"สวนสัตว์พาต้า บ้านของสัตว์ที่กำลังจะมีกฎหมายรองรับ"

โดย โสภิดา วีรกุลเทวัญ สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ห้างสรรพสินค้าพาต้าปิ่นเกล้าถือกำเนิดขึ้นเกือบ 10 ปีมาแล้ว ในครั้งนั้นฝั่งธนฯ ยังจัดว่าเป็นพื้นที่บริสุทธิ์ในลักษณะ "เขตปลอดห้าง" อยู่ การถือกำเนิดขึ้นของร้านขายของติดแอร์แห่งนี้เองได้ทำให้เกิดสวนสัตว์ติดแอร์ตามมาด้วย โดยการริเริ่มนั้นเป็นของวินัย เสริมศิริมงคล นายห้างใหญ่ผู้ล่วงลับไปแล้ว

ในเชิงการตลาด สวนสัตว์ในห้างคือจุดขายประการหนึ่ง ซึ่งพาต้ายุคเริ่มต้นให้น้ำหนักกับ "ลูกเล่น" แปลก ๆ ทำนองนี้มากทีเดียว ลิฟต์แก้ว น้ำพุสายรุ้งคือตัวอย่างอีกส่วนหนึ่ง

"คุณวินัยมีใจรักสัตว์เป็นทุนเดิมก็เริ่มจากการทำสวนนกชั้น 7 ทำแล้วก็พอดีกับเห็นความตื่นตัวด้านอนุรักษ์ เราก็ตระหนักว่าบทบาทการอนุรักษ์สัตว์ป่าไม่ใช่แค่ปล่อยให้ทางราชการทำเท่านั้น ต่อมาชั้น 6 เลยเกิดขึ้น จัดรูปแบบเป็นสวนสัตว์ จดทะเบียนเรียบร้อย วางผัง มีสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ หลายอย่างที่ทำก็ประสบความสำเร็จ รวมทั้งในด้านเพาะพันธุ์ด้วย" คณิต เสริมศิริมงคล น้องชายแท้ ๆ ของวินัย ผู้มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการบริษัทสวนสัตว์พาต้า จำกัด เล่าถึงความเป็นมา

บริษัทสวนสัตว์พาต้าจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์เมื่อปี 2527 แล้วได้ดำเนินกิจการมาเรื่อย ๆ โดยการดูแลตัวเอง เพราะไม่มีกฎหมายรับรองและควบคุม

สัตว์ของพาต้าส่วนมากมิได้มีสัญชาติไทย บริษัทสยามฟาร์มคือช่องทางผ่านในการนำสัตว์เข้ามาก่อนที่กิจการจะเลิกราไป ถึงตอนนี้ถ้าพูดถึงสัตว์ต่างประเทศ บนห้างพาต้ามีอยู่ค่อนข้างจะครบ โดยเฉพาะพวกที่ได้ชื่อว่าหายาก และเป็นหนึ่งเดียว ได้แก่ คิงคอง เสือลายเมฆ นกเพนกวิน งูหลามทอง เป็นต้น โดยเฉพาะชนิดหลังนั้นที่พาต้าน่าจะมีมากที่สุดในโลก

"งูหลามเป็นงูคุ้มครอง เรามีมาก แต่ไม่ได้ขาย มีแต่แลกเปลี่ยนกัน" วิโรจน์ นุตพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้ทำการเพาะงูหลามทองกล่าว ปัจจุบันเพาะได้แล้วถึงกว่า 300 ตัว

ส่วนสัตว์อื่นจำแนกตามประเภทประกอบไปด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมประมาณ 130 ชนิด ราว 250 ตัว สัตว์ปีก 300 ชนิด มากกว่า 600 ตัว สัตว์เลื้อยคลานสะเทินน้ำสะเทินบก 350 ชนิด ประมาณ 700 ตัว จำนวนนี้ไม่รวมงูหลามทองที่ได้จากการเพาะ

