"โปรดนำสัตว์กลับคืนธรรมชาติ"

โดย โสภิดา วีรกุลเทวัญ สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

ขณะที่สัตว์ป่าใกล้จะหมดไปจากธรรมชาติคือความสูญเสียที่กำลังดำเนินไปอย่างไม่อาจทัดทาน ความสำเร็จในการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าหลาย ๆ ชนิดก็เป็นเสมือนความหวังอันเรืองรองที่เข้ามาชดเชย แต่หวังนี้จะเป็นจริงหรือเพียงเป็นความฝันเลื่อนลอยยังเป็นเรื่องที่ยากจะตัดสิน

การเพาะพันธุ์เอื้อต่อการทำธุรกิจอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เอื้อต่อการอนุรักษ์เพียงใด นับเป็นคำถามที่ท้าทายไม่น้อย

"การเพาะเลี้ยงไม่ใช่ว่าในป่าไม่มีแต่ในฟาร์มเรามีมากที่สุดในโลก อันนี้ก็ไม่ถูกต้อง ในธรรมชาติต้องมี ไม่ใช่จับเข้าฟาร์มหมด สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ให้รัฐบาลทำ อย่างถ้าเราอนุญาตให้ค้าสัตว์ป่าได้แล้ว ก็เก็บภาษีตรงนี้สิครับ แล้วเอาเงินไปตั้งเป็นแหล่งขึ้นมา อาจจะกรมป่าไม้ทำร่วมกับเอกชนก็ได้" จิตติ รัตนเพียรชัยเสนอทัศนะพร้อมกับรูปธรรมการปฏิบัติ

จรูญ ยังประภากรเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์เช่นกัน ได้กล่าวว่า "การค้าเป็นอีกเรื่องหลังจากที่เพาะสำเร็จจนกระทั่งปริมาณของสัตว์มีเกินพอแล้ว ส่วนเกินก็เป็นเรื่องของการค้าขายตามมา"

ความคิดเช่นนี้จะเป็นจริงได้อย่างไร

"ถูกต้องที่สัตว์ป่าหลายชนิดไม่ควรมาเป็นสัตว์เลี้ยง แต่ต้องแยกว่าในเมืองจะแก้ปัญหาอย่างไร ในป่าจะแก้อย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้มีการทำลายอีก จะเพิ่มหรือเสริมเข้าไปหรือเปล่า" สัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากรไม่ค่อยแน่ใจ

"ถ้ารัฐบาลจะคุมให้ดีต้องเอาไปปล่อยถิ่นธรรมชาติด้วย นอกนั้นขาย แบบนี้ไม่มีสูญ" วิโรจน์ นุตพันธุ์ให้ความเห็น

นี่คือทัศนะของเอกชนและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องอยู่กับการทำธุรกิจด้วย สำหรับด้านของนักอนุรักษ์ พิสิษฐ์ ณ พัทลุง คงจะเป็นตัวแทนได้ดี

"ผมขอพูดให้ชัดเจนว่า ผมไม่เคยต่อต้านการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเพื่อเอาไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือการทำสวนสัตว์ที่ถูกต้อง ตราบใดที่สัตว์ป่ายังไม่สูญพันธุ์ ผมไม่เห็นว่าเสียหาย เพียงแต่คิดว่าไม่เพียงพอเพราะไม่จบกระบวนการเท่านั้นเอง การเพาะขายแล้วอ้างว่าอนุรักษ์ ทั้งที่ไม่ได้ทำประโยชน์ให้ธรรมชาติเลย นี่ไม่ถูกต้อง ละอง ละมั่งที่ว่าเพาะได้มากมาย เพาะง่ายผมไม่เถียง ในป่าไม่มี มีแต่ในบ้าน แล้วใครบ้างมีโครงการหรือมีพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่าได้ช่วยธรรมชาติ"

น้ำหนักที่ให้อาจจะต่างกัน แต่สาระของคำตอบที่ต่างระบุออกมาก็คือ ต่อไปนี้มนุษย์ต้องทำหน้าที่เสริมให้แก่ธรรมชาติบ้างแล้วหลังจากที่ใช้ไปมากจนเป็นการทำลายมานาน

