NaRaYa ผ้าไทย 400 ล้านบาท

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( ตุลาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ใครจะรู้ว่ากระเป๋าผ้าพิมพ์ลายดอกและลายตุ๊กตาสีสันสดใส ซ้ำแบบแต่ไม่ซ้ำลายฝีมือคนไทย จะขายดีถึงปีละ 400 ล้านบาท และใครจะรู้ว่าร้านขายกระเป๋าผ้าที่ว่านี้ต้องใช้เงินตกแต่งกว่า 20 ล้านต่อร้าน จากฝีมือของคนแต่งร้านให้กับหลุยส์ วิตตอง

ระหว่างที่กำลังยืนมองอากัปกิริยาลูกค้าหลายสิบชีวิต เดินลัดเลาะจากมุมซ้ายไปขวา เพื่อเลือกสินค้าที่ถูกตาต้องใจ ภายในร้าน "Naraya" บริเวณชั้นหนึ่งของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ อยู่นั้น

หญิงวัยกลางคนในชุดสีเหลืองคนหนึ่งเดินเข้ามายืนใกล้ๆ กับ "ผู้จัดการ" โบกมือไปมาพร้อมเอ่ยคำทักทายด้วย น้ำเสียงตื่นเต้น และแสดงสีหน้าแสดงความแปลกใจยิ่งนัก ถึงการพบกันโดยบังเอิญ ยามบ่ายวันจันทร์ต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมา

นี่เป็นการพบกันโดยไม่ได้นัดหมายล่วงหน้าเอาไว้ระหว่าง "ผู้จัดการ" และวาสนา รุ่งแสนทอง ลาทูรัส เจ้าของ ร้านที่ "ผู้จัดการ" นัดหมายเขาไปเก็บบันทึกภาพร้านต้นแบบ ที่ต้องใช้เงินไปกว่า 20 ล้านบาทในการปรับปรุงให้สวยงาม อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในสองสาขาภายใต้แบรนด์ Naraya ที่ใช้ฝีมือของการตกแต่งจากบริษัทที่รับออกแบบร้านให้กับแบรนด์ หลุยส์ วิตตอง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

วันนี้ วาสนาควงคู่มาพร้อมกับวาสิริโอส ลาทูรัส ชาย ชาวกรีกที่ไม่เพียงแต่เป็นหุ้นส่วนชีวิตของเธอเท่านั้น แต่ยังเป็นหุ้นส่วนในทางธุรกิจ ผู้เริ่มปลุกปั้น Naraya แบรนด์ผลิตภัณฑ์จากผ้าพิมพ์ลายสัญชาติไทยมาตั้งแต่ต้น

ไม่บ่อยครั้งที่วาสิริโอสจะปรากฏตัวให้สื่อมวลชนได้เห็นหน้า หรือบันทึกภาพร่วมกับวาสนา แต่มักใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเป็นหัวเรือใหญ่ในการบุกตลาดให้กับบริษัทในฐานะซีอีโอ โดยมีวาสนาทำหน้าที่เป็นประธานบริษัท

ความบังเอิญทำให้เราได้พบหน้าและพูดคุยทักทายกับเขาเล็กน้อย ก่อนปล่อยให้ทั้งเขาและเธอใช้เวลาไปกับการตรวจตราความเรียบร้อยภายในร้านต่อไป

นี่เป็นเพียงหนึ่งกิจวัตรที่วาสนาและวาสิริโอส ต้องทำ อยู่เป็นประจำนอกเหนือจากการนั่งประจำอยู่ในห้องทำงาน ณ อาคารสำนักงาน ฐานที่มั่นแห่งใหม่ อายุยังไม่ถึง 2 ขวบปี บนถนนแจ้งวัฒนะ ที่มีมูลค่าในการก่อสร้างกว่า 400 ล้านบาท เพื่อดูเอกสารสำคัญเจรจากับคู่ค้าและคุยกับนักออกแบบ สินค้าของตน ซึ่งวาสนาเคยบอกกับ "ผู้จัดการ" เมื่อครั้งที่ได้พบปะกันนับจากปี 2543 ซึ่งได้ตีพิมพ์เรื่องราวของ Naraya ในวันที่อายุครบ 10 ปีเต็มไปแล้ว

