ดัชนีธุรกิจส.ค.เริ่มฟื้นตัว


ผู้จัดการรายวัน(1 ตุลาคม 2550)



กลับสู่หน้าหลัก

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้รายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็น 43.4 จากเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 40.7 เนื่องจากการผลิตปรับดีขึ้นตามคำสั่งซื้อในประเทศ และต้นทุนการผลิตปรับลดลง ทำให้ผลประกอบการทางธุรกิจดีขึ้น นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น จากประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การลงทุนปรับตัวดี

ขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และคาดว่าจะดีขึ้นในระยะต่อไป โดยผู้ประกอบการที่เชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ ได้แก่ สาขาสาธารณูปโภคและสาขาการเงิน ขณะที่ความเชื่อมั่นของสาขาอุตสาหกรรมก่อสร้าง และสาขาบริการ ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจใน 3 เดือนข้างหน้า ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 48.9 ในเดือนกรกฎาคม เป็น 50.2 เนื่องจากการปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกองค์ประกอบ ยกเว้นการจ้างงาน ซึ่งเป็นระดับที่มีความเชื่อมั่นสูงกว่า 50 เป็นเดือนแรกในรอบ 6 เดือน โดยผู้ประกอบการสาขาสาธารณูปโภค ขนส่งและคลังสินค้า การเงินและบริการ มีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมทั้งสาขาอุตสาหกรรมและการค้า ส่วนการจ้างงานและการปรับอัตราค่าจ้าง แม้ว่าผู้ประกอบการยังคงรักษาระดับการจ้างงานไว้ในระดับเดิม แต่จำนวนชั่วโมงทำงานล่วงเวลาต่อวันมีแนวโน้มลดลง โดยสัดส่วนผู้ประกอบการที่ไม่มีการทำงานล่วงเวลาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จาก 36.1% ในเดือนกรกฎาคม เป็น 37.6% ในเดือนสิงหาคม ขณะที่ราคาสินค้า ผู้ประกอบการทั้งในสาขาอุตสาหกรรมและการค้าส่วนใหญ่คาดว่าราคาสินค้าในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะยังไม่เปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเห็นว่า อัตราเงินเฟ้อในช่วง 12 เดือนข้างหน้า มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย โดยสัดส่วนของผู้ประกอบการที่เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์อยู่ในช่วง 2-4 % เพิ่มขึ้นจาก 64.7 % ในเดือนกรกฎาคม เป็น 65.6% ในเดือนสิงหาคม โดยปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ ได้แก่ ราคาพลังงาน ต้นทุนการผลิตและอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่คาดว่า เงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐในอีก 3 เดือนข้างหน้า จะทรงตัวมากขึ้น เนื่องจากมาตรการผ่อนคลายระเบียบการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินในเดือนกรกฎาคม โดยสัดส่วนผู้ประกอบการที่เห็นว่าค่าเงินบาททรงตัว เพิ่มขึ้นจาก35 %ในเดือนกรกฎาคม เป็น 53.4% ในเดือนสิงหาคมนี้

ขณะที่ภาระดอกเบี้ยและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเริ่มทรงตัว โดยสัดส่วนผู้ประกอบการที่ภาระดอกเบี้ยและอัตราดอกเบี้ยในอีก 3 เดือนข้างหน้า ทรงตัว เพิ่มขึ้นจาก 66.7 % เดือนกรกฎาคม เป็น 71.7 % ในเดือนสิงหาคม และจาก 46.5% เป็น 63 % ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม ส่วนหนึ่งเป็นผลของยอดจำหน่ายและการค้าที่เพิ่มขึ้น แต่ยังกังวลต่อสภาพคล่องในอีก 3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากได้ให้สินเชื่อแก่ลูกค้ามากขึ้น แต่สินเชื่อที่ได้รับจากสถาบันการเงินอยู่ในระดับทรงตัว ส่วนข้อจำกัดในการประกอบธุรกิจที่สำคัญยังคงเป็นปัจจัยเดิม คือ การปรับราคาสินค้าทำได้ยาก และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.