"ถึงยุคที่…สัตว์ป่าจะต้องเดินเข้าฟาร์ม"

โดย โสภิดา วีรกุลเทวัญ สุกรานต์ โรจนไพรวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2535)



กลับสู่หน้าหลัก

กฎหมายฉบับใหม่อนุญาตให้เอกชนเพาะพันธุ์และค้าสัตว์ป่าได้ โดยมีการจำกัดชนิด และมีหลักเกณฑ์ควบคุมอย่างเข้มงวด เปิดช่องให้กับธุรกิจสัตว์ป่าฟื้นตัวได้อีกครั้ง แต่สำหรับขบวนการเถื่อนทั้งหลายก็จะต้องพบกับอุปสรรคมากขึ้น รวมถึงบรรดาผู้เคยได้ประโยชน์จากสัตว์ด้วยวิถีทางต่าง ๆ ทั้งรายย่อยและรายใหญ่ทั้งหลายก็ไม่สามารถประกอบกิจการกันอย่างง่าย ๆ อีกต่อไป อย่างไรก็ตามผลกระทบในทางลบยังเกิดกับประชาชนคนธรรมดาที่นิยมเลี้ยงดูสัตว์ต่าง ๆ ด้วย เพราะต่อไปนี้ถ้าไม่ใช่ป่า อีกที่หนึ่งที่าสัตว์ป่าได้รับอนุญาตให้อยู่ก็คือฟาร์มและสวนสัตว์ที่มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบเท่านั้น

ประเทศไทยเคยได้ชื่อว่าร่ำรวยไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทั้งป่าไม้และสิงสาราสัตว์ ซึ่งหากดูถึงความเป็นจริงปัจจุบันก็ยากจะเชื่อ เพราะสภาพดังนั้นได้ลบเลือนไปนานแล้ว และสมญานามใหม่ที่เข้ามาทดแทนก็คือ ที่นี่เป็นดินแดนแห่งการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

การลดน้อยลงของสัตว์ป่ากับการเป็นตลาดค้าสัตว์ป่าคือภาพต่าง 2 ด้านที่เชื่อมโยงอยู่ด้วยกันในฐานะผลลัพธ์และปัจจัย

ถึงที่สุดแล้วการที่สัตว์ป่าต้องสูญพันธุ์ไปย่อมมิได้มาจากอะไรอื่น นอกจากน้ำมือมนุษย์นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่สัตว์หลาย ๆ ชนิดกำลังจะหมดไปจากป่าอันเป็นถิ่นที่อยู่ที่กำลังร่อยหรอลงเช่นเดียวกัน ในเมืองอันเป็นที่อาศัยของคนกลับมีสัตว์ป่าหลายชนิดอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย

คนในวงการกล่าวกันว่าเฉพาะในกรุงเทพฯ ก็มีจำพวกเนื้อทราย ละอองหรือละมั่ง กวาง เก้งนับเป็นพันตัวแล้วโดยไม่นับรวมสัตว์ในเขาดินวนา สัตว์เหล่านั้นได้รับการดุแลจากมนุษย์เป็นผู้ให้การเลี้ยงดูจนเติบโตและมีการสืบพันธุ์ขยายลูกหลานเพิ่มขึ้น ต่างจากพวกที่อยู่ตามแนวป่าและดงดอยที่ขยายพันธุ์ไม่ทันกับการล้มตาย แต่ข้อเท็จจริงเรื่องสัตว์ป่าในเมืองนี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดและไม่ใช่เรื่องที่จะพิสูจน์ได้ง่าย ๆ เนื่องจากผู้ที่เลี้ยงดูสัตว์ป่าเอาไว้จำนวนมาก ๆ นั้นมีหลายรายไม่ได้รับรองความถูกต้องตามกฎหมาย คนเหล่านี้ย่อมจะไม่เปิดเผยสิ่งที่ตนกระทำอยู่

การเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าในเมืองไทยมีสถานภาพทางกฎหมายไม่ต่างจากลูกนอกสมรส เพราะพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพุทธศักราช 2503 ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องการเพาะเลี้ยงเอาไว้เลยว่าใครจะกระทำได้หรือไม่อย่างไร แต่โดยข้อกำหนดแวดล้อมก็ถือได้ว่าไม่อนุญาตนั่นเองโดยเฉพาะสัตว์ป่าสงวนและคุ้มครอง

พิจารณาตามหลักของกฎหมายอาจแบ่งสัตว์ป่าออกได้เป็น 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ สัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าตุ้มครอง และสัตว์ป่าทั่ว ๆ ไป สัตว์ที่กฎหมายให้การคุ้มครองเข้มงวดคือ 2 ประเภทแรก ลักษณะของการคุ้มครองก็คือการควบคุมให้มีมือของมนุษย์เข้าไปแตะต้องน้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการล่า การค้าหรือการครอบครอง

จากบทบัญญัติที่ว่าด้วยการมีไว้ในครอบครองมาตรา 14 สำหรับสัตว์ป่าสงวนนั้นห้ามผู้ใดมีไว้ในครอบครองเว้นแต่จะเป็นสัตว์ที่ล่ามาโดยได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือมีเพิ่มจากการสืบพันธุ์ของตัวที่ล่ามา ส่วนสัตว์ป่าคุ้มครองระบุไว้ในมาตรา 15 ว่าให้ครอบครองได้ในปริมาณที่รัฐมนตรีกำหนดเท่านั้น เว้นแต่ได้รับการอนุญาตเป็นพิเศษจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งเมื่อสัตว์ที่ครอบครองตกลูกออกมาก็จะต้องคอยแจ้งแก่กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ทุกครั้งไป

รายละเอียดอันยุ่งยากนี้ถือว่าเป็นอุปสรรคประการหนึ่งสำหรับผู้ต้องปฏิบัติตาม และตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้กระทำได้ถูกต้องก็มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้น โดยทั่วไปแล้วเป็นการกระทำผิดเสียมากกว่า

การเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าเท่าที่มีการทำกันมาแม้จะมีที่เป็นฟาร์มขนาดใหญ่จึงเป็นเพียงปฏิบัติการแบบแอบซ่อน เลี่ยงกฎหมายทั้งโดยความตั้งใจและไม่ตั้งใจหลาย ๆ คนเริ่มต้นจากการไม่ไปแจ้งเกิดสัตว์ตัวใหม่ทำให้สัตว์รุ่นนั้นกลายเป็นสัตว์เถื่อน ต่อมาเมื่อสัตว์รุ่นนี้ออกลุกหลาน ปริมาณของสิ่งมีชีวิตเถื่อน ๆ ที่ครอบครองอยู่ก็ยิ่งมากขึ้น ผลก็คือการเลี้ยงดูสัตว์นั้นผิดกฎหมายทั้ง ๆ ที่เริ่มต้นมาด้วยความถูกต้อง แต่ก็มีบางรายที่จงใจละเมิด ครอบครองสัตว์ที่ได้มาโดยมิชอบจากการซื้อหรือล่าก็ตาม แม้ภายหลังจะมีสัตว์เพิ่มมาตามธรรมชาติจากการสืบพันธุ์แล้วอยากทำให้ถูกต้องก็ไม่อาจทำให้กฎหมายรับรองได้

"คนที่เพาะเลี้ยงเขาก็พยายามเก็บเงียบ กรมป่าไม้เองก็รู้อยู่เหมือนกันแต่ไม่จับ ถ้าจับไม่มั่นคั้นไม่ตายก็ไม่ทำ ก็เหมือนที่ตำรวจรู้อยู่ว่าใครบ้างเป็นมือปืน แต่เขายังไม่จัดการ" อุทิศ กุฏอินทร์ อาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เกี่ยวข้องอยู่กับวงการพอสมควรกล่าว

