทีพีซีจะขยายจาก
1.8 แสนตันเป็น 2.6 แสนตัน และขยายอีดีซี วัตถุดิบสำหรับผลิตผงพีวีซีอีก
8.4 หมื่นตัน ไม่รวมถึงผลพลอยได้อย่างโซดาไฟ และเอ็ช เอ็ม ซี โพลิเมอร์ของกลุ่มศรีกรุงวัฒนา
จะได้เพิ่มผลผลิตทีพีจาก 1.25 แสนตันเป็น 1.6 แสนตันต่อปี
แนวทางที่สิปปนนท์จะอนุมัติให้กับกลุ่มเดิมซึ่งมีฐานเดิมและมองว่ามีความพร้อมที่จะขยายได้ทันทีนั้น
กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะทำให้กลุ่มเดิมผูกขาด
เช่น จะทำให้ทีพีซีมีกำลังการผลิตพีวีซี 2.6 แสนตัน มากกว่า "วีนิไทย"
แห่งค่ายซีพีที่อยู่ในโครงการเอ็นพีซี-2 ถึงเท่าตัว จะทำให้การแข่งขันเป็นไปได้ยาก
นอกจากนี้ สิปปนนท์ยังมีทิศทางที่จะให้ขยายพลาสติกประเภทอื่นอย่างเสรี
เพื่อให้ซัพพลายมากพอ แข่งขัน และไม่ผูกขาดดังเช่นที่ผ่านมา
ด้วยลู่ทางอย่างนี้ เชื่อว่าจะทำให้ไทยมีต้นทุนที่ถูกลงและอยู่ในฐานะทัดเทียมกับสิงคโปร์ได้
หากแยกมองเป็นส่วนโรงโอเลฟินส์ ยกเว้นสิงคโปร์แล้ว ไทยมีกำลังการผลิตที่สูงกว่าที่อื่น
อย่างมาเลเซียซึ่งเดิมมีโครงการขนาด 3 แสนตันก็ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่มีแหล่งซัพพลายเป็นเอททีลีนได้มากกว่าไทยถึง
3-4 เท่า ซึ่งน่าจะขยับขึ้นมาเป็นคู่แข่งโดยตรงของไทยในระยะ 10 ปีข้างหน้า
ส่วนอินโดนีเซียนั้นจะเป็นในระยะหลัง 15 ปีขึ้นไป ซึ่งจะต้องรอให้เกิดเสถียรภาพรัฐบาลและความมั่นคงทางการเงินก่อน
แล้วจึงพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมที่มีติดอันดับโลกต่อไป
สำหรับโรงอะโรเมติกส์ (BTX) ในสิงคโปร์จะมีโมบิล ซึ่งเริ่มสร้างขนาดประมาณ
5.5 แสนตัน ของไทย บนสมมุติฐานว่าโครงการเดินหน้าตามเป้าหมายจะมีขนาด 6.5
แสนตันในปี 2538 โดยสิงคโปร์จะเสร็จก่อนประมาณปีเศษ ส่วนอินโดนีเซียมีกำลังผลิตขนาด
4 แสนตัน ส่วนที่จะสร้างใหม่นั้นยกเลิกไปแล้วเนื่องจากเจอปัญหาเรื่องหนี้
ถ้าดูตามปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทำให้หวั่นกันว่าวัตถุดิบและสินค้าพลาสติกจากสิงคโปร์จะทะลักเข้ามาตัดราคาตลาดไทย
เพราะสิงคโปร์จะผลิตเพื่อส่งออกเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากตลาดจะถูกจำกัดโดยจำนวนประชากร
การค้าจะเป็นการรีเอ็กซ์ปอร์ตเป็นหลัก และผ่านเข้ามายังไทย
แต่ตามมูลค่าค้าขายของไทยกับกลุ่มอาเซียนด้วยกันจะมีเพียงประมาณ 10-11%
กับสหรัฐฯ และยุโรปแห่งละประมาณ 18% และกับโอเปก 67% และถ้าแยกเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกแล้ว
"เม็ดพลาสติกส่วนใหญ่ไทยจะนำเข้าจากสหรัฐอเมริกาโดยผ่านท่าเรือสิงคโปร์
ที่มีแหล่งกำเนิดจากสิงคโปร์จริง ๆ น้อยมาก และส่วนหนึ่งจะเป็นการลักลอบนำเข้าทางมาเลเซีย
บางเดือนมากกว่าพันตัน" แหล่งข่าวระดับสูงจากเอเย่นต์เม็ดพลาสติกรายหนึ่งกล่าวถึงสภาพที่เป็นอยู่
"เว้นแต่บางช่วงซึ่งมีการดั้มพ์ราคาเมื่อกำลังการผลิตของประเทศใดประเทศหนึ่งเหลือเกินความต้องการ"
ดังที่เป็นอยู่ในตอนนี้ เกาหลีใต้ซึ่งมีกำลังการผลิตเหลือเป็นล้านตันได้ส่งเม็ดพลาสติกบุกตลาดไทยตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
ทำให้กำไรของสิงคโปร์พลอยร่วงไปด้วย แต่ต่างก็ยังยืนยันไม่ลดการผลิต
ถ้าเทียบคุณภาพสินค้าจากเกาหลีใต้กับสิงคโปร์ถือว่าทัดเทียมกัน แต่ภาพพจน์และเครดิตของสิงคโปร์สูงกว่าเกาหลีใต้มาก
และถูกมองว่า "นึกจะขายก็ขาย ไม่ขายก็ไม่ขาย"
เมื่อมีอาฟต้า เม็ดพลาสติกที่เคยลักลอบนำเข้าก็จะเป็นสินค้าที่ถูกต้องตามระบบ
และอาจจะมีการนำเข้าเพิ่มบ้าง แต่ก็คงไม่ถึงกับทำให้ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกเจ็บตัวขนาดล้มหายตายจากไปทันที
หากผู้ผลิตเม็ดพลาสติกผลิตของมีคุณภาพ บริการต่อเนื่องสม่ำเสมอ และเอาใจใส่ลูกค้าอย่างตรงไปตรงมาในระบบ
เพราะทิศทางการค้าพลาสติกที่เดิมเคยฉาบฉวยจะพัฒนาไปสู่ความมีระบบมากขึ้นเพื่อพันธภาพทางการค้าระยะยาว
ไม่ใช่มองแต่ตลาดเฉพาะหน้าอย่างในอดีต
"ถ้าผู้ผลิตเม็ดพลาสติกซึ่งมีตลาดอยู่แล้ว รักษามาตรฐานทางการค้าไว้ได้
ก็จะอยู่รอดได้เพราะตลาดพลาสติกโดยรวมยังโตอีกไม่น้อยกว่าปีละ 15-20% ขึ้นอยู่กับแต่ละชนิด
อีกประการหนึ่ง การที่ผู้ประกอบการพลาสติกจะเปลี่ยนแหล่งซื้อจากรายหนึ่งไปสู่อีกรายหนึ่งนั้น
ก็ต้องมั่นใจในคุณภาพและขึ้นกับความคุ้นเคยในการใช้เครื่องจักรของแต่ละแห่ง
บางครั้งก็อาจจะต้องมีการปรับเครื่องมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ลักษณะของเครื่องและคุณภาพของเม็ดพลาสติกแต่ละยี่ห้อ"
แหล่งข่าวจากผู้ผลิตเม็ดพลาสติกเสริมถึงช่องว่างที่คิดว่าไม่ทำให้ผู้ประกอบการหันไปใช้ของนอกอย่างฉับพลันเพราะถ้าเสี่ยงโดยไม่แน่ใจ
บางครั้งได้ไม่คุ้มเสีย
อย่างไรก็ตาม สินค้าพลาสติกสำเร็จรูปบางประเภท เช่น ที่ใช้ในครัวเรือนซึ่งเป็นชิ้นเล็ก
จะมีโอกาสเข้ามารุกตลาดได้มาก เนื่องจากเป็นสินค้าที่ไม่เน้นคุณภาพมากนัก
นำเข้าง่าย และลงทุนน้อย
สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกหรือกว้างออกไปคือปิโตรเคมีนั้นจะพัฒนาและพลิกรับกับอาฟต้าได้ดีขนาดไหน
จึงขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกฝ่ายที่จะก้าวเดินไปสู่เป้าหมายด้วยกัน แม้ว่าช่วงเวลาการปรับตัวจะค่อนข้างสั้นก็ตาม
ในอีก 5 ปี พิสูจน์ได้ว่าใครคือผู้ทรงประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมที่จะยืนหยัดอยู่ได้อย่างองอาจ…!