8 ปีให้หลัง วันนี้ Naraya อายุครบ 18 ปี และบทเรียนของการเริ่มต้นแบรนด์ผ่านไปแล้ว นับจากนี้บทใหม่ที่จะบันทึกไว้ในประวัติของการเป็น Naraya น่าจะอยู่ที่การไต่เต้าไปเป็นแบรนด์ระดับสากลยิ่งขึ้น

วาสนาพูดด้วยสีหน้ายิ้มแย้มในวันที่มีโอกาสได้พบปะกับ "ผู้จัดการ" ก่อนหน้านี้เป็นเวลากว่าสัปดาห์ว่าเธอใฝ่ฝันจะเปิดร้าน Naraya ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เหมือนกับที่เปิดในเมืองไทยในตอนนี้ โดยเลือกใช้ผนังสีเหลืองอ่อน เฟอร์นิเจอร์สีขาวสะอาดตา เมื่อตกแต่งรวมกันแล้วให้ความรู้สึกอบอุ่น มีพนักงานยืนต้อนรับทักทายด้วยความเป็นกันเอง เมื่อลูกค้าเข้ามาก็เหมือนกลับมาพบหน้าคนคุ้นเคยอีกครั้ง

เช่นเดียวกับความฝันที่จะไปเปิดร้านด้วยตนเองบนเกาะแมนฮัตตัน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และเมืองน้ำหอม กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และนั่นเป็นที่มาของความคิด จนกลายมาเป็นตัดสินใจไม่เปิดให้ใครถือเป็นแฟรนไชส์ Naraya เลยแม้แต่คนเดียวในเมืองที่กล่าวมาทั้งหมด

"เมื่อเราพร้อม จังหวะและโอกาสมาเมื่อไหร่ เราก็จะไปบอกไม่ได้ว่าเมื่อไหร่" วาสนาบอกถึงความฝันไซส์ใหญ่ สำหรับใครหลายคน แต่กลับเป็นจริงได้ไม่ยากนักสำหรับแบรนด์ Naraya ในเพลานี้

เป็นเวลากว่าสองปีแล้วที่วาสนาเริ่มปรับองค์กรเพื่อรองรับการเติบโตในระดับสากลมากขึ้น หลังจากที่ปล่อยให้ Naraya เติบโตอย่างปกติ แต่นับจากนี้คือการเติบโตของ Naraya อย่างที่ควรจะเป็น

ในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของแบรนด์ คือการตัดสินใจเปิดโรงงานตัดเย็บเป็นของตนเอง วาสนาลงเครื่องจักรสำหรับการตัดเย็บนับร้อยบนถนนลาดพร้าว และพื้นที่ BOI ของจังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากก่อนหน้านั้นสินค้าทุกชิ้น ล้วนแล้วแต่ผลิตโดยชาวบ้านในหลาย จังหวัดทั่วประเทศไทย

ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน พิษณุโลก ขอนแก่น มุกดาหาร สุรินทร์ ยโสธร หรืออุบล ราชธานี ซึ่งมาจากการขยายเครือข่ายไปยังคนที่รู้จักในถิ่นฐานต่างๆ ของชาวบ้านเอง และบทบาทของการทำงาน ร่วมกับหน่วยงานพัฒนาท้องถิ่น หรือแม้แต่กระทรวงอุตสาหกรรมของตัววาสนาเอง

การตัดสินใจเปิดโรงงานเป็นของตัวเอง เป็นสิ่งหนึ่งที่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในแบรนด์ Naraya ในปีที่ 18 อย่างเห็นได้ชัดที่สุด

วาสนาบอกว่าโรงงานแห่งใหม่รองรับการขยายสินค้า ของเธอโดยเฉพาะ สินค้าที่มีรูปแบบยุ่งยาก ซับซ้อนยิ่งขึ้น และต้องการความประณีต ควบคุมการตัดเย็บเป็นพิเศษ ซึ่ง คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของสินค้าทั้งหมด เช่น สินค้าพรีเมียม ที่ผลิตเพื่อวางขายตามหน้าแค็ตตาล็อกบนเครื่องบินของสายการบินไทยโดยเฉพาะ ซึ่งไม่เพียงแต่ผ้าที่เลือกใช้จะราคา แพงกว่าสินค้าโดยปกติ Naraya เท่านั้น แต่สินค้าบางชิ้น บางแบบ ไม่ได้วางขายในสาขาทั่วไปของ Naraya อีกด้วย