นี่เองคือความสับสนยุ่งเหยิงที่ดำรงอยู่อย่างเงียบ ๆ เรื่อยมา โดยไม่มีทางออกทางใดทั้งสิ้น สำหรับคนที่หลบซ่อนได้มิดชิดก็รอดตัวไป ส่วนรายที่โชคร้ายความแพร่งพรายออกไปถึงเจ้าหน้าที่ก็ถูกดำเนินคดี แต่ก็มีบางกรณีที่เจ้าหน้าที่ไม่เอาผิดทั้ง ๆ ที่รู้ว่าไม่ถูก

"มีคนทำเพาะเลี้ยงมาเยอะ ทำได้ดีเสียด้วย ตอนนี้ก็ยังฟิดกฎหมายอยู่ แต่คนที่ถือกฎหมายเขาก็รู้ว่าบางอันเป็นการกระทำที่ดี เป็นการอนุรักษ์ ไม่น่าจะไปรบกวน การไปจับเท่ากับเป็นการทำลาย" สัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากร ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์และอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าว

อนันต์ คลังวิฑูรย์ ประธานบริษัทเบิร์ดแลนด์เป็นอีกคนหนึ่งที่ยืนยันได้ดีถึงเหตุผลของความลักลั่นที่เกิดขึ้น "หลาย ๆ เจ้า หลาย ๆ คนที่ทำอยู่ก็เป็นที่เปิดเผย อย่างเช่นพวกสมาคมด้านสัตว์ต่าง ๆ เขาก็ทำกันมานานในลักษณะที่ว่าถ้าจะผิดก็ผิด เพียงแต่ได้รับยกเว้นไม่จับ อาจจะเป็น เพราะว่าความเกรงใจประการที่หนึ่ง และถ้าจับก็เป็นเรื่องตลกด้วย เพราะคนในสังคมก็รับรู้การเพาะเลี้ยงบางชนิดเป็นเรื่องปกติ อย่างเช่นนกเขา เวลาจัดประกวดก็ออกทีวี ออกหนังสือพิมพ์เยอะแยะ อยู่ ๆ ไปจับก็คงแปลก ๆ เหมือนกัน"

ในเรื่องนี้สำหรับบุญเลิศ อังศิริจินดา หัวหน้าฝ่ายปราบปราม กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่โดยตรงกล่าวว่า "การมีไว้ในครอบครองเกินปริมาณถือว่ามีความผิดอยู่ในตัว แต่บางรายอาจจะถูกก็ได้ถ้าเขาได้มาโดยชอบตั้งแต่แรก อย่างกรณีของเสี่ยแดงที่กบินทร์บุรี โดนยิงตายไปแล้วก็มีกวางอยู่หลายสิบหลายร้อยตัวแต่ถูกต้อง หรืออย่างงูเพิ่งจะมาเป็นสัตว์คุ้มครองเมื่อปี 2528 คนที่เคยครอบครองมาก่อนจำนวนมาก ๆ ก็ครอบครองต่อไปได้ถูกต้องถ้ามีใบอนุญาต"

แต่บุญเลิศก็ยอมรับว่าเรื่องเหล่านี้ยุ่งยากไม่ใช่น้อย เมื่อต้องทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์กฎหมาย เขาทำโดยความเคารพ ขณะเดียวกันก็รู้ว่าบทบัญญัติเหล่านั้นออกจะมีปัญหา เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับกาลเวลา นั่นเองที่ทำให้เขาเป็นคนหนึ่งที่ทุ่มเทจริงจังกับการผลักดันกฎหมายฉบับใหม่ในครั้งนี้

พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2503 เป็นกฎหมายเกี่ยวกับสัตว์ป่าฉบับแรกและฉบับเดียว ที่ไทยใช้มานานถึง 31 ปี มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2504 เกิดขึ้นด้วยเล็งเห็นว่าสัตว์ป่าซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มีค่ายิ่งได้ถูกทำลายไปมากแล้ว จำเป็นจะต้องได้รับความคุ้มครองเสียที กฎหมายฉบับนี้จึงเน้นที่การป้องกันมากกว่าการส่งเสริม ใครจะทำอะไรกระทบถึงสัตว์ก็จะต้องขออนุญาตจากราชการเสมอ สร้างความไม่สะดวกในการทำงานให้กับทุก ๆ ฝ่าย

"กฎหมายใช้มานานจนล้าสมัย จำเป็นต้องเปลี่ยน หลังจากกรมป่าไม้ร่างพระราชบัญญัตินี้แล้วต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงเกษตรฯ แล้วส่งต่อไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ถ้าเห็นชอบก็ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อร่างเสร็จก็ส่งกลับมาผ่านกระทรวงเสนอให้คณะรัฐมนตรี แล้วไปคณะกรรมการประสานงานรัฐสภา ก็จะเรียกไปชี้แจงกำหมายทุกมาตรา ถ้าไม่ผ่านมาตราเดียวก็ต้องกลับมาแก้" บุญเลิศเล่าถึงกระบวนการอันยาวเหยียดของการแก้กำหมาย

ความคิดที่จะแก้ไขให้เกิดกฎหมายสัตว์ป่าฉบับใหม่เริ่มต้นมาไม่น้อยกว่า 10 ปีแล้ว ตั้งแต่ครั้งที่กองอนุรักษ์สัตว์ป่ามีผู้อำนวยการชื่อ ไพโรจน์ สุวรรณกร แต่ตลอดเวลา 9 ปีที่มีการเสนอกฎหมายนี้ไปตามขั้นตอน ไกลสุดเท่าที่เคยไปถึงก็เพียงแต่เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ในวาระที่ 1 เท่านั้น เพิ่งจะมีรัฐบาลนี้ที่กฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าผ่านพิจารณาได้ทั้ง 3 วาระ พร้อมที่จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ได้ทุกเมื่อ

หลักการใหญ่ ๆ ที่ได้รับการแก้ไขในกฎหมายใหม่มี 5 ส่วนด้วยกัน หนึ่ง-คือ มีการเพิ่มโทษสำหรับผู้กระทำความผิดหนักขึ้น สอง-เปลี่ยนแปลงโครงสร้างเพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า สาม-มีการควบคุมสัตว์ป่าที่อยู่ในบัญชีของไซเตส ให้ความดูแลสัตว์ป่าต่างประเทศ สี่-ส่งเสริมเรื่องโอกาสในการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่า และห้า-ควบคุมและส่งเสริมการดำเนินการสวนสัตว์สาธารณะ

ส่วนต่าง ๆ ที่ได้รับการแก้ไขนี้ล้วนมีความสัมพันธ์กัน โดยความมุ่งหมายหลักกฎหมายยังคงมีลักษณะของการมุ่งป้องกันอยู่อย่างเคย แต่ได้ปรับตัวมากขึ้นในเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งด้วยการขยายขอบเขตออกไปครอบคลุมถึงเรื่องต่าง ๆ และด้วยการตั้งผู้รับผิดชอบชัดเจนขึ้น

ตำแหน่งประธานของคณะกรรมการได้รับการยกระดับจากปลัดกระทรวงเป็นรัฐมนตรีประจำกระทรวง ในขณะที่เอกชนได้รับการเปิดโอกาสให้เข้าเป็นกรรมการด้วยในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งบอร์ดใหญ่นี้จะต้องทำหน้าที่เป็นมันสมองวางนโยบายตลอดจนกำหนดแนวปฏิบัติไปพร้อมกัน