น้ำมันปาล์มเป็นอุตสาหกรรมอีกตัวหนึ่งของประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากอาฟต้าในเชิงลบ
งานนี้มาเลเซียเป็นคนเสนอ เพราะได้เปรียบในฐานะเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบรายใหญ่ที่สุดของโลก
ความแตกต่างในเรื่องของราคาเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศเกิดขึ้นบ่อยในช่วงที่ผ่านมาและหากอาฟต้ามีผลบังคับใช้
ปริมาณน้ำมันดิบจากมาเลเซียจะถูกซื้อถ่ายเทเข้าไทยมากขึ้น ในขณะที่ปริมาณน้ำมันปาล์มที่ผลิตได้ในประเทศไม่พอกับความต้องการอยู่แล้ว
ปัญหาด้านสังคมเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันจะกลายเป็นปัญหาหนักที่สุดที่จะติดตามมา
การทำสวนปาล์มน้ำมันในทางเศรษฐกิจเพื่อสกัดน้ำมันปาล์มของไทยได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วคือพื้นที่ปลูกได้เพิ่มขึ้นจาก
94,400 ไร่ในปี 2521 เป็น 884,728 ไร่ในปี 2533 เพราะผลตอบแทนจากการปลูกปาล์มน้ำมันค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับพืชน้ำมันอื่นประกอบกับได้มีการนำน้ำมันปาล์มไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร
สบู่ เป็นส่วนผสมของน้ำมันหล่อลื่นทำแผ่นดีบุก เวชภัณฑ์ สี เป็นต้น
การเพิ่มขึ้นของผลผลิตปาล์มในอดีตนั้น เป็นผลเนื่องมาจากการขยายตัวของพื้นที่ปลูกเป็นสำคัญและพื้นที่ปลูกนี้มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้น
และขยายตัวไปในแหล่งพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการเพาะปลูก นอกจากนั้นแล้วสภาพการผลิตปาล์มน้ำมันของไทยยังด้อยประสิทธิภาพ
ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย
ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซียและไอโวรีโคสต์มีโครงสร้างของผลผลิตตามช่วงอายุที่คล้ายคลึงกันคือช่วงที่ให้ผลผลิตสูงสุดคือช่วงอายุ
7-14 ปีและหลังจากนั้นผลผลิตก็จะเริ่มลดลง
อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบผลผลิตของไทยกับประเทศอื่นแล้ว ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของไทยค่อนข้างต่ำคือในช่วงต้นของการให้ผลผลิต
ผลผลิตต่อไร่ของไทยประมาณ 577 กก. ขณะที่อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไอโวรีโคสต์เฉลี่ยไร่ละ
1,600 กก. 1,488 กก. และ 960 กก. ตามลำดับและเมื่อถึงช่วงต้นปาล์มให้ผลผลิตสูงสุดของไทยเฉลี่ยประมาณ
2 ตันในขณะที่ประเทศอื่นเฉลี่ยประมาณ 2.6-3.7 ตันต่อไร่
ผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบเฉลี่ยต่อไร่ของไทย จึงอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นด้วยนั่นคือผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบต่อไร่ต่ำสุดของไทยคือ
100 กก. (ในช่วงอายุ 4 ปี) สูงสุดไร่ละ 372 กก. (ในช่วงอายุ 7-14 ปี) ในขณะที่มาเลเซียมีช่วงต่ำสุด
และสูงสุดประมาณไร่ละ 320-816 กก. อินโดนีเซียเฉลี่ยไร่ละ 320-608 กก. ไอโวรีโคสต์เฉลี่ยไร่ละ
192-512 กก. (โปรดดูตาราง "ต้นทุนการผลิตปาล์มสด")
เมื่อเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตเฉลี่ยต่อกิโลกรัมของผลปาล์มสดของไทยกับต่างประเทศจะพบว่าไทยมีต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดเฉลี่ยกิโลกรัมละ
1.13 บาท รองลงมาได้แก่ไอโวรีโคสต์เฉลี่ย 1.14 บาทต่อ กก. มาเลเซียเฉลี่ย
1.15 บาทต่อ กก. และอินโดนีเซียเฉลี่ย 1.25 กก. ต่อ กก. (โปรดดูตาราง "ต้นทุนการผลิตผลปาล์มสดฯ")
แต่เมื่อพิจารณาต้นทุนต่อกิโลกรัมตามช่วงอาย ุจะเห็นได้ว่าต้นทุนการผลิตไทยค่อย
ๆ ลดลงจาก 2.15 บาทต่อ กก. ในช่วงอายุ 4 ปีเป็น 0.97 บาทต่อ กก. ในช่วงอายุ
5-6 ปีและ 0.66 บาทต่อ กก. ในช่วง 7-14 ปีและต่ำสุดคือ 0.62 บาทต่อ กก. เมื่อปาล์มมีอายุ
15-25 ปี
สำหรับมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไอโวรีโคสต์นั้น ต้นทุนการผลิตจะค่อนข้างสูงในช่วงปาล์มอายุน้อยและต้นทุนต่อกิโลจะลดต่ำเมื่อปาล์มอายุ
7-14 ปี หลังจากนั้นต้นทุนต่อ กก. ก็จะเพิ่มสูงขึ้น
สาเหตุที่โครงสร้างต้นทุนต่อกิโลกรัมตามช่วงอายุของไทยแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน
ทั้งนี้เพราะการทำสวนปาล์มในเชิงเศรษฐกิจของไทยเพิ่งเริ่มอย่างจริงจังเมื่อไม่นานมานี้
และต้นปาล์มของไทยโดยส่วนมากอายุยังไม่มากคือประมาณ 80% ของต้นปาล์มทั้งหมดในช่วงอายุ
1-10 ปี
จากต้นทุนการผลิตต่อกิโลข้างต้นเมื่อคิดต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ ปรากฏว่าไทยมีต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบต่อกิโลสูงสุดคือเฉลี่ย
8.07 บาท (ถ้าหากคิดต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบภายใต้สภาพข้อเท็จจริงของการคิดต้นทุนการผลิตปรากฏว่าต้นทุนน้ำมันปาล์มของไทยจะเท่ากับกิโลละ
14.30 บาท)
ในขณะที่มาเลเซียมีต้นทุนต่อกิโลกรัมต่ำสุดคือ 5.29 บาท รองลงมาคือไอโวรีโคสต์เฉลี่ย
5.71 บาท ต่อ กก. และอินโดนีเซียเฉลี่ย 6.24 บาทต่อ กก.
ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยมีลักษณะการดำเนินกิจการในรูปการรวมตัวตามแนวราบกล่าวคือ
เกษตรกรชาวสวนปาล์มจะเป็นผู้ผลิตผลปาล์มสด เพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม
โรงงานสกัดฯ จะขายน้ำมันปาล์มดิบให้โรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์และขายต่อให้กับอุตสาหกรรมผู้ใช้ต่อไป
ในขณะที่มาเลเซียนั้นจะมีการผลิตในลักษณะการรวมตัวตามแนวดิ่งคือโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มจะมีสวนปาล์มของตนเองเพื่อผลิตวัตถุดิบป้อนโรงงาน
ดังนั้นจึงสามารถวางแผนในการผลิตผลปาล์มและน้ำมันปาล์มได้อย่างสอดคล้องกัน
รวมถึงสามารถซื้อวัตถุดิบได้ในราคาถูก หลังจากนั้นจึงขายน้ำมันปาล์มดิบให้กับโรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์
นอกเหนือจากลักษณะการดำเนินกิจการที่ต่างกันระหว่างไทยกับมาเลเซียแล้ว
ยังมีปัจจัยสำคัญ ๆ หลายอย่าง เช่นอัตราแปลงผลปาล์ม น้ำมันปาล์มดิบ การใช้แรงงาน
อัตราดอกเบี้ย ผลผลิตปาล์มทะลาย และโครงสร้างการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การผลิตน้ำมันปาล์มของไทยค่อนข้างเสียเปรียบเมื่อเทียบกับมาเลเซีย
(ดูตาราง "เปรียบเทียบปัจจัยสำคัญของการผลิตน้ำมันปาล์ม" ประกอบ)
หากดูตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 (2530-2534) ได้กำหนดพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันไม่ให้เกิน
7 แสนไร่เมื่อสิ้นสุดแผนฯ แต่จากข้อเท็จจริงปรากฏว่าในปี 2533 พื้นที่เพาะปลูกปาล์มขยายตัวไปอย่างรวดเร็วจนปัจจุบันเพิ่มเป็น
884,728 ไร่ มากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ ดังนั้นเพื่อให้ตรงกับสภาพข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
คณะกรรมการนโยบายถั่วเหลืองและน้ำมันพืชอื่น จึงได้มีมติเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม
2533 ให้ปรับเปลี่ยนเป้าหมายการผลิตปาล์มน้ำมันในช่วง 6 ปี (2535-2540) ให้มีเนื้อที่เพาะปลูกคงที่ในระดับ
9 แสนไร่ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นไป
เมื่อดูโครงสร้างการผลิตปาล์มน้ำมันของไทยจะมีลักษณะการดำเนินงานในรูปของสหกรณ์นิคม/นิคม
กิจการส่วนตัวและบริษัท โดยจำนวนผู้ปลูกที่เป็นสมาชิกสหกรณ์นิคม/นิคมมีมากที่สุดคือ
ประมาณ 81% ของจำนวนผู้ปลูกปาล์มน้ำมันทั้งหมด แต่ถือครองพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันเฉลี่ยประมาณ
18 ไร่ต่อครอบครัวเท่านั้น พื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันส่วนใหญ่จะเป็นการดำเนินการในรูปบริษัท
มีขนาดค่อนข้างใหญ่คือ เฉลี่ยประมาณ 3,500 ไร่ต่อราย ซึ่งมีอยู่เพียง 1.5%
ของผู้ปลูกทั้งหมดเท่านั้น
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้วิเคราะห์ต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมันของไทย เมื่อแยกตามประเภทกิจการ
พบว่ากิจการประเภทบริษัทมีต้นทุนการผลิตสูงสุดคือเฉลี่ยไร่ละ 2,378.10 บาท
รองลงมาคือประเภทส่วนตัวเฉลี่ยไร่ละ 2,214.78 บาทและประเภทสหกรณ์/นิคมเฉลี่ยไร่ละ
2,113.24 บาท แต่เมื่อพิจารณาถึงต้นทุนต่อกิโลกรัม ปรากฏว่าประเภทส่วนตัวมีต้นทุนต่อกิโลกรัมต่ำสุดเฉลี่ยกิโลกรัมละ
1.15 บาทรองลงมาคือประเภทบริษัทเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.18 บาทและประเภทสหกรณ์/นิคมเฉลี่ยกิโลกรัมละ
1.19 บาท
ต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมันต่อไร่ของไทยรวมทุกกิจการ เมื่อเทียบกับมาเลเซีย
ทั้งระยะก่อนให้ผลผลิต และหลังให้ผลผลิตพบว่า ต้นทุนการผลิตต่อไร่ของไทยต่ำกว่าต้นทุนของมาเลเซีย
แต่เมื่อพิจารณาถึงผลผลิตต่อไร่ของมาเลเซียซึ่งสูงกว่าของไทยแล้ว ต้นทุนปาล์มน้ำมันต่อหน่วยของไทยจะสูงกว่าของมาเลเซียประมาณ
17% นอกจากนี้ส่วนประกอบที่เป็นน้ำมันของปาล์มน้ำมันของไทยต่ำกว่ามาเลเซีย
ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยของปาล์มน้ำมันดิบของไทยสูงกว่าของมาเลเซียอีกกิโลกรัมละ
1-3 บาท
หากพิจารณาถึงผลต่างจากราคาน้ำมันปาล์มดิบเฉลี่ยต่อกิโลกรัมจะพบว่าจะห่างกันในระดับ
11.23 บาท 7.09 บาท และ 4.95 บาทในปี 2530-2532 ตามลำดับ ด้วยเหตุผลนี้เองปัญหาการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบจากต่างประเทศจึงเกิดขึ้นบ่อย
กรณีตัวอย่างตามข้อมูลข้างต้นในปี 2532 น้ำมันปาล์มดิบของไทยจึงตกที่ราคากิโลกรัมละ
12.28 บาท (ในขณะที่ราคาผลปาล์มสดทั้งทะลายกิโลกรัมละ 1.85 บาท) ราคาน้ำมันปาล์มดิบประเทศมาเลเซียราคากิโลกรัมละ
7.73 บาท หากมีการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ เมื่อรวมอากรขาเข้าอัตราลิตรละ 1.32
บาท ต้นทุนการนำเข้าเป็นประมาณ 9.05 บาท และเมื่อรวมค่าใช้จ่ายในการขนส่ง
(15%) แล้วต้นทุนน้ำมันปาล์มดิบที่ตลาดกรุงเทพฯ ตกกิโลกรัมละประมาณ 10.41
บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศถึงกิโลกรัมละ 1.87 บาท