การนำสัตว์คืนสู่ธรรมชาติเป็นปฏิบัติการที่กำลังมีการทดลองทำในต่างประเทศอยู่ขณะนี้ ยังไม่อาจถือได้ว่าประสบผลสำเร็จสมบูรณ์มากนัก สำหรับประเทศไทยทางกรมป่าไม้และหน่วยราชการบางแห่งได้ริเริ่มการเพาะพันธุ์เพื่อมุ่งหมายด้านการอนุรักษ์มาระยะหนึ่งแล้ว การเพาะประสบผลพอสมควร แต่การนำไปคืนธรรมชาติยังไม่เด่นชัดนัก เท่าที่ได้ทำไปแล้วคือ โครงการคืนละองละมั่งที่ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิก็ไปไม่ได้ไกลนัก ยังไม่มีการทำทั้งกระบวนการ

นอกจากนี้มีการเอานกกระเรียนและเป็ดก่าคืนถิ่นทั้ง 2 ชนิดนี้นับเป็นการรับคืนจากต่างประเทศซึ่งเพาะได้สำเร็จ ขณะในป่าของไทยที่เป็นแหล่งกำเนิดไม่มีเหลือให้เห็น

"การทำตรงนี้เป็นเรื่องยาก แต่สำคัญมาก ผมว่าเราต้องทุ่มเทให้มากทั้งกำลังคน งบประมาณ วิชาการและเทคโนโลยี ผมเองมีความหวังเรื่องนี้ค่อนข้างสูง" เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยกล่าว

ความยากของการคืนสัตว์สู่ธรรมชาติเกี่ยวข้องกับปัจจัยทั้งภายนอกและภายในตัวสัตว์เอง ปัจจัยภายนอกที่เป็นตัวหลักชี้ขาดไม่น้อยก็คือคน ตราบใดที่การล่ายังคงเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ป่ายังคงถูกทำลาย การคืนกลับสู่บ้านที่แท้จริงของสัตว์ป่าก็ย่อมไม่สัมฤทธิผล

โดยธรรมชาติของสัตว์เองเป็นอุปสรรคอีกข้อหนึ่ง วิญญาณป่านั้นไม่ใช่สิ่งที่มือของผู้เลี้ยงหรือซี่เหล็กของกรงขังจะปลูกฝังให้ได้ สัตว์ป่าในเมืองเมื่อออกไปสู่ดงไม้และความอิสระเสรีจึงมีกมีชีวิตล้มเหลวหาอาหารกินไม่ได้ หนีภัยไม่เป็น ฯลฯ

"สัตว์ที่ปรับตัวยากที่สุดคือพวก PRIMATE พวกลิง สัตว์ที่กินพวกลูกไม้ ต้องรู้จักการเลือกสรร รู้จักพันธุ์ไม้ในป่าแต่ละแบบ ถ้าได้รับการเทรนแบบเมือง ไม่มีทางรู้ได้ ร่างกายก็ไม่ทนทาน โดนฝนโดนแดดจะรู้ไหมว่าต้องทำอย่างไร ถ้าจะทำกระบวนการต้องละเอียดมาก มีการเทรนเป็นขั้นตอน อาจจะต้องเอาไปไว้ในกระท่อมกลางป่า ไม่ให้เจอคน บางครั้งต้องแกล้งยิง แกล้งตี ไม่ให้เข้าหาคน พวกสัตว์กินสัตว์ ง่ายกว่า แต่ก็ต้องฝึกให้ล่าได้ รุ่นแม่อาจยังล่าไม่เป็น แต่พอมีลูกก็ปรับเข้ากับสังคมป่าได้" ดร. อุทิศ กุฏอินทร์ แห่งคณะวนศาสตร์ให้ความรู้

เรื่องเหล่านี้ต้องเป็นหน้าที่ของทางราชการโดยไม่ต้องสงสัย แต่ต้องมีความร่วมมือจากส่วนอื่นประกอบด้วย โดยเฉพาะเอกชนที่เก็บเกี่ยวเอาประโยชน์ไปจากสัตว์ป่า ต้องไม่ลืมที่จะตอบแทนคืนกลับให้แก่สังคมด้วย ไม่ใช่มุ่งที่ผลประโยชน์ส่วนตนเพียงประการเดียว เพราะหากเป็นเช่นนั้น ผลร้ายที่ตามมาก็จะตกอยู่กับโลกทั้งโลก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.