ส่วนเรื่องของการเพาะพันธุ์ และสวนสัตว์สาธารณะที่เพิ่มเข้ามานั้นเป็นมิติความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด มีความหมายไม่แต่เพียงว่ารัฐให้โอกาสกับเอกชน หากหมายถึงรัฐได้ยอมรับแล้วกับการดำเนินกิจการในเชิงธุรกิจสัตว์ป่าด้วย มากไปกว่านั้นนี่คือจุดเริ่มต้นสำหรับเมืองไทยในการจัดการด้านสัตว์ป่าอย่างแท้จริง

เรื่องการเพาะเลี้ยงได้รับความเอาใจใส่อย่างมากจากภาคเอกชน ราวกับว่าเป็นจุดที่มีเสน่ห์มากที่สุดของ พ.ร.บ. ทีเดียว ในระหว่างกระบวนการพิจารณาช่วงแรก ๆ เมื่อคณะกรรมการกลั่นกรองฝ่ายเศรษฐกิจลงมติให้กรมป่าไม้ทบทวนตัดข้อความเกี่ยวกับการอนุญาตให้เอกชนเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าออก เอกชนผู้ทำธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์ป่าก็ได้รวมตัวกันโต้แย้งอย่างเอาจริงเอาจังและออกหน้าออกตา

"การตัดประเด็นนี้ออกเราไม่เห็นด้วย สัตว์ป่าเป็นทรัพยากรที่สามารถนำมาใช้ได้ถ้ารู้จักใช้และฉลาดที่จะใช้ ไม่จำเป็นต้องเก็บตายซากอยู่ในป่า มีหลายชนิดที่เพาะเลี้ยงได้ง่าย ขยายพันธุ์ง่าย มีราคา ประเทศไทยมีศักยภาพในการทำเรื่องนี้ ทำได้และทำมานานแล้ว เราก็ไปชี้แจงกันว่าให้เปิดช่องอันนี้ด้วย" สัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากร ผู้มำตำแหน่งเป็นนายกสมาคมอนุรักษ์และเพาะพันธุ์จระเข้แห่งประเทสไทยกล่าว

ตามความเป็นจริงที่ผ่านมาการเพาะเลี้ยงจระเข้เป็นสิ่งที่กระทำได้อยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการอนุญาต เนื่องจากจระเข้ไม่ได้เป็นสัตว์สงวนและคุ้มครอง จำนวนการครอบครองก็ไม่ถูกจำกัด การต่อสู้ของเอกชนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์ตัวนี้จึงเป็นเรื่องของวันข้างหน้า เผื่อว่าเมื่อใดสถานภาพของจระเข้เปลี่ยนไป ธุรกิจที่ทำกันอยู่จะได้ไม่ต้องกระทบกระเทือน ขณะเดียวกันหากกฎหมายให้การรับรองต่อการเลี้ยงสัตว์ป่า ความชอบธรรมอันนี้ย่อมจะเป็นผลดีต่อการติดต่อค้าขายระหว่างประเทศ เพราะในทางสากลไม่ได้นับจระเข้เป็นเพียงสัตว์ประเภทธรรมดาเช่นกับไทย ตรงข้ามกลับจัดเป็นสัตว์คุ้มครองที่ใกล้สูญพันธุ์มีมาตรการคุ้มครองที่ค่อนข้างเข้มงวด

สมาคมอนุรักษ์ไก่ฟ้าแห่งประเทศไทยเป็นกลุ่มเอกชนอีกกลุ่มหนึ่งที่ค่อนข้างจะเป็นหัวหอกในการเรียกร้องต่อรัฐบาลให้เปิดกว้างสำหรับการเพาะเลี้ยงมาก ๆ หลักจากที่ได้ทนเก็บกดมานานกว่า 10 ปี นับตั้งแต่ตั้งสมาคมฯ ขึ้นมา มีสมาชิกที่ต่างเลี้ยงสัตว์ปีกสวยงามกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ หลายคนเลี้ยงเอาไว้มากทั้งชนิดและจำนวน ก็ได้แต่ซื้อขายแลกเปลี่ยนกันอยู่ภายใน ที่ส่งออกได้ก็เฉพาะพันธุ์ของต่างประเทศเท่านั้น

"ไก่ฟ้าเป็นที่รู้กันว่าเพาะเลี้ยงมานาน เป็นสมาคมที่เป็นสมาชิกของสมาคมไก่ฟ้าโลกด้วย เราไม่ถูกนักแต่ราชการก็ไม่จับเพราะสถานภาพก็ดีพอสมควร ทางสมาคมใหญ่ที่อังกฤษเขาก็ให้การรับรอง มีการของร้องมา แต่เรื่องการส่งออกนั่นก็ไม่มีทาง ไก่ฟ้า นกยูง พวกนี้คุ้มครองหมด ว่าไปแล้วถึงส่งออกไม่ได้ อีก 2-3 ปีก็ไม่เดือดร้อน เพราะไม่ได้มาตลอด 11 ปีแล้ว" จิตติ รัตนเพียรชัย กรรมการสมาคมฯ และกรรมการผู้จัดการบริษัทบางกอกฟลาวเวอร์เซนเตอร์ จำกัด เล่าให้เห็นภาพเกี่ยวกับองค์กรที่ตนสังกัด

จริง ๆ แล้วธุรกิจหลักของบางกอกฟลาวเวอร์ไม่ใช่ด้านสัตว์ป่าแต่เป็นดอกไม้ป่า กล่าวได้ว่าจิตติคือผู้ส่งออกดอกและลูก (ต้นอ่อน) กล้วยไม้รายใหญ่ประจำประเทศไทยรายหนึ่งทีเดียว ทำการค้าด้านพืชป่ามาราว 20 ปีแล้ว ส่วนด้านสัตว์ป่าเพิ่งสนใจเมื่อมีกติกาของไซเตส (CITES) เข้ามาเกี่ยวข้องกับกิจการที่ทำอยู่ ทำให้จำเป็นต้องศึกษากติกาดังกล่าว และแทนที่จะดูเฉพาะในส่วนเรื่องพืชอย่างเดียวก็เลยถือโอกาสพ่วงเอาเรื่องสัตว์เข้ามาด้วย

"ที่ต่อสู้ก็เพื่อหลักการ ไม่ให้คนไทยทำผิดไซเตส ในฐานะที่เป็นคนไทยด้วยคนหนึ่งอย่างน้อยก็ไม่ถูกด่าว่าเป็นชาติที่ค้าขายสัตว์เถื่อน หรือไม่อนุรักษ์สัตว์ป่า และในภายภาคหน้าถ้ามีการส่งไก่ฟ้าออกก็จะได้ไม่มีการแบนกันอีก ต้องการอย่างนี้เท่านั้น" จิตติ รัตนเพียรชัย ย้ำเจตนารมณ์ด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

เป็นที่แจ้งชัดอยู่แล้วว่า การแก้ไข พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าครั้งนี้ นอกจากมีสาเหตุมาจากความล้าหลังของตัวบทเองแล้ว เสียงเรียกร้องจากไซเตสก็นับว่าเป็นแรงบีบคั้นที่สำคัญอีกประการหนึ่งด้วย เพราะเดือนเมษายนนี้จะครบ 1 ปีแล้วที่คณะกรรมการไซเตสมีมติลงโทษประเทษไทยด้วยการชักชวนสมาชิกให้งดซื้อขายสินค้าสัตว์และพืชป่า ซึ่งหนทางสำคัญที่ไทยจะพ้นจากการแบนครั้งนี้ก็คือจะต้องออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์ และพืชป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์และออกระเบียบรวมถึงวิธีปฏิบัติในการคุ้มครองและค้าสัตว์และพืชให้สอดคล้องกับอนุสัญญาไซเตส