เมื่อรัฐบาลประกาศให้อุตสาหกรรมน้ำมันพืชเป็นหนึ่งใน 15 อุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของอาฟต้า
ซึ่งแน่นอนว่าตัวที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้หาแนวทางในการแก้ไขด้านการตลาดน้ำมันปาล์ม
โดยได้วิเคราะห์วิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มของไทยไว้รวม
6 วิธีคือ
วิธีที่ 1 เพิ่มประสิทธิภาพการแปรรูปน้ำมันปาล์มจากปริมาณผลปาล์มสดทั้งทะลาย
18% เป็น 19.8% ซึ่งทำได้ดดยการใช้พันธุ์ปาล์มที่มีเปอร์เซนต์น้ำมันในผลสูงประกอบกับการผลิตเต็มกำลังความสามารถของโรงงานที่มีอยู่
จะทำให้ลดต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ 6.94%
วิธีที่ 2 จะทำให้ลดต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ 10.12% เป็นราคาต้นทุนน้ำมันปาล์มดิบกิโลกรัมละ
9.32 บาท โดยการเพิ่มผลผลิตต่อไร่จาก 1,962 กิโลเป็น 2,437 กิโล
วิธีที่ 3 ลดต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมันโดยลดราคาปุ๋ยเคมีจากตันละ 5,670
บาทเหลือตันละ 5,000 บาท
วิธีที่ 4 เป็นการรวมวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตวิธีที่ 1 รวมกับวิธีที่
2 จะช่วยลดต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบต่อกิโลเหลือเพียง 8.69 บาท
วิธีที่ 5 หากเปลี่ยนระบบธุรกิจจากแนวราบในลักษณะการพึ่งตนเองของแต่ละกิจการเป็นการรวมตัวในแนวดิ่งรวมทุกกิจการเข้าด้วยกัน
ต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มจะลดลง 22.85% หรือเหลือกิโลละ 8 บาท
วิธีที่ 6 หากรวมวิธีการที่ 1+2+5 สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 37.22%
หรือลดลงเหลือเพียงกิโลละ 6.51 บาท ซึ่งสามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้
(ดูตาราง "วิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตฯ" ประกอบ)
ผลจากอาฟตา ถ้ามองในแง่ของผู้ผลิตรายใหญ่ซึ่งส่วนมากจะทำเป็นธุรกิจครบวงจรคือมีสวนปาล์มและโรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบเป็นของตนเอง
ส่วนนี้จะไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะจะปรับตัวได้เร็ว และมีความพร้อมมากกว่าไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผลผลิต
การหาพันธุ์ปาล์มที่ดี ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผลิตรายใหญ่ประเภทนี้อยู่ประมาณ
12 แห่ง
แต่ความคิดเห็นส่วนใหญ่แล้วจะไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลไทยจะนำปาล์มน้ำมันเข้าสู่ระบบของอาฟต้า
ถวัลย์ วงศ์สุภาพ กรรกมารบริหารบริษัทปาล์มไทยพัฒนาของ "งานทวี"
กลุ่มอุตสาหกรรมปาล์มครบวงจรให้ความเห็นว่า "การที่รัฐบาลลงมาดูเรื่องปาล์มและปรับปรุงนโยบายน้ำมันปาล์มนั้นนับเป็นเรื่องที่ดีและเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลให้ความสนใจเรื่องปาล์ม
แต่รัฐบาลควรดูเรื่องปุ๋ยมากกว่าเพราะจากการศึกษาพบว่าต้นทุนของไทยในธุรกิจปาล์มนั้นสูงกว่าประเทศอื่น
ๆ โดยเฉพาะปุ๋ยไทยสูงกว่าชาติอื่นถึง 50-100% ถ้าแก้เรื่องนี้ได้ ไม่ว่าจะเข้าอาฟต้าตอนไหน
เราก็ไม่เสียเปรียบ"
ขณะที่องอาจ มนต์ภาณีวงศ์ เจ้าของบริษัทกระบี่น้ำมันพืช จ. กระบี่กล่าวว่าเมื่อนำธุรกิจปาล์มเข้าระบบอาฟต้า
ผู้ที่จะเสียเปรียบที่สุดคือชาวสวนขนาดเล็กซึ่งมีจำนวน 21% ชาวสวนหรือกลุ่มขนาดใหญ่ที่มีโรงสกัดเองไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
หรือเกือบจะไม่กระทบเลย ซ้ำต้นทุนการผลิตก็จะเท่าหรือใกล้เคียงกับมาเลเซีย
สิ่งที่ตนอยากเสนอต่อรัฐคือ ควรจะสนับสนุนการลงทุน ด้วยการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
ลดอัตราเงินกู้ลงมาจาก 9% เป็น 3% อย่างมาเลเซีย ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้ และรัฐควรจะสนับสนุนการขยายอุตสาหกรรมต่อเนื่องของปาล์มไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมน้ำมัน
มาการีน แต่ทุกเรื่องยังเป็นเรื่องเพ้อฝันทั้งนั้นที่รัฐบอกนำเข้าระบบอาฟต้าแล้วได้ผลดี
ตราบใดที่ยังไม่มีการแก้ตรงข้างล่างก่อน
เช่นเดียวกับทวี ศรีสุคนธุ์ นายกสมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทยกล่าวในนามของสมาคมฯ
ว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่รัฐบาลนำปาล์มน้ำมันเข้าสู่ระบบอาฟต้าเพราะไทยมีแต่เสียเปรียบเพื่อนบ้านที่มีการผลิตมานานอย่างมาเลเซียหรืออินโดนีเซีย
"การเข้าสู่อาฟต้า จะยิ่งทำให้เราเสียเปรียบคู่แข่งและเสียดุลการค้าเพิ่มขึ้น
เพราะจะมีผู้นำเข้าจากมาเลเซียมากกว่าเดิม นอกจากจะเป็นผลเสียต่อระบบอุตสาหกรรมปาล์มแล้ว
ยังส่งผลถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกด้วย และอาจถึงขั้นพังทั้งระบบ เช่นอุตสาหกรรมผลิตสบู่
น้ำมันหล่อลื่น จึงเห็นว่ารัฐบาลควรจะมีการประกันราคาปาล์ม มีการยกเลิกภาษีน้ำมันปาล์มและปาล์มน้ำมันอย่างมาเลเซีย
นอกเหนือจากที่ควรจะทำและกำลังทำอยู่อย่างเช่นการส่งเสริมพันธุ์ปาล์มใหม่
ๆ ส่งเสริมเทคโนโลยีการปลูก ตั้งตลาดซื้อขายล่วงหน้ารองรับ"