แม้แต่สินค้าที่ผลิตโดยเฉพาะให้กับ John Lewis department store ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จนถึง สินค้าพิเศษในระดับพรีเมียมราคาแพงกว่าที่เคยมีมา ซึ่งจะแบ่งแยกเพื่อวางขายเป็นสัดส่วนชัดเจนในสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ และในต่างประเทศ ภายในปีหน้าที่จะถึงนี้

แผนการในอนาคตที่ใกล้จะเป็นจริงสำหรับวาสนาและแบรนด์ Naraya ก็คือการทำให้ทุกสาขาจัดวางสินค้าแต่ละมุมโดยแบ่งตาม segment หรือกลุ่มของผู้ซื้อ เพื่อง่าย แก่การหยิบหรือเลือกซื้อ นับเป็นความเปลี่ยนแปลงที่วาสนา เองบอกว่าไม่เคยทำมาก่อนเลย

กลุ่มของสินค้าจะถูกจัดแบ่งเป็น NaRaYa Classic สินค้าในแบบพื้นฐาน Naraya Adonis สินค้าสำหรับลูกค้าผู้ชาย Naraya Helena กลุ่มของสินค้าสำหรับผู้หญิง Naraya Estia สินค้าเครื่องครัว Naraya Ivi สินค้าวัยรุ่นและ Naraya Cupid สินค้าสำหรับเด็ก ไม่นับรวมกับสินค้า พรีเมียมราคาแพงที่จะอยู่อีกมุมหนึ่งในร้านซึ่งจัดวางใหม่ด้วย นอกเหนือจากนั้น เครื่องจักรในระดับอุตสาหกรรมการตัดเย็บผ้าเครื่องใหม่ที่วาสนาเพิ่งสั่งเข้ามาก็จะกลายเป็น อีกส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงใน Naraya ด้วย

หลังจากนี้เมื่อผ่านกระบวนการเลือกแบบจากฝ่ายออกแบบ หรือดีไซเนอร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ฝ่ายขึ้นแบบจะทำหน้าที่ขึ้นแบบเพื่อดูความเป็นไปได้ ก่อนส่งไปยังเครื่อง ตัดแพทเทิร์น เพื่อสั่งตัดแพทเทิร์นให้ตรงกับรายละเอียดไม่ผิดเพี้ยนไปจากต้นแบบทุกกระเบียดนิ้ว และจัดส่งไปถึงมือชาวบ้านที่อยู่ในเครือข่ายการตัดเย็บเพื่อทำการเย็บตามแบบ และส่งกลับคืนมายังฝ่ายตรวจสอบที่กรุงเทพฯ โดยที่ชาวบ้านไม่ต้องเสียเวลาไปกับการตัดแพทเทิร์นเอง และฝ่าย ตรวจสอบก็ไม่ต้องสูญเสียสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานจากการ ตัดแพทเทิร์นที่ไม่ได้มาตรฐานอีกต่อไป

การเปลี่ยนหน้าตาและการจัดวางสินค้าให้เหมือนกับ สาขาต้นแบบที่ชั้นหนึ่งของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเสร็จสิ้นและเปิดทำการมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว หรือสาขาเซ็นทรัลลาดพร้าวที่เปิดทำการเป็นสาขาใหม่เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน รวมถึงสาขาสองในเซ็นทรัลเวิลด์ บริเวณชั้น 6 ของตัวห้างคือความเปลี่ยนแปลงที่วาสนา ให้ความสำคัญไม่น้อย

เมื่อเป็นสาวเต็มตัว Naraya ในวันที่อายุ 18 ก็ถึงเวลา ที่ต้องแต่งตัวสวยงามสมวัยยิ่งขึ้น การปรับปรุงหน้าร้านทุกสาขาที่มีอยู่ 12 สาขาในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นสุขุมวิท 24 บ้านสีลม พัฒนพงษ์ เซ็นทรัล ลาดพร้าว ดรีมเวิลด์ชั้นหนึ่งโรงแรมเอเชีย นารายณ์ภัณฑ์ พลาซ่า โรงแรมอมารีวอเตอร์ เกท และสาขาภูเก็ต และอีกกว่า 9 ประเทศคือ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮังการี ซาอุดีอาระเบีย ตุรกี อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เกาะกวม ก็ถึงเวลาด้วยเช่นกัน