CITES หรือ CONVENTION IN INTERNATIONAL TRADE IN ENDANGERED SPECIES OF WILD FAUNA AND FLORA เป็นองค์กรที่บริหารโดยสหประชาชาติ สาขาสิ่งแวดล้อม (IUCN) ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2516 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศว่าด้วยสัตว์และพืชป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์เพื่อนุรักษ์เอาไว้ ด้วยวัตถุประสงค์ดังกล่าวนี้ทำให้มีวัตถุประสงค์อีกข้อตามมาคือ ส่งเสริมการค้าขายสัตว์และพืชที่ได้มาจากการขยายพันธุ์หรือการผสมเทียม

ประเทศไทยได้เข้าร่วมในการประชุมก่อตั้งองค์กรไซเตสมาแต่ต้นแต่ให้สัตยาบันเป็นสมาชิกเมื่อปี 2526 โดยเหตุผลของการเข้าร่วมนั้นมีลักษณะที่สอดคล้องและค่อนข้างคล้ายคลึงกับเหตุผลในการตรา พ.ร.บ. สัตว์ป่าฉบับแรกอยู่มาก เหตุผลดังกล่าวคือ

"…ปัจจุบันได้มีการลักลอบส่งสัตว์ป่าและพืชป่าออกนอกราชอาณาจักรอยู่เสมอ จนเป็นเหตุให้สัตว์ป่าและพืชบางชนิดต้องลดน้อยลงจนเกือบจะสูญพันธุ์ และบางชนิดได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ประกอบกับประเทศต่าง ๆ ได้ขอความร่วมมือจากประเทศไทยในการควบคุมการลักลอบส่งสัตว์ป่าและพืชป่าอยู่เนือง ๆ…

…ฉะนั้นเพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งสัตว์ป่าและพืชป่าซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของประเทศ และเพื่อเป็นการให้ความร่วมมือกับนานาประเทศในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าวให้คงอยู่ถาวรสืบไป จึงเห็นเป็นการสมควรที่ประเทศไทยจะได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้…"

แต่ประเทศไทยก็จัดว่าเป็นสมาชิดที่ไม่ดีมาโดยตลอด เนื่องจากกฎหมายของไทยไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาสากล จุดบกพร่องหลัก ๆ ได้แก่ หนึ่ง ขอบข่ายการคุ้มครองสัตว์ป่าคุ้มครองเฉพาะสัตว์ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเท่านั้น การนำเข้าส่งออกและนำผ่านไทยสำหรับ "สัตว์ต่างด้าว" จึงเป็นไปอย่างเสรี ถ้าเป็นสัตว์ที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศแล้วจะค้าขายอย่างไรก็ได้ ในวงการค้าสัตว์ถึงกับถือว่าที่นี่เป็นศูนย์กลางทางการค้าก็ด้วยเหตุนี้

สองคือในด้านกฎระเบียบปฏิบัติ กฎหมายฉบับเก่าขาดบทบัญญัติทางด้านการค้าที่ชัดเจน ทำให้ไม่มีแบบแผนการปฏิบัติที่เป็นระบบ ข้อความเกี่ยวกับการค้ามีระบุอยู่เฉพาะในมาตราที่ 16 และ 17 เท่านั้น ซึ่งเป็นเนื้อหาในลักษณะที่เป็นการห้ามไว้ก่อนเว้นแต่ได้รับอนุญาต ไม่มีการกล่าวถึงการเพาะเลี้ยง หรือทางออกอื่นใดสำหรับการทำธุรกิจที่ถูกต้องและไม่ยุ่งยาก การทำให้ถูกกฎหมายจึงเป็นเรื่องลำบาก ขณะที่ตลาดเต็มไปด้วยความต้องการ สภาพเช่นนี้เองที่มีส่วนผลักให้เกิดการลักลอบค้าขึ้นเพราะแรงจูงใจให้ทำผิดสูงมากและอัตราเสี่ยงก็นับว่าพอลุ้นได้ ลักษณะของการต้องคอยไล่กวด จับกุมเพื่อลงโทษอยู่เพียงอย่างเดียวไม่เอื้อให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้จริง ยิ่งภายหลังมีระเบียบห้าม เคร่งครัดมากขึ้นก็ดูเหมือนว่าการลักลอบยิ่งเข้มข้นขึ้นเป็นเงาตามตัว

นอกจากนี้ไทยยังได้ละเมิดต่ออนุสัญญาข้อที่ 8 ว่าด้วยมาตรการที่ภาคีต้องถือปฏิบัติ โดยการไม่ส่งรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการค้าไปยังสำนักเลขาธิการไซเตสเลย ส่วนการแก้ไขกฎหมายนั้นมีการผลักดันมาโดยตลอดก็จริง แต่ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่ดีสำหรับการขอผ่อนผัน เพราะตั้งแต่ปี 2526 ไซเตสก็ได้เตือนในข้อนี้มาแล้วถึง 3 ครั้ง

"ไทยได้ชี้แจงต่อที่ประชุมไซเตส 3 ครั้ง จนเขาบอกรอไม่ไหว คือปกติแล้วตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ประเทศใดให้สัตยาบันแล้วต้องมีกำหมายภายในรองรับกับอนุสัญญา จะอ้างว่าไม่พร้อมไม่ได้ ผิดหลักอนุสัญญาเวียนนาคอนเวนชั่น หรือที่เรียกว่าพหุภาคีที่มี 110 ประเทศร่วมลงนาม ของเราจริง ๆ ก็มีการแก้กันตั้งแต่ปี 2526 ที่เข้าเป็นสมาชิกแล้ว แต่ก็ไม่ผ่านเสียที ไซเตสเขาก็เลยแบนเพื่อให้เกิดแรงกดดันต่อผู้นำทางด้านนโยบายที่จะเร่งให้กฎหมายนี้ออกมา" บุญเลิศ อังศิริจินดา หัวหน้าฝ่ายปราบปราม กองอนุรักษ์สัตว์ป่า ผู้ซึ่งเป็นตัวแทนประเทศไทยไปประชุมภาคีอนุสัญญามาตลอดทุก ๆ 2 ปี ตั้งแต่ปี 2524 จนถึงปัจจุบันเล่าให้ฟัง

เมื่อมองจากมุมที่กว้างในฐานะองค์ประกอบในระบบธรรมชาติของโลก เจตนาที่จะคุ้มครองสัตว์ป่าย่อมไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ คุณค่าที่เพิ่มขึ้นตามกาลเวลาของทรัพยากรนี้เช่นเดียวกับอื่น ๆ นั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะด้านใดด้านหนึ่งเป็นการเฉพาะ ในท่ามกลางความหมายทั้งทางด้านความงดงาม วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม การพักผ่อนหย่อนใจ และเศรษฐกิจ ลำพังเจตนารมณ์ที่ดีอย่างเช่นที่ปรากฏมาแต่อดีต ย่อมมิใช่หนทางที่จะก่อเกิดผลดีได้โดยอัตโนมัติ เรื่องไม่ง่ายเช่นนั้น

ธุรกิจการค้าสัตว์ป่าเป็นสิ่งที่มีมาแต่อดีตด้วยความที่ทรัพยากรตัวนี้ทำประโยชน์ได้มหาศาล ใช้ได้หลากหลายรูปแบบทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม นับตั้งแต่ตัวที่ยังมีชีวิตจนกระทั่งถึงส่วนประกอบของร่างกายที่แปรรูปไปเป็นผลิตภัณฑ์ สัตว์ชนิดสวยงามเป็นได้ทั้งเครื่องสร้างความบันเทิงเริงใจและสิ่งประดับบารมี, เนื้อสัตว์ป่าหลายชนิดคืออาหารอันโอชะราคาแพง เขากูปรีหรือโคไพรคู่งาม ๆ อาจตีเป็นเงินได้ถึงเรือนแสน หนังจระเข้แต่ละผืนก็ไม่ต่ำกว่าเลข 4 หลัก ดีงูใช้เป็นยาและเครื่องชูกำลัง ฯลฯ ตลาดของสินค้าเหล่านี้กว้างใหญ่มหาศาล