ในขณะที่โรงงานกลั่นน้ำมันปาล์มและผู้ค้าน้ำมันปาล์มสำเร็จรูปจะไม่ค่อยได้รับผลกระทบนัก
ถ้ามองในทางกลับกันน่าจะเป็นผลดีมากกว่าเมื่อมีการเปิดเสรีให้น้ำมันปาล์มดิบหรือน้ำมันปาล์มสำเร็จรูปเข้ามาได้
ผู้ที่ทำธุรกิจในกลุ่มนี้จะมีต้นทุนที่ต่ำกว่าเดิมด้วยการสั่งน้ำมันปาล์มสำเร็จรูปเข้ามาพะยี่ห้อของตัวเอง
นั่นหมายถึงโอกาสในการทำตลาดได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็พยายามกันตลาดน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศที่จะเข้ามาในอนาคตด้วยการยึดหัวหาดไว้ตั้งแต่ตอนนี้
แต่คนที่เสียเปรียบมากที่สุดคือ เกษตรกรรายย่อยซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกจำนวนน้อย
และไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสวนปาล์มที่ปลูกรวมถึงผลผลิตที่จะออกมามากนัก
จึงเป็นการยากที่เกษตรกรกลุ่มนี้จะสามารถแข่งขันในตลาดกับประเทศเพื่อนบ้านได้
รัฐบาลเองก็ได้เล็งเห็นโดยพิจารณาและให้ความสำคัญกับเกษตรกรรายย่อยกลุ่มนี้ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกอยู่ประมาณ
2.3 แสนไร่
เพื่อหาทางออกทางสำหรับผลอาฟต้า คณะอนุกรรมการพิจารณาทบทวนแนวทางพัฒนาถั่วเหลืองและปาล์มน้ำมันซึ่งมีอาชว์
เตาลานนท์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ได้พิจารณาเกี่ยวกับผลกระทบดังกล่าวพร้อมทั้งได้เสนอแนวความคิดในการหาทางแก้ไขดังนี้คือ
การยกเลิกพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันของเกษตรกรรายย่อยจำนวน 2.3 แสนไร่ลง ด้วยการเปลี่ยนไปปลูกพืชอย่างอื่นทดแทนใน
3 รูปแบบ คือปลูกผลไม้ ปลูกผักและไม้ตัดดอก และเลี้ยงสัตว์กับปลูกไม้โตเร็ว
โดยมีนโยบายว่าการที่จะปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอะไรนั้น ให้ดูในเรื่องศักยภาพในการแข่งขันเพราะต่อไปตลาดสินค้าเกษตรผลกระทบจะมีมากจึงต้องหันมาดูพืชไทยจะได้เปรียบต่อไป
การที่จะให้เกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นนั้น ที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณา
2 ส่วนคือ ส่วนแรกรัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยในการให้เลิกปลูกปาล์ม ส่วนที่สองรัฐบาลต้องช่วยเหลือสนับสนุนในเรื่องของการปลูกพืชอื่น
สำหรับเงินชดเชยและเงินสนับสนุนที่รัฐจะจ่ายให้กับเกษตรกรรายย่อยในการยกเลิกพื้นที่การปลูกปาล์มนั้น
ได้มีการทำตัวเลขออกมาอย่างไม่เป็นทางการคือรัฐจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรเป็น
1,500 บาทต่อไร่โดยคิดจากผลผลิตต่อไร่ที่ได้ประมาณไร่ละ 2 ตันราคาขายตันละ
2,000 บาท ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการผลิตตกไร่ละ 2,500 บาท เงินชดเชยจำนวนนี้รัฐจะต้องเกื้อหนุนเป็นระยะเวลานาน
4-5 ปี จนกว่าพืชที่ปลูกใหม่จะสามารถให้ผลผลิตได้ ส่วนเงินสนับสนุนในการลงทุนปลูกพืชใหม่นั้น
รัฐจะต้องจ่ายเพิ่มอีกไร่ละ 5,000 บาท
สำหรับการลดภาษีลงตามเงื่อนไขของอาฟต้านั้น เรื่องนี้ทางคณะอนุกรรมการฯ
ได้มีการพิจารณาระยะเวลาในการยกเลิกออกเป็น 3 ระยะคือ 8 ปี 12 ปี และ 15
ปี เพื่อเป็นการยืดเวลาให้เกษตรกรปรับตัวได้ทัน
ปัจจัยประการสำคัญประการแรกคือดูความสามารถในการปรับเปลี่ยนของเกษตรกร
จะเปลี่ยนอย่างไรไม่ให้เดือดร้อนมากนัก
ประการที่สองดูความสามารถของทางกรมส่งเสริมฯ ที่จะไปยกเลิกและไปส่งเสริมพืชใหม่
ซึ่งต้องสอดคล้องไปกับการลดอัตราภาษีตามที่รัฐบาลกำหนดคือให้เหลือ 0-5% ภายใน
15 ปี
"ในช่วง 8 ปีแรก ถ้าเกษตรกรเรายังปรับตัวไม่ทันเราอาจยืดเวลาออกไปซึ่งอาจจะเป็น
12 ปี แต่ถ้าเราปรับตัวได้ทันเราก็อาจจะผ่อนคลายอัตราภาษีลงมาอาจเหลือ 28%
เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรที่จะต้องเสนอว่าจะช่วยให้เกษตรกรปรับตัวได้ภายในเวลากี่ปี
เราต้องทำให้สำเร็จถ้าเขาปรับกำแพงภาษีเหลือ 20% ในขณะที่เรายังปรับตัวไม่ทัน
ตายทันทีเลย" อาชว์ เตาลานนท์อธิบายถึงโปรแกรมในการลดภาษีกับตารางเวลาที่กระทรวงเกษตรจะไปลดพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันซึ่งจะต้องสอดคล้องกัน
นั่นหมายถึงว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 อัตราภาษีของน้ำมันปาล์มยังคงเป็นอัตราเดิมคือ
30% พร้อมกับนโยบายการห้ามนำเข้าปาล์มน้ำมันก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
เพราะฉะนั้นผลกระทบในช่วงนี้ยังคงอาจไม่เกิดขึ้น
นั่นเป็นเพียงแนวความคิดของคณะอนุกรรมการฯ ที่จะต้องเสนอคณะทำงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ในขณะเดียวกับที่สมาคมโรงงานผู้ผลิตน้ำมันปาล์มบริโภคโดยโกวิท พรพัฒนนางกูลในฐานะอุปนายกสมาคมฯ
ได้เปิดเผยถึงข้อเรียกร้องของสมาคมฯ ที่จะนำเสนอต่อรัฐบาล คือ
ข้อที่ 1 ขอให้ยืดเวลาให้นานที่สุดในการให้อุตสาหกรรมนี้ตั้งตัวได้ในระยะเวลา
8-10 ปี ด้วยอัตราภาษีเท่าปัจจุบันคือ 30%
ข้อที่ 2 ถ้าจำเป็นต้องเปิดให้นำเข้าเสรีก็ขอเป็นการจำกัดการนำเข้า โดยสมมติว่าปีหนึ่งจะให้เข้ามาเท่าไหร่
อาจกำหนดเป็น 10% หรือ 20% ของความต้องการก็ได้