วิโรจน์ นุตพันธ์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยที่เด่นที่สุดของเมืองไทย มีประสบการณ์กับสัตว์ชนิดนี้มาราว 30 ปีแล้ว เขาได้ร่วมบุกเบิกสวนสัตว์พาต้ามาตั้งแต่ต้นกับวินัย เสริมศิริมงคล วิโรจน์มีความคิดว่า การจะรักษาสัตว์ป่าให้อยู่ในป่าเป็นเรื่องที่ยากเกินไปแล้ว ในขณะที่การเพาะเลี้ยงไปได้ดีกว่า

"รักษาป่าอย่าให้ใครไปทำอันตรายอย่างนี้ถูกต้องแต่ทำง่ายไหม คุณทำเพื่ออะไร เพื่อไม่ให้ช้างสูญพันธุ์ ถ้าอย่างนั้นคุณให้เขาเลี้ยงช้างจนออกลูกมาก็คือไม่สูญพันธุ์นั่นเอง ง่ายกว่าหรือไม่" วิโรจน์ตั้งคำถามท้าทาย

สำหรับการเลี้ยงสัตว์ก็ควรจะส่งเสริมเช่นกันเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และเท่ากับเป็นการเปิดกว้างต่อประชาชนในด้านการศึกษา นันทนาการ และเศรษฐกิจ

หน้าที่ของสวนสัตว์ที่ได้เปิดบริการให้เกิดการพักผ่อน ความรู้ และการนันทนาการต่อสาธารณะยิ่งควรได้รับการสนับสนุนด้วย

ในทัศนะของวิโรจน์ กฎหมายที่ผ่านมาตรงข้ามกับที่ควรจะเป็นอย่างมาก เป็นบทบัญญัติที่สวนทางกับความเป็นจริง เขายกภาพความจริงขึ้นอธิบายว่า

"ชาวบ้านอีสานยังกินกิ้งก่าอยู่ทุกวันนี้ เขาถือเป็นอาหารพิเศษ แต่เขาผิดกฎหมายเพราะไม่มีใบล่ากิ้งก่าซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครอง อย่าว่าแต่ประชาชน รัฐบาลเองก็ทำ อย่างกบทูด-เขียดแรวเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองมาตั้งแต่ 20-30 ปี แต่ถ้าคุณไปจังหวัดตรังจะเห็นเขาขายกบทูดกันเกลื่อนในตลาด แล้วรัฐบาลก็โฆษณาให้ไปกินเขียดแรวที่แม่ฮ่องสอน ผมไม่เป็นคนทิฐิไม่ให้กิน แต่กินอะไรคุณควรเพาะเลี้ยงได้เสียก่อน"

ตามกฎหมายใหม่จะสังเกตได้ว่า ค่อนข้างจะเปิดกว้างด้านการเพาะพันธุ์ให้กับสวนสัตว์มากกว่าเอกชนทั่วไป จุดนี้บ่งบอกความหมายหลายประการในด้านหนึ่ง ดูเหมือนรัฐจะฝากความหวังไว้ให้สวนสัตว์เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงเพื่อการขยายพันธุ์สัตว์ที่แท้จริงมากกว่าเพื่อการค้า ในขณะเดียวกันก็แสดงว่าสวนสัตว์ไม่สามารถสวมบทบาทเป็นผู้ค้าสัตว์ป่าได้เต็มที่นัก

คณิต เสริมศิริมงคล กล่าวอย่างชัดเจนในเรื่องนี้ว่า "ถึงกฎหมายออกมาเราก็ไม่คิดตั้งเป็นฟาร์มขุนเพื่อฆ่า แต่เป็นการสืบเผ่าพันธุ์มากกว่าเป็นการซื้อขายกับสวนสัตว์ต่างประเทศ หรืออะไรทำนองนั้น เจตนารมณ์ของสวนสัตว์น่าจะมีเป้าหมายในการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า ตายแล้วจะได้ไม่ต้องซื้อใหม่"

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาต้องแจ้งขออนุญาตยังไม่แน่นักว่า สวนสัตว์พาต้าจะยังคงอยู่หรือไม่ หรือต้องเปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างไร ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับสิ่งที่ได้ทำมาแล้วในอดีตว่า เส้นทางที่ผ่านมานั้นมีอะไรโปร่งใสหรือหลบเร้นเพียงใด

อนาคตถูกกำหนดมาแล้วจากเวลา 8 ปีที่ผ่านมา



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.