กรมป่าไม้ดูเหมือนจะรู้ดีถึงสภาพความเป็นจริงข้อนี้ ในฐานะหน่วยงานผู้มีหน้าที่ต้องคุ้มครองชีวิตสัตว์เอาไว้ ซึ่งเท่ากับทำงานสวนทางกับความต้องการของตลาด ตั้งแต่ร่างกฎหมายแก้ไขฉบับแรกจึงได้ใส่เรื่องการเพาะเลี้ยงเอาไว้

การเปิดให้เอกชนเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าได้ ย่อมหมายถึงการเปิดทางให้กับการทำธุรกิจสัตว์ป่านั่นเองความหมายนี้ ฝ่ายเอกชนดูจะรู้ดีที่สุดจึงได้สนับสนุนมาโดยตลอด ถึงกับแสดงตนต่อต้านกันเต็มที่ด้วย เมื่อประเด็นการเพาะเลี้ยงจะถูกตัดออกไป

"เราออกมาดัน พ.ร.บ. นี้เพราะเราต้องการที่จะให้กิจกรรมหรือนโยบายด้านการอนุรัก์สัตว์ป่ามีความเป็นจริง เอกชนต้องมีส่วนร่วม การเพาะสัตว์จะทำให้สัตว์ไม่มีทางสูญพันธุ์ไป และการทำเรื่องนี้ก็มีสัตว์หลาย ๆ ชนิดที่ง่ายเหลือเกิน อย่างเนื้อทราย กวาง 1 ปีก็ได้เป็นสิบ ๆ ตัว แล้ว วิทยาการสมัยใหม่ก็เสริมได้ ทำให้อัตราการเกิดมาก การตายน้อย" จรูญ ยังประภากร กรรมการผู้จัดการ บริษัทฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์ สมุทรปราการ จำกัด กล่าวถึงการเพาะเลี้ยงในลักษณะที่เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์

เหตุผลที่คณะกรรมาธิการกลั่นกรองฝ่ายเศรษฐกิจไม่ต้องการเปิดให้เอกชนเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าก็เป็นเรื่องของการอนุรักษ์เช่นเดียวกัน โดยเกรงว่าโอกาสที่เปิดให้นี้จะทำให้เอกชนนำสัตว์จากป่ามาเลี้ยงมากเกินไป ซึ่งปริมาณที่เหลืออยู่ทุกวันนี้ก็น้อยเข้าขั้นวิกฤตอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ประเภทใด

ประเทศไทยใช้ทรัพยากรตัวนี้มานานและมากจนกระทั่งเป็นการทำลายโดยที่กฎหมายก็ไม่อาจหยุดยั้ง!

"กฎหมายเดิมมีแนวความคิดแบบอเมริกัน คือ เขาปล่อยให้ล่าสัตว์ สัตว์สงวนกับคุ้มครองประเภทที่ 1 นั้นไม่ให้ล่า คุ้มครองประเภทที่ 2 ถึงล่าได้ เป็นการแบ่งประเภทเอาว่าสัตว์ชนิดไหนคนกินเนื้อหรือไม่กิน หรือใช้ล่าเพื่อการกีฬาหรือไม่ ซึ่งก็แยกแยะยากในเรื่องนี้" บุญเลิศ อังศิริจินดากล่าว

ผลของการใช้แนวความคิดอย่างอเมริกันในสังคมแบบไทย ๆ ปรากฏว่า ปากกระบอกปืนไม่ยอมรับรู้ความต่างของสัตว์ป่าตามบัญชีว่าตัวใดคุ้มครอง 1 หรือคุ้มครอง 2 ได้แต่แบ่งแยกตามความปรารถนาทางการใช้สอยและราคาที่จะได้รับมากกว่า

การลักลอบกลายเป็นสัจธรรมใหม่สำหรับนักล่าและพ่อค้าสัตว์ป่า เพราะเป็นเพียงทางออกเดียวที่ในท่ามกลางความเข้มงวดของกฎหมาย

"การลักลอบล่าเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ ผิดกฎหมายถ้าเจอก็ถูกจับ ในแง่ธุรกิจเท่ากับทำไม่ได้ แต่การลักลอบก็ทำได้ ล่ามาไม่ใช่เพื่อเก็บไว้อยู่แล้ว ก็ค้ากันไป สัตว์ป่าที่ไม่ได้ขึ้นไว้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองหรือสงวนก็สามารถทำได้ เช่นเต่าบางชนิดส่งออกเป็นว่าเล่น หมูป่านี่เมื่อก่อนก็ทำกันเป็นฟาร์ม สัตว์พวกนี้หมดไปด้วย พวกที่สงวนคุ้มครองก็หมด อย่างนกเขา ทางใต้เพราะขายได้ตัวหนึ่งเป็นแสน เป็นล้านบาท ความจริงถ้ามีเกิน 2 ตัวผิดกฎหมายแล้ว แต่ก็ทำกันได้ ที่ยะลา ปัตตานี ทางใต้จากนครฯ ลงไป มีเพาะพวกนกเขาใหญ่ เขาชวา นกปรอด ไก่ฟ้า ก็มาก แต่อาจจะไม่กล้าขายเท่านกเขา" อุทิศ กุฏอินทร์เปิดเผยถึงสภาพความจริงที่เกิดขึ้นตลอดมา

ใช้กฎหมายไป สัตว์ป่าที่ได้รับการสงวนและคุ้มครองจึงยิ่งน้อยลงไปพร้อม ๆ กับสัตว์อื่น ๆ จุดประสงค์ของการออกพระราชบัญญัติเป็นอันว่าไม่ได้ผล แต่กล่าวเช่นนี้ก็ดูจะไม่เป็นธรรมต่อกฎหมายนัก เพราะเรื่องของคนไล่ล่าสัตว์นั้นมีมาเนิ่นนาน จนบางคนกล่าวว่าเป็นความต้องการพื้นฐานประการหนึ่งของมนุษย์ไปแล้ว ลำพังกฎหมายจึงไม่น่าจะยับยั้งพฤติกรรมนี้ได้ อีกประการหนึ่ง สำหรับการหมดไปของสัตว์ก็ดำเนินมาอย่างสม่ำเสมออยู่แล้วเช่นกันตั้งแต่ก่อนปี 2504 ที่กฎหมายประกาศใช้

ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพุทธศักราช 2503 ได้กำหนดให้สัตว์จำนวน 9 ชนิดถือเป็นสัตว์สงวน ได้แก่ แรด กระซู่ กูปรี หรือโคไพร ควายป่า ละองหรือละมั่ง สมันหรือเนื้อสมัน ทรายหรือเนื้อทรายหรือตามะแนน เลียงผาหรือเยือนหรือกูรำหรือโครำ และกวางผา