ข้อที่ 3 กำหนดคุณสมบัติของผู้นำเข้า ซึ่งควรจะเป็นเฉพาะโรงงานเท่านั้น
การประชุมปรึกษาหารือรวมทั้งข้อเสนอแนะ และข้อเรียกร้องทั้งหมดนี้ เป็นเพียงแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาจากผลกระทบที่เกิดจากนโยบายเขตการค้าเสรีอาเซียนในระยะเริ่มแรกเท่านั้น
ในขณะที่คณะทำงานอีกหลายฝ่ายยังคงต้องศึกษาในรายละเอียดกันต่อไป
หลายต่อหลายคนได้ตั้งข้อสังเกตถึงความเป็นไปได้ต่อการสานต่อนโยบายนี้ต่อไปของรัฐบาลชุดใหม่ภายหลังจากการเลือกตั้งแล้ว
โดยเฉพาะความเดือดร้อนของเกษตรกรทางภาคใต้จากนโยบายอาฟต้า จะมีผลกระทบโดยตรงต่อการเมืองในภาคนั้น
และนั่นคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้เชื่อว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ
ทั้งอุตสาหกรรมพลาสติกและน้ำมันพืชจึงเป็นสินค้าหัวแถวที่จะต้องปรับตัวเพื่อรับผลกระทบเชิงลบจากอาฟตา…!
ส่วนสินค้าอีก 13 กลุ่มนั้นถือว่าได้รับผลกระทบในแง่บวก ที่เด่น ๆ อาทิอุตสาหกรรมเซรามิกส์
ปูนซีเมนต์ สิ่งทอ เป็นต้น เนื่องจากมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง หรือเป็นสินค้าที่มุ่งตลาดส่งออกเป็นหลัก
นั่นหมายถึงประสิทธิภาพที่เหนือกว่าอุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้าอย่างพลาสติกและน้ำมันพืช
สำหรับอุตสาหกรรมเซรามิกส์ของไทยในปัจจุบัน ถือได้ว่าอยู่ในขั้นได้เปรียบเทียบกับกลุ่มอาเซียน
โดยเฉพาะในเรื่องของประสบการณ์ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในอุตสาหกรรมประเภทนี้
ไทยเข้ามาก่อนและนานพอที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้
ปัจจุบันเซรามิกส์ไทยได้รับการพัฒนาจากที่ต้องพึ่งพาการนำเข้ามาเป็นประเทศที่พึ่งพาตนเองได้
และยังเป็นสินค้าออกที่ทำเงินให้กับประเทศปีละหลายล้านบาท
จากตัวเลขการส่งออกกระเบื้องเซรามิกส์ในปี 2533 มีจำนวนทั้งสิ้น 68,692
ตัน มูลค่า 1,002.8 ล้านบาทและในปี 2534 (ตัวเลข 7 เดือน ม.ค.-ก.ค.) มีปริมาณการส่งออกประมาณ
32,538 ตันมูลค่า 497.9 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญคือสหรัฐ ฮ่องกง
ออสเตรเลียและสิงคโปร์
เช่นเดียวกับการส่งออกสุขภัณฑ์ในปี 2534 ยังคงขยายตัวในเกณฑ์สูง นอกจากคุณภาพการผลิตที่ได้มาตรฐานแล้ว
เครื่องสุขภัณฑ์ของไทยยังได้เปรียบในด้านต้นทุนการผลิตเพราะวัตถุดิบและค่าจ้างแรงงานไม่สูงนัก
การส่งออกในปี 2534 ได้เพิ่มขึ้นอยู่ในราว 800 ล้านบาท ผู้ผลิตรายหนึ่งรายหนึ่งประมาณโดยเพิ่มจากปี
2533 ที่มีมูลค่า 499 ล้านบาท ตลาดส่งออกที่สำคัญคือฮ่องกง เกาหลี และญี่ปุ่น
ส่วนตลาดนอกภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มดีขึ้นเป็นลำดับโดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกาและสวีเดน
ขณะที่การนำเข้ากระเบื้องเซรามิกส์ของไทยมีเพียงเล็กน้อยไม่ถึง 50 เมตริกตันและมูลค่าต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท
เป็นการนำเข้ากระเบื้องปูพื้น-บุผนังทั้งสิ้น ส่วนใหญ่นำเข้ามาใช้ในการก่อสร้างโรงแรม
ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นกรณีพิเศษ
เช่นเดียวกับเครื่องสุขภัณฑ์ที่การนำเข้ามีมูลค่าน้อยมาก ทั้งนี้เป็นเพราะกระเบื้องปูพื้น-บุผนังทั้งชนิดเคลือบและไม่เคลือบรวมทั้งเครื่องสุขภัณฑ์เป็นสินค้าที่กระทรวงพาณิชย์ควบคุมการนำเข้า
(ยกเว้นอ่างอาบน้ำ) ตามประกาศ กระทรวงพาณิชย์ลงวันที่ 31 มกราคม 2521 และวันที่
31 มกราคม 2522 เนื่องจากการผลิตพอเพียงกับความต้องการใช้ภายในประเทศ และคุณภาพสินค้าได้มาตรฐานเทียบเท่าต่างประเทศ
ดังนั้น เมื่อเซรามิกส์ไทยต้องเข้าสู่ระบบอาฟต้า ในฐานะที่มีประสบการณ์ด้านนี้มานานอาจเรียกได้ว่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกประเทศในกลุ่มอาเซียน
แต่ที่ผ่านมาผู้ผลิตส่วนใหญ่ของไทยไม่สนใจที่จะส่งสินค้าเข้าไปขายยังประเทศกลุ่มอาเซียนเป็นเพราะอัตราภาษีนำเข้าของแต่ละประเทศสูงมากอย่างเช่นมาเลเซียเก็บ
100% ในขณะที่อินโดนีเซียอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกัน
สิงคโปร์เป็นประเทศเดียวที่ผู้ผลิตเซรามิกส์ของไทยไปเปิดตลาดด้วย ดังนั้นจึงน่าจะเป็นผลดีหากประเทศในแถบนี้จะลดกำแพงภาษีนำเข้าลง
ดูเหมือนประเทศไทยจะเริ่มขยับตัวก่อนเมื่อทางกระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศลงวันที่
9 กุมภาพันธ์ 2535 ในการยกเลิกการควบคุมการนำเข้าสินค้าจำนวนทั้งหมด 31 รายการ
ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมเซรามิกส์เกือบทั้งหมดนับเป็นการผ่อนคลายเพื่อเริ่มต้นเข้าสู่นโยบายการค้าเสรีต่อไป
แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงคุ้มครองผู้ผลิตในประเทศด้วยอัตราภาษีนำเข้า 80%
ความมั่นใจของประเทศไทยต่ออุตสาหกรรมเซรามิกส์มีปัจจัยพื้นฐานสำคัญ 3 ประการคือประการแรกแหล่งวัตถุดิบในประเทศไม่ว่าจะเป็นดินขาว
ดินดำ หินฟันม้า ประเทศไทยได้เปรียบทั้งในแง่คุณภาพและปริมาณเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกลุ่มอาเซียน