Naraya ไม่เหมือนคนอื่นๆ ตรงที่ออกแบบสินค้าเอง หาคนช่วยเย็บให้ แต่แบ่งเบาภาระมาเย็บเองบ้างไม่มากนัก เปิดร้านขายของเอง แถมตั้งราคาต่ำ อาศัยการขายในจำนวน มาก เมื่อคิดในแง่ของผลกำไรแล้ว กลับมีมูลค่าที่น่าเย้ายวน กว่าการเป็นแบรนด์ดัง แต่ขายได้เพียงวันละไม่กี่ชิ้นก็เป็นได้

ธุรกิจของ Naraya ไม่สำเร็จรูปเหมือนเช่นธุรกิจหลายแห่งที่เพิ่งเกิดใหม่ ที่เพียงอยากจะมีธุรกิจใหม่ก็เพียงแค่จ้างคนทำ ใส่แบรนด์ตัวเอง เดินเข้าร้านที่ปรึกษาด้านแบรนด์ ก็ออกมาพร้อมกับนามบัตร ป้ายโฆษณา ตราสินค้า หรือแม้กระทั่งแผนธุรกิจ

โลโกวงรีทาสีเหลืองด้านใน ใส่คำว่า Naraya ไว้ตรงกลาง ผูกโบอันเป็นสัญลักษณ์บนกระเป๋าลายผ้าพิมพ์ที่เห็นอยู่เสมอ พร้อมกับลายเส้นประล้อมรอบวงรีที่อยู่ชั้นใน แสดงให้เห็นถึงฝีเข็มที่ละเอียดและมีระยะเท่าๆ กัน เป็นฝีมือ ของวาสนาที่วาดกับมือเมื่อสิบปีที่แล้วและส่งต่อให้กับคนออก แบบช่วยทำให้สวยงามยิ่งขึ้น

กว่าจะขยายสาขาให้มากขึ้น ต้องใช้กำลังแรงกายของเธอและสามีเองทั้งหมด การขยายแบรนด์ไปต่างประเทศ ก็ไม่คิดเงินคนถือแฟรนไชส์แต่แลกด้วยการสั่งซื้อสินค้าของเธอทั้งหมด ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เหมือนจะปกติธรรมดาของการขาย ของในชื่อของคนอื่นอยู่แล้ว

ทุกก้าวในการเดินทางของ Naraya ไม่ได้วางหมากเอาไว้ตั้งแต่ต้น แต่เหมือนกับคนสองคนกำลังช่วยกันปลูกต้นไม้ รดน้ำ พรวนดิน และเฝ้ามองมันเติบโตอย่างเต็มที่ ที่เหลือก็ปล่อยให้มันออกดอก และเก็บผลกิน แถมยังเอาเมล็ด ไปเพาะพันธุ์แล้วฝังลงไปในดิน ทำเช่นนี้วนซ้ำแล้วซ้ำเล่า สุดท้ายก็ได้ผลไม้จากต้นไม้นั้นมาวางอยู่เต็มหน้าจนแทบจะรับประทานไม่ทันกันเลยทีเดียว

เมื่อครั้ง Naraya อายุ 16 ปี เคยทำรายได้มากถึง 380 ล้านบาท และอายุครบ 17 นับเป็นครั้งแรกที่ Naraya ทำรายได้แตะที่ระดับ 400 ล้านบาท แต่เมื่อถามวาสนาว่าจำได้ไหมว่า Naraya ทำรายได้ทะลุร้อยล้านแรกเมื่อไหร่ เธอกลับตอบว่าเธอจำไม่ได้ว่าปีไหน เป็นนัยว่าหลายปีมานี้ รายได้ของ Naraya เกิน 100 ล้านบาท และยังมีทีท่าว่า การเติบโตยังไม่สิ้นสุดลงแค่อายุ 18 เป็นแน่

ดูท่าต้นไม้ที่ชื่อ Naraya จะยังโตไม่หยุด แถมยังออก ผลให้วาสนาได้เก็บกินอีกหลายปี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.