สัตว์เหล่านี้ถูกจัดว่ามีความสำคัญที่จะต้องได้รับการดูแลรักษาให้คงอยู่เป็นอันดับหนึ่งเหนือกว่าสัตว์ป่าอื่นเนื่องจากมีปริมาณเหลืออยู่น้อยเต็มที และมีแนวโน้มใกล้จะสูญพันธุ์ภายในเวลาไม่นานนี้ หรือบางตัวอย่างเช่นสมันก็ไม่พบเห็นมาหลายสิบปีแล้วในทุกผืนป่าของเมืองไทย ซึ่งก็เท่ากับไม่มีสมันอีกแล้วในโลกนี้ และไม่ว่าจะเป็นกวางผา กูปรีหรือกระซู่ก็ล้วนอยู่ในข่ายที่จะเดินตามรอยเดียวกันแทบทุกชนิดแทบหาไม่ได้แล้วในป่า เช่นนี้เอง กฎหมายจึงจำเป็นต้องคุ้มครองเอาไว้

ตรงนี้เองที่ดูเหมือนทางฟากฝ่ายเอกชนออกจะไม่เห็นด้วยมาก ๆ

"การจะหวงอะไรไว้ในป่าก็ทำไปเถิด แต่จะประกันว่าสัตว์ไม่สูญไปจากป่านั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีใครรับประกันหรือควบคุมป่าไหนได้ ไม้ก็ถูกตัด คนเข้าไปทำมาหากิน ความเจริญนั้นห้ามไม่ได้ ห้ามไม่ให้แตะต้องแต่กลับสูญหาย สัตว์สงวนไม่ให้แตะเลยมันก็เลยไม่เหลืออยู่เลย อันนี้น่าจะเปลี่ยนเสีย เพราะบางชนิดมีมากกว่าสัตว์คุ้มครองบางชนิดแล้ว เพราะคนเขาแอบเลี้ยงกัน ซึ่งก็ผิดกฎหมายนั่นแหละ หลายคนเขาเลี้ยงมาดี ๆ เพาะได้หลายร้อยตัวก็ไปจับเขา อันนี้แย่มาก อนุรักษ์ไม่ใช่เก็บไว้ หวงไม่ให้แตะ นั้นเหมือนพิพิธภัณฑ์" นาวาอากาศเอกวิโรจน์ นุตพันธุ์ ที่ปรึกษาบริษัทสวนสัตว์พาต้าร่ายยาว

จิตติ เพียรรัตนชัยก็มีความเห็นในทำนองเดียวกัน เขากล่าวว่า "บ้านเรามีความสับสน เห็นว่า การอนุรักษ์คือการปล่อยทิ้งไว้ ไม่แตะต้อง อันนี้ผิดแน่นอน เพราะคำว่า "การอนุรักษ์" คือ "การจัดการของมนุษย์ในการใช้ประโยชน์ของสิ่งแวดล้อมของโลก ให้ได้ประโยชน์เหมาะสมและสูงสุดเพื่อการดำรงชีพของคนยุคปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกันต้องไม่ทำลายศักยภาพของสิ่งแวดล้อมนั้น เพราะคนรุ่นหลังก็มีความต้องการปรารถนาอยากได้ในสิ่งนั้นเหมือนกัน" นิยามนี้จิตติอ้างว่ายกมาจากหลักของไซเตส

ส่วน ดร. อุทิศ กุฏอินทร์มองจากมุมที่กว้างขึ้นและเปรียบเทียบให้ฟังระหว่างสภาพความเป็นจริงกับหลักวิชาการ "ในอดีตเมืองไทยไม่มีการจัดการด้านสัตว์ป่าเลย เราปล่อยให้เก็บเกี่ยวตามอำเภอใจ พอมาถึงจุดหนึ่งก็ให้หยุดเลย การห้ามไม่ให้แตะต้องคือการอนุรักษ์ที่ผิดพลาด ในเชิงวิชาการสัตว์ป่าคือแหล่งโปรตีนสำคัญของมนุษยเหมือนปลาที่จับกินได้ แต่ทำอย่างไรให้เหลือพ่อแม่ให้ออกลูกเพื่อจะจับได้เรื่อย ๆ ไป เรียกว่าเป็น RENEWABLE RESOURCE เหมือนไม้อย่าตัดให้เกินกำลังการฟื้นตัว บางอย่างเราป้องกันไม่ได้ก็ต้องเปิดโอกาส"

การเพาะพันธุ์นับว่าเป็นการเปิดโอกาสอีกแบบหนึ่งเป็นการสร้างทางออกให้กับความต้องการใช้สัตว์ป่าโดยไม่สร้างความกระทบกระทือนธรรมชาติ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ง่ายเช่นเดียวกันและจำเป็นต้องมีการจัดการที่ดีด้วย

กฎหมายใหม่ได้กำหนดเรื่องเกี่ยวกับการเพาะพันธุ์เอาไว้ในมาตราที่ 17 และ 18 ระบุว่า ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการเป็นผู้มีอำนาจกำหนดชนิดของสัตว์ป่าคุ้มครองที่จะเปิดให้เพาะพันธุ์โดยออกเป็นกฎกระทรวง ส่วนสัตว์สงวนไม่มีการเปิดให้เพาะทั่วไป ยกเว้นผู้ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะซึ่งจะตั้งได้ก็ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีเช่นกัน โดยสวนสัตว์สาธารณะนี้ต้องทำหน้าที่ 3 ประการ 1) เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ 2) เพื่อการศึกษาค้นคว้า วิจัย และ 3) คือทำหน้าที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ป่า

ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนแล้วว่า จำนวนชนิดของสัตว์ป่าคุ้มครองที่จะอนุญาตคงจะมี 9 ชนิด ได้แก่ นกเขาใหญ่ นกเขาเล็ก เก้ง กวาง สัตว์ตระกูลไก่ฟ้า จระเข้น้ำจืด จระเข้น้ำเค็ม งูเหลือม และงูหลาม บุคคลทั่วไปมีสิทธิที่จะเพาะสัตว์เหล่านี้ได้หากได้รับอนุญาตจากอธิบดี ซึ่งเกณฑ์การพิจารณาและเงื่อนไขต่าง ๆ เป็นรายละเอียดที่จะกำหนดในกำหระทรวงต่อไปเช่นกัน

มีการถกเถียงกันเกี่ยวกับช่องของโอกาสที่รัฐเปิดให้นี้อยู่บ้าง โดยเอกชนบางคนเห็นว่าออกจะเปิดให้น้อยเกินไป เนื่องจากสัตว์ที่มีการแอบเพาะอยู่ในเวลานี้มีมากชนิดกว่าที่กำหนด รวมทั้งบางชนิดก็เป็นสัตว์สงวนด้วย

"ละอง ละมั่ง เนื้อทราย พวกนี้ก็สัตว์ป่าสงวนทั้งนั้น แต่เมืองโบราณเขาก็เลี้ยงอยู่เยอะแยะเป็นร้อย ๆ ตัวหรืออย่างที่กรมป่าไม้ไปจับมาไม่นานนี้ที่ฉะเชิงเทรา เขาก็เลี้ยงไว้เกือบ 100 ตัวในเนื้อที่ 40 ไร่ เลี้ยงอย่างดีเลย คือในป่าไม่มีไปแล้ว คนก็เพาะเลี้ยงได้ ทำไมไม่ให้เพาะ" นั่นคือคำถามที่ตามมาจากผู้อยู่ในวงการค้าและเพาะพันธุ์สัตว์

คำตอบจากหัวหน้าฝ่ายปราบปราม กองอนุรักษ์สัตว์ป่าก็คือ "สิ่งที่เอกชนต้องการเพาะนั้นมากมายเกิน บางอย่างคงขายได้จริง แต่ต้องดูความเป็นไปได้ด้วย ความเป็นไปได้ทางการตลาดอันหนึ่ง เพราะการเพาะก็ทำเพื่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังต้องดูความพร้อมของเจ้าหน้าที่ในการไปตรวจไปดูแล เปิดไว้ 9 รายการ สมมติมี 100 รายเลี้ยง วันนี้คนนี้แจ้งงูออกไข่ อีกเจ้านกออกลูก แค่นี้ก็วิ่งวุ่นตายแล้ว เราต้องตั้งต้นกันก่อน"