ประการที่สองคือเรื่องค่าแรงงานที่ยังคงต่ำกว่าบางประเทศในแถบนี้และประการสุดท้ายคือเรื่องประสบการณ์ที่เหนือกว่า
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่เสนอให้อุตสาหกรรมเซรามิกส์เข้าสู่ระบบของอาฟต้า
ทั้งที่ในความเป็นจริงถ้ามองจากตลาดโลกแล้วการส่งออกเซรามิกส์ของอินโดนีเซียมีน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย
จุดหนึ่งที่น่าสังเกตสำหรับการนำอุตสาหกรรมเซรามิกส์ก้าวเข้าสู่ตลาดอาเซียนของอินโดนีเซียในครั้งนี้
เป็นเรื่องที่ผู้ผลิตของไทยต้องจับตามอง โดยเฉพาะข้อได้เปรียบบางประการของอินโดนีเซียที่อาจเรียกได้ว่าเหนือกว่าประเทศไทย
นั่นคือ แหล่งพลังงานซึ่งเป็นต้นทุนหลักราว 40-50% ของการผลิต ในขณะที่ต้นทุนการผลิตที่สำคัญรองลงมาคือตัวสารเคลือบซึ่งเป็นต้นทุนประมาณ
30% ของการผลิต ทางอินโดนีเซียได้ก้าวล้ำหน้าประเทศไทยไปแล้วด้วยการลงทุนสร้างโรงงานผลิตสารชนิดนี้ภายในประเทศเอง
ในขณะที่ไทยยังคงต้องสั่งนำเข้าวัตถุดิบตัวนี้เข้ามาในอัตราภาษีนำเข้าที่สูงกว่า
60% ขึ้นไป นอกจากนี้ค่าแรงงานของอินโดนีเซียยังถูกกว่าของไทยอีกด้วย
ความพร้อมของไทยในการนำอุตสาหกรรมเซรามิกส์เข้าสู่ระบบอาฟต้า ในความคิดเห็นของผู้ผลิตที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้แล้วต่างก็เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล
แต่อัตราภาษีที่กำหนดให้ลดนั้น ผู้ผลิตยังไม่เห็นด้วยที่จะให้ปรับจาก 80%
ให้เหลือ 30% ในเดือน ม.ค. 2536
จากการหยั่งเสียงผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเซรามิกส์ปรากฏว่าอัตราภาษีที่เสนอให้รัฐในปีแรกนั้นควรอยู่
50% ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องขอให้รัฐบาลพิจารณาช่วยลดอัตราภาษีวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตอย่างเช่นสารเคลือบและแม่สีลงเพื่อให้ต้นทุนการผลิตลดลงกว่าที่เป็นอยู่
ข้อเรียกร้องดังกล่าวข้างต้นยังไม่สามารถสรุปออกมาอย่างเป็นรูปเป็นร่างเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่น
ๆ
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าถามผู้ผลิตบางรายว่าพร้อมหรือไม่กับอัตราภาษีของไทยถ้าหากจะเป็น
0% วันนี้สำหรับตลาดอาเซียนปรากฏคำตอบก็คือ "พร้อม"
ด้านอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ช่วง 20 ปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ไทยจะผลิตเพื่อสนองความต้องการในประเทศ
จะส่งออกบ้างเพียงเล็กน้อย ซึ่งเดิมรัฐบาลจะเก็บภาษีนำเข้าปูนเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศ
10% แต่เมื่อมีข้อตกลง "PTA" ในอาเซียน รัฐบาลได้ลดภาษีเหลือ 5%
และเมื่อเกิดขาดแคลนปูนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็ได้ยกเลิกภาษีส่วนนี้ไป
ในระยะ 5 ปี โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2536 ไทยจะมีกำลังการผลิตโดยรวม 30.35 ล้านตันซึ่งจะสอดรับกับความต้องการ
หากมีการขยายตัวในอัตราสูงและซัพพลายเริ่มจะมากกว่าความต้องการอย่างเด่นชัดในปี
2537 คือดีมานด์สูงสุดราว 32-33 ล้านตัน แต่จะมีซัพพลายได้ 36 ล้านตัน ปูนไทยจึงมีแนวโน้มส่งออกมากขึ้น
ถ้าดูคู่แข่งสำคัญในกลุ่มอาเซียน ก็คือ อินโดนีเซีย ซึ่งขายปูนได้ถูกกว่าของไทย
เนื่องจากได้เปรียบเรื่องท่าเรือที่ช่วยลดต้นทุนการขนส่ง บวกกับเชื้อเพลิงที่ถูกกว่าไทย
อย่างไรก็ตาม ยังมีส่วนประเทศที่ต้องนำเข้าปูนคือ ฟิลิปปินส์ ซึ่งผลิตได้ไม่พอความต้องการ
และบูรไนยังไม่มีโรงปูนในประเทศทำให้ตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบดังที่ทวี บุตรสุนทร
ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสกลุ่มปูนใหญ่กล่าวว่า "เจ้าของโรงปูนที่ฟิลิปปินส์ถึงกับพูดว่า
"คุณทวี คุณอย่าฆ่าผมนะ"
ประกอบกับความต้องการจากกลุ่มประเทศอินโดจีนที่กำลังเร่งฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ
ซึ่งตลาดส่วนนี้คงเป็นโอกาสที่ไทยจะส่งปูนไปขายได้ เนื่องจากได้เปรียบที่อยู่ใกล้กว่า
ช่วยประหยัดค่าขนส่งได้ เพราะโดยลักษณะเฉพาะของปูนเป็นสินค้าที่หนัก ค่าขนส่งจึงแพง
โอกาสที่จะส่งไปขายกันไกล ๆ จึงถูกจำกัด และจะต้องดูว่าท่าเรือของแต่ละประเทศมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน
ดังนั้นการเลือกคู่ค้าจึงต้องดูว่ามีปัจจัยเอื้อต่อกันแค่ไหน แม้ว่าปริมาณซัพพลายปูนโดยรวมในกลุ่มอาเซียนในช่วง
4-5 ปีนี้จะมากกว่าดีมานด์ในระดับ 5-9 ล้านตันก็ตาม
ที่จริง อาฟต้าสำหรับอุตสาหกรรมปูนของไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเก่าตั้งแต่
15 ปีที่แล้วมีการรวมกันเป็นสมาพันธ์ผู้ผลิตปูนซีเมนต์แห่งอาเซียน 5 ประเทศ
(ตอนนั้นยังไม่รวมบูรไน) ซึ่งขอให้ไม่มีภาษีและให้สินค้าไหลเทในกลุ่มอาเซียนได้เพื่อมุ่งประสิทธิภาพการผลิต
และให้ประเทศใดประเทศหนึ่งขยายเผื่อไปขายประเทศอื่นด้วย ขณะนี้ก็เริ่มเป็นจริงโดยอาฟต้า
ทวีกล่าว
ตลาดปูนที่เคยเป็นของผู้ขายก็จะกลายมาเป็นของผู้ซื้อ..!