ในระยะยาวจำนวนสัตว์ที่จะอนุญาตนี้มีความยืดหยุ่นได้สูง อาจเพิ่มหรือลดตามสถานการณ์ได้ อีกประการหนึ่งบัญชีสัตว์ป่าสงวนท้ายพระราชบัญญัติฉบับใหม่ก็ได้ปรับเปลี่ยนแล้ว เนื้อทรายซึ่งมีการเพาะพันธุ์กันอยู่มากนั้นได้ถูกตัดออกไปพร้อมกับมีสัตว์ชนิดใหม่เพิ่มเข้ามาอีก 7 รายการ ได้แก่นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร นกแต้วแล้วท้องดำ นกกระเรียน แมวลายหินอ่อน สมเสร็จ เก้งหม้อ และพะยูนหรือหมูน้ำ

"ตามหลักการ อะไรที่เพาะได้ควรเปิดให้หมดแต่ต้องดูด้วยว่าตัวใดมีแนวโน้มเพาะง่ายและเป็นที่ต้องการของต่างประเทศหรือใช้ประโยชน์ได้ มาตรการควบคุมมีพอไหม ต่างประเทศเห็นมาตรการแล้วยอมรับได้ไหม อยากให้เพาะแต่ต้องไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันต้องทำให้สามารถเป็นไปได้จริง" บุญเลิศ อังศิริจินดาชี้แจงเพิ่มเติมถึงเงื่อนไขพร้อมกับยืนยันเจตจำนงสนับสนุนการเพาะพันธุ์

"9 ชนิดนี่เหมือนเป็นส่วนนำร่องที่ยกขึ้นมาเอาที่มีคนทำได้แล้ว ถ้าใครมีขีดความสามารถก็ร้องขอกับคณะกรรมการให้พิจารณาเพิ่มขึ้นมาอีกได้ ตรวจสอบผ่านก็ไม่น่าจะมีปัญหา" นักวิชาการกรมป่าไม้อีกรายหนึ่ง กล่าวเสริม

ในเรื่องการครอบครองที่เปิดให้ทุกคนมีสัตว์คุ้มครองได้อย่างเสรี 2 ตัวก็เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน หลักเกณฑ์เดิมถือว่ายกเลิกไป ต่อไปนี้คนทั่วไปจะต้องขออนุญาตและถือครองเป็นกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่สัตว์คุ้มครอง 9 ชนิดเท่านั้น โดยสัตว์ตัวนั้น ๆ ก็จะต้องมาจากการเพาะพันธุ์ด้วย ส่วนผู้ที่ทำการเพาะเองและสวนสัตว์สาธารณะถือว่ามีสิทธิ์ครอบครองไปโดยปริยาย

หลักเกณฑ์การค้า การนำเข้าและนำออกก็อิงพิงอยู่กับส่วนการเพาะพันธุ์เช่นกัน กล่าวคือสัตว์ที่กฎหมายอนุญาตให้ค้าจะต้องเป็นสัตว์คุ้มครองและมาจากการเพาะพันธุ์ รวมทั้งได้รับอนุญาตจากอธิบดีเสมอ การจะนำสัตว์เคลื่อนที่ในทุก ๆ กรณีก็ต้องได้รับใบอนุญาตเช่นกัน หลักเกณฑ์นี้ให้ใช้กับสัตว์ทั่วไปด้วยถ้าชนิดนั้นอยู่ในบัญชีคุ้มครองของไซเตส ผู้ละเมิดต่อข้อกฎหมายเหล่านี้จะได้รับโทษ ทั้งจำทั้งปรับ

เสน่ห์ของการเพาะพันธุ์สัตว์สำหรับเอกชนย่อมอยู่ที่สามารถทำเป็นการค้าได้นั่นเอง

ขณะนี้มีการรวมตัวของผู้เพาะสัตว์อยู่ 3 ชนิด 3 องค์กรด้วยกัน คือ จระเข้ นกเขา และไก่ฟ้า จระเข้นั้นมีคุณประโยชน์อยู่ที่หนังเป็นสำคัญ ส่วน 2 ชนิดหลังจัดเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงามที่นำมาซึ่งความรื่นรมย์ ทั้ง 3 ชนิดเหมือนกันตรงที่มีสนนราคาสูงมาก

"นกเป็นสัตว์สวยงามที่คนนิยมเลี้ยงส่วนมากเป็นไก่ฟ้า นกเขาส่วนใหญ่ก็เป็นพวกคนมีสตางค์เลี้ยงเป็นความสุข งานอดิเรก บางคนเป็นอาชีพด้วย เท่าที่ผมทราบนกเขาทำรายได้ให้กับประเทศไม่น้อยเลย เพราะเศรษฐีมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ นิยมมาซื้อจากประเทศไทย โดยเฉพาะนกเขาที่ชนะการประกวด มีประมูลตัวหนึ่งเป็นล้าน นี่คือประโยชน์ที่ได้จากสัตว์ป่า ซึ่งเป็นเรื่องของการทำลาย" จรูญ ยังประภากร เจ้าพ่อแห่งวงการจระเข้กล่าวถึงสัตว์ประเภทนก

ที่ผ่านมาทั้งที่กฎหมายเปิดช่องทางค้าสัตว์ไว้เพียงเล็กน้อย แต่ตัวเลขจากธุรกิจส่งออกที่ทำอย่างถูกต้องก็ยังสูงนับเป็นพัน ๆ ล้านบาทต่อปี ตัวเลขตามที่ปรากฏผ่านกรมศุลกากรประมาณ 2 พันล้านไม่รวมส่วนที่แอบแฝงในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปหรือที่นักท่องเที่ยวเข้ามาจับจ่ายไป และถ้าพูดถึงส่วนที่ผิดกฎหมาย ว่ากันว่าน่าจะเป็นวงเงินถึงแสนล้านบาท ขบวนการค้าสัตว์ป่าเถื่อนนั้นยิ่งใหญ่ไม่แพ้ขบวนการค้ายาเสพติด

โดยทั่วไปแล้วอาจแบ่งลักษณะการค้าสัตว์ป่าออกได้เป็น 3 ลักษณะด้วยกัน 1) ขายเป็นตัว 2) ขายเนื้อ และ 3) ขายซาก ประเภทตัวเป็นส่วนมากขายไปเพื่อการดลี้ยงดูต่อ ส่วนใหญ่จึงได้แก่สัตว์สวยงามจำพวกไก่ฟ้า นกบางประเภท นอกนั้นได้แก่สัตว์ที่มีคุณสมบัติเด่นอื่น ๆ เช่น ความน่ารัก ความเสนรู้ เช่น หมี ค่าง ชะนี ลิง เสือ ส่วนกวาง ละอง ละมั่ง เก้ง เนื้อทราย สำหรับผู้นิยมสัตว์ป่ามักเลี้ยงเอาไว้เช่นกัน และในปัจจุบันที่มีการเลี้ยงกันเป็นจำนวนมาก ๆ ก็มีหลายรายที่ทำเพราะความรักมากกว่ามุ่งหารายได้

สำหรับสัตว์ประเภทขายเนื้อรวมถึงอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเพื่อเป็นอาหารหรือทำยา ได้แก่งู เก้ง กวาง ส่วนซากสัตว์ที่มีราคาหลัก ๆ ก็คือ เขา หนัง และกระดูกนิยมใช้เป็นเครื่องประดับ หรือบางชนิดอาจมีประโยชน์อื่น เช่น เขากวางอ่อนใช้ทำยาอายุวัฒนะ