อุตสาหกรรมปูนแม้จะแข็งแกร่งที่สุดในอาเซียน แต่ถ้าเปรียบเทียบภายใต้เงื่อนไขอาฟต้าแล้ว
สิ่งทอจะเป็นจุดแข็งที่สุดอย่างหนึ่งของไทย เนื่องจากพัฒนามานานและเป็นดาวเด่นในหมวดอุตสาหกรรมแรก
ๆ ของไทย ขณะที่มาเลเซียเริ่มช้ากว่าไทยเล็กน้อย ส่วนอินโดนีเซียแม้จะได้เปรียบเรื่องค่าแรงต่ำ
แต่เมื่อเทียบคุณภาพแล้วยังเป็นรองไทยอยู่มาก
เพราะสิ่งทอไทยได้เน้นการพัฒนาไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เป็นไฮแฟชั่น
และเน้นเทคโนโลยีและยิ่งจะต้องมุ่งตลาดเฉพาะกลุ่ม มีรูปแบบสินค้าหลากหลายมากขึ้น
มิใช่ MASS PRODUCT อีกต่อไป พร้อมทั้งการเตรียมย้ายฐานลงทุนไปอินโดจีนเมื่อ
3-4 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในแถบอินโดจีน
ระบบพัฒนาสิ่งทอ (ปั่น-ทอ-ฟอกย้อม-ผ้าผืน-เสื้อผ้าสำเร็จรูป) ของโลกนั้นจะเป็นวัฏจักรเหมือนสายน้ำที่ไม่ไหลกลับเช่นเดียวกันอุตสาหกรรมอื่นที่ผู้ส่งออกหลักจะหมุนเวียนจากเกาหลี
ไต้หวัน ฮ่องกงมาสู่ไทย โดยเฉพาะเมื่อ 3 ประเทศนี้เจอปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงที่ผ่านมา
ทำให้ไทยยิ่งได้เปรียบในการเข้าแทนที่ตลาดได้เร็วขึ้น จนปัจจุบันไทยส่งออกสิ่งทอร่วมแสนล้านบาท
หรือเกือบ 20% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยในปีที่ผ่านมา
ไทยจึงเป็นหนึ่งของอุตสาหกรรมสิ่งทอของโลก ถ้าแคบลงมาในกลุ่มอาเซียนแล้ว
ไทยได้เปรียบอยู่มาก แม้ในกลุ่มจะเก็บภาษีนำเข้าสิ่งทอค่อนข้างสูงคือ ฟิลิปปินส์
30-37.5% อินโดนีเซีย 25-40% มาเลเซีย 20% บูรไน 10% แต่สิ่งทอไทยยังขายได้ในมูลค่าปีละกว่า
5 พันล้านบาท เชื่อว่าเมื่อประเทศเหล่านี้ลดภาษีลง จะทำให้ไทยส่งขายได้มากขึ้นโดยเฉพาะมาเลเซียและบูรไน
นับว่าสิ่งทอไทยอยู่ในตำแหน่งดีที่สุดในขณะนี้ดังที่วิโรจน์ อมตกุลชัย
นายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มไทยกล่าวไว้ แต่การที่ไทยจะยืนในจุดนี้ได้นาน
20-30 ปีนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งแก้ปัญหาคอขวด หรือระบบการฟอกย้อมที่จะต้องพัฒนาอย่างจริงจัง
เพราะเป็นส่วนที่ด้อยประสิทธิภาพที่สุด
ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการจะต้องร่วมมือกันมากขึ้น มีการวิจัยเพื่อพัฒนาสิ่งทอโดยเฉพาะ
ซึ่งล่าสุดได้จัดตั้งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดย ครม. เห็นชอบในหลักการร่าง
พ.ร.บ. จัดตั้งสถาบันฯ แล้วเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
หลักการใหญ่ ๆ คือจะเป็นองค์กรอิสระให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้ประกอบการ ร่วมกันพัฒนาทั้งเทคโนโลยีและบุคลากรของวงการ
เพื่อให้มีเอกภาพมากขึ้น ซึ่งจะมีคณะกรรมการเป็นผู้คุมนโยบายทั้งจากตัวเอกชนและราชการ
แต่จะให้เอกชนมากกว่า
การผนึกกำลังกันช่วยพัฒนาสิ่งทอร่วมกันโดยแต่ละองค์กรเน้นปรับประสิทธิภาพทั้งเทคโนโลยีการจัดการ
ยึดตลาดเดิมให้มั่นโดยประสานงานกับผู้ซื้อทั้งในเรื่องของดีไซน์ คุณภาพ ตรงเวลาและกระจายไปสู่ตลาดใหม่ที่น่าสนใจ
จะเป็นวิธีที่ทำให้สิ่งทอไทยทิ้งห่างกลุ่มอาเซียนไปได้อีกนาน
เราจึงมีได้มีเสียจากอาฟต้า ที่น่าห่วงก็คืออุตสาหกรรมพลาสติกและน้ำมันพืชจะทะลวงกำแพงอาฟต้าไปได้หรือไม่..?
คงต้องจับตาดูกันต่อไป..!
ระยะ 5 ปี คงเป็นห้วงเวลาที่บอกได้ชัดว่าใครจะอยู่หรือจะไป..?