ถ้าจะกล่าวให้ครอบคลุมจริง ๆ ยังมีการใช้สัตว์อีกรูปแบบหนึ่งซึ่งถ้าจะจัดให้เข้ากับ 3 ลักษณะข้างต้น ลักษณะที่ 4 นี้คงต้องเรียกว่าเป็นการขายชีวิต นั่นคือ การใช้สัตว์เพื่อเป็นตัวทดลอง ไม่ว่าจะเป็นยา เครื่องสำอาง หรือสารอื่นที่มีอันตรายก่อนจะนำมาใช้กับมนุษย์ สัตว์ป่าที่ถูกใช้เพื่อการนี้มากที่สุดก็คือลิง วงจรแง่นี้ไม่ค่อยออกมาในรูปขบวนการ เพราะมีวงการเฉพาะเจาะจงลงไปอีกทีหนึ่ง

เมื่อกฎหมายเปิดการเพาะเลี้ยงขึ้นมา มีเอกชนยินดีต่อหลักหารนี้จำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่ได้แก่เพราะเห็นลู่ทางทำรายได้โดยไม่ต้องหลบเลี่ยงกฎหมาย แต่กลุ่มนี้ก็ไม่ใช่ตัวแทนของวงการสัตว์ทั้งหมด ยังมีพวกลักลอบค้าที่ถึงอย่างไรก็ไม่คิดหันกลับมาสู่หนทางสว่างซึ่งมีกฎเกณฑ์ยุ่งยาก เหตุนี้เองที่ทำให้ลักษณะของการไล่ล่าจับผิดในกฎหมายจำเป็นต้องมีอยู่ ขณะเดียวกันส่วนที่เปิดไว้ก็ต้องควบคุมด้วย ไม่ใช่ว่าจะไว้ใจได้มากนัก เพราะในวงการค้าสัตว์ที่ผ่านมา เส้นทางของนักค้าแทบทุกคนไม่มีจุดแบ่งความผิด-ถูกที่ชัดเจนนัก

"กฎหมายนี้จะทำให้ต้องลงทุนมากขึ้น มีกฎเกณฑ์มากขึ้น แน่นอนว่าต้องกระทบกระเทือนบางคนแต่จะเลือกอะไร ความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินคืออนาคตของชาติ คุณจะเอาไว้หรือจะเอาความอุดมสมบูรณ์ของคนบางกลุ่มไว้ ถ้าเห็นคุณค่าสัตว์มากหน่อย ก็ลงทุนมากขึ้นได้" พิสิฐ ณ พัทลุง เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยกล่าว

อีกไม่นานเมื่อกฎหมายประกาศใช้ ผู้มีสัตว์ป่าอยู่ในความครอบครองจะต้องแจ้งต่อราชการภายใน 90 วัน ไม่ว่าจะกี่ตัว ผิดหรือถูกกำหมาย สัตว์จะตกเป็นของแผ่นดินแต่อาจจัดการให้เลี้ยงต่อไป ส่วนผู้ไดรับอนุญาตค้ามาก่อนจะต้องปรับตัวเข้าสู่กฎใหม่ โดยการขายสัตว์นอกรายการ 9 ชนิด ให้หมดภายใน 2 ปี ถ้าเป็นซากมีเวลา 3 ปีและต่อไปนี้ต้องทำรายงานทุกเดือน

สำหรับผู้ที่เพาะสัตว์อยู่แล้วมีเวลา 30 วันในการยื่นขออนุญาต ทั้งนี้หมายถึงว่าเป็นสัตว์ป่าที่อยู่ในรายการที่เปิดให้เพาะ ระหว่างนั้นก็ให้ดำเนินการไป ถ้าผลออกมาว่าอธิบดีไม่อนุญาตก็ต้องขายให้หมดภายใน 30 วันต่อมาผู้ประกอบกิจการสวนสัตว์ก็มีเวลาขออนุญาต 30 วันเท่ากัน

ในช่วงปรับเปลี่ยนเชื่อว่าความยุ่งยากจะมีไม่ใช่น้อย และการต่อต้านย่อมจะตามมาได้ง่าย ๆ เนื่องจากสัตว์ส่วนใหญ่จะต้องตกเป็นของหลวง เนื้อร้ายที่ถูกปล่อยปละมานานมักต้องรักษาด้วยการผ่าตัดใหญ่เสมอ

"มีที่จะระบุตามมาในระเบียบเท่าที่เขาคิดว่าเขาจะทำกัน คือ คนที่เคยทำผิดพระราชบัญญัติเดิมมาก่อนจะไม่ได้รับอนุญาตให้เพาะเลี้ยงต่อไป ตรงนี้ถ้าออกมาจริง คนเหล่านั้นจะโวยวายและด่าหนักที่สุด" พิสิษฐ์ ณ พัทลุงคาดการณ์

ยังมีความยุ่งยากอีกประการหนึ่งที่จะตามมากับขั้นปฏิบัติในการเพาะเลี้ยงนั่นคือ แหล่งที่มาของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เรื่องนี้สะท้อนจุดอ่อนอันหนึ่งของความสามารถของมนุษย์ที่อาจจะนำธรรมชาติมาดัดแปลงขยายผลได้ แต่มนุษย์ไม่เคยสร้างสิ่งต่าง ๆ ขึ้นได้เอง และถึงที่สุดแล้วก็ต้องกลับไปพึ่งพิงธรรมชาติเสมอ

"การเพาะเลี้ยงเป็นดาบ 2 คม พ่อแม่พันธุ์ที่เอามาใช้ไม่ใช่ไปเที่ยวจับมาจากป่า การส่งเสริมทำได้ แต่มาตรการควบคุมต้องเข้มแข็งพอ ในอนาคตก็ต้องมีสักครั้งหนึ่งที่เอาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากป่ามา อันนั้นเป็นสิ่งที่รัฐควบคุมได้ อนาคตไกลไม่ใช่ใกล้ ๆ ขึ้นกับการจัดการในแต่ละฟาร์มด้วย ถ้าปล่อยให้ผสมกันเละเทะ ไม่นานก็ใช้ไม่ได้ สัตว์ป่าไม่ใช่ทำสะเปะสะปะ" สัตวแพทย์ปานเทพ รัตนากรกล่าว

ดร. อุทิศ กุฏอินทร์กล่าวในเรื่องเดียวกันนี้ว่า "ถ้ามีการเลี้ยงแล้วเบื่อแล้วเอาไปปล่อยป่า ปัญหาจะเกิดทันที หนึ่งคือสัตว์อยู่ไม่ได้ สอง-สายพันธุ์สับสนอย่างคุณมีนกยูงอินเดีย เกิดไม่อยากเลี้ยง ไปปล่อยเขาใหญ่ เกิดไปผสมพันธุ์กับนกยูงไทย ออกลูกมาก็ครึ่ง ๆ กลาง ๆ สายพันธุ์เดิมก็เสีย" ไม่ง่ายเลยสำหรับการต้องคอยตระหนักและเท่าทันกับรายละเอียดเช่นนี้

กฎหมายใหม่คงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ดีเท่านั้น ส่วนผลลัพธ์สุดท้ายจะเป็นอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับว่ามือของมนุษย์ที่เข้ามาจัดการธรรมชาตินั้นมีความพร้อมและมีความรู้เพียงใด แต่ที่สำคัญมากกว่าอื่นใดก็คือ เจตนาของมือนั้นมุ่งหมายอะไร ทำลายหรือว่าสร้างสรรค